ThaiPublica > เกาะกระแส > IMF ชี้มาตรการประเทศใหญ่-วัคซีนหนุน GDP โลกปี’64 โต 5.5%

IMF ชี้มาตรการประเทศใหญ่-วัคซีนหนุน GDP โลกปี’64 โต 5.5%

27 มกราคม 2021


ที่มาภาพ: https://www.imf.org/-/media/Images/IMF/Publications/WEO/2021/January/English/weoupdate-jan21-eng.ashx

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund:IMF) เผยแพร่ World Economic Outlook Update เดือนมกราคม 2564 คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564

เศรษฐกิจโลกจะแข็งแกร่งขึ้นในครึ่งหลังของปีจากที่หดตัว 3.5% ในปี 2020 โดยคาดว่าจะขยายตัว 5.5% ในปี 2021 และเติบโต 4.2% ในปี 2022 ซึ่งดีขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนในเดือนตุลาคม 2020

การคาดการณ์การเติบโตของปี 2021 ได้ปรับขึ้น 0.3% สะท้อนถึงนโยบายเพิ่มเติมในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ไม่กี่รายและความคาดหวังว่าวัคซีนจะมีพลังในการขับเคลื่อนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้นภายในปีนี้ ซึ่งเป็นแรงผลักดันในระยะสั้นที่มากกว่าการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น

การปรับประมาณการขึ้นส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เป็นผลจากมาตรการทางการคลังที่เพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น พร้อมกับความคาดหวังว่าวัคซีนจะกระจายก่อนและเร็วกว่าตลาดเกิดใหม่และกลุ่มเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา

ด้านการค้าโลก ปริมาณการค้าสินค้าทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 8% ในปี 2021 สอดคล้องกับการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วโลกก่อนที่จะอ่อนตัวมาที่ 6% ในปี 2022 ส่วนการค้าบริการจะฟื้นตัวช้ากว่าการค้าสินค้า ซึ่งสอดคล้องกับการลดลงของการท่องเที่ยวข้ามพรมแดนและการเดินทางเพื่อธุรกิจ จนกว่ากการแพร่เชื้อลดลงในทุกที่

ส่วนเงินเฟ้อ แม้คาดว่าจะมีการฟื้นตัวในปี 2021-2022 แต่ยังไม่เต็มศักยภาพไปจนถึงหลังปี 2022 อัตราเงินเฟ้อจะยังคงอ่อนตัวลงในช่วง 2 ปีนี้สอดคล้องกับศักยภาพการผลิตที่ติดลบต่อเนื่อง ในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า คาดว่าโดยทั่วไปเงินเฟ้อจะยังคงต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางที่ 1.5% ส่วนในบรรดาตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนามีการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงกว่า 4% เล็กน้อยซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตของกลุ่ม

การอนุมัติวัคซีนหลายรายและการเปิดตัวการฉีดวัคซีนในบางประเทศในเดือนธันวาคม ทำให้เกิดความหวังว่าการระบาดจะยุติลงในที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมากหลังจากการคาดการณ์ WEO ในเดือนตุลาคมปี 2020 ชี้ให้เห็นว่า ยังเดินหน้าต่ออย่างแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ทั่วทุกภูมิภาคในช่วงครึ่งหลังของปี 2020

แม้ว่าการติดเชื้อและการเสียชีวิตจากระบาดของโรคจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวไปสู่กิจกรรมที่ต้องติดต่อกันน้อยลง และการออกนโยบายเพิ่มเติมที่ประกาศเมื่อปลายปี 2020 โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนเนื่องเศรษฐกิจโลกต่อเนื่องในปี 2021–2022 บ่งชี้จุดเริ่มต้นของแนวโน้มที่แข็งแกร่งของทั่วโลกในปี 2021–2022 มากกว่าที่คาดไว้ในการประเมินครั้งก่อน

อย่างไรก็ตามยังมีความกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2020 (รวมถึงไวรัสที่กลายพันธ์) การล็อกดาวน์รอบใหม่, ปัญหาด้านโลจิสติกส์ของการกระจายวัคซีน และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการได้รับวัคซีน ยังเป็นประเด็นสำคัญ และยังคงต้องมีการดำเนินการอีกมากในแนวนโยบายด้านสาธารณสุขและนโยบายเศรษฐกิจเพื่อจำกัดความเสียหายต่อเนื่องจากการหดตัวอย่างรุนแรงของ 2020 และการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน

การติดเชื้อจะเริ่มลดลงและมาตรการจำกัดจะผ่อนคลายลงในช่วงต้นปีนี้และเป็นแรงส่งที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสสอง เพราะมีวัคซีนและยารักษาโรคโควิด พร้อมใช้ ส่งผลให้ภาคที่มีการติดต่อกับคนเป็นส่วนใหญ่แข็งแกร่งขึ้น

อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวจะไม่เท่าเทียมกันและมีการฟื้นตัวที่มีทิศทางที่ต่างกัน กิจกรรมของโลกโดยรวมจะอยู่ในระดับต่ำกว่ากว่าก่อนการระบาด

ความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวที่คาดการณ์ไว้ จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของวิกฤตสาธารณสุข ขอบเขตของกิจกรรมในประเทศ (เกี่ยวข้องกับโครงสร้างของเศรษฐกิจและการพึ่งพาภาคธรกิจที่ต้องมีการสัมผัสกันมาก) ระดับการรับผลกระทบจากภายนอก และที่สำคัญคือประสิทธิภาพของนโยบายที่สนับสนุนเพื่อจำกัดความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งต้องมีการดำเนินนโยบายสนับสนุนอย่างมีประสิทธิภาพจนกว่าจะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวแข็งแกร่งหรือจนกว่าวัคซีนจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ และลดความเสียหายจากการการถดถอยอย่างหนักในปีที่แล้ว รวมทั้งการเพิ่มผลผลิตตามศักยภาพ ต้องเน้นการเติบโตแบบมีส่วนร่วมที่ทุกคนได้ประโยชน์ และเร่งการเปลี่ยนไปสู่การพึ่งพาคาร์บอนให้น้อยลง

การผลักดันการลงทุนสีเขียวควบคู่ไปกับการทะยอยใช้มาตรการที่ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีต้นทุนสูงขึ้นต่อเนื่อง จะทำให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซ ขณะที่สนับสนุนการฟื้นตัวจากภาวะถดถอยจากการระบาดใหญ่

นอกจากนี้ต้องมีความร่วมมือของหลายฝ่ายที่เข้มแข็งเพื่อให้ควบคุมการแพร่ระบาดทุกแห่งให้ได้ รวมไปถึงการสนับสนุนเงินทุนสำหรับโครงการจัดหาวัคซีนขององค์การอนามัยโลก หรือ COVAX เพื่อเร่งการเข้าถึงวัคซีนสำหรับทุกประเทศ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นว่ามีการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการรักษาในราคาที่ทุกคนจ่ายได้

หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตด้วยหนี้ที่สูง และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีกในช่วงการระบาด ประชาคมโลกจะต้องทำงานอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่ามีสภาพคล่องระหว่างประเทศอย่างเพียงพอ เพื่อให้ประเทศเหล่านี้เข้ามาใช้ได้ ในกรณีที่หนี้สาธารณะมีปัญหา ประเทศเหล่านี้ควรทำงานร่วมกับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้กรอบที่ตกลงร่วมกันโดย G20