ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ยันไม่ใช่ “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” มั่นใจเอาอยู่-มติ ครม. เคาะ “คนละครึ่ง” เฟส 2 ลงทะเบียน 16 ธ.ค. นี้

นายกฯ ยันไม่ใช่ “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” มั่นใจเอาอยู่-มติ ครม. เคาะ “คนละครึ่ง” เฟส 2 ลงทะเบียน 16 ธ.ค. นี้

8 ธันวาคม 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

นายกฯ ยันไม่ใช่ “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” มั่นใจรัฐบาลเอาอยู่ สั่งฝ่ายมั่นคงจับตาม็อบ – ชี้ “สาธารณรัฐ” เป็นไปไม่ได้-มติ ครม.เคาะ “คนละครึ่ง” เฟส 2 คนละ 3,500 บาท ลงทะเบียน 16 ธ.ค.นี้ พร้อมเพิ่มวงเงินบัตรคนจน 500 บาท 3 เดือน

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

เมินคำทำนาย – แจงปรับ ครม. ใช้หลักบริหารของตน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีโหรวารินทร์ออกมาทำนายว่านายกฯ จะอยู่ยาวจนถึงการเลือกตั้งในสมัยต่อไป และ 3 ป. จะยังมีชื่ออยู่ต่อ ว่า กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการคาดเดาในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เป็นการทำนายก็ว่ากันไป

ต่อประเด็นการที่โหรทำนายถึงการปรับ ครม. นายกรัฐมนตรี ฝกล่าวว่า เรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องที่ตนจะต้องดำเนินการ ตนก็คงไม่ได้ไปทำตามที่ทำนายไว้หมด เพราะว่าตนต้องใช้หลักการในการบริหารราชการแผ่นดินของตน

ฝ่ายมั่นคงจับตาม็อบ – ชี้ “สาธารณรัฐ” เป็นไปไม่ได้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่ผู้ชุมนุมประกาศจุดยืนเรื่อง “สาธารณรัฐ”  ว่า เรื่องการประกาศจุดยืนดังกล่าวนั้นถูกหรือเปล่า ฝ่ายกฎหมายจะต้องไปพิจารณาว่ามีข้อกำหนดกฎเกณฑ์ใดหรือไม่ รัฐบาลก็จะต้องป้องปรามยับยั้งไม่ให้ไปสู่จุดนั้น

“ต้องดูเจตนาของเขา ความเป็นไปได้ บ้านเมืองเรามีกฎหมายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นใครเข้าข่ายการกระทำความผิดยุยงปลุกปั่นผู้นั้นจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทุกประการ”

เมื่อถามว่ามีความเห็นอย่างไรต่อเรื่องสาธารณรัฐ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนไม่มีความเห็น ประเทศไทยไม่ใช่สาธารณรัฐ มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

แย้มอีกไม่นานรู้ชื่อ คกก.สมานฉันท์ฝั่งรัฐบาล

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการตัดสินใจเลือกบุคคลในฝ่ายรัฐบาลเข้าเป็นตัวแทนตัวแทนในคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ขอให้ทางวิปรัฐบาลได้จัดเตรียมนำเสนอขึ้นมาก่อน อีกไม่นานก็คงทราบ

เตรียมของขวัญปีใหม่เพียบ หวังฟื้นฟูท่องเที่ยว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีของขวัญปีใหม่ของรัฐบาล ว่า ของขวัญปีใหม่นั้นมีอยู่หลายกระทรวงด้วยกันที่ได้ดำเนินการหลายมาตรการ หลายโครงการ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “คนละครึ่งเฟส 2” ก็ชัดเจนอยู่แล้ว นอกจากนี้จะต้องไปดูในเรื่องของการขนส่งการคมนาคมในช่วงปีใหม่ และในส่วนของรัฐบาล กระทรวงและ กทม. ก็ร่วมกันในการที่จะทำให้เกิดการใช้จ่ายมีการท่องเที่ยว มีการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งจะมีการชี้แจงอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า การประชุม ครม. มีหลายเรื่อง มีหลายมาตรการที่ออกมาที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ในด้านเศรษฐกิจ ในเรื่องของการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ หลายอย่างเราต้องปรับวิธีคิดของเราใหม่ เพราะหากเราทำแบบเดิมๆ ก็ทำไม่ได้ หรือไม่ทันกาล ไม่ทันต่อการเปลี่ยนรอบบ้านเรามากนัก โดยเฉพาะประเทศที่มีการลงทุน มีการพัฒนา ซึ่งวันนี้มีหลายอย่างต้องปรับแก้ มีกฎหมายกลางออกมาใหม่ มีกฎระเบียบออกมาใหม่ เพื่อทำให้ข้างล่างและระดับพื้นที่สามารถที่จะเข้าใจ และทำได้จริงจัง โดยเฉพาะการเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-government) ที่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จะทำให้ได้

“วันนี้รัฐบาลได้เข้มงวดและกำชับกำกับดูแลในเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป แผนแม่บทต่างๆ ก็มาทบทวนมาไล่กันดูว่า ตรงไหนเรียบร้อย ตรงไหนก้าวหน้า ตรงไหนมีปัญหาอุปสรรคก็แก้ไขกัน ที่สำคัญคือข้อกฎหมาย เมื่อมีกฎหมายใหญ่แล้วก็ต้องมีกฎหมายลูกออกมาให้สอดคล้องกับกฎระเบียบกระทรวงต่างๆ เพราะมีปัญหาทั้งหมด”

“มันไม่ง่ายนักหรอกที่จะมาเสนอ มาพูดกันว่าจะทำโน้นทำนี้ และทำวันนี้สั่งวันนี้พรุ่งนี้ได้เลยมันเป็นไปไม่ได้ เพราะมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้เข้าใจในการบริหารจัดการด้วย งานต้องรัดกุม รอบคอบ ถูกต้องตามกฎหมาย มีเจตนาบริสุทธิ์ ในการดูแลประชาชนของเราที่ได้รับความเดือดร้อน ในปัจจุบันหลายเรื่องต้องมาทบทวน ทั้งเรื่องการเกษตร เรื่องที่ดิน และหลายๆ เรื่อง ตนได้สั่งการไปหมดแล้ว ก็ต้องใช้เวลาในการคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ วันนี้ต้องทำทั้งเร่ิมต้นใหม่ และขจัดปัญหาอุปสรรคเดิมๆ ที่มาหลายปีให้ได้โดยเร็ว มันก็ต้องปรับแก้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น บางอย่างเกิดขึ้นมาแล้วแต่ไม่ได้แก้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเราได้ตั้งกลไกหลายอย่างขึ้นมาเพื่อร่วมแก้ไข”

ชี้ตั้งกระทรวงน้ำฯ ไม่ง่าย-สทนช. บูรณาการอยู่แล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงเรื่องกระแสข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เรื่องรัฐบาลจะจัดตั้งกระทรวงน้ำและดินขึ้นมาใหม่ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำทั้งระบบ ว่า เรื่องดังกล่าวมีการเสนอเข้ามา แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะจัดตั้งกระทรวงขึ้นมาใหม่ ซึ่งรัฐบาลก็ใช้การบริหารที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันที่มีการสร้างกลไกขึ้นมา คือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในการที่จะดูในภาพรวมและไปบูรณาการในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทานหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำเหล่านี้ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงและเกิดการบูรณาการซึ่งกันและกันในทุกระบบ

ยันยังไม่ใช่ “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” มั่นใจรัฐบาลเอาอยู่

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความมั่นใจของรัฐบาลที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโควิด-19 รอบสอง ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่รัฐบาลอย่างเดียวแต่ทุกคนต้องช่วยกัน ซึ่งเห็นอยู่แล้วว่ามีการป้องกันได้ดีโดยตลอดจนกระทั่งมีคนเพียงไม่กี่คนทำให้เกิดสถานการณ์นี้ขึ้น ซึ่งทั้งนี้ก็ต้องมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม และต้องขอความร่วมมือจากสื่อกับประชาชนโดยตรง คืออย่าสร้างความตื่นตระหนกให้มากนัก เพราะก็รู้ว่าต้นตอมาอย่างไรที่ไหน รัฐบาลก็ตามแก้ปัญหาไป ซึ่งหากระบาดระลอก 2 ขึ้นมาแล้วจะทำอย่างไรก็ต้องเตรียมความพร้อมไว้ ถ้าไปถึงขั้นนั้นก็คงต้องชัตดาวน์ อย่างไรก็ตาม ในระดับพื้นที่ประชาชนต้องร่วมมือในการสังเกตผู้ที่เข้ามาอย่างผิดปกติ ซึ่งได้มีการย้ำเตือนไปแล้ว

“มันเป็นเรื่องที่คนกลุ่มหนึ่งเข้ามาแล้วไปนู่นไปนี่ ซึ่งรัฐบาลก็ตามอยู่ในทุกช่องทุกประเด็นว่าไปเกี่ยวข้องกับใครบ้าง ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบโดยใช้มาตรการทางสาธารณสุขอยู่ ขณะนี้ก็รอผลการตรวจสอบอยู่ อย่าเพิ่งตื่นตระหนกกันมากนักเพราะฉะนั้นมันจะทำให้ทุกอย่างกลับไปเลวร้ายกว่าเดิม”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า โดยขอความร่วมมือจากสื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริง เพราะต้องช่วยกันในการสร้างความเชื่อมั่นไม่ใช่สร้างความตื่นตระหนกในทุกเรื่อง ซึ่งรัฐบาลก็มีศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. ในการชี้แจงสถานการณ์การแพร่ระบาดอยู่ทุกวัน และในวันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เดินทางไปยังภาคเหนือเพื่อไปดูและติดตามทำความเข้าใจไม่ให้ธุรกิจและการท่องเที่ยวแย่ลงไปกว่าเดิม

“จะเห็นได้ว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการยกเลิกการจองที่พักมากมาย เพราะว่าข่าวเสนอกันไปจนทุกคนเกรงว่ามันจะเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ ซึ่งไม่ใช่หรอก เพราะฉะนั้นขอให้เสนอข่าวแต่พอสมควร แต่ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะไปปิดบังอะไร ขอให้เสนอไปว่ารัฐบาลและหน่วยงานได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ก็คอยย้ำเตือนบุคคลที่ลักลอบเข้ามาและบุคคลที่ให้การช่วยเหลือบุคคลที่เข้าเมืองมาทางช่องทางธรรมชาติมีความผิดทุกท่านต้องถูกจับกุมดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่มีนโยบายแล้วว่าหากจะเข้ามาก่อให้เข้ามาในช่องทางที่ถูกกฎหมายเพื่อจะเข้าสู่การตรวจสอบคัดกรองต่างๆ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการลักลอบเข้ามาอีก

และตนได้กล่าวย้ำเตือนในที่ประชมแล้วว่าให้ระมัดระวังพื้นที่รอบประเทศ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวสถานการณ์ไม่ดีนัก ฉะนั้นต้องตรวจสอบคัดกรองให้ดีที่สุดในช่องทางทั้งปกติและป้องกันในช่องทางธรรมชาติที่มีอยู่มากมายด้วยกัน

“ทุกคนต้องรู้ตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ ทำงานอะไรที่ไหนมีความเสี่ยงแค่ไหนและต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ต้องมีจิตสำนึกเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตนให้มาก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจะได้ไม่เกิดขึ้นอีก วันนี้ก็เข้มงวดทุกประการเห็นใจเจ้าหน้าที่เขาทำงาน แต่คนไม่กี่คนทำให้ทุกอย่างเสียหาย คนเหล่านี้จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายต่อไป”

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ www.thaigov.go.th

เคาะ “คนละครึ่ง” เฟส 2 คนละ 3,500 บาท ลงทะเบียน 16 ธ.ค.นี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการ “คนละครึ่ง” เฟส 2 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม  2564 วงเงินรวม 22,500  ล้านบาท โดยกลุ่มเป้าหมายจำนวนไม่เกิน 15 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิเดิมไม่เกิน 10 ล้านคน และผู้ลงทะเบียนในระยะที่ 2 จำนวนไม่เกิน 5 ล้านคน

โดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ มีดังนี้

  1. ผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 จำนวน 15 ล้านคน ประกอบด้วย (1) ผลทะเบียนเดิมจะได้สิทธิ์สนับสนุนค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป จากภาครัฐเพิ่มเติม 500 บาท และ (2) ผู้ลงทะเบียนใหม่ เริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2563 เวลา 06.00 น. – 23.00 น ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com และยืนยันตัวตนผ่านระบบ g-Wallet แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้สิทธิ์ไม่เกิน 3,500 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ
  2. ประชาชนที่ได้รับสิทธิและไม่เริ่มใช้จ่ายภายใน 14 วัน นับจากวันที่ได้รับ SMS จะถูกตัดสิทธิและไม่สามารถลงทะเบียนได้อีก
  3. ผู้ประกอบการร้านอาหาร/เครื่องดื่ม ร้านค้าทั่วไป ต้องเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ใช่นิติบุคคล หรือเป็นร้านค้าของกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมืองตามพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547 หรือวิสาหกิจชุมชนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อที่เป็นธุรกิจแฟรนไชส์

นายอนุชา กล่าวอีกว่า จากรายงานคาดการณ์ว่าโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 45,000 ล้านบาท และ GDP ขยายตัวร้อยละ 0.14 และเมื่อรวมทั้งสองระยะเงินหมุนเวียนในระบบจะสูงถึง 105,000 ล้านบาท GDP ขยายตัวร้อยละ 0.32

ลดวงเงิน “เราเที่ยวด้วยกัน” เหลือ 1.5 หมื่นล้าน เพิ่มยอดจองห้องพัก-เครื่องบิน

นายอนุชา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบปรับปรุง “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” โดยมีสาระสำคัญคือการเพิ่มจำนวนการจองห้องพัก ขยายระยะเวลาโครงการฯ และสนับสนุนค่าเครื่องบินจาก 2,000 บาท เป็น 3,000 บาท ใน 7 จังหวัดท่องเที่ยว และปรับลดกรอบวงเงินโครงการฯ เหลือ 15,000 ล้านบาท จาก 20,000 ล้านบาท โดยรายละเอียดการปรับปรุงโครงการฯ มีดังนี้

  1.   ปรับปรุงขอบเขตการใช้สิทธิ์จำนวนการจองห้องพัก จากเดิมประชาชนจองที่พักได้ไม่เกิน 10 คืนต่อ 1 สิทธิ์ สามารถจองที่พักเพิ่มอีก 5 คืน เป็น 15 คืนต่อ 1 สิทธิ์
  2. เพิ่มจำนวนห้องพักอีก 1 ล้านคืน จากเดิม 5 ล้านคืน เป็น 6 ล้านคืน
  3. ขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการ ประกอบด้วย (1) การใช้สิทธิ์ โครงการ จากสิ้นสุดวันที่ 31 มกราคม 2564 เป็นวันที่ 30 เมษายน 2564 (2) การจองโรงแรมที่พัก จากช่วงเวลา 06.00 – 21.00 น. เป็นช่วงเวลา 06.00 – 24.00 น.
  4. เพิ่มโรงแรมที่พักที่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบการโรงแรม แต่ต้องมีหมายเลขประจำตัวของผู้เสียภาษี (Tax ID) และมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
  5. อนุมัติให้ธุรกิจและบริการที่เกี่ยวข้องสามารถรับ E-Voucher ได้ ประกอบด้วย ธุรกิจการขนส่ง ธุรกิจสปาหรือนวดเพื่อสุขภาพ รถเช่าเพื่อการท่องเที่ยว และเรือเช่าเพื่อการท่องเที่ยว ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
  6. ปรับเกณฑ์การสนับสนุนค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน จาก 2,000 บาทต่อที่นั่ง เป็น 3,000 บาทต่อที่นั่งเฉพาะเมืองหลักทางการท่องเที่ยว 7 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สงขลา สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ และเชียงราย
  7. กำหนดหลักเกณฑ์การลาสำหรับข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่ลงทะเบียนและใช้สิทธิ์ โครงการฯ ได้แก่ หลักฐานแสดงการลงทะเบียนร่วมโครงการฯ และหลักฐานแสดงการเช็คอินและเช็คเอ้าท์โรงแรงที่พัก
  8. จัดกิจกรรมกระตุ้นการเดินทางในรูปแบบ Consumer Fair จำนวน 3 ครั้ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภาคเหนือ และภาคใต้ ควบคู่กับมาตรการสาธารณสุขต่างๆ งบประมาณ 9 ล้านบาท

ปรับรายละเอียด “โครงการกำลังใจ” เปิดลงทะเบียนบริษัทนำเที่ยวเพิ่ม

นายอนุชา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบการปรับปรุงรายละเอียด “โครงการกำลังใจ” โดยเปิดให้บริษัทนำเที่ยวที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ โดยใช้หลักเกณฑ์เดิมของโครงการฯ   (เป็นบริษัท นำเที่ยวที่จดทะเบียนถูกต้องตามพ.ร.บ. ธุรกิจนำเที่ยว โดยจดทะเบียนก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563) รวมบริษัทนำเที่ยวที่กรอกรายการนำเที่ยวไม่ครบ 15 รายการสามารถกรอกเพิ่มเติมได้ แต่หากกรอกครบ 15 รายการแล้วจะไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้

เห็นชอบร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ รับผลกระทบโควิด ฯ

 นายอนุชา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้หน่วยงานของรัฐนำไปเป็นกรอบจัดทำโครงการ/การดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2565 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19

ร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ประกอบด้วย 3 มิติ และ 4 ประเด็นการพัฒนา ดังนี้

โดย 3 มิติการพัฒนา ได้แก่ การพร้อมรับ (Cope) สามารถบริหารจัดการภายใต้สภาวะวิกฤติ, การปรับตัว (Adapt) คือปรับทิศทาง รูปแบบและแนวทางการพัฒนาสอดรับกับความเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโตอย่างยั่งยืน (Transform) เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและปัจจัย

ส่วน 4 ประเด็นการพัฒนา ได้แก่ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy), การยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth), การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ (Human Capital) และการปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors)

ผ่านแผนปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน กำชับ 36 หน่วยงานดำเนินการภายในปี 65

นายอนุชา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบ ร่างแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) 13 ด้าน พร้อมแนวทางการขับเคลื่อน ได้แก่ (1) การเมือง (2) การบริหารราชการแผ่นดิน (3) กฎหมาย (4) กระบวนการยุติธรรม (5) เศรษฐกิจ (6) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (7) สาธารณสุข (8) สื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ (9) สังคม (10) พลังงาน (11) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (12) การศึกษา และ (13) วัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ร่างแผนฉบับปรับปรุงมีสาระสำคัญคือเน้นการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนและสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง 62 กิจกรรม โดยมีหน่วยงานผู้รับผิดชอบทั้งสิ้น 36 แห่ง และ 2 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2565  โดยมีกฎหมายที่ต้องจัดทำหรือปรับปรุง รวมทั้งสิ้น 45 ฉบับ

นายกฯ เตรียมประชุม ACMECS ผลักดันความร่วมมือจ้างงาน

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS ) ครั้งที่ 9 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับผู้นำประเทศสมาชิกอีก 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม และเลขาธิการอาเซียน ในวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ระหว่างเวลา 8.30 -10.00 น. ภายใต้หัวข้อ “หุ้นส่วนเพื่อความเชื่อมโยงและความยืดหยุ่น” (Partnership for Connectivity and Resilience)

นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า กรอบการประชุม ACMECS จะสร้างผลประโยชน์ต่อประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการสร้างงาน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคในอนุภูมิภาค ลดอุปสรรคและเพิ่มพูนการค้า การขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างกัน

นายอนุชา กล่าวอีกว่า การประชุมดังกล่าวจะช่วยยกระดับสถานะของไทยในเวทีระหว่างประเทศเรื่องการรับมือกับโควิด-19 สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นานาประเทศถึงขีดความสามารถในการรับมือกับวิกฤตสาธารณสุขในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพในการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ คาดว่าในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมฯ จะรับรอง “ร่างปฏิญญาพนมเปญ” ด้วย

เพิ่มวงเงินบัตรคนจน 500 บาท อีก 3 เดือน

นายอนุชา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบช่วยเหลือกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยให้วงเงินค่าซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคจำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่มกราคม – มีนาคม 2564  ส่วนกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนไม่เกิน 13,756,995 คน ได้รับวงเงิน ไม่เกิน 20,635.4925 ล้านบาท

อนุมัติ 1.7 พันล้าน ชดเชยราคายาง -ยัน “บัตรเขียว-ชมพู” ได้เงินทุกคน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบโครงการประกันราคายางพาราระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยผู้ที่จะได้รับเงินส่วนต่างจะมีทั้งผู้ที่ถือบัตรสีเขียว (เกษตรกรที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์) ที่มีจำนวน 1,142,294 ราย และเกษตรกรชาวสวนยางที่ถือบัตรสีชมพู (เกษตรกรที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์) ที่มีจำนวน 419,060 ราย รวมแล้วจะมีเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศจะได้รับเงินส่วนต่างประมาณ 1,500,000 ราย

ทั้งนี้ การจ่ายเงินส่วนต่างจะแบ่งออกเป็น 6 งวด เดือนละงวด จะเริ่มจ่ายงวดแรกในวันที่ 11 ธันวาคม 2563 นี้ โดยจ่ายตรงผ่านบัญชี ธ.ก.ส. เจ้าของสวนยางและคนกรีดยางที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ ระยะที่ 1 มีคุณสมบัติครบถ้วน คือขึ้นทะเบียนก่อน 12 สิงหาคม 2562 ส่วนเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2562 แต่ไม่เกิน 15 พฤษภาคม 2563  กยท. ได้ตรวจสอบและส่งข้อมูลการจ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้ตามโครงการฯ ให้กับ ธ.ก.ส. แล้ว เพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรชาวสวนยางในรอบถัดไป

โดยเงินส่วนต่างที่ต้องใช้ในงวดแรก มีดังนี้

  • ยางแผ่นดิบ จะไม่ได้เงินส่วนต่าง เพราะปัจจุบันราคายางแผ่นดิบมีราคา 60 บาทไปแล้ว ซึ่งราคา ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2563 กิโลกรัมละ 65 บาท
  • น้ำยางข้น จะมีเงินส่วนต่าง กิโลกรัมละ 4.14 บาท และน้ำยางก้อนถ้วย จะมีส่วนต่างกิโลกรัมละ 3.19 บาท

“เงินส่วนต่างที่จะใช้ในงวดแรก อยู่ที่ 1,789 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สำหรับราคายางในปัจจุบันนั้นถือว่ากระเตื้องดีขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วที่อยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 40 บาท แต่ช่วงระยะเวลานี้อยู่ที่กิโลกลัมละ 60 กว่าบาท ซึ่งราคาทรงอยู่หลายสัปดาห์แล้ว ถือว่าราคายางในช่วงหลายสัปดาห์อยู่ในเกณฑ์ที่ดี” นายจุรินทร์ กล่าว

ด้าน ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้อนุมัติโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางระยะที่ 2 ไปแล้ว แต่ว่าในทางปฏิบัติยังคงมีเกษตรกรกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้ถือบัตรสีชมพู ที่ยังคงเป็นเกษตรกรที่ประกอบอาชีพทำสวนยางเพื่อดำรงชีพและเป็นกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสซึ่งไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรได้ ซึ่งตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลของโครงการประกันรายได้ต้องการที่จะดูแลเกษตรกรชาวสวนยางทุกกลุ่ม เพราะฉะนั้นจึงได้มีการพิจารณาใน 2 เรื่องด้วยกัน คือ

  1. อนุมัติให้เกษตรกรที่แจ้งพื้นที่ปลูกยางซึ่งเป็นเกษตรกรที่ยังไม่มีเอกสารแสดงการอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐหรือยินยอมให้ใช้ทำประโยชน์ทางการเกษตรได้รับความช่วยเหลือในการประกันรายได้ตามวัตถุประสงค์และกรอบแนวทางการดำเนินงานของโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2
  2. คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ปรับวิธีการกำหนดราคากลางอ้างอิงเป็นประกาศทุก 1 เดือนจากเดิมประกาศทุก 2 เดือน โดยใช้ราคาอ้างอิงเฉลี่ยของแต่ละเดือนที่ชดเชยนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป และได้มีการปรับแก้คำนิยามคำว่า “ราคากลางอ้างอิงการขาย” นั้นให้หมายถึง ราคาที่คณะทำงานกำหนดราคาอ้างอิงประกาศทุก 1 เดือน (บาท/กิโลกรัม) โดยพิจารณาจากราคาตลาดกลางยางพาราไซคอม โตคอมและเซี่ยงไฮ้ และปัจจัยอื่นๆ

“ยืนยันว่าชาวสวนยางพาราที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้แจ้งรายชื่อกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ว่าจะถือบัตรสีเขียวหรือบัตรสีชมพูจะได้รับเงินส่วนต่างประกันรายได้อย่างแน่นอน และเกษตรกรที่เป็นคนกรีดยางที่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ด้วยอีก 272,733 ราย รวมถึงได้มีการปรับวิธีการกำหนดราคาอ้างอิงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาตลาดมากขึ้นเพื่อการดำเนินการจ่ายเงินส่วนต่างจะได้สอดคล้องกับราคาที่เป็นสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด”

ปรับลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนนิติออนไลน์ 50%

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ลดอัตราค่าธรรมเนียม และยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน การขอตรวจเอกสาร การขอสำเนาเอกสาร พร้อมคำรับรอง และค่าธรรมเนียมอื่นที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด พ.ศ. ….. โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มส่วนลดอัตราค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) จากเดิมที่ลดให้ร้อยละ 30 เป็นลดให้ร้อยละ 50 และขยายระยะเวลาการลดอัตราค่าธรรมเนียมออกไปอีก 3 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า มีผู้จดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็นร้อยละ 4 จากจำนวนผู้มายื่นคำร้องทั้งหมด (ข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายน2561 – สิงหาคม 2563)

ปรับเกณฑ์นักท่องเที่ยว STV ยังย้ำต้องกักตัว 14 วัน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ฉบับที่ ..) รวม 2 ฉบับ โดยทั้ง 2 ฉบับ เป็นการยกเลือกเงื่อนไขกรณีการเดินทางมาพำนักระยะยาว สำหรับบุคคลต่างด้าวที่เป็นนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (STV) และการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวโดยเรือสำราญและกีฬา (เรือยอร์ช) โดยไม่จำกัดประเทศ รวมถึงขยายระยะเวลาขอรับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (STV) ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองให้แก่คนต่างด้าวที่มากับเรือสำราญและกีฬา (เรือยอร์ช) ออกไปอีก 30 วัน นับจากวันที่ประกาศบังคับใช้

“แม้จะมีการผ่อนปรนในเรื่องดังกล่าว นักท่องเที่ยวทั้งสองกลุ่มยังคังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการขอวีซ่า (STV) ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด อาทิ การแจ้งที่พำนักในประเทศไทยให้ชัดเจน และต้องยินยอมที่จะกักตัวเป็นเวลา 14 วัน”

แก้กม.เปิดทาง ขสมก. “ขยายไลน์ธุรกิจ-ออกพันธบัตรกู้เงิน”

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งและอำนาจการดำเนินกิจการของขสมก. ให้สามารถประกอบธุรกิจอื่นๆ ออกพันธบัตรเงินกู้หรือตราสารอื่นใด เพื่อการลงทุนหรือเพื่อประโยชน์แก่กิจการของขสมก.ได้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการขสมก.

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้เสนอว่า ขสมก.ได้ดำเนินการศึกษาโครงการพัฒนาการใช้พื้นที่เชิงธุรกิจ อู่มีนบุรีและอู่บางเขน โดยพบว่า อู่มีนบุรีมีพื้นที่ 10 ไร่ มีราคาตลาดมูลค่า 347 ล้านบาท มีความเหมาะสมในการพัฒนาเป็นอพาร์ตเม้นท์และตลาด ลักษณะการให้สิทธิเอกชนเข้าพัฒนาพื้นที่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง  ส่วนอู่บางเขนมีพื้นที่ 11ไร่ 1 งาน 93 ตารางวา มีราคาตลาดมูลค่า 1,148.25 ล้านบาท  มีความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการประเภท ศูนย์การค้า โรงแรม ลักษณะเปิดให้เอกชนประมูลเพื่อลงทุนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรม

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการบริหารกิจการ ขสมก.พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้ ขสมก.เพิ่มรายได้ให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ลดภาระกับภาครัฐ จำเป็นต้องพัฒนาพื้นที่ในเชิงธุรกิจตามแผนฟื้นฟูกิจการ จึงเห็นควรให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา6 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ.2519  นอกจากนี้เพื่อการบริหารจัดการหนี้สินและเกิดประโยชน์ในการชำระหนี้ได้ในระยะยาวจำเป็นต้องออกพันธบัตรเงินกู้ จึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา7(7) ในพระราชกฤษฎีกาฉบับเดียวกัน

อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดเกณฑ์พื้นที่ปลูกสมุนไพร

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาต การขอออกใบแทนใบอนุญาต การพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาตเพื่อจัดการบริหารพื้นที่คุ้มครองสมุนไพรหรือใช้ประโยชน์จากสมุนไพร ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามข้อกฎหมายในมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ที่บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองสมุนไพร

ประกอบกับมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย บัญญัติให้ในพื้นที่คุ้มครองสมุนไพร ห้ามไม่ให้ผู้ใดยึดถือ หรือครอบครองที่ดิน หรือปลูก-ก่อสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  ตัด โค่น แผ้วถาง เผา หรือทำลายต้นไม้หรือพฤกษาชาติอื่น หรือทำลายความหลากหลายทางชีวภาพหรือระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติ หรือขุดหาแร่ หิน ดิน หรือปลี่ยนแปลงทางน้ำ  หรือทำให้น้ำในลำน้ำ ลำห้วย หนอง บึง ท่วมท้น เหือดแห้ง เป็นพิษ หรือเป็นอันตรายต่อสมุนไพร  เว้นแต่การดำเนินการใดๆ เพื่อจัดการบริหารพื้นที่คุ้มครองสมุนไพร หรือใช้ประโยชน์จากสมุนไพรโดยได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต โดยการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนั้นจึงต้องมีร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ออกมาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว

เห็นชอบ 6 ยุทธศาสตร์จัดสรรงบประมาณปี 2565

นางสาวไตรศุลี  กล่าวว่า ครม. เห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ดังนี้คือ ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง, ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน, ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์, ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม,ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

ทั้งนี้สำนักงบประมาณได้ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานก.พ.ร. และสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง จัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณปี2565 ขึ้นมา โดยมีกรอบที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ,นโยบายระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ, แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 และนโยบายรัฐบาล

สำหรับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 นี้ได้มุ่งให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับประเด็นการพัฒนาตามแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 4 ประเด็นคือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ, การยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว, การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

และ การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ โดยต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถรับมือและเตรียมความพร้อมในการเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

แจงความคืบหน้า พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 1 ล้านล้าน-กู้แล้ว 373,761 ล้านบาท

นางสาวไตรศุลี  กล่าวว่า ครม. รับทราบรายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประจำปีงบประมาณ 2563 โดยได้กำหนดวงเงินกู้ไว้ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่ง ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 กระทรวงการคลังได้ลงนามในสัญญากู้เงินและออกตราสารหนี้ภายใต้พระราชกำหนดแล้วจำนวน 373,761 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 37.38 ของวงเงินกู้ตามพระราชกำหนด

ขณะที่ ครม. ได้อนุมัติแผนงาน หรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดดังกล่าวแล้วจำนวน 46 โครงการ วงเงินรวม 476,587.44 ล้านบาท และหน่วยเจ้าของโครงการได้เบิกจ่ายเงินกู้แล้วจำนวน 298,071.71 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.54 ของกรอบวงเงินตามที่ ครม. อนุมัติ  ซึ่งกระทรวงการคลังจะทยอยกู้เงินเมื่อ ครม. อนุมัติโครงการเพิ่มเติมตามความจำเป็นและความสอดคล้องกับการใช้เงินของโครงการต่อไป

ทั้งนี้จากการดำเนินงานตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563  มีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 4 โครงการ สามารถเยียวยาให้กับผู้มีสิทธิ์จำนวน 30,524,376 ราย คิดเป็นร้อยละ 89.92จากกลุ่มเป้าหมายจำนวน 33,946,103 ราย แยกเป็นดังนี้

  1. โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยกระทรวงการคลัง วงเงินกู้ 240,000 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือ เยียวยา ให้กับผู้ประกอบอาชีพอิสระ และลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการที่เสี่ยงต่อการระบาดของโควิด-19 หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ได้จ่ายเงินให้กับผู้มีสิทธิ์จำนวน 15,269,006 ราย คิดเป็นร้อยละ 95.43 ของกลุ่มเป้าหมาย เบิกจ่ายเงินกู้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 จำนวน 159,583.94 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 93.87
  2. โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) วงเงินกู้ 3,492.67 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือ เยียวยา ให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการใดๆ ของภาครัฐ ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้กลุ่มคนดังกล่าวมีรายได้ลดลง และไม่สามารถหารายได้จากแหล่งอื่นมาทดแทนได้ โดยสศค. ได้จ่ายเงินให้กับผู้มีสิทธิ์จำนวน 1,026,496 ราย คิดเป็นร้อยละ 17 ของกลุ่มเป้าหมาย  เบิกจ่ายเงินกู้ได้จำนวน 3,087.59 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 88.40
  3. โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วงเงินกู้ 20,345.64 ล้านบาท ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มเปราะบางในระยะสั้น ช่วยให้มีรายได้เพียงพอที่จะลดความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในภาวะความยากจน และประสบปัญหาทางสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้นในระยะยาว โดยได้จ่ายเงินให้กับผู้มีสิทธิ์จำนวน 6,662,994 ราย คิดเป็นร้อยละ 98.25 ของกลุ่มเป้าหมาย เบิกจ่ายเงินกู้ได้  19,988.98 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 98.25
  4. โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงินกู้ 150,000 ล้านบาท  สามารถช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบให้มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพในช่วงภาวะวิกฤตและเพื่อเพิ่มเติมสภาพคล่องทางเศรษฐกิจและป้องกันการเกิดปัญหาทางสังคมที่อาจตามมา โดยได้จ่ายเงินให้กับผู้มีสิทธิ์จำนวน 7,565,880 ราย คิดเป็นร้อยละ 75.66  เบิกจ่ายเงินกู้แล้ว ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 จำนวน 113,304.40 ล้าน

ไทยรับเป็นเจ้าภาพวิทยาศาสตร์โอลิมปิก ครั้งที่ 19 ปี 2566

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครั้งที่ 19 ในประเทศไทย ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยใช้งบประมาณจาก มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) จำนวน 79 ล้านบาท

“ในปี 2556 ประเทศไทยเองก็ได้รับเชิญให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งที่ 19 โดยมีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นประธานในมูลนิธิร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาฯและกระทรวงสาธารณสุขในการจัดการแข่งขันขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 100 พรรษาชาตกาลของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เป็นการกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศด้านวิชาการส่งเสริมการเรียนการสอนในเรื่องของวิทยาศาสตร์โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันประมาณ 60 ประเทศจำนวน 600 คน”

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 8 ธันวาคม 2563เพิ่มเติม