ThaiPublica > คอลัมน์ > ยินดีด้วยที่คุณเรียนจบ: 3 ของแถมจากการศึกษา

ยินดีด้วยที่คุณเรียนจบ: 3 ของแถมจากการศึกษา

23 ตุลาคม 2015


ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ที่มาภาพ :  https://pixabay.com/en/color-pens-colorful-colored-pencils-866060/
ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/color-pens-colorful-colored-pencils-866060/

ปกติแล้วเวลาเราลงทุนในการศึกษา เรามักหวังผลตอบแทนในด้านทางหน้าที่การงานและรายได้ในอนาคตของเรา

หากแต่ว่าบางที “ของแถม” หรือ spillover effects จากการศึกษาต่อสังคมรอบๆ ตัวเราอาจมีค่ารวมกันแล้วมากกว่าผลตอบแทนส่วนตัวของแต่ละคนก็เป็นได้

คงไม่มีใครเถียงว่าหากมองแบบกว้างๆ แล้วโดยเฉลี่ยแล้วคนที่มีการศึกษามากกว่าจะหารายได้ได้สูงกว่าคนที่ไม่มีการศึกษา จากงานวิจัยจำนวนนับไม่ถ้วนในประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์เห็นตรงกันว่าการเพิ่มจำนวนปีของการสำเร็จการศึกษามากขึ้น 1 ปี จะทำให้เกิดรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้นประมาณ 8 ถึง 12 เปอร์เซ็นต์

พูดง่ายๆ คือ ประโยชน์ทางตรงต่อบุคคลที่ยอมสละเวลาอันแสนสนุกและเงินทองของพ่อแม่ไปเข้าเรียนนั้นมีอยู่ชัดเจน

แต่ที่เรายังไม่ทราบแน่ชัดคือ สิ่งอื่นๆ ที่การศึกษาของบุคคลเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดผลกระทบได้ เนื่องจากว่าการลงทุนเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถในช่วงเวลาหลายสิบปีนั้นอาจทำให้คุณเป็นพลเมืองที่แตกต่าง มีความคิดและพฤติกรรมที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าเรียนในหลายมิติ ไม่ใช่แค่ว่ามีทักษะทางการทำงานดีขึ้นอย่างเดียว การศึกษายังอาจทำให้คุณดูแลสุขภาพคุณได้ดีขึ้น เลี้ยงบุตรหลานได้ดีขึ้น มีโอกาสก่ออาชญากรรมน้อยลง เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น ฯลฯ

จริงอยู่ ปริญญาที่คุณถืออยู่ในมือเป็นของคุณ แต่มันมาพร้อมกับ “ของแถม” ที่สังคมเป็นผู้รับ

ที่เรื่องนี้สำคัญนั้นเป็นเพราะว่า หากผลกระทบ “นอกตลาดแรงงาน” เป็นผลกระทบทางบวกและมีผลกระทบรุนแรง บางทีสังคมอาจจะต้องมองเป้าหมายของการพัฒนาการศึกษาให้กว้างขึ้นและใส่ใจในความเท่าเทียมกันและคุณภาพมากขึ้นกว่าที่เคย

บทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงผลกระทบนอกตลาดที่น่าสนใจในมิติของ สุขภาพ อาชญากรรม และความเป็นพลเมือง

***ป.ล. การศึกษาในบทความนี้จะขอพูดถึงการศึกษาในมุมมองที่กว้างที่สุด คือเป็นแค่การปูพื้นฐานทำให้คนเราอ่านออกเขียนได้ มีทักษะในการเป็นมนุษย์ในยุคสมัยใหม่ มี cognitive skills ระดับหนึ่ง ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องเป็นหลักสูตรไหน วิชาอะไร

สุขภาพคุณไม่ใช่แค่ของของคุณ

ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/addict-addiction-ashtray-bad-burnt-84430/
ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/addict-addiction-ashtray-bad-burnt-84430/

มีการประเมินไว้ว่า ชีวิตชาวอเมริกันหนึ่งคนมีมูลค่าทางสถิติประมาณ 6-9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

หากการศึกษาสามารถช่วยชีวิตคนหรือต่อชีวิตช่วงที่คนเราทำงานออกไปได้ด้วยวิธีอ้อมๆ แค่ไม่กี่เดือนก็ถือว่าจะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันมหาศาล

ทุนมนุษย์ในสังคมนั้นสามารถแบ่งออกแบบหยาบๆ ได้เป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งคือมันสมอง อีกส่วนหนึ่งคือศักยภาพทางร่างกายหรือสุขภาพ การศึกษาที่ดีนั้นทุกคนทราบดีว่ามีผลกระทบเต็มๆ ต่อส่วนแรกที่เป็นมันสมอง ในส่วนที่สองนั้นนักเศรษฐศาสตร์หลายต่อหลายสมัยมีความสงสัยว่าการที่เรามีโอกาสได้ร่ำเรียนนั้นทำให้เราดูแลสุขภาพเราดีขึ้นแค่ไหนหากไม่รวมผลจากปัจจัยอื่นๆ ในชีวิต เช่น พันธุกรรม หรือรายได้

คำถามนี้น่าสนใจและมีความสำคัญมาก เพราะว่าสุขภาพของคุณไม่ใช่ของของคุณคนเดียว

การที่การศึกษาทำให้คุณสุขภาพดี นอกจากคุณจะเป็นแรงงานที่แข็งขัน ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยตลอดเวลาแล้ว คุณยังไม่เป็นภาระทางสังคมด้วย หนึ่งในเหตุผลคือคุณจะไม่แพร่กระจาย “ความป่วย” ให้กับเพื่อนร่วมสังคมบ่อยเท่ากับคนที่สุขภาพแย่ตลอดเวลา (ลองนึกถึงการไอจามกับการสูบบุหรี่มือสองดูครับ)

วิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่นักเศรษฐศาสตร์โนเบล แกรี เบกเกอร์ คือการให้คิดว่ามนุษย์เราต่างทำตัวเป็นโรงงานเพื่อทำการ “ผลิต” สินค้าและบริการจำนวนมากมายออกมาในสังคม สินค้าเหล่านี้มีทั้งเป็นสินค้าเป็นๆ และสินค้านามธรรม ไม่ว่าจะเป็น ความมีน้ำใจ ความสามารถในการล้างจาน หรือความเป็นนักเลง

หนึ่งในสินค้าเหล้านั้นก็คือสินค้าที่เราเรียกกันว่า “สุขภาพ” และมันเป็นไปได้อย่างมากที่การศึกษาจะทำให้มนุษย์เหล่านี้สามารถผลิต “สุขภาพ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ามนุษย์ที่ไม่มีการศึกษา จึงมีข้อสันนิษฐานเกิดขึ้นมามากมาย เช่น

• คนที่มีการศึกษาอาจจะเลือก “วัตถุดิบ” ในการผลิตสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า เพราะว่าพวกเขาอาจเลือกวิธีและแนวทางในการรักษาโรคได้ดีกว่า ดูออกว่าหมอคนไหนเก่ง เข้าใจว่าทำไมควรออกกำลังกาย ทำไมไม่ควรรับประทานอาหารที่ไม่สะอาดและทำไมไม่ควรสูบบุหรี่ เป็นต้น

อีกแนวคิดหนึ่งที่สวนทางกับแนวคิดแรกคือ การศึกษาทำให้คนเราเป็นโรงงานสุขภาพที่มีประสิทธิภาพกว่า แม้ว่าเราจะมี “วัตถุดิบ” ชุดเดียวกันกับคนอื่นๆ ที่ไม่มีการศึกษา เราเลือกที่จะใช้สิ่งที่เรามี อาหารที่เรามี ทำให้เกิดสุขภาพที่ดีกว่าทั้งๆ ที่สิ่งของที่เรามีกับสิ่งที่คนด้อยการศึกษามีคือสิ่งของชุดเดียวกัน

• อีกหนึ่งแนวคิดคือ การศึกษาสามารถเปลี่ยนทัศนคติของเราต่อ “กาลเวลา” เปลี่ยนความชอบระหว่าง “ปัจจุบัน” กับ “อนาคต” ทำให้เราใจเย็นและมองการณ์ไกลมากขึ้น อาจเป็นไปได้ว่าการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ทำให้เราเห็น flow of time การเรียนวิชาการเงินสอนให้เรามองไปข้างหน้าก่อนที่จะหา Net Present Value หรือการเรียนวิชาแนะแนวทำให้เราให้ความสำคัญกับอนาคตมากกว่าปัจจุบัน จึงอาจทำให้เราเลือกที่จะไม่สูบบุหรี่เพื่อความสุขวันนี้เพราะว่าเรามองเห็นความสำคัญของภัยสุขภาพที่จะตามมาในอนาคต

งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าการศึกษามีผลต่อสุขภาพจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นผลลัพธ์ต่ออายุขัย ต่อพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การออกกำลังกายหรือสูบบุหรี่ ไปจนถึงการเข้าถึงและเลือกใช้ความรู้ทางการแพทย์ใหม่ๆ หนึ่งตัวอย่างสำคัญคืองานวิจัยของ ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ที่พบว่าเรียนเพิ่มอีกหนึ่งปีจะสามารถลดโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ถึง 7-10 เปอร์เซ็นต์ จุดเด่นของงานวิจัยนี้คือการที่ผลลัพธ์ทางสุขภาพนั้นเป็นผลลัพธ์ที่แท้จริง ไม่ใช่การตอบแบบสำรวจสุขภาพที่อาจเกิดความไม่เที่ยงได้

ชั่งใจก่อนก่ออาชญากรรม

ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/defense-attorney-defense-lawyer-840062/
ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/defense-attorney-defense-lawyer-840062/

ที่ความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับอาชญากรรมสำคัญนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าสังคมไม่ต้องการอาชญากรรม อาชญากรรมมีต้นทุนและมูลค่าความสูญเสียสูง ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นการฆาตกรรมมีต้นทุนต่อสังคมราว 8 ล้านเหรียญสหรัฐ บางแห่งหากคิดค่าดำเนินคดี ค่าสืบสวน และค่าอื่นๆ นอกเหนือจาก productivity loss แล้วจะขึ้นไปสูงถึง 17.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อคดีฆาตกรรมหนึ่งคดี

อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ามาตรการในการลดอัตราการเกิดอาชญากรรมนั้นมีหลายวิธี เช่น การเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจ สร้างสถานีตำรวจ เพิ่มความรุนแรงของโทษ ซึ่งแต่ละวิธีมีค่าใช้จ่ายและความมีประสิทธิภาพไม่เท่ากัน เว็บไซต์นี้มีเครื่องคิดเลขอาชญากรรมให้ลองคำนวนดูเล่นๆ ว่าหากเราเพิ่ม/ลดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกี่นายในเมือง Los Angeles โดยเฉลี่ยแล้วจะเพิ่ม/ลดจำนวนอาชญากรรมและค่าเสียหายได้เท่าไหร่ต่อปี ดูตัวเลขแล้วใจหาย

หากเราย้อนกลับไปที่วิธีคิดว่าคนเราเป็นโรงงานผลิตสินค้าหลายๆ อย่างออกมาในสังคม อาชญากรรมก็สามารถเป็นหนึ่งในสินค้าเหล่านั้น เพราะฉะนั้น การศึกษาจึงอาจเป็นอีกหนึ่งวิธีในการลดอัตราการเกิดอาชญากรรมก็เป็นได้

ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์หลายฝ่ายต่างเสนอแนวคิดที่พยายามอธิบายว่าการศึกษานั้นจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจก่ออาชญากรรมอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น

การศึกษาเปลี่ยน “สมการรายได้” ระหว่างปัจจุบันกับอนาคต เนื่องจากการศึกษานั้นมักนำไปสู่รายได้ที่สูงขึ้นในอนาคต การตัดสินใจก่ออาชญากรรมที่มีความเสี่ยงต่อการอดได้รับเงินก้อนนั้นจึงเป็นการกระทำที่ “อาจไม่คุ้มโดนตำรวจจับ” ยิ่งไปกว่านั้น การที่การศึกษาสามารถเข้ามาเปลี่ยนทัศนคติของเราให้เราเพิ่มความสำคัญกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (เช่น การถูกจำคุกเป็นระยะเวลานาน) มากกว่าความสำคัญของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน (เอาเงินที่ปล้นชิงทรัพย์ได้มาไปซื้อมือถือให้แฟนเย็นนี้) เราอาจจะชั่งใจใหม่ก่อนจะคิดก่ออาชญากรรม

• การศึกษาสามารถลดอัตราการเกิดอาชญากรรมได้โดยตรงเพียงเพราะว่าเด็กๆ ไม่ว่างพอที่จะออกไปก่ออาชญากรรม เหตุคือพฤติกรรมการก่ออาชญากรรมนั้นเริ่มต้นตั้งแต่วัยรุ่นและจะไปสูงที่สุดแถวๆ วัยมัธยมปลาย ประมาณว่าถูก “จำคุก” ไว้ก่อนในเรือนจำที่เรียกว่า “โรงเรียน”

การศึกษาสอนว่าอาชญากรรมเป็นสิ่งที่ผิด แนวคิด “ศีลธรรม” นี้คงเป็นแนวคิดที่หลายคนน่าจะนึกถึงเป็นอันดับแรก แต่ก็ยังไม่แน่ว่าโรงเรียนทุกโรงเรียนสอนแนวคิดนี้ได้ดีจริงๆ หรือไม่ หรือแค่ให้เด็กๆ ท่องจำ ไม่ได้สำนึกว่าอะไรถูกอะไรผิด อีกทั้งก็ยังไม่แน่ว่าโรงเรียนบรรจุประเด็นนี้ไว้ในหลักสูตรหรือไม่ จากประสบการณ์ของผมเอง โรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยที่ผมเคยเรียนไม่ได้สอนเรื่องนี้โดยตรง

หากแนวคิดแรกเป็นเรื่องจริง การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนเพื่อเชื่อมต่อกับตลาดแรงงานจะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะการเพิ่มคุณภาพโรงเรียนนั้นจะทำให้เด็กๆ กลุ่มที่แต่เดิมมีทักษะในระดับที่ต่ำกว่าเพื่อนและมองไม่ค่อยเห็นอนาคตให้มองเห็นอนาคตที่ดีขึ้น เพราะพวกเขาจะมีทักษะที่ดีขึ้นและจะมีแนวทางในการหารายได้มากขึ้นเมื่อเรียนจบ อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญคือนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะจริงๆ แบบนี้จะมีผลกระทบระยะยาวต่ออัตราการเกิดอาชญากรรมที่ยั่งยืนกว่านโยบายระยะสั้น เช่น การปรับบังคับเพิ่มเงินเดือนของแรงงานอายุน้อยเพราะว่าเมื่อนโยบายเพิ่มเงินเดือนระยะสั้น “หมดเขต” คนอายุน้อยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็อาจจะหันกลับไปง่วนกับการก่ออาชญากรรมก็เป็นได้ เนื่องจากว่าทักษะจริงๆ ของเขาไม่ได้ถูกพัฒนา

งานวิจัยคุณภาพของ David Deming เผยให้เห็นถึงความสำคัญของคุณภาพของโรงเรียนต่อการเกิดอาชญากรรมในหมู่วัยรุ่นอเมริกันในเขตโรงเรียน Charlotte-Mecklenburg ที่เคยมีการสุ่มลอตเตอรี่ว่าเด็กคนไหนจะได้เข้าโรงเรียนที่ตนเลือกไว้หรือไม่ งานวิจัยนี้พบว่า 7 ปีหลังจากการสุ่มลอตเตอรี่ เด็กๆ กลุ่มที่ถูกลอตเตอรี่และได้ไปโรงเรียนที่ตนเลือกไว้อันดับแรก (ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วมีคุณภาพกว่า) โดยเฉลี่ยแล้วถูกตำรวจจับและใช้เวลาในเรือนจำน้อยกว่าเด็กๆ กลุ่มที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนที่ตนเลือกไว้ อีกหนึ่งงานวิจัยคล้ายๆ กันในเมืองชิคาโกก็พบว่าการได้ไปโรงเรียนที่มีคุณภาพดีกว่านั้นสามารถลดจำนวนนักเรียนเกรด 9 ที่ถูกจำคุกลงได้กว่า 60 เปอร์เซ็นต์

ทั้งหมดนี้จริงๆ แล้วก็ขึ้นอยู่กับประเภทของอาชญากรรมด้วย ที่กล่าวไว้ด้านบนนั้นพูดถึงอาชญากรรมที่ไม่จำเป็นต้องใช้มันสมองมากนัก เนื่องจากว่ายังมีอาชญากรรมอีกหลายประเภทที่เราอาจมองได้ว่ายิ่งคนเรามีทักษะบางประเภทสูง (ที่มาจากการศึกษาสูง) อาชญากรรมประเภทเหล่านี้ยิ่งอาจเป็นทางเลือกที่ไม่เลวนัก เช่น การหลอกลวง การทำตัวเป็น serial killer ที่คิดกลเม็ดท้าทายตำรวจ หรือการแฮ็กข้อมูล เพราะคนเหล่านี้อาจมองว่ายิ่งทักษะตนดี ยิ่งทำง่าย ยิ่งมีโอกาสที่จะมีคนฉลาดพอที่จะจับพวกเขาได้ต่ำลง

การศึกษาดี = พลเมืองดี ?

ที่มาภาพ :  https://pixabay.com/en/protest-protest-action-464616/
ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/protest-protest-action-464616/

Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังเคยเขียนไว้ว่า:

“A stable and democratic society is impossible without a minimum degree of literacy and knowledge on the part of most citizens and without widespread acceptance of some common set of values.”

อ่านแล้วหลายคนอาจจะไม่เห็นด้วย เนื่องจากแต่ละคนตีความคำว่า “ประชาธิปไตย” ต่างกัน บทความนี้ขอไม่พูดถึงนิยามอันหลากหลายของคำคำนี้ (ซึ่งผมเองเคยเขียนเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่เทียบกับของกรีกโบราณเอาไว้แล้วที่นี่) แต่จะพูดถึงสังคมประชาธิปไตยแบบคร่าวๆ ที่พบเห็นได้ในโลกตะวันตกทุกวันนี้

ทำไมการศึกษาถึงมีความสำคัญต่อการเป็นพลเมืองที่ดี ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองในระบอบการปกครองประเภทใดก็ตาม? มีนักคิดมากมายที่ให้เหตุผลต่อไปนี้

ผู้นำดี สังคมดี – การศึกษาอาจทำให้สังคมเลือกและเปลี่ยนผู้นำได้มีประสิทธิภาพดีขึ้น แนวคิดแรกนี้เป็นประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหว และเป็นแนวคิดที่แยก “ประสิทธิภาพ” กับ “สิทธิ” ออกจากกันโดยสิ้นเชิง แนวคิดนี้มองว่าหากการศึกษาดีจริง พลเมืองจะมี cognitive ability และมีระบบความคิดที่จะทำให้เกิดการพัฒนาในสิ่งต่อไปนี้

1. สามารถตัดสินใจเลือกผู้นำได้อย่างดีที่สุด

2. เข้าใจถึงประเด็นทางการเมือง ประเด็นทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงสิ่งที่พรรคการเมืองสัญญาว่าจะทำ

3. มีไหวพริบพอที่จะมองไต๋รัฐบาลออกว่ารัฐบาลกำลังล่วงล้ำสิทธิของประชาชน กำลังกอบโกยผลประโยชน์เข้าตัวเอง หรือกำลังบ้าอำนาจอยู่หรือไม่ แนวคิดนี้มองว่าหากการที่คนที่มีการศึกษาสามารถเลือกผู้นำที่จะมาเปลี่ยนสังคมโดยรวมไปในทางบวกได้ดีกว่าคนที่ไม่มีการศึกษา นั่นก็แปลว่าการศึกษาจะมีของแถมทางบวกอย่างทวีคูณ ยกตัวอย่างง่ายๆ หยาบๆ คือ สมมติว่ามีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 3 คน คนแรกเก่งและดี ที่เหลือเก่งไม่เท่าแถมเป็นคนหลอกลวง หากสังคมเลือกผู้สมัครคนแรกขึ้นมาเป็นผู้นำ นอกจากคนที่เลือกผู้นำคนนี้จะได้อย่างที่ตนต้องการแล้ว คนที่ไม่ได้เลือกผู้นำคนนี้ยังได้รับผลพลอยได้ทางบวกอีกด้วย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนที่มีการศึกษาสูงกว่ามองผู้นำออกอย่างทะลุปรุโปร่งกว่าจริงๆ หรือไม่ และในชีวิตจริงแล้วสิ่งที่ดีที่สุดต่อสังคมกับสิ่งที่บุคคลแต่ละคนต้องการก็อาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ที่แน่ๆ คือแนวคิดนี้ไม่เห็นหัวคนที่ไม่มีการศึกษา มองว่าการด้อยการศึกษาเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดการตัดสินใจที่สะเพร่าของคนหมู่นี้

สนใจและใส่ใจ – การศึกษาอาจทำให้พลเมืองออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งและสนใจการเมืองมากขึ้น เนื่องจากคนเหล่านี้มองเห็นประโยชน์จากการเลือกผู้นำ พวกเขาจะพยายามทำให้ผู้นำที่เขาคิดว่าดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ออกมาถกเถียงและสนับสนุนประเด็นต่างๆ กับเพื่อนร่วมสังคม

ให้พลังและเสียง – การศึกษาทำให้เกิดการมอบอำนาจ (empowerment) แก่พลเมือง รวมไปถึงการแสดงออกถึงความคาดหวังในตัวผู้นำ ไม่ยอมเป็นแค่ “ฝ่ายรับ” อยู่ตลอดเวลา

ผมคิดว่าผลลัพธ์เหล่านี้คงขึ้นอยู่กับระบบการเลือกตั้งและสถานการ์การเมืองที่แตกต่างกันในแต่ละท้องที่ด้วย ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ Thomas Dee พบว่าการศึกษาทำให้พลเมืองออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ในขณะเดียวกัน งานวิจัยชิ้นนี้พบผลลัพธ์เดียวกันในหมู่พลเมืองอเมริกันแต่กลับไม่พบในพลเมืองชาวอังกฤษ ทีมผู้วิจัยคิดว่าที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่าระบบเลือกตั้งในอเมริกานั้นค่อนข้างซับซ้อน มีด่านปราการมากมายก่อนที่จะสามารถลงทะเบียนเพื่อไปเลือกตั้งได้ การศึกษาจึงเป็นตัวช่วยสำคัญให้พลเมืองบางส่วนฝ่าด่านพวกนี้เข้าไปใช้สิทธิ์ได้ แต่ในประเทศอังกฤษนั้นมีการช่วยเหลือ ให้ข้อมูลต่างๆ นานามากมายเพื่อให้พลเมืองไปลงทะเบียนเลือกตั้งมากกว่า จึงไม่พบผลลัพธ์จากการศึกษาในประเทศอังกฤษ อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคืองานวิจัยนี้ที่พบว่าการศึกษากลับแปรผกผันกับการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในประเทศอียิปต์ นักวิจัยอธิบายว่าที่ผลเป็นเช่นนี้เป็นเพราะว่าประชาธิปไตยในอียิปต์เปราะบางมาก และมีความเป็นไปได้สูงที่การแปรผกผันนี้เกิดขึ้นเพราะว่าคนที่มีการศึกษาสูงมองว่าการซื้อเสียงที่เป็นที่นิยมอย่างมากนั้นเป็นเสี้ยนหนามของประชาธิปไตย จึงประท้วงโดยไม่ไปใช้สิทธิ์

สรุป

จากการสำรวจของแถม 3 ชิ้นนี้ ผมคิดว่าของแถมจากการศึกษานั้นเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ แต่ที่สำคัญกว่าคือการย้อนกลับไปดูก่อนว่าสิ่งที่ซื้อมาตอนแรกก่อนที่เราจะได้ของแถมคืออะไร

นั่นก็คือ “การศึกษา” ในแต่ละท้องที่ที่เด็กๆ ได้รับคืออะไรกันแน่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเนื้อหา คุณภาพ หรือหลักการการเรียนการสอน เด็กๆ ได้รับอะไรติดไม้ติดมือไปนอกจากจดหมายหรือปริญญาหลังเรียนจบ

หากการศึกษาในสังคมเรามีเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับชีวิตจริง ไม่มีคุณภาพ ไม่ทำให้รายได้คนเพิ่มขึ้นในอนาคต และมีหลักการที่ไม่เหมาะสมกับผู้เรียน เราอาจจะไม่ได้ของแถมใดๆ ทั้งสิ้น พลเมืองก็ยังคงจะไม่ดูแลสุขภาพอยู่อย่างนั้น ยังคงมีปัญหาเรื่องคุณแม่วัยใส ยังคงมีปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV และยังคงมีประชากรบางกลุ่มที่คิดไม่ซื่อ

ที่น่าคิดไปกว่านั้นคือ หากการศึกษาของเราเป็นเพียงการเข้าทำศึกชิงปริญญาบัตร ไม่ได้พัฒนาทักษะใดๆ แต่เป็นแค่การส่งสัญญาณให้กับผู้ว่าจ้าง หรือการศึกษาของเรานำไปสู่ของแถมอันไม่พึงประสงค์ขึ้นมา ไม่เพียงแต่สังคมจะไม่ควรอุดหนุนและไม่ควรลงทุนในการศึกษาประเภทนี้แล้ว สังคมยังควรเก็บภาษีกับการศึกษาประเภทนี้เสียด้วยซ้ำไป

หากการศึกษาที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ และมีศีลธรรม สามารถทำให้สุขภาพของประชาชนดีขึ้น ทำให้สังคมปลอดภัย และทำให้ประชาธิปไตยดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพได้ การศึกษาที่ไร้มาตรฐาน ไร้คุณภาพ และไร้ซึ่งศีลธรรม ก็สามารถทำให้เกิดผลทางลบในมิติเหล่านี้ได้เช่นกัน จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เราควรมองการพัฒนาการศึกษาจากมุมมองที่กว้างขึ้นกว่าที่เคย

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ “เศรษฐ” ความคิด – settaKid.com ณ วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558