ThaiPublica > คอลัมน์ > การศึกษาช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาจริงหรือ?

การศึกษาช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาจริงหรือ?

7 ตุลาคม 2012


สมคิด พุทธศรี

เรามักจะได้ยินคนพูดเสมอว่า การศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ หากต้องการให้ประเทศพัฒนาทางเศรษฐกิจ ยกระดับไปเป็นประเทศที่ร่ำรวย ประชากรอยู่ดีกินดี ก็จำเป็นต้องให้ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้รับการศึกษาเสียก่อน

ที่ผ่านมา ประเทศไทยเองก็ทุ่มเททรัพยากรเป็นจำนวนมากให้กับการศึกษา ดังจะเห็นได้ว่า กระทรวงศึกษานั้นเป็นกระทรวงที่ได้งบประมาณสูงสุดเป็นกระทรวงต้นๆ มาโดยตลอด ข้อมูลจากการศึกษาของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยในปี 2554 ชี้ว่า กระทรวงศึกษาธิการนั้นได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นมาตลอดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ ล่าสุด ในปีงบประมาณ 2556 กระทรวงศึกษาฯ ก็ยังเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงสุด โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงถึง 4.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 19.2 ของงบประมาณทั้งหมด และคิดเป็นประมาณร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP)

งบประงานทางการศึกษาที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประชากรในวัยเรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้เพิ่มมากขึ้นในเชิงปริมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับประถมจนถึงระดับมัธยมต้น ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) ระบุว่า ปัจจุบันอัตราการรู้หนังสือของคนไทยอยู่ที่ระดับร้อยละ 92.5 ของประเทศ แต่ด้วยปริมาณที่เพิ่มขึ้นนี้ ความกังขาที่มีต่อคุณภาพการศึกษาไทยก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ผมเองไม่ได้ต้องการจะพูดถึงปัญหาคุณภาพของการศึกษาไทย ซึ่งท่านผู้อ่านที่สนใจในประเด็นนี้ก็คงพอทราบกันอยู่แหละครับ ว่าการศึกษาของเรา ‘ห่วย’ ยังไง แต่ประเด็นที่ผมอยากชวนคุยในบทความนี้คือเรื่องของการศึกษากับการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงก็คือคำถามที่ว่า การศึกษานำมาซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและสามารถนำมาซึ่งความมั่งคั่งของประเทศได้จริงหรือไม่?

ผมคิดว่า ส่วนใหญ่แล้วคงไม่ค่อยมีใครคัดค้านว่า ถ้าหากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีการศึกษาที่ดี ประเทศนั้นก็จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้ดีตามไปด้วย เพราะเห็นค่อนข้างชัดว่า ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่นั้นมักจะมีระบบการศึกษาที่ดีและมักจะสามารผลิตคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มมาขายได้อยู่เสมอ ในขณะที่ถ้ามองไปยังกลุ่มประเทศยากจนทั้งหลาย เราก็มักจะมองเห็นสถิติที่ไม่ค่อยดีนักในเรื่องของการศึกษา

ที่มาภาพ : http://futurechallenges.org
ที่มาภาพ : http://futurechallenges.org

แต่ก็มีนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งที่แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดแจ้งกับเรื่องนี้ เขาคือ ฮาจุน ชาง (Ha-Joon Chang) นักเศรษฐศาสตร์ชาวเกาหลีใต้แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

ชางไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่า ถ้าหากประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงแล้ว เศรษฐกิจของประเทศจะเจริญรุ่งเรือง โดยชางเห็นว่า การศึกษานั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งและสมควรที่จะลงทุนอย่างยิ่ง เพราะการศึกษาจะช่วยให้คนสามารถมีชีวิตที่ดี มีความหมาย และเป็นพลเมืองอย่างสมบูรณ์ได้ แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นคนละเรื่องกับการทำให้เศรษฐกิจพัฒนาและทำให้ประเทศมีฐานะร่ำรวยขึ้น

ที่ชางเสนอเช่นนี้เพราะเขาเห็นว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นเรื่องของการยกระดับผลิตภาพการผลิต (productivity) ซึ่งไม่เกี่ยวกับข้องกับการศึกษาแต่อย่างใด เขายกตัวอย่างการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเอเชียตะวันออกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่า เอาเข้าจริงแล้ว ในช่วงที่ประเทศเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ กลับเป็นช่วงที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้มีการศึกษาที่ดีมากอย่างที่หลายคนคิดไว้ ตัวอย่างเช่น ไต้หวันในทศวรรษ 1960 นั้นมีอัตราการรู้หนังสือของประชากรเพียงแค่ร้อยละ 54 ของประชากรเท่านั้น ในขณะที่ฟิลิปปินส์มีอัตราการรู้หนังสืออยู่ที่ร้อยละ 72 ของประชากร อีกทั้งยังมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวมากกว่าไต้หวันประมาณ 2 เท่าในเวลาเดียวกัน แต่ไต้หวันก็ยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ จนทำให้ปัจจุบันคนไต้หวันมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวมากกว่าคนฟิลิปปินส์ถึงประมาณ 10 เท่า

ในทำนองเดียวกัน เกาหลีใต้เองก็เป็นประเทศที่มีอัตราการรู้หนังสือของประชากรไม่มากนักในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คือ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 71 ของประชากรทั้งหมด ส่วนอาร์เจนตินามีอัตราการรู้หนังสือของประชากรในช่วงเวลาดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 91 ของประชากร อีกทั้งคนอาเจนไตน์ยังมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวมากกว่าคนเกาหลีใต้ประมาณ 5 เท่า แต่เมื่อดูสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน คนเกาหลีใต้มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวมากกว่าคนอาเจนไตน์ถึง 3 เท่า

ชางตระหนักดีว่า กระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนั้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขของเหตุและปัจจัยที่แตกต่างกัน แต่ที่เขายกตัวอย่างข้างต้นขึ้นมา ก็เพื่อทำลายมายาคติของการศึกษาและการพัฒนาเศรษฐกิจ

แล้วทำไมการศึกษาถึงไม่สามารถทำให้ผลิตภาพการผลิตเพิ่มขึ้น?

ชางอธิบายว่า จริงๆ แล้ววิชาที่เราเรียนในสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่นั้นไม่ได้มีผลทำให้ผลิตภาพการผลิตเพิ่มขึ้นเลย เช่น วิชาประวัติศาสตร์ วิชาดนตรี วิชาปรัชญา วิชาวรรณกรรม (แต่แน่นอนวิชาพวกนี้ทำให้เรามีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น) ในขณะที่การศึกษาเชิงประจักษ์กลับพบว่า วิชาที่น่าจะช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตอย่าง คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ กลับไม่มีผลทำให้ผลิตภาพการผลิตเพิ่มมากนักในโลกของการทำงานจริง

จะว่าไปแล้ว มันก็อาจจะจริงอย่างที่ชางพูดก็ได้นะครับ คนที่เรียนฟิสิกส์หรือเลขเก่งมากๆ ไม่ได้การันตีอะไรเลยว่า พวกเขาเหล่านั้นจะเป็นแรงงานที่เก่งกาจ ทำงานดี ในกระบวนการผลิต และด้วยเหตุนี้กระมัง กระบวนการทางด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกงาน การทดลองงาน และการเรียนรู้ด้วยการทำงานจริงๆ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากในองค์กร บริษัท และโรงงาน

บางคนอาจจะอยากเถียงชางว่า ตัวอย่างและข้อมูลที่ชางยกมานั้นเป็นข้อมูลที่เก่าไปแล้ว และไม่เหมาะสมจะใช้ทำความเข้าใจโลกของ ‘เศรษฐกิจแห่งความรู้’ (knowledge economy) ซึ่งเป็นโลกในยุคปัจจุบันได้ ความสำคัญของศึกษาในยุคที่ยังใช้ทีวีขาวดำนั้นย่อมเทียบไม่ได้กับโลกในยุคคอมพิวเตอร์และแท็บเลต

กระนั้น ชางกลับไม่เห็นด้วยกับมุมมองข้างต้น เขาเห็นว่า ถ้ามองในเชิงเปรียบเทียบ ไม่ว่าในยุคสมัยไหนมนุษย์ก็อาศัยอยู่ในโลกของ ‘เศรษฐกิจแห่งความรู้’ ทั้งนั้น เช่น ในสมัยศตวรรษที่ 19 ประเทศอังกฤษสามารถขึ้นมาเป็นจ้าวเศรษฐกิจโลกได้ก็เพราะว่าอังกฤษมีความรู้และเทคโนโลยีที่ประเทศอื่นๆ ไม่มี หรือในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันถือว่าเป็นประเทศที่จนมาก แต่ทุกคนต่างก็รู้ดีว่าเยอรมันจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เพราะเยอรมันยังมีความรู้และเทคโนโลยีไม่แตกต่างกับช่วงก่อนสงคราม ดังนั้น ถ้าหากยึดหลักว่าความรู้และเทคโนโลยีเป็นบ่อเกิดของความมั่งคั่งแล้ว ไม่ว่าในยุคไหนๆ ก็ถือว่าเป็น ‘เศรษฐกิจแห่งความรู้’ ในตัวมันเองอยู่แล้ว

ในความเห็นของชาง ความแตกต่างที่แท้จริงของกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจในแต่ละยุคก็คือ ขนาดขององค์ความรู้ที่สะสมไว้ (stock of knowledge) แน่นอนว่า องค์ความรู้ที่สะสมไว้ในปัจจุบันนั้นย่อมมากกว่าในยุคทศวรรษ 1960 อย่างมหาศาล แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า คนในยุคปัจจุบันจำเป็นต้องมีการศึกษามากขึ้นกว่าคนในยุคสมัยก่อนเพื่อทำให้เศรษฐกิจขยายตัว เพราะตำแหน่งงานส่วนใหญ่มักจะเป็นงานที่ไม่ได้เรียกร้องให้แรงงานต้องมีการศึกษาที่สูงมากนัก

ในแง่นี้ การที่ผู้คนในยุคปัจจุบันต่างตั้งหน้าตั้งตาเรียนให้สูงๆ นั้น แท้จริงแล้วเป็นการเรียนมากเกินกว่าที่ได้ใช้ในชีวิตการทำงานจริงทั้งสิ้น ชางเห็นว่า หากประเทศไหนไม่ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ให้ดีและหน้ามืดขยายการศึกษาไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย อาจก่อให้ความบิดเบี้ยวของโครงสร้างของการศึกษาและตลาดแรงงานในประเทศได้

การศึกษาเชิงประจักษ์พบว่า ภายใต้ข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมบูรณ์ในตลาดแรงงาน สาเหตุหลักที่นายจ้างเลือกลูกจ้างที่มีใบปริญญามิใช่เพราะว่าความรู้ (ที่ได้จากการศึกษา) นั้นเหมาะสมกับงานที่ทำ แต่เป็นเพราะนายจ้างเชื่อว่าคนที่สามารถเรียนจบมหาวิทยาลัยได้นั้นจะต้องเป็นคนที่ฉลาด มีไหวพริบ มีวินัยในตนเอง และมีความรับผิดชอบในระดับหนึ่ง กล่าวคือ แท้จริงแล้ว หน้าที่หลักของใบปริญญาในตลาดแรงงานจึงไม่ใช่การบอกว่าแรงงานมีความรู้เฉพาะทางอะไร หากแต่เป็นการบอกลักษณะทั่วไปของแรงงานให้นายจ้างรู้

เมื่อนายจ้างมีแนวโน้มที่จะเลือกแรงงานที่มีใบปริญญามากกว่าแรงงานที่มีแค่ใบรับรองการจบมัธยมปลาย (ทั้งๆ ที่ความรู้ที่นำไปใช้ในการทำงานไม่แตกต่างกัน) คนก็จะแห่ไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหากไม่เรียนก็จะไม่มีงานทำ เมื่อถึงระดับหนึ่ง มหาวิทยาลัยก็จะไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่งผลให้ต้องมีการขยายมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น อัตราการเข้าเรียนต่อและคนจบมหาวิทยาลัยก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ทำให้แรงงานที่ไม่มีปริญญายิ่งหางานยากยิ่งขึ้นไปอีก และคนก็ยิ่งแห่ไปเรียนกันใหญ่ จนเกิดเป็นวงจรอุบาทว์ขึ้นมาในที่สุด ท้ายที่สุด เมื่อคนส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คนที่อยากจะมีความโดดเด่นในตลาดแรงงานก็จำเป็นต้องเรียนต่อปริญญาโท หรือไม่ก็ปริญญาเอก ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ความรู้ที่ได้จากการเรียนต่อเป็นความรู้ที่อาจจะไม่จำเป็นกับการทำงานในอนาคตเลยด้วยซ้ำ

กล่าวมาถึงตรงนี้ สิ่งที่ชางเรียกร้องไม่ใช่การให้เลิกสนับสนุนการศึกษานะครับ เขาสนับสนุนเต็มที่ว่า ประชาชนควรได้รับการบริการการศึกษาอย่างทั่วถึงเพื่อที่จะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเต็มที่และมีความหมาย แต่สิ่งที่ชางคัดค้าน คือ การสนับสนุนให้มีการลงทุนด้านการศึกษาอย่างหน้ามืดเพราะความเชื่อแบบผิดๆ ว่ามันจะนำมาซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของประเทศ

หลังจากอ่านข้อคิดของชางแล้ว ผมเองยังไม่มีความรู้พอที่จะสรุปได้ว่าการศึกษานำมาซึ่งความอยู่ดีกินดีของคนทั้งประเทศหรือไม่ แต่ผมคิดว่า คำอธิบายของชางนั้นอธิบายสังคมไทยได้ดีนะครับ ในด้านหนึ่งผมเองได้ยินเสียงคนบ่นเสมอๆ ว่า ‘เรียนจบไปแล้วทำงานไม่ตรงสาย’ หรือไม่ก็ ‘เรียนไปก็ไม่ได้ใช้’ ในอีกด้านหนึ่งก็สังเกตเห็นว่า คนไทยเริ่มนิยมเรียนต่อระดับปริญญาโทและเอกกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่คนจบปริญญาตรีนั้นก็มีเยอะ เริ่มหางานลำบาก ส่วนมหาวิทยาลัยเองก็ผุดขึ้นกันเป็นดอกเห็ด

แต่ผมอยากจะเสริมชางว่า สำหรับคนไทย (หลายๆ คน) แล้ว การเรียนต่อในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรีไม่ใช่เรื่องของการลงทุนอะไรหรอกครับ เพราะหลายๆ คนที่เห็นนี่ก็สามารถหางานดีๆ เงินเดือนสูงๆ ได้ แต่การศึกษาบางทีมันก็เป็นเรื่องของสถานะทางสังคม เป็นเรื่องของการทำเพราะใครๆ ก็ทำกัน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เป็นเรื่องของการบริโภคนั่นเอง

คล้ายๆ กับการใช้ของแบรนด์เนมนั่นแหละครับ

หมายเหตุ Chang, Ha-Joon. (2010). 23 Things They Don’t Tell You About Capitalism. London: Penguin Books Ltd.