ดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีตวุฒิสภา และในฐานะผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมประมงมาตลอดชีวิต ได้ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “Maritime Studies and Marine Innovation: Towards a Sustainable Ocean” จัดโดยวิทยาลัยการศึกษาและการจัดการทางทะเล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหัวข้อ “EU-IUU หลุมพรางการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืน: กรณีประเทศไทย (EU-IUU, pitfall for sustainable fisheries development: Thailand case)”ด้วยปาฐกถาพิเศษมีรายละเอียดที่น่าสนใจ “ไทยพับลิก้า” ขอนำเสนอโดยแบ่งเป็น 4 ตอน

ต่อจากตอนที่ 3 เรื่องใดบ้างที่ประเทศไทยต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไข
7.ผลกระทบต่อประเทศไทยจากการแก้ไขปัญหาการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing)
การดำเนินการแก้ไขประเด็นปัญหาที่เป็นสาเหตุให้ประเทศไทยได้รับ “ใบเหลือง” อย่างเร่งรีบและเข้มงวดตามคำแนะนำและติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิดของคณะกรรมาธิการยุโรป โดยขาดการรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง และขาดการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้ส่งผลกระทบต่อชาวประมงและอุตสาหกรรมประมงของไทยในทุกระดับทั่วประเทศ สรุปประเด็นหลักได้โดยสังเขป ดังนี้
- การตราพระราชกำหนดขึ้นบังคับใช้อย่างเร่งด่วน ทันที และไม่เป็นธรรม ส่งผลให้มีผู้ประกอบการประมงถูกดำเนินคดีนับหมื่นราย และมีเรือประมงกว่า 3,000 ลำ ถูกบังคับให้ต้องจอดเรือ ทำให้ผู้ประกอบกิจการประมง (รวมทั้งลูกจ้าง) ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ต้องขาดรายได้ปีละไม่น้อยกว่า 35,000 ล้านบาท
- โรงงานแปรรูปเบื้องต้นและแปรรูปขนาดเล็ก รวมทั้งโรงงานขนาดใหญ่ เช่น ปลาเค็ม ปลาตากแห้ง ปลาป่น ต้องเลิกกิจการกว่า 100 โรงงาน เนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบ ประมาณ 1,000,000 ตัน ทำให้ต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้น
- อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงงานน้ำแข็ง ห้องเย็น สถานีน้ำมัน สะพานปลา ตลาดปลา แพปลา และท่าเทียบเรือ บางแห่งต้องปิดตัวลง หลายแห่งต้องลดการจ้างแรงงาน รวมทั้งเกษตรกรผู้ผลิตอาหาร ข้าว พืช ผัก ผลไม้ เพื่อเป็นอาหารของลูกเรือ ได้รับผลกระทบนับหมื่นราย
- การส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของประเทศไทยมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสัตว์น้ำที่จับได้โดยเรือประมงไทยจากที่เคยมีมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท เหลือเพียง 1,000 ล้านบาทเท่านั้น
- ผู้บริโภค ขาดแคลนสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค ทำให้ประเทศไทยที่เคยเป็นประเทศที่ “ส่งออกสัตว์น้ำสุทธิ” ต้องนำเข้าสัตว์น้ำเข้ามาเพื่อการบริโภคปีละกว่า 500,000 ตัน
- ทรัพยากรสัตว์น้ำ และสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่คาดว่าจะได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหมายไว้
- หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กรมประมง” ที่คาดว่าจะได้มีการปรับปรุงองค์ความรู้ทางทะเลและการประมงทะเล การสำรวจวิจัย และประสิทธิภาพในการทำงาน และการดูแล ช่วยเหลือ และส่งเสริมผู้ประกอบการ แต่กลับมุ่งเน้นและให้ความสำคัญเฉพาะประเด็นการเข้มวงดในการบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น

อาจกล่าวโดยรวมได้ว่า การแก้ไขปัญหาการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing) ของรัฐไทยในนับตั้งแต่ ค.ศ. 2015 เป็นต้นมา ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเสียหายปีละไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมประมงขนาดเล็กต้องล่มสลาย เรือประมงที่เป็นทั้งทรัพย์สินและเครื่องมือประกอบอาชีพของผู้ประกอบการต้องกลายเป็นเศษเหล็กและเศษไม้ที่ไร้ค่า ชุมชนประมง ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของชาวประมงตกอยู่ในสภาวะล่มสลาย โดยรัฐไม่มีมาตรการดูแล ช่วยเหลือ หรือเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
8.จริงหรือไม่ที่ การแก้ไขปัญหาประมงไทย คณะกรรมธิการยุโรปปลด “ใบเหลือง” ประเทศไทย แสดงว่าประเทศไทยมาถูกทางแล้วหรือไม่
วันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 2019 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศ “ปลดใบเหลือง” หรือนำประเทศไทยออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่ถูกแจ้งเตือน ทั้งนี้ หากพิจารณาในมุมมองด้านผลการดำเนินงานของรัฐบาลและภาพลักษณ์ของประเทศ ก็อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลไทยบรรลุเป้าหมาย สามารถทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการถูกระงับการส่งออกสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเข้าไปยังสหภาพยุโรปได้ ซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อภาพลักษณ์ของไทยว่าเป็นประเทศที่มีการทำประมงอย่างรับผิดชอบ สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านการอนุรักษ์ และจัดการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืนได้
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของ EU-IUU ที่มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน และต่อต้านการทำประมง IUU ตลอดจนการดูแลแก้ไขผลกระทบต่อวิถีชีวิต การประกอบอาชีพ และความอยู่รอดของชุมชน รวมทั้งเศรษฐกิจ สังคมของประเทศแล้ว ความสำเร็จดังกล่าวเป็นเพียง “หลุมพราง” หรือกับดักการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืนในประเทศไทย
สิ่งที่รัฐบาลเชื่อมั่นว่าเป็น “มาตรการที่ถูกต้อง” นั้น ข้อเท็จจริงที่ปรากฏกลับแสดงให้เห็นว่าเป็น “มาตรการที่สร้างความเสียหาย” ต่อภาคการประมงและผู้ประกอบอาชีพในห่วงโซ่อุตสาหกรรมประมงของไทยทุกระดับ องค์ความรู้และวิถีการทำประมงของไทยกำลังตกอยู่ในสภาวะใกล้ล่มสลาย ในขณะที่สิ่งแวดล้อมทางทะเลและทรัพยากรสัตว์น้ำก็ยังคงมีปัญหาอยู่ในขั้นวิกฤติ
ประเทศไทยที่เคยเป็นผู้ส่งออกสินค้าประมงอันดับต้น ๆ ของโลก ปัจจุบันต้องนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศต่างๆทั่วทุกมุมโลกมาเพื่อการบริโภค
จากการแถลงข่าวล่าสุดของกรมประมงของไทยเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการประชุมผ่านระบบ Video Conference ระหว่าง “รัฐบาลไทย” และ “คณะกรรมาธิการยุโรป” ซึ่งสหภาพยุโรปให้ความสนใจในประเด็นตั้งแต่กรอบกฎหมาย การทำงานและการตัดสินใจของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านการทำประมง IUU ภายใต้คณะกรรมานโยบายประมงแห่งชาติ จุดยืนของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการร้องขอการแก้ไขพระราชกำหนดการประมงของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) การทำการประมงนอกน่านน้ำ ความคืบหน้าของจำนวนเรือที่ได้รับอนุญาตทำการประมง/จำนวนเรือที่อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต การควบคุมในการปฏิบัติของเรือประมงในพื้นที่ SIOFA หรือในพื้นที่อื่น การติดตามเรือ การประเมินการดำเนินการของศูนย์แจ้งเข้า-ออก (PIPO) ผลการดำเนินการของ MCS ในปี พ.ศ. 2563 ความคืบหน้าการดำเนินการเฝ้าระวังทางอากาศ การบริหารจัดการกองเรือและทรัพยากรประมง ความคืบหน้าในการจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้านที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส และการบังคับใช้กฎหมาย การติดตามคนสัญชาติไทยที่เกี่ยวข้องกับการทำการประมง IUU ฯลฯ
ประเด็นเหล่านี้ ตอกย้ำให้เห็นถึงการกำกับดูแลกิจการภายในของสหภาพยุโรปที่มีต่อประเทศไทย โดยไม่คำนึงถึงอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย ประหนึ่งว่าประเทศไทยเป็นรัฐสมาชิกหนึ่งในสหภาพยุโรป ที่ต้องคงไว้ในมาตรการที่ “คณะกรรมาธิการยุโรป” ได้ให้การรับรองไว้แล้ว จึงยากที่ประเทศไทยจะออกจากหลุมพลางของ EU-IUU Fishing นี้ไปได้

9.บทสรุป
การแก้ไขปัญหา IUU Fishing ของประเทศไทย โดยการกำหนดแผนแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการป้องกัน ยับยั้งและขจัดการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (National Plan of Action to Prevent, Deter and Eliminate Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: NPOA-IUU) ที่สอดคล้องกับบทบัญญัติ ข้อกำหนด มาตรการ และจรรยาบรรณที่เกี่ยวข้องกับการจัดการการประมงทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และสากล และสอดรับกับ “อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (United Nations Convention on the Law of the Sea 1982: UNCLOS 1982)” ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันแล้ว รวมทั้ง “จรรยาบรรณว่าด้วยการทำการประมงด้วยความรับผิดชอบ (Code of Conduct foe Responsible Fisheries: FAOs CCRF)” ขององค์การอาหารชาติ (Food and Agriculture Organization-FAO) โดยเร็ว เพื่อนำไปสู่การประมงที่ยั่งยืน นั้น เป็นความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องเร่งดำเนินการ
แต่หากรัฐบาลยังหลงติดอยู่ในหลุมพรางความสำเร็จ ในการแก้ไขปัญหา EU-IUU Fishing โดยเชื่อว่า “หลักประกันที่ดีที่สุดว่าไทยจะไม่กลับไปทำประมงแบบเดิม คือ การทำตามกฎกติกาที่รับมาจากสหภาพยุโรปอย่างเคร่งครัด” ละเลยการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ไม่ยอมแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับต่างๆที่เป็นปัญหา และกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาประมงโดยไม่ใส่ใจและคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิตและชุมชนที่เป็นฐานรากของสังคม เพราะกลัวว่า “หากมีการแก้ไขใดๆในสิ่งที่สหภาพยุโรปได้รับรองแล้ว อาจทำให้คณะกรรมาธิการยุโรปกลับมาให้ “ใบเหลือง” อีกครั้ง”
รวมทั้งมิได้ให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสมจริงใจ ความยั่งยืนของการทำประมงและทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อลูกหลานในอนาคต อาจตั้งอยู่บนความล่มสลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรม และอุตสาหกรรมการทำประมงของไทยอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
ดูตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของรัฐบาล หลังจากได้รับ “ใบเหลือง” (ด้านล่าง)
[pdf-embedder url=”https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2020/12/EU-IUU-หลุมพรางการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืน-กรณีประเทศไทย-6-12-20.18-น.pdf” title=”EU-IUU หลุมพรางการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืน กรณีประเทศไทย 6-12 20.18 น”]