ThaiPublica > คอลัมน์ > แนวนโยบายพัฒนาเยาวชน 3 ข้อ

แนวนโยบายพัฒนาเยาวชน 3 ข้อ

26 ธันวาคม 2018


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ปัญหาของการพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ผ่านมามักเต็มไปด้วยความล้าหลัง คลั่งความดี และมองเด็กเป็นตัวปัญหา ต้องถูกแก้ไข ต้องได้รับความคุ้มครอง มากกว่าจะจินตนาการได้อย่างผู้มีการศึกษาว่า เด็กในฐานะมนุษย์คนหนึ่งชอบธรรมและสามารถแก้ปัญหาของตัวเองและปัญหาที่ตัวเองสนใจได้ ที่แย่ไปกว่านั้น องค์กรซึ่งผลิตนโยบายและบังคับใช้ข้อเสนอน่าเบื่อเหล่านี้ ไม่มีเสียงคนรุ่นใหม่ที่พวกเขาไม่ปรารถนาเป็นส่วนหนึ่งเลยแม้แต่น้อย

นโยบายคนรุ่นใหม่ที่ผ่านมา จึงไม่ใช่เพื่อคนรุ่นใหม่ ของคนรุ่นใหม่ และโดยคนรุ่นใหม่ กล่าวชัดๆ คือ นโยบายพัฒนาประชากรกลุ่มนี้เป็นเผด็จการทั้งสิ้น นโยบายเหล่านี้ กลายเป็นกฎหมาย กลายเป็นงบประมาณให้องค์กรที่ไม่เคยฟังเสียงวัยรุ่น ใช้เล่นงานวัยรุ่นมามากมาย เช่น พ.ร.บ.หอพักแยกเพศ คำนิยามผู้เยาว์ที่มองผู้เยาว์ไม่เป็นมนุษย์ กฎระเบียบตัดผมแต่งตัวที่ให้อำนาจโรงเรียนละเมิดสิทธิได้ กฎมากมายที่ใช้ลงโทษเมื่อนักเรียนทำผิด แต่กลับหละหลวมหากนักเรียนจะใช้สิทธิตนเองปฏิบัติกับครูที่ทำผิดบ้าง

รวมไปจนถึงองค์กรเกี่ยวกับเด็กเยาวชนที่ควรเกิดขึ้นและตายไปตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว แต่ยังคงเผาผลาญงบประมาณไปกับความพยายามจะปลูกฝังให้เด็กเป็นคนดีในแบบที่เขาเชื่อ องค์กรวิจัยที่มุ่งเป้าทำลายวัฒนธรรมของประชากรรุ่นนี้ มากกว่าพยายามมองหาคุณค่าตามเงื่อนไขทางสังคมที่เปลี่ยนไป

ยังไม่รวมถึงการจำกัดการเข้าถึงทรัพยากรในทุกระดับ มีทุนให้เด็กเยาวชนทำเรื่องที่องค์กรต้องการ แต่พอเป็นเรื่องที่วัยรุ่นต้องการบ้าง กลับไม่มีทรัพยากรหยิบจับ จำกัดการเข้าถึงทรัพยากรเพียงแค่เด็กที่นอบน้อม เชื่อฟัง และใช้กลไกนี้สร้างเด็กที่สยบยอม ไม่กล้าตั้งคำถาม และรับใช้สังคมในอุดมคติของตนสืบทอดมาเรื่อยๆ สังคมที่ผลิตวาทกรรม ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ไม่ใช่ ไม่เชื่อต้องพิสูจน์

สรุปแล้ว ปัญหาของเด็กไทย ไม่ใช่เด็กไทยอยู่หลังห้อง ไม่ใช่เด็กไทยอยู่ในภาวะยากจน แต่เด็กไทยถูกทำให้อยู่ในกรอบ และในโอวาท ผ่านวัฒนธรรมอาวุโสนิยม อำนาจนิยม และจารีตนิยม และเข้าไม่ถึงทรัพยากรที่เป็นของพวกเขาเอง

เรามีพรรคการเมืองที่โปรโมตคนรุ่นใหม่เต็มไปหมด แต่ท้ายที่สุดก็คงยังไม่มีพรรคไหนพูดถึงคนรุ่นใหม่ในแง่ประชากรวัยรุ่น แล้วเราทำอะไรได้บ้างเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรกลุ่มนี้ ผมเสนอทางออกอย่างน้อย 3 ข้อโดยสังเขป

1. กระทรวงวัยรุ่น

ที่ผ่านมาปัญหาของวัยรุ่นถูกมองจากองค์กรซึ่งมีวัตถุประสงค์ของหน่วยงานอยู่แล้ว เช่น หากมองผ่านหน่วยงานการศึกษา วัยรุ่นต้องหายโง่ มองผ่านหน่วยงานสุขภาพ วัยรุ่นต้องไม่ท้องไม่พร้อม ต้องลดละเลิกเหล้ายา มองผ่านองค์กรวัฒนธรรม วัยรุ่นต้องเป็นคนดีท่องค่านิยม 12 ประการได้อย่างไพเราะ นำมาซึ่งปัญหาที่ว่า ไม่มีกลไกใดมองปัญหาจากศูนย์กลางซึ่งเป็นวัยรุ่นเอง

ปัญหาของวัยรุ่นจึงถูกจำกัดให้เป็นเพียงเครื่องตอบสนองตัวชี้วัดขององค์กรอื่นๆ รวมไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่าประชากรอายุ 15-24 ปี มี 15% ของประเทศ แต่เข้าถึงทรัพยากรเพียงน้อยนิด ทรัพยากรที่เข้าถึงก็กลับไม่สามารถใช้ได้ งบประมาณพุ่งเป้าไปในการตัดแต่งเยาวชนให้เป็นแบบที่ค่านิยม 12 ประการ กระจายอยู่หลายกระทรวง ละลายผ่านแผนงานยุทธศาสตร์ภาครัฐซึ่งมอมเมาเยาวชน เช่น แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมและพัฒนาศาสนาฯ เพื่อเสริมสร้างและปลูกฝังประชาชนให้มีศีลธรรม คุณธรรม และค่านิยมที่ดี

รวมไปถึงงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนแต่กระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน ทำให้ต้องทำงานเยาวชนเพื่อตอบโจทย์หน่วยงานนั้นๆ มากกว่าตอบความต้องการเยาวชน รวมกว่า 5,324.7 ล้านบาท ยังไม่รวมภาษีที่ควรจัดสรรเพื่อการพัฒนาเยาวชน เช่น ภาษีที่เก็บได้จากธุรกิจกวดวิชาและอื่นๆ

โดยกระทรวงเยาวชน หรือกระทรวงวัยรุ่น ดังกล่าวต้องมีหน้าที่เป็นกองทุนสนับสนุนวาระที่สำรวจแล้วเป็นประเด็นซึ่งวัยรุ่นให้ความสำคัญ สนับสนุนวัฒนธรรมประชาธิปไตย ความหลากหลาย นวัตกรรมสังคม และการศึกษาคุณค่าที่เกี่ยวกับประชากรในอนาคต สนับสนุนการรื้อสร้างมายาคติ ท้าทาย ตั้งคำถาม และพัฒนาพลเมืองให้มีความคิดเชิงวิพากษ์ เป็น non-conformism จัดตั้งและดำเนินงานศูนย์กฎหมายสิทธิวัยรุ่น ตรวจสอบ และประเมินมาตรฐานวัฒนธรรมประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของเยาวชน ความหลากหลายในสถานศึกษา ที่ทำงาน

และรวมไปถึงหน่วยงานที่ใช้งบประมาณภาครัฐดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเยาวชน สำรวจ ศึกษา วิจัยวัฒนธรรมและคุณค่าคนรุ่นใหม่แบบก้าวหน้า และปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่จำกัดศักยภาพคนรุ่นใหม่ เช่น การลดอายุผู้มีสิทธิและผู้สมัครรับเลือกตั้ง สัดส่วนคนรุ่นใหม่ในรัฐสภา พ.ร.บ.แรงงาน ที่ครอบคลุมนักศึกษาฝึกงาน พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาเด็กเยาวชนแห่งชาติที่เยาวชนมีส่วนร่วมเป็นหลัก แก้ไขนิยาม “ผู้เยาว์” ลดอายุผู้บรรลุนิติภาวะ พัฒนาระบบช่วยเหลือผู้มีอาการซึมเศร้า ผลักดันการยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร รวมไปถึงเงินอุดหนุนพื้นที่สร้างสรรค์ เช่น coworking space, ร้านหนังสือ ร้านฉายหนัง อิสระขนาดเล็ก, ร้านบอร์ดเกม, เมกเกอร์สเปซเอกชนรายย่อย

2. ปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นประชาธิปไตยและไม่ละเมิดสิทธิผู้เรียน

การศึกษาไทยมีปัญหาเรื้อรัง เช่น โครงสร้างครู สังกัดสถานศึกษา งบประมาณ การจัดการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งแก้กันมานาน แต่ที่ไม่เคยถูกพูดถึง แม้จะเป็นปัญหาซึ่งหน้าที่นักเรียนจำนวนมากรู้สึกและเป็นพาดหัวข่าวอยู่ร่ำไป คือ “สิทธิของผู้เรียนในฐานะมนุษย์” ซึ่งมาเรียนเพื่อเป็นคน ไม่ใช่ทนเพื่อเป็นเหยื่อ นักเรียนไม่เคยมีส่วนร่วมกับการออกแบบสิ่งที่เกี่ยวกับตัวเอง ผู้มีอำนาจออกแบบการศึกษาที่เชิดชู “ไทยนิยม” ไม่ใช่ “ไทยสากล”

วัฒนธรรมและกลไกเดิมมุ่งเน้นการเรียนเพื่อสอบ เพื่อเป็นคนดีตามที่ระบบต้องการ แต่ไม่ใช่เพื่อให้นักเรียนสามารถเป็นตัวของตัวเอง จึงเสนอให้ตั้งคณะกรรมการสาธารณะยกร่างแก้ไข ชำระกฎระเบียบให้ร่วมสมัยและเคารพสิทธิมนุษยชน โดยผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ การแก้ไขประกอบด้วย 6 แนวทาง

  • เปิดการมีส่วนร่วมของผู้เรียน
  • ยกเลิกกฎระเบียบกดขี่
  • ลดแรงกดดันในการพัฒนาตัวเอง
  • ลดค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้
  • การเรียนที่เข้าถึงง่ายขึ้น
  • สร้างการศึกษาสากล

3. เพิ่มสัดส่วนคนรุ่นใหม่ในรัฐสภา

ไทยมีประชากร 18-45 ปี 27 ล้านคน หรือ 41% ของประเทศ แต่รัฐสภาไทยที่ผ่านมาแทบไม่เคยมีตัวแทนของคนกลุ่มนี้เข้าไปสะท้อนความต้องการ สนช. ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมาชิกที่อายุน้อยสุด คือ 51 ปี และมากสุด 92 ปี มีค่าเฉลี่ยอายุทั้งหมดอยู่ที่ 64 ปี มีคนวัยเกษียณ 60 ขึ้นไป 185 คน หรือ 75% ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย 238 คน หรือ 95% มีเพศหญิง 12 คน หรือ 5% ในสภาจึงมีแต่กลุ่ม “ชายสูงวัย”

ทั้งที่ประเทศมีประชากรกลุ่มดังกล่าวเพียง 4.5 ล้านคน หรือ 6.8% และที่สำคัญคือ คนกลุ่มนี้ไม่ได้มาจากระบอบประชาธิปไตย นักการเมืองรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งมาจากลูกหลานนักการเมือง เข้ามารับหน้าที่แทนคนในครอบครัวช่วงต้องเว้นวรรคทางการเมือง จึงแทบไม่ได้แสดงบทบาทอย่างที่สังคมคาดหวังได้

เหตุใดต้องมีคนรุ่นใหม่ในสภา? Bidadanure (2015) ให้เหตุผลไว้ว่า คนรุ่นใหม่เป็นประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในปัจจุบันและในอนาคต, เพื่อป้องกันการกีดกันประเด็นคนรุ่นใหม่ หรือประเด็นอื่นๆ ในมุมมองใหม่ ออกจากนโยบายพรรค, ลดปัญหาการตีความเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่อย่างผิดๆ เช่น มุมมองแบบ “พ่อแม่รู้ดี” “ฉันรู้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับลูกเสมอ” โดยไม่ถามอะไรกูเลย, งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า รัฐสภาที่มีคนหลากหลายวัย มักก่อให้เกิดนวัตกรรมในการพัฒนาประเทศ, แสดงถึงการยอมรับคนรุ่นใหม่ในสาธารณะ ยืนยันความเท่าเทียมในสังคม, ปกป้องแนวคิดพื้นฐานที่ว่า รัฐสภา “เพื่อประชาชน(ทุกคน)”

อรณิช รุ่งธิปานนท์ (2560) เสนอการเพิ่มจำนวนสมาชิกรัฐสภาคนรุ่นใหม่ไว้ 3 ข้อ

1. ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน นอกจากเพิ่ม ส.ส. รุ่นใหม่แล้ว ยังส่งผลให้เพิ่ม ส.ส. จากประชากรกลุ่มอื่นที่มักถูกลืม ผู้หญิง LGBTQ ผู้พิการ ชนเผ่า ผลสำรวจพบว่า ประเทศที่ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนมี ส.ส. คนรุ่นใหม่มากกว่าประเทศที่ใช้ระบบเลือกตั้งแบบผสม 2 เท่า และมากกว่าที่ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงส่วนใหญ่ 15-20 เท่า

2. กำหนดคุณสมบัติอายุ ยิ่งกฎหมายกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งต่ำเท่าไหร่ โอกาสที่คนรุ่นใหม่ที่จะได้รับเลือกเป็น ส.ส. ก็จะมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

3. สิ่งแวดล้อมทางการเมืองแบบเปิดรับ ในบางประเทศกำหนดโควตาสมาชิกรัฐสภารุ่นใหม่ไว้ 3 แบบ

  • กำหนดสัดส่วนที่นั่งสมาชิกรัฐสภาที่เป็นคนรุ่นใหม่ (reserved seats) รวันดาให้โควตาคนอายุน้อยกว่า 35 ปี ไว้ 7.7 %
  • กำหนดสัดส่วนโดยกฎหมาย (legislated quotas) กฎหมายฟิลิปปินส์กำหนดให้ 50% ของผู้สมัครรับเลือกตั้งในบัญชีรายชื่อต้องเป็นตัวแทนจากกลุ่มประชากรต่างๆ ในศรีลังกา ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้หญิงและคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 35 ปี ต้องมีสัดส่วนรวมกันไม่น้อยกว่า 25 % ของผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด
  • กำหนดสัดส่วนให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นคนรุ่นใหม่ (party quotas) พรรคการเมืองสวีเดนต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งอายุไม่เกิน 35 ปี 25%

งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนในประเทศนี้มีไม่น้อย แต่ส่วนใหญ่เป็นงบสงเคราะห์ ช่วยเหลือ และจัดประชุม มีผู้ให้ความเห็นว่า ดูชื่อโครงการพัฒนาเยาวชนแล้ว มันแทบจะแบบเดียวกันกับที่เราเห็นมาตั้งแต่เด็กจนโต เยาวชนเคลื่อนหน้าไปเรื่อยๆ องค์กร หน่วยงาน และนโยบายที่เกี่ยวข้องนอกจากต้องตามพวกเขาให้ทันแล้ว ยังต้องเข้าใจนิยามของเยาวชนที่เปลี่ยนไปตลอดเวลาด้วย หากยังไม่เปลี่ยนวิธีการเดิมๆ ที่ใช้มา 30 ปี ไม่มีทางแก้ปัญหาอะไรได้เลย นอกจากดำรงให้ปัญหาเดิมๆ เพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตอบตัวชี้วัด