ThaiPublica > คอลัมน์ > ระบาดรอบ 2 กับสิ่งที่น่าเป็นห่วง

ระบาดรอบ 2 กับสิ่งที่น่าเป็นห่วง

23 ธันวาคม 2020


ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

การระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 ในประเทศไทย มีความน่าเป็นห่วงหลายประการ

1.มีคนพยายามหาแพะรับบาป โดยเพ่งเล็งไปที่แรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุที่สมุทรสาคร ก็โทษแรงงานพม่าที่อยู่กันอย่างหนาแน่น กินอาหารร่วมกัน ทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ

ผู้ที่คิดเช่นนี้ ก็อาจผูกเชื้อโรคกับคนเชื้อชาติพม่า ดูถูกดูแคลนว่าเป็นคนนำเชื้อ สร้างความยากลำบากให้คนไทย ซึ่งก็เป็นความจริงเพียงส่วนหนึ่ง เพราะคนนำเชื้อเข้าเมืองไทยที่เป็นคนไทย โดยลักลอบเข้าไปทำงานค้าบริการ ที่ท่าขี้เหล็กในแดนพม่าก็มีเช่นเดียวกัน

ปัญหาจึงอยู่ที่การลักลอบผ่านแดนที่ไม่ถูกต้อง โดยการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ และมีผู้ได้ผลประโยชน์จากขบวนการดังกล่าว

การแกะกุ้งไม่สามารถใช้เครื่องจักร แต่ต้องใช้ความประณีต ความอดทนของคน คนต่างชาติที่เข้ามาแกะกุ้งจึงทำประโยชน์ให้กับผู้บริโภคและเศรษฐกิจไทยไม่น้อย

ทำให้ผมรำลึกถึงสมัยอยู่ที่ประเทศนอร์เวย์ พบหญิงไทยไปเป็นแรงงานแกะกุ้งที่นอร์เวย์ มีสามีเป็นชาวนอร์เวย์ที่ตนต้องทำหน้าที่เป็นทั้งภรรยาและคนทำงานหนัก เมื่อผมถามว่า “คิดถึงเมืองไทยไหม” ก็ปรากฏว่าน้ำตาร่วง

2. มีคนคิดเหมารวมรวบยอดว่า คนต่างชาติเป็นผู้ร้ายที่นำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย วิธีแก้ปัญหาคือปิดล้อมให้แรงงานต่างชาติอยู่ในพื้นที่แคบ ห้ามออกนอกบริเวณ ส่งอาหารและน้ำให้อยู่เฉพาะภายในพื้นที่

การกักขังดังกล่าว เมื่อถูกจำกัดเสรีภาพในการทำงานในการเดินทาง หากเขาเกรงว่าอาหารจะไม่พอ ก็จะเกิดเหตุการณ์ลักลอบออกนอกพื้นที่ เช่นเดียวกันกับค่ายอพยพของชาวต่างชาติตามแนวชายแดนที่มีปัญหามาก่อนหน้านี้

ในความเป็นจริง COVID-19 มิได้เกิดแต่เฉพาะแรงงานต่างชาติ คนไทยก็ติด COVID-19 จำนวนไม่น้อย และแพร่กระจายไปในที่ต่างๆ การควบคุมและปฏิบัติจึงควรดำเนินการในมาตรฐานเดียวกัน

3. มีผู้หลงเชื่อว่า ที่ไทยเอาชนะโรคนี้มาได้ในยกแรกเพราะคนไทยมีภูมิต้านทานพิเศษจากอาหาร จากการอาบน้ำทำความสะอาดบ่อย จากการได้วัคซีนหลายชนิดเมื่อตอนวัยเยาว์ เรามีสาธารณสุขและการแพทย์ที่เยี่ยมยอด จึงไม่ต้องกลัวการติดเชื้อ คุมแรงงานต่างชาติให้ได้ก็น่าจะพอ!!

ในความเป็นจริง คนไทยก็ไม่ได้วิเศษไปกว่าคนชาติอื่น คนไทยที่ไปทำงานต่างแดน ไม่ว่าจะเป็นท่าขี้เหล็กในเขตพม่าหรือประเทศอื่น ต่างก็ติด COVID-19 มาแล้วจำนวนไม่น้อย

ความเชื่อนี้จึงน่าวิตก เพราะจะทำให้ประมาท การ์ดตก ไม่สวมหน้ากาก ไม่อยู่ห่างจากผู้อื่น ไม่ล้างมือ กินอาหารปะปนกัน และไม่ดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวังเหมือนเมื่อตอนต้นปี ยิ่งจะทำให้การระบาดรอบใหม่นี้รุนแรงอย่างรวดเร็ว

4. เราควรจะต้องตระหนักว่า หากเราติดเชื้อ COVID-19 เราจะไม่ได้พบหน้าครอบครัว ญาติ พี่น้อง ต้องอยู่โดดเดี่ยวในสถานพยาบาล แพทย์และพยาบาลเข้ามาดูแลก็แต่ระยะเวลาสั้นๆ และรีบออกจากห้อง ขณะที่โรคนี้ส่งผลร้ายทำลายปอดทำให้หายใจยากลำบากมากๆ ทุรนทุรายเหมือนคนจมน้ำ เครื่องช่วยหายใจก็มีอยู่จำกัด หากมีผู้ป่วยจำนวนมากก็จำจะต้องทิ้งผู้ป่วยบางราย ทุกข์ทรมาน ที่แพทย์ช่วยได้ก็เพียงให้ยาระงับความรู้สึก และอาจต้องจากไปโดยไม่ได้พบหน้าครอบครัว

เราทุกคน จึงควรต้องทนลำบากปฏิบัติตัวดังเช่นที่เคยทำในการระบาดครั้งแรกโดยด่วน

5. สังคมควรใส่ใจดูแลคนตัวเล็กตัวน้อยที่ขาดโอกาสหรือด้อยสิทธิ เพราะหากเกิดการติดเชื้อระบาด จะยากต่อการเยียวยารักษา

(1) นักโทษในคุก

เป็นกลุ่มคนที่เปราะบางอย่างมาก เพราะถูกกักขังตัวอยู่ในเรือนจำ ภายใต้ลูกกรง กำแพงล้อมมิดชิด เป็นการอยู่ห่างสังคม แต่อยู่เบียดเสียดยัดเยียดภายในคุก

หากไม่มีคนนำพาเชื้อโรคเข้าไปในคุก นักโทษในคุกก็ย่อมปลอดภัย แต่หากเชื้อโรคผ่านการนำพาของผู้คุม เจ้าหน้าที่เรือนจำ หรือข้าวของเครื่องใช้ที่นำเข้าจากภายนอก โดยไม่ได้ฆ่าเชื้อในเวลาอันสมควร คนคุกก็จะกลายเป็นเหยื่อแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างรวดเร็วและรุนแรง

วันนี้ที่เป็นห่วงก็คือ ผู้คุม เจ้าหน้าที่เรือนจำ จะเป็นผู้นำเชื้อโรคไปแพร่ระบาดในชุมชนคนคุกที่แออัดยัดเยียด รัฐควรจะได้คิดว่าเป็นโอกาสที่จะผ่อนคลาย จัดระยะห่างของคนในคุก โดยนำนักโทษที่สูงอายุ นักโทษที่เหลือเวลากักขังน้อย นักโทษที่มีความผิดไม่ร้ายแรง นักโทษที่ถูกกักขังระหว่างการพิจารณาคดีแล้วไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว หรือนักโทษที่ยอมกักขังแทนค่าปรับซึ่งไม่สามารถจะหาเงินมาจ่ายได้ หากนำนักโทษเหล่านี้มากักบริเวณภายนอกคุก โดยใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถควบคุมติดตามตัวได้ ก็จะทำให้ความแออัดยัดเยียดกันในคุกลดน้อยลง

ในอนาคต ประเทศไทยจำเป็นจะต้องคิดวิธีการลงโทษด้วยการปรับหรือลงโทษด้วยวิธีอื่นแทนการกักขัง ซึ่งสามารถทำได้ในหลายประเภทความผิดที่อาจเหมาะสมกว่าการนำตัวไปกักขัง

(2) คนไร้บ้าน

คนไร้บ้านเมื่อได้ยินคำขวัญ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” แล้วคงไม่รู้จะปฏิบัติตามได้อย่างไร

เมื่อคนอื่นๆ เขามีบ้านที่จะหลบภัย แต่คนไร้บ้านไม่มีบ้านจะอยู่ ต้องเลือกนอนใต้ร่มไม้ชายคา ที่มีลมพัดเพื่อไล่ยุง ต้องเลือกที่พักหลับนอนในที่จะพอหาห้องส้วม ที่อาบน้ำ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ก็คงทำได้ไม่ง่าย

(3) คนเก็บขยะ

เป็นผู้ที่ทำหน้าที่สำคัญที่คนมักจะลืม คือ ลืมที่จะแยกขยะที่อาจติดเชื้อ COVID-19 และเชื้ออื่นๆ

คนเก็บขยะก็มีความกลัวเช่นเดียวกับคนอื่น จึงเรียกร้องให้ผู้ทิ้งขยะ แยกขยะติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย ทิชชู สำลีที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือถุงมือ จัดใส่ถุงพลาสติกมีสัญลักษณ์ “ขยะติดเชื้อ” เพื่อให้นำไปเผาทำลายจึงเป็นการหยุดแพร่เชื้อเพื่อชาติ

(4) คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

ในยามที่โรคร้ายกลับมาระบาด ผู้ทำหน้าที่ส่งอาหาร ส่งของ ส่งคนเจ็บป่วยก็คือ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ยามที่ร้านอาหารปิดกิจการนั่งกินในร้าน ต้องซื้อกลับบ้านอย่างเดียว ก็ต้องอาศัยมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จะไปเอายาจากโรงพยาบาลก็มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และอื่นๆ อีกมากที่มอเตอร์ไซค์รับจ้างทำหน้าที่แทนเรา แทนครอบครัวของเรา และครั้งนี้ยังต้องเสี่ยงกับโรคร้าย COVID-19 อีกด้วย

คนขี่มอเตอร์ไซค์ต้องออกไปรวมตัวซื้ออาหารร้านเดียวกัน เป็นการชุมนุมอยู่กันเป็นกลุ่มอย่างไม่ตั้งใจ บางครั้งต้องสัมผัสลูกค้าที่นั่งซ้อนท้ายหายใจรดต้นคอ ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ ยิ่งกว่านั้น เขาต้องดั้นด้นเข้าไปในหมู่บ้านและชุมชนต่างๆ ที่อาจไม่ปลอดภัย

คนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างเหล่านี้จะมีเวลาล้างมือ อาบน้ำ ก่อนปาดเหงื่อจับใบหน้าของตนเองมากน้อยแค่ไหน ตกเย็นพลบค่ำก็ต้องเข้าบ้านอยู่กับครอบครัว ซึ่งตนเองอาจจะเป็นพาหะนำโรคร้ายแพร่ระบาดกับคนในครอบครัวก็ได้

เจ้าของและหัวหน้าวินมอเตอร์ไซค์ซึ่งส่วนมากก็เป็น ทหาร ตำรวจ หรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่จะร่วมกันคิดจัดระบบเพื่อความปลอดภัย ปลอดเชื้อ เพื่อชาติ ได้บ้างก็จะดี เพราะตลอดมาก็ได้กินหัวคิว ขายเสื้อกั๊กที่บอกสังกัดในราคาแพงไปแล้ว

บริษัทตัวกลางในการประสานระหว่างคนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างกับร้านอาหาร เช่น GrabFood, Lineman, Gojek ควรจะได้ร่วมมือวางระบบป้องกัน COVID-19 เพื่อไม่ให้ติดต่อคนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ก็จะเป็นประโยชน์ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในการปลอดเชื้อของอาหารและข้าวของที่สั่งอีกด้วย ต้องระมัดระวังว่าหากมีคนขี่มอเตอร์ไซค์ติดเชื้อ COVID-19 กิจการนี้จะล่มสลายไปคล้ายๆ กับที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย ที่ผู้บริโภคไม่มั่นใจและเกรงกลัวที่จะใช้บริการ

(5) คนสลัม ชุมชนแออัด

บ้านหลังน้อยอยู่ชิดติดกัน ทางเดินแคบๆ น้ำทิ้งส่งกลิ่นคละคลุ้ง ผู้คนเข้าออกพื้นที่แออัด แม้ต่างคนต่างอยู่แต่ก็ดูเสมือนชุมนุมกันโดยปริยายทุกวัน ไม่ต่างกับที่อยู่อาศัยของแรงงานต่างชาติในสมุทรสาคร

การเว้นระยะห่างของแต่ละคนคงทำได้ยาก

การรวมตัวของคนสลัมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยการสนับสนุนขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งสามารถให้ความรู้และสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันโรคคงจะช่วยได้มาก

(6) ผู้สูงอายุ คนเฒ่า คนแก่

เชื้อ COVID-19 ดูจะออกฤทธิ์ร้ายแรงกับผู้สูงอายุ เพราะอัตราการตายของผู้สูงอายุที่ติดเชื้อไวรัสตัวนี้จะสูงมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนอายุต่างๆ พบว่าเกือบ 20% ของผู้สูงอายุที่ติดเชื้อจะเสียชีวิต

ผู้สูงอายุแม้จะเป็นผู้เชี่ยวชาญชีวิต แต่สังขารก็เสื่อมถอยเป็นธรรมดาย่อมมีโรคประจำตัวแทรกซ้อนอยู่ในร่างกาย ภูมิต้านทานก็ลดน้อยถอยลง หลายคนเดินเหินยากลำบาก ต้องอยู่ติดบ้าน ติดเตียง

แต่ผู้สูงอายุเหล่านี้ก็ต้องกินอาหาร ต้องกินยา ต้องมีข้าวของเครื่องใช้ จึงต้องอาศัยลูกหลานคนในครอบครัว ออกไปจับจ่ายใช้สอยนำกลับมาให้ ความสำคัญอยู่ที่คนหนุ่มสาว ลูก-หลาน ที่ออกไปนอกบ้านและเมื่อจะเข้าไปบ้านผู้สูงอายุจำเป็นต้องล้างมือ อาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าและควรเว้นระยะห่างจากตัวผู้สูงอายุอย่างน้อย 2 เมตร

ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยอยู่ตัวคนเดียว หรืออยู่ตามลำพัง 2 คน ตา-ยาย ไม่มีคนดูแล ซื้อข้าวปลาอาหารของใช้ให้ในยามนี้ก็จะเกิดความยากลำบาก หากออกนอกบ้านไปจัดหาด้วยตัวเองก็อาจติดเชื้อ COVID-19 ได้

องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ทุกตำบลควรร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (สถานีอนามัยเดิม) อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ร่วมกับวัด-พระสงฆ์ น่าจะได้มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยวางระบบเกื้อหนุนเสียในเวลานี้ เพราะขณะนี้ผู้สูงอายุของไทยมีประมาณ 20% ของประชากรทั้งประเทศหรือประมาณ 13 ล้านคน อีก 10 กว่าปี ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุถึง 1 ใน 3 ของคนทั้งประเทศหรือประมาณ 20 ล้านคน องค์กรที่สำคัญในท้องถิ่นจะต้องผนึกกำลังวางระบบรองรับ ควรถือโอกาสที่มีโรคระบาด COVID-19 รัฐบาลส่วนกลางควรรีบกระจายอำนาจให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นได้วางระบบและบริหารจัดการเสียในโอกาสนี้ เพราะการบริหารส่วนกลางโดยกระทรวงและกรมต่างๆ ควรจะเป็นผู้ให้คำปรึกษากับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในการดำเนินงาน

ปีใหม่ 2564 จึงเป็นปีที่น่าเป็นห่วง เพราะหากไม่มีการระบาดรอบสอง สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจตกต่ำ ถดถอย ก็รุนแรงมากอยู่แล้ว หากมีการระบาดรอบที่ 2 ซ้ำเติม กิจการหลายอย่างต้องปิดตัว คนต้องตกงาน ขาดรายได้ คนที่ไม่มีเงินออมจะเดือดร้อนอย่างหนัก ปัญหาสังคม ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ก็จะเกิดปัญหาการเมืองจะตามมา ไม่แพ้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดเศรษฐกิจตกต่ำในปี พ.ศ. 2473 (ค.ศ. 1930) และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ.2475