ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “มติศาล รธน. 9:0 ประยุทธ์พักบ้านหลวงไม่ผิด ” และ “ฮ่องกงตัดสินจำคุกนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “มติศาล รธน. 9:0 ประยุทธ์พักบ้านหลวงไม่ผิด ” และ “ฮ่องกงตัดสินจำคุกนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย”

5 ธันวาคม 2020


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 28 พ.ย. – 4 ธ.ค. 2563

  • มติศาล รธน. 9:0 ประยุทธ์พักบ้านหลวงไม่ผิด ชี้ รัฐควรจัดบ้านพักให้ผู้นำเพื่อพร้อมทั้งสุขภาพกาย-ใจในการปฏิบัติภารกิจ
  • พบคนไทยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 10 คน กระจายตัว 6 จังหวัด แต่ยังไม่พบการแพร่กระจายโรคในประเทศ
  • สุดารัตน์ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย โภคิน-พงศกร
    ด้วย
  • ทวิตเตอร์ระงับบัญชีโรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน เหตุละเมิดกฎเรื่องบิดเบือนและสแปม
  • มติสหประชาชาติ กัญชาพ้นสารเสพติดที่อันตรายที่สุด
  • ฮ่องกงตัดสินจำคุกนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย

มติศาล รธน. 9:0 ประยุทธ์พักบ้านหลวงไม่ผิด ชี้ รัฐควรจัดบ้านพักให้ผู้นำพร้อมปฏิบัติภารกิจ

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

วันที่ 2 ธ.ค. 2563 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ศาล รธน.) ออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำวินิจฉัย กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่

กรณีนี้เกิดจากการที่ พล.อ. ประยุทธ์ ยังคงพักอาศัยอยู่ในบ้านพักของข้าราชการทหาร ทั้งที่เกษียณอายุราชการมาแล้ว 6 ปี

ศาล รธน. พิจารณากรณีของ พล.อ. ประยุทธ์ ตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรอง พ.ศ. 2548 ซึ่งจากระเบียบดังกล่าว ขณะถูกร้องนั้น (24 ส.ค. 2557) พล.อ. ประยุทธ์ ยังเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) อยู่ จึงมีสิทธิ์เข้าพักอาศัยตามข้อ 5.2 ของระเบียบดังกล่าว และเมื่อเกษียณราชการจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. แล้ว (30 ก.ย 2557) แต่ดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่ ก็ยังเข้าระเบียบข้อดังกล่าวเช่นกัน เพราะไม่ได้เป็นการเข้าพักในฐานะที่เป็นนายกฯ อย่างเดียว แต่คือเป็นอดีต ผบ.ทบ. ด้วย

  • ข้อ 5 กำหนดผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัย ต้องเป็น 1) ข้าราชการ ทบ. ในปัจจุบัน มีชั้นยศ พล.อ. และ 2) อดีตข้าราชการชั้นสูงของ ทบ. ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กับ ทบ. และประเทศชาติ และเคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. มาแล้ว

นอกจากนี้ ในข้อ 8 ของระเบียบดังกล่าว แม้จะหมดสิทธิ์แล้ว แต่ทางกองทัพบกก็สามารถพิจารณาให้เข้าพักอาศัยเฉพาะรายได้ด้วย และการที่กองทัพบกสนับสนุนค่าน้ำค่าไฟในการเข้าพัก ก็เป็นการพิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม อีกทั้งเป็นการพิจารณาให้สิทธิ์แก่ผู้ที่เข้าเงื่อนไขมีสิทธิ์เข้าพัก ไม่ได้พิจารณาให้เฉพาะตัว พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งเป็นผู้ถูกต้องแต่อย่างใด

  • ข้อ 8 กำหนดให้หมดสิทธิพักอาศัยใน 4 กรณี 1) ย้ายออกนอก ทบ. 2) ออกจากราชการไม่ว่ากรณีใด 3) ถึงแก่กรรม และ 4) เมื่อ ทบ. พิจารณาให้หมดสิทธิการเข้าพักอาศัย แต่ทว่า ทบ. อาจพิจารณาให้ผู้หมดสิทธิได้เข้าอาศัยเป็นกรณีเฉพาะรายก็ได้
  • ข้อ 11 กำหนดว่าบ้านพักรับรองที่ ทบ. กำหนดให้พิจารณาความเหมาะสมในการสนับสนุนงบประมาณค่ากระแสไฟฟ้า น้ำประปา และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการพักอาศัยตามความจำเป็นและการใช้งาน

นอกจากนี้ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยังระบุด้วยว่า โดยที่นายกฯ เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญของประเทศ นอกจากเป็นหัวหน้าของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ยังมีฐานะเป็นผู้นำของประเทศ ความปลอดภัยของนายกฯ รวมทั้งครอบครัวมีส่วนสำคัญ รัฐมีหน้าที่จัดการดูแลให้ความปลอดภัยแก่นายกฯ และครอบครัวตามความเหมาะสมแก่สภาพการณ์

“การจัดบ้านพักรับรองที่ปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว สร้างความพร้อมทั้งสุขภาพกายและจิตใจในการปฏิบัติภารกิจในการบริหารประเทศล้วนเป็นประโยชน์ส่วนรวม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐพึงจัดสรรให้มีที่พำนักแก่ผู้นำของประเทศขณะดำรงตำแหน่ง”

วรวิทย์ กังศศิเทียม
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
ที่มา: เว็บไซต์บีบีซีไทย

กรณีไทย ในอดีตเคยกำหนดให้บ้านพิษณุโลกเป็นที่พำนักของนายกฯ ขณะดำรงตำแหน่ง “แต่ในปัจจุบันการบำรุงรักษายังไม่พร้อมใช้ หรือจัดให้มีขึ้นใหม่ ดังนั้นเพื่อให้นายกฯ ปฏิบัติหน้าที่ผู้นำประเทศได้อย่างสมเกียรติ รัฐพึงจัดให้มีที่พำนักประจำตำแหน่งนายกฯ”

ส่วนกรณีที่ว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้ทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระหรือไม่นั้น

ศาล รธน. เห็นว่า เมื่อวินิจฉัยว่าการที่ผู้ถูกร้องพักอาศัยตามระเบียบ ทบ. 2548 จึงไม่เป็นกรณีการถือประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของประเทศ ไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเอง ไม่เป็นการขอเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ และไม่เป็นการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่เป็นการรับที่มีบทบัญญัติทางกฎหมายหรือระเบียบให้รับได้

ดังนั้น พล.อ. ประยุทธ์ จึงไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

และทั้งหมดนี้ ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สิ้นสุดลง

อ่านเพิ่มเติม
เว็บไซต์บีบีซีไทย — พล.อ. ประยุทธ์พ้นผิด “คดีพักบ้านหลวง” ศาลรัฐธรรมนูญชี้รัฐพึงจัดบ้านพักให้ผู้นำ เพื่อ “สร้างความพร้อมทั้งสุขภาพกาย-ใจในการปฏิบัติภารกิจ”
เว็บไซต์บีบีซีไทย — ศาลรัฐธรรมนูญ: สำรวจข้อกฎหมาย-ข้อวิเคราะห์ ก่อนศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตา พล.อ. ประยุทธ์ คดีพักบ้านหลวง
เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ — คำต่อคำ : ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่บ้านพักทหารไม่ผิด ชี้มีสิทธิตามระเบียบ ทบ.-เป็นผู้นำประเทศ

พบคนไทยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 10 คน กระจายตัว 6 จังหวัด

วันที่ 2 ธ.ค. 2563 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงว่า ขณะนี้พบมีหญิงไทย ที่ลักลอบข้ามผ่านธรรมชาติจากประเทศเมียนมา เข้ามาทาง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งก่อนหน้านี้รายงานผู้ป่วยไปแล้ว 4 คน คือ จ.เชียงใหม่ 1 คน เชียงราย 3 คน

และการสอบสวนค้นหาผู้สัมผัสเพิ่มเติมอีก 6 คน คือ เชียงใหม่ 2 คน พะเยา 1 คน กรุงเทพฯ 1 คน พิจิตร 1 คน และราชบุรี 1 คน ทั้งหมดเกี่ยวข้องกลุ่มหญิงไทย 4 คน ที่ลักลอบเข้าเมืองก่อนหน้านี้ รวมผู้ติดเชื้อล่าสุด 10 คน โดยพบว่า ครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ

อนึ่ง จากการติดตามกลุ่มดังกล่าว ล่าสุดยังไม่พบการนำเชื้อไปติดยังผู้อื่น จึงยังไม่พบการแพร่กระจายในประเทศ

นพ.โสภณกล่าวอีกว่า สำหรับกรณีหญิงไทย อายุ 29 ปี ที่ยืนยันการติดเชื้อคนแรกเมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งพบมีผู้สัมผัสทั้งหมด 326 คน และแบ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง 105 คน และสัมผัสเสี่ยงต่ำ 149 คน และอื่นอีก 72 คน ผลตรวจหาเชื้อออกแล้วผลเป็นลบ และยังรอผลตรวจอีก 91 คน

ส่วนกรณีหญิงอายุ 26 ปี จ.เชียงราย (รายที่ 1) ที่ตรวจยืนยันเชื้อ 29 พ.ย.63 มีผู้สัมผัสทั้งหมด 28 คน โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 4 คนพบว่า 1 คนมีผลเป็นบวก (พบว่าติดเชื้อคือหญิงอายุ 23 ปี) ซึ่งเป็นการติดเชื้อจากเมียนมา

อ่านเพิ่มเติม
เว็บไซต์ไทยพีบีเอส — สธ.ยืนยัน 6 หญิงไทยข้ามจากเมียนมาติด COVID-19
เว็บไซต์ไทยพีบีเอส — 19 คน! ไทยเริ่มพบผู้ป่วย COVID-19 รายวันเพิ่มขึ้น
เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ — เปิดไทม์ไลน์ สาวเชียงใหม่ติดโควิด หลังกลับจากเมียนมา สัมผัสคน 326 ราย
เว็บไซต์มติชนออนไลน์ — ด่วน! สาววัย 21 ลอบเข้าไทยทางแม่สาย ถูกตรวจพบเชื้อโควิด-19 หลังบินตรงเข้า กทม.

สุดารัตน์ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย โภคิน-พงศกร ด้วย

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กแฟนเพจ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan

วันที่ 30 พ.ย. มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้ว โดยมีแกนนำ อาทิ โภคิน พลกุล, พงศกร อรรณนพพร ลาออกตามด้วย

มีรายงานว่า สาเหตุที่คุณหญิงสุดารัตน์ลาออกในครั้งนี้มีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1. ความไม่ชัดเจนของกรรมการบริหารพรรค เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร 2. มีการตั้งกรรมการและอนุกรรมการใหม่ แทนทีมคุณหญิงสุดารัตน์ โดยไม่มีชื่อบุคคลในเครือข่าย ส.ส. ทีมของคุณหญิงสุดารัตน์ แม้แต่คณะเดียว 3. การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ที่ไม่อนุญาตให้คุณหญิงลงพื้นที่ช่วยหาเสียง

อ่านเพิ่มเติม
เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — “เจ๊หน่อย” ถอดใจ ไขก๊อก สมาชิกเพื่อไทยแล้ว “โภคิน-พงศกร” ยื่นตาม
เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ — คุณหญิงสุดารัตน์ เปิด 3 เหตุผล ลาออกจากพรรคเพื่อไทยทุกตำแหน่ง

ทวิตเตอร์ระงับบัญชีโรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน เหตุละเมิดกฎเรื่องบิดเบือนและสแปม

ทวิตเตอร์ได้ระงับบัญชีโรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน หรือ @jitarsa_school ด้วยเหตุผลเรื่องการละเมิดกฎของทวิตเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการบิดเบือนระบบและสแปม

อนึ่ง จากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอรส์ บัญชีทวิตเตอร์ของโรงเรียนจิตอาสาพระราชทานถูกสร้างขึ้นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยมีผู้ติดตามราว 48,000 คน ก่อนที่จะถูกระงับการให้บริการ

อ่านเพิ่มเติม
เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — ทวิตเตอร์ ระงับบัญชีโรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน เพราะละเมิดกฎการใช้งาน
เว็บไซต์บล็อกนัน — ทวิตเตอร์ระงับบัญชีโรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน @jitarsa_school

มติสหประชาชาติ กัญชาพ้นสารเสพติดที่อันตรายที่สุด

วันที่ 2 ธ.ค. 2563 คณะกรรมาธิการด้านยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ ได้อนุมัติข้อเสนอแนะจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้นำกัญชาและยางกัญชาออกจากการจำแนกสารเสพติดหมวดหมู่ 4 (Schedule IV) ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสารเสพติด 1961

“สารเสพติดหมวดหมู่ 4 จัดเป็น “สารเสพติดที่อันตรายที่สุด มีฤทธิ์สูง และมีคุณค่าทางการแพทย์หรือการรักษาที่จำกัดอย่างมาก”

ผลการลงมติครั้งนี้ ทำให้กัญชาและยางกัญชา ไม่ได้มีสถานะเป็นสารเสพติดที่อันตรายที่สุดอีกต่อไป และได้รับการยอมรับว่ามีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่จะยังคงอยู่ภายใต้ข้อหมวดหมู่ 1

ในการลงมติครั้งนี้ มีคณะกรรมการเห็นชอบ 27-25 เสียง หรือเกือบครึ่งต่อครึ่งเท่านั้น โดยสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และแอฟริกาใต้ เป็นหนึ่งในประเทศที่โหวตเห็นชอบ ในขณะที่ บราซิล จีน รัสเซีย และปากีสถาน ลงคะแนนไม่เห็นด้วย

อ่านเพิ่มเติม
เว็บไซต์ PPTVHD36 — สหประชาชาติลงมตินำกัญชาออกจากรายชื่อ “สารเสพติดที่อันตรายสุด”

ฮ่องกงตัดสินจำคุกนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย

โจชัว หว่อง
ที่มาภาพ: เว็บไซต์ South China Morning Post (https://goo.gl/u9Ovuz)

ศาลฮ่องกงตัดสินจำคุก โจชัว หว่อง แอกเนส โจว และอิวาน แลม 3 นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ฐานเข้าร่วมการชุมนุมโดยผิดกฎหมายในการชุมนุมประท้วงเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2562)

โจชัว หว่อง ถูกจำคุก 13.5 เดือน แอกเนส โจว ถูกจำคุก 10 เดือน และอิวาน แลม ถูกจำคุก 7เดือน

อนึ่ง การตัดสินนี้มีขึ้นก่อนทางการจีนจะนำกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติซึ่งมีบทลงโทษรุนแรงมาบังคับใช้ ทำให้นักเคลื่อนไหวทั้งสามไม่ต้องรับโทษจำคุกตลอดชีวิต

อ่านเพิ่มเติม
เว็บไซต์บีบีซีไทย — ศาลฮ่องกงตัดสินจำคุกโจชัว หว่อง 13.5 เดือน