รู้จัก “นวัตปะการัง” นวัตกรรมปะการังเทียมรูปแบบใหม่ จากเทคโนโลยี 3D Printing โดย SCG ต้นทุนเฉลี่ย 15,000 บาทต่อชิ้น ทดแทนปะการังเทียม ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในเวลาเพียง 1-2 ปี เตรียมต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรมประมงและการท่องเที่ยว
ปัญหาใต้ท้องทะเลอย่างปะการังนับเป็นหนึ่งในวิกฤติสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับผลกระทบหลักจากธรรมชาติและผลกระทบรองจากการท่องเที่ยว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศท้องทะเลไทยขาดความอุดมสมบูรณ์ในหลายจุด
แม้จะมีการพัฒนา ‘ปะการังเทียม’ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยเทคโนโลยีที่ผ่านมาไม่ใช่การฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เนื่องจากยังมีจุดบอดด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วัสดุที่ไม่คงทน ถูกพัดไปกับกระแสน้ำ จมลงในทราย ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้เวลาเข้ากับธรรมชาตินานถึงเกือบ 10 ปี
ปัญหาข้างต้นทำให้ “เอสซีจี” ร่วมมือกับคณะสัตว์แพทยศาสตร์ จุฬาฯ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แก้วิกฤติปะการังโดยนำเทคโนโลยี 3D Printing พัฒนาปะการังเทียมในชื่อ “นวัตปะการัง” ผ่านการศึกษาและมาแล้วว่าสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน ฟื้นฟูธรรมชาติได้จริง และมีคุณสมบัติที่ดีกว่าปะการังแบบเก่าๆ
บทบาทความร่วมมือในการพัฒนา “นวัตปะการัง” ของ 3 หน่วยงาน แบ่งออกเป็น
- คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้พัฒนาต้นแบบปะการัง ทำการศึกษาและพัฒนาในทางวิชาการ
- เอสซีจี โดยธุรกิจ Cement and Construction Solution พัฒนาชิ้นงานจริงด้วยเทคโนโลยี 3D Printing และดำเนินการเรื่องค่าใช้จ่าย
- กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำนวัตปะการังไปลงพื้นที่จริง และเป็นต้นแบบการพัฒนาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมหลังจากที่ทดลองแล้วประสบความสำเร็จ
นายเฉลิมวุฒิ สงวนญาติ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย Mortar Technology หน่วยงาน Research and Innovation Center ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า เทคโนโลยี 3D Printing ของเอสซีจีได้พัฒนาขึ้นโดยมีส่วนเพื่อพัฒนามิติสังคมและสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มต่างๆ โดยจะร่วมกับลูกค้าในการ Co-Design ในการขึ้นรูปทรงต่างๆ
แต่นอกจากศักยภาพการใช้เทคโนโลยีแล้ว นวัตปะการังยังสะท้อนถึงการร่วมมือในการทำธุรกิจเพื่อสังคม
นายเฉลิมวุฒิ เสริมว่า นวัตปะการังหนึ่งชิ้นจะใช้เวลาพิมพ์ประมาณ 6 รูป มูลค่าประมาณ 15,000 บาทต่อชิ้น สามารถปรับแต่งรูปแบบ และลักษณะทางโครงสร้าง รวมทั้งความซับซ้อนของช่องว่าง แสง และเงาให้เข้ากับสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่การติดตั้ง มีน้ำหนักเบาทำให้ขนย้ายได้ง่าย ถอดประกอบได้เป็นการลดต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายทางการขนส่ง และแรงงานในการติดตั้ง ที่สำคัญเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อยู่ใต้น้ำได้นานหลายสิบปี
รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวคิดของนวัตปะการังว่า คณะฯ ต้องการอนุรักษ์ธรรมชาติโดยหาสิ่งที่จะมาทดแทนปะการังเทียม แต่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่ความยากในการพัฒนาปะการังเทียมคือต้องไม่ถูกพัดพาไปกับกระแสน้ำและไม่จบไปกับผืนทราย เนื่องจากสิ่งที่กำลังจะเข้าไปคือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
“เราอยากจะสร้างสิ่งที่ทดแทนธรรมชาติให้คล้ายคลึงมากที่สุด ‘นวัตปะการัง’ เลยเป็นที่เพาะพันธุ์ปะการังที่ต่อยอดมาจากธรรมชาติที่หักไป เป็นหลุมเป็นที่ฝังปะการังไปให้โตเร็วขึ้นด้วย ทั้งการออกแบบที่เหมาะสมสำหรับสิ่งมีชีวิต เกิดการสร้างปะการังใหม่และระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังหรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ต้องสามารถมาใช้ชีวิตเสมือนว่าเป็นปะการังจริงๆ”
อย่างไรก็ตาม นวัตปะการังยังแก้ปัญหานักดำน้ำหน้าใหม่เตะปะการังได้อีกด้วย เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวสัมผัสหรือเตะจะไม่ทำให้นวัตปะการังเสียหาย
รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าวอีกว่า นวัตปะการังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและเก็บข้อมูล โดยเริ่มทดลองวางใต้ท้องทะเลในช่วงเดือนสิงหาคม จนกระทั่ง 4 เดือนถัดมาในพื้นที่ต่างๆ เช่น หมู่เกาะสีชัง เกาะขาม เกาะล้าน เกาะยอ ฯลฯ เริ่มมีสิ่งมีชีวิตเข้ามาอาศัย ทั้งปลานกแก้ว ดอกไม้ทะเล รวมไปถึงปลาการ์ตูน
นอกจากนี้ แนวทางการพัฒนาวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการังยังเป็นแหล่งเกาะตัวของปะการัง ทำให้เกิดการรวมตัวกันมากขึ้นของความหลากหลายทางชีวภาพ
ขณะที่ตัวแทนจากภาครัฐ นำโดยนายอุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลว่า จากความร่วมมือของนวัตปะการังจะช่วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยตรงหากมีการจัดพื้นที่และส่งเสริมการท่องเที่ยวในการดำน้ำชมปะการังที่มีความสวยงามเสมือนจริง สร้างอาชีพใหม่ให้แก่ชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้ และสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชนที่ประกอบอาชีพประมงที่ได้มีการพึ่งพาปะการังหรือปะการังเทียม เนื่องจากบริเวณดังกล่าวสามารถทำการประมงได้ในปริมาณที่มาก ส่งผลให้เกิดรายได้ในชุมชน
“ปะการังเทียมสมัยก่อนเป็นฐานซีเมนต์ เทคนิคคือใช้การก่อสร้างปกติ รูปแบบที่จะทำได้เป็นสี่เหลี่ยมหรือรูปโดม ถือเป็นข้อจำกัดของเทคโนโลยีปกติ แต่ ‘นวัตปะการัง’ มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำให้โครงสร้างพื้นผิวมีความซับซ้อน มีร่มเงามีซอกหลืบให้ปลาว่ายน้ำได้ ซึ่ง 3D Printing ตอบโจทย์โครงสร้างนี้ และเป็นสิ่งพิสูจน์ว่านวัตกรรมมีส่วนสำคัญ” ผ.อ.กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กล่าว
‘นวัตปะการัง’ ยังสามารถพัฒนาไปในด้านระบบนิเวศทางทะเลแบบ ‘สวนสาธารณะปะการัง’ (Coral Park) กล่าวคือเป็นศูนย์ข้อมูลด้านปะการังในรูปแบบ Smart Station โดยติดกล้องและเครื่องวัดแสง-อุณหภูมิ ทั้งยังสามารถต่อยอดเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาสำหรับผู้บริโภค ช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตอาหารทะเลเพราะสามารถควบคุมระบบนิเวศเองได้
ผ.อ.กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กล่าวต่อว่า “เมื่อเราเอานวัตปะการังลงไปแล้วต้องมีการติดตามผลงานความสำเร็จ ถ้าพิสูจน์ว่าสำเร็จแล้วก็จะมีการขยายผล”
“ความร่วมมือทั้ง 3 ฝ่ายจะช่วยให้เกิดการบริหารจัดการภาครัฐรูปแบบใหม่ เพราะหน่วยงานราชการทำอะไรทุกอย่างไม่ค่อยได้ ดังนั้นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานทำได้เร็วขึ้น” ผ.อ.กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กล่าว
ทั้งนี้ นวัตปะการังได้รับรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2563 ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ ประเภทการออกแบบผลิตภัณฑ์ และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย