ThaiPublica > เกาะกระแส > ทำไมความสัมพันธ์จีนกับญี่ปุ่น ยักษ์ใหญ่เอเชีย จึงอยู่ในสภาพ “การเมืองเย็นชา เศรษฐกิจร้อน”

ทำไมความสัมพันธ์จีนกับญี่ปุ่น ยักษ์ใหญ่เอเชีย จึงอยู่ในสภาพ “การเมืองเย็นชา เศรษฐกิจร้อน”

30 พฤศจิกายน 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

นายหวัง ยี่ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ได้เดินทางไปเยือนญี่ปุ่น ในการพบปะเจรจากับนายโทชิมิตซึ โมเทกิ (Toshimitsu Motegi) รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น

สัปดาห์ที่ผ่านมา นายหวัง ยี่ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ได้เดินทางไปเยือนญี่ปุ่น ในการพบปะเจรจากับนายโทชิมิตซึ โมเทกิ (Toshimitsu Motegi) รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น สองประเทศเห็นพ้องกันที่จะเริ่มต้นให้มีการเดินทางด้วยเหตุผลทางธุรกิจระหว่างสองประเทศ นับจากปลายเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา

ฝ่ายญี่ปุ่นยังคงเรียกร้องอย่างแข็งขัน ให้จีนดำเนินการ “มาตรการเชิงบวก” กรณีที่เรือของจีนรุกล้ำน่านน้ำหลายครั้งรอบๆ เกาะเซนกากุที่ญี่ปุ่นดูแลอยู่ แต่นายหวังยี่ก็กล่าวว่า ทางจีนจะดำเนินการต่อไป ที่จะปกป้องอธิปไตยเหนือเกาะแห่งนี้ ที่จีนเรียกว่าเกาะเตียวหยู (Diaoyu) แต่ฝ่ายจีนก็หวังว่า สองฝ่ายจะพยายามเปลี่ยนเส้นทางทะเลนี้ให้กลายเป็นทะเลแห่งสันติภาพ

ก่อนหน้านี้ ทางการจีนวิตกกังวลต่อนโยบายของญี่ปุ่น ที่เรียกว่า “อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” และกล่าวหาว่า ญี่ปุ่นกับประเทศหุ้นส่วนในภูมิภาคนี้กำลังพัฒนาองค์กรความมั่นคงในภูมิภาค คล้ายกับ “กลุ่มนาโต้เอเชีย” เพื่อต่อต้านจีน เมื่อเดือนตุลาคม ญี่ปุ่นก็เป็นเจ้าภาพจัดประชุมกลุ่มความมั่นคง The Quadrilateral Security Dialogue ที่ประกอบด้วย อินเดีย ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และญี่ปุ่น

ความสัมพันธ์ทวิภาคีที่สำคัญต่อโลก

Ezra F. Vogel ผู้เชี่ยวชาญเอเชียตะวันออกของฮาร์วาร์ด เจ้าของหนังสือที่โด่งดัง Japan as Number One เขียนไว้ในหนังสือชื่อ China and Japan (2019) ว่า หากความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ สองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก คือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีความสำคัญมากที่สุดของโลก ความสัมพันธ์ที่สำคัญอันดับ 2 ของโลกก็คือจีนกับญี่ปุ่น เพื่อนบ้านที่เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 และ 3 ของโลก

หนังสือ China and Japan กล่าวว่า จีนกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่มีความตรึงเครียด อันตราย มีความหมายสำคัญ และซับซ้อน เรือและเครื่องบินของสองประเทศเผชิญหน้าเป็นระยะเหนือเกาะเซนกากุ ความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกันมีอยู่สูง เมื่อเกิดเหตุการณ์เผชิญหน้ากันในปี 2012 ความรู้สึกของคนจีนที่ต่อต้านญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้น จนรัฐบาลจีนสามารถปลุกระดมออกมาเดินขบวนต่อต้านญี่ปุ่น นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นไปจีนก็น้อยลง คนญี่ปุ่นทำงานในจีน ต้องอยู่หลบๆ ซ่อนๆ ไม่ให้รู้ว่าเป็นคนญี่ปุ่น

หากความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นถูกจัดการแบบผิดพลาดขึ้นมา จะนำไปสู่สถานการณ์ที่สองประเทศจะต้องใช้จ่ายเงินพุ่งสูงขึ้นด้านการทหาร จะเกิดความล้มเหลวในการแก้ปัญหาระหว่างประเทศ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค แต่หากจัดการได้ดี สองประเทศจะสามารถร่วมมือกัน ในการปกป้องระเบียบระหว่างประเทศ สนับสนุนองค์การในภูมิภาคที่เกี่ยวกับการค้า การรักษาสันติภาพ หรือภัยธรรมชาติ

Ezra Vogel กล่าวว่า ผู้นำของสองประเทศมักจะกล่าวว่า ความสัมพันธ์ของสองประเทศจะดีขึ้นได้ เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งจัดการอย่างถูกต้องกับประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่มีประเทศไหนในโลก ที่จะมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ ที่ยาวนานเท่ากับจีนกับญี่ปุ่น ที่สองฝ่ายติดต่อกันมานานกว่า 1,500 ปี ทำให้ประชาชนของสองประเทศเต็มไปด้วยอารมณ์ ที่ฝังลึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และยากที่ฝ่ายหนึ่งจะนำเอาทัศนคติของอีกฝ่ายมาพิจารณาใคร่ครวญ

ที่มาภาพ : amazon.com

ประเด็นขัดแย้งทางประวัติศาสตร์

ความกังวลของผู้นำจีนที่มีต่อญี่ปุ่น สะท้อนความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ใน 3 ประเด็นที่สำคัญ คือ การที่ผู้นำญี่ปุ่นไปเยือนศาลเจ้ายาซึคุนิ (Yasukuni Shrine) ฝ่ายญี่ปุ่นไม่ยอมรับความโหดร้ายในเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่นานกิง (Nanjing Massacre) และตำราเรียนของญี่ปุ่นไม่ได้อธิบายอย่างเที่ยงตรงความถูกต้อง เกี่ยวกับสงครามจีน-ญี่ปุ่น

ศาลเจ้ายาซึคุนิในอดีต จีนได้รับความเสียหายอย่างมากจากการโจมตีรุกรานของทหารญี่ปุ่น ที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ผู้นำจีนจึงอ่อนไหวต่อการที่ญี่ปุ่นจะกลับกลายมาเป็นมหาอำนาจทางทหารใหม่ เช่น การเพิ่มงบประมาณทหารของญี่ปุ่น หรือการยกเลิกมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ที่ห้ามใช้การทำสงคราม เป็นวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งกับนานาประเทศ

ศาลเจ้ายาซึคุนิตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว สร้างขึ้นมาในสมัยจักรพรรดิเมจิเมื่อปี 1869 เพื่อรำลึกถึงทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตจากสงคราม ต่อมาขยายรวมไปถึงทหารที่เสียชีวิตจากสงครามในรัชสมัยโชวะ สำหรับจีน การที่ญี่ปุ่นยังรำลึกถึงทหารที่ถูกพิจารณาคดีจากอาชญากรรมสงครามภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แสดงว่าญี่ปุ่นยังไม่มีการจำแนกอาชญากรสงครามกับทหารทั่วไป และยังคงให้การเคารพต่อคนที่มีส่วนรุกรานโจมตีจีน

การสังหารหมู่นานกิง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 เมื่อกองทหารญี่ปุ่นเข้ายึดเมืองนานกิง ในวันที่ 13 ธันวาคม 1937 ทหารและพลเมืองจีนถูกสังหารหลายแสนคน สำหรับจีน การสังหารหมู่นานกิงเป็นตัวอย่างที่เลวร้ายของบรรดานักรบญี่ปุ่น คนจีนเองจะคุ้นเคยเรื่องเล่าที่แสดงความโหดร้ายในเหตุการณ์นี้ ทุกครั้งที่มีนักวิชาการญี่ปุ่นออกมาบอกว่า จำนวนคนตายไม่ได้มากเท่ากับที่ฝ่ายจีนอ้างไว้ จีนจะรู้สึกว่าญี่ปุ่นลดความร้ายแรงของอาชญากรรมที่ทหารญี่ปุ่นได้กระทำไว้

ตำราเรียนญี่ปุ่น ฝ่ายจีนเห็นว่า ตำราเรียนสำหรับนักเรียนญี่ปุ่นไม่ได้มีเนื้อหาที่จะสอนเยาวชนให้รับรู้บทเรียนความผิดพลาดทางทหารในอดีต ตำราเรียนเป็นหลักฐานอย่างดีว่านักเรียนในญี่ปุ่นได้รับการสั่งสอนอย่างไร มีเนื้อหาเล็กน้อยในเรื่องประวัติศาสตร์สงครามจีนกับญี่ปุ่น เยาวชนญี่ปุ่นจึงมีพื้นฐานความเข้าใจน้อยมาก ต่อความโหดร้ายที่กระทำโดยทหารญี่ปุ่น

ท่าทีของฝ่ายญี่ปุ่น

Ezra Vogel บอกว่า สิ่งที่เป็นปัญหาแก่นแท้ของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอยู่ที่ว่า แม้ในทุกวันนี้ คนญี่ปุ่นล้วนมีความประสงค์ที่จะแสวงหาหนทางสันติภาพ แต่พวกเขาก็เคารพต่อบรรพบุรุษ และมีความมุ่งมั่นที่จะไม่ยอมก้มหัวให้กับจีน สิ่งนี้คือสาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถสนองตอบต่อความพึงพอใจ และความต้องการของฝ่ายของจีน

คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ปฏิเสธวิธีการทางทหาร แต่พวกเขาก็ต้องการที่จะแสดงการคารวะต่อคนร่วมชาติของเขา โดยเฉพาะต่อครอบครัวญาติพี่น้องของคนเหล่านี้ ที่ได้เสียสละตัวเองเพื่อประเทศชาติ คนญี่ปุ่นเชื่อว่า หากบรรพบุรุษของพวกเขาทำในสิ่งที่ไม่ดี ไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นคนไม่ดี แต่เป็นเพราะพวกเขาต้องเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบาก ที่มีทางเลือกน้อย

หากไม่ใช่พวกขวาจัด คนญี่ปุ่นทั่วไปเชื่อว่าการที่ญี่ปุ่นรุกรานจีนเป็นสิ่งที่ผิด และก็เสียใจที่ญี่ปุ่นเป็นต้นเหตุให้เกิดความทุกข์ยากอย่างมากแก่จีน แต่คนญี่ปุ่นก็รู้สึกว่า พวกเขาเองได้จ่ายค่าเสียหายที่แพงอย่างมากไปแล้ว นั้นคือเมืองต่างๆ ถูกโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ ระเบิดปรมาณู 2 ลูกถูกทิ้งลงในญี่ปุ่น และ 7 ปีที่กองกำลังพันธมิตรได้เข้ามายึดครองประเทศ

คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีความเห็นว่า หลังจากสงคราม วิธีการดีที่ดีที่จะจัดการกับปัญหาที่ญี่ปุ่นไปสร้างความเจ็บปวดให้แก่จีน คือการเสนอความช่วยเหลือให้แก่โครงการสร้างความทันสมัยของจีน เมื่อจีนเปิดประเทศ คนญี่ปุ่นพึงพอใจมาก ที่ประเทศตัวเองมีนโยบายที่แสวงหาสันติภาพ และให้การช่วยเหลือแก่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จนญี่ปุ่นมีภาพลักษณ์ด้านบวกในสายตานานาชาติ ยกเว้นจีนกับเกาหลีใต้

คนญี่ปุ่นเห็นว่า การที่ญี่ปุ่นยังเป็นเป้าการโจมตีในเรื่องการกระทำในอดีต คือสิ่งที่ไม่ยุติธรรม ทุกวันนี้ ไม่มีใครไปวิจารณ์อเมริกาเรื่องที่กระทำต่อพวกอินเดียแดง หรือเบลเยียมทำในคองโก หรืออังกฤษที่ทำต่ออาณานิคม คนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นถามว่า ทำไมญี่ปุ่นต้องไม่หยุดที่จะขอโทษจีนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเมื่อ 70 ปีที่แล้ว ก่อนที่พวกเขาจะเกิดด้วยซ้ำ

หนังสือ China and Japan กล่าวว่า เจ้าหน้าที่จีนและญี่ปุ่นมักจะอธิบายความสัมพันธ์ของสองประเทศนี้ว่าเป็น “การเมืองเย็นชา เศรษฐกิจร้อน” แม้ความสัมพันธ์ทางการเมืองจะไม่ปกติ แต่ก็มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง เนื่องจากจีนมีฐานะทางเศรษฐกิจใหญ่โตขึ้น และมีอิทธิพลต่อโลกมากขึ้น หนทางการปรับปรุงความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น จึงขึ้นกับท่าทีของจีนเป็นหลัก

เนื่องจากมีเรื่องประวัติศาสตร์เข้ามาเกี่ยวพันอย่างลุ่มลึก จึงเป็นเรื่องยากที่สองประเทศจะพัฒนาความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดและไว้วางใจต่อกันได้ในเร็ววัน หากความสัมพันธ์จะดีขึ้นในอนาคต โดยสองประเทศกลายเป็นหุ้นส่วนที่ไว้วางใจกันและกัน จีนกับญี่ปุ่นต้องตัดสินใจที่จะจัดการปัญหาความสัมพันธ์แบบตรงไปตรงมา และเหมือนกับการทำธุรกิจ คือไม่ยอมให้เกิดการสูญเปล่าเสียเวลา เช่น ขยายความร่วมมือกันในโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง หรือโครงการร่วมด้านสิ่งแวดล้อม

เอกสารประกอบ
China and Japan: Facing History, Ezra F. Vogel, Harvard University Press, 2019.