ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯชี้ “รับ-ไม่รับ” ร่าง รธน.เป็นดุลยพินิจสภา- มติ ครม.จัดงบ 6 พันล้าน จองวัคซีนโควิด 26 ล้านโดส

นายกฯชี้ “รับ-ไม่รับ” ร่าง รธน.เป็นดุลยพินิจสภา- มติ ครม.จัดงบ 6 พันล้าน จองวัคซีนโควิด 26 ล้านโดส

17 พฤศจิกายน 2020


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

นายกฯชี้ “รับ-ไม่รับ” ร่าง รธน.7 ฉบับ เป็นดุลยพินิจสภาฯ -“ลดวันกักตัว-เดินหน้าคนละครึ่ง” รอฟัง ศบค.-ศบศ.พรุ่งนี้ – มติ ครม.จัดงบกลาง 6,000 ล้าน จองวัคซีนโควิดฯ 26 ล้านโดส – แก้ ป.อาญา หญิงตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ทำแท้งได้

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน โดยในวันนี้นายกรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะตอบคำถามต่อสื่อมวลชนโดยตรง เนื่องจากมีภารกิจต่อ โดยได้มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถ่ายทอดคำตอบจากนายกรัฐมนตรีแทน

ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 45 วัน ไม่เกี่ยวการเมือง แค่คลุมถึงปีใหม่

นายอนุชา ตอบคำถามที่สื่อมวลชนได้ส่งไปสอบถาม นายกรัฐมนตรี กรณีจะมีการเตรียมต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เป็นเวลา 45 วัน ว่า ในเรื่องนี้เป็นการคาดการณ์ ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.จะมีขึ้นในช่วงเช้าวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในส่วนมาตรการที่จะควบคุมและอำนวยความสะดวกด้านสาธารณสุข ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในแต่ละครั้งก็เพื่อประโยชน์ในการดูแลประชาชน และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในด้านสาธารณสุข ไม่มีประเด็นในเรื่องการเมือง ซึ่งปัจจุบันก็มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุมเรื่องโควิด-19 แต่ก็ยังมีเรื่องการชุมนุมอยู่ด้วย ส่วนถ้าจะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเวลา 45 วัน ก็เพราะต้องการให้ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปีใหม่ที่ประชาชนมีการเดินทาง

“ลดวันกักตัว-คนละครึ่ง เฟส 3” รอฟัง ศบค.-ศบศ.พรุ่งนี้

นายอนุชา ตอบคำถามที่สื่อมวลชนส่งไปสอบถามนายกรัฐมนตรี กรณีการพิจารณาปรับลดวันกับตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน ว่า นายกรัฐมนตรีระบบว่า การลดวันกับตัวตามมาตรการสาธารณสุขจาก 14 วันเหลือ 10 วันหรือไม่อย่างไร ยังเป็นเรื่องที่ต้องหารือกันอีกครั้งในที่ประชุม ศบค.

“ในเบื้องต้นจากข้อมูล ณ ปัจจุบัน ประชาชนที่เดินทางมาจากต่างประเทศยังมีการตรวจพบเชื้ออย่างต่อเนื่อง แม้บางครั้งกักตัว 14 วัน ก็มีโอกาสพบได้ ตรงนี้จะมีการประเมินในที่ประชุม ศบค.อีกครั้ง”

ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายวันที่ 18 พฤศจิกายน จะมีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ด้วย ซึ่งในที่ประชุม ครม.วันเดียวนี้ มีการพูดคุยในเบื้องต้นถึงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งกระทรวงการคลังได้พิจารณาโครงการเพิ่มเติม ให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยในช่วงสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และช่วยพ่อค้าแม่ค้าได้ด้วย โดยจะนำเข้าที่ประชุม ศบศ.

“ขอย้ำประชาชนว่า โครงการทั้งหมดเมื่อผ่านที่ประชุม ศบศ.แล้ว ต้องนำเข้าที่ประชุม ครม.ก่อนมีผลดำเนินการ เช่น หากที่ประชุม ศบศ.อนุมัติโครงการคนละครึ่ง ในเฟสต่อๆ ไปแล้ว ประชาชนอย่าเพิ่งไปลงทะเบียน เพราะจะยังไม่มีการเปิดลงทะเบียนใดๆ จนกว่าจะผ่านที่ประชุม ครม.เพื่อความรอบคอบ”

ชี้ “รับ-ไม่รับ” ร่าง รธน. 7 ฉบับ เป็นดุลยพินิจสภาฯ

นายอนุชา ตอบคำถามที่สื่อมวลชนได้ส่งไปสอบถาม กรณีการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2563 เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวม 7 ฉบับ ซึ่งมาจากฝ่ายรัฐบาล 1 ฉบับ ฝ่ายค้าน 5 ฉบับ และจากฝ่ายประชาชน (ไอลอว์) 1 ฉบับนั้น ในเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรี บอกว่า การรับร่างหรือไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นกระบวนการของทางรัฐสภา ซึ่งต้องเป็นดุลยพินิจของ ส.ส. และ ส.ว. ในการพิจารณาเนื้อหาว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ www.thaigov.go.th

พับเงินกองทุนหมุนเวียน 14 แห่ง คืนคลัง 3,112 ล้าน

นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัตินำเงินทุน หรือ ผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียน 3,112.85 ล้านบาท จากทุนหมุนเวียน 14 กองทุนในปีบัญชี 2562 และปีบัญชี 2563 ส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดิน อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ยังจะได้นำความเห็นของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่จะไม่ขอส่งคืนทุน หรือ ผลกำไรส่วนเกินของกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อสถานะการเงินของกองทุนฯ เช่นเดียวกับกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ที่จะขอไม่นำทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของกองทุนสิ่งแวดล้อมส่งคลังฯ เนื่องจากคาดว่าจะมีเงินคงเหลือในปีงบฯ 64 ไม่เพียงพอรองรับประมาณการรายจ่ายในปีงบฯ 64-65

นอกจากนี้ กองทุนสิ่งแวดล้อมยังเป็นกองทุนที่ไม่แสวงหากำไร และนำผลประโยชน์ที่เกิดจากกองทุน ฯ สนับสนุนโครงการที่ขอรับการสนับสนุนทั้งเงินกู้ และเงินอุดหนุน เพื่อให้ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ เอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยกรธรรมชาติของประเทศ ขณะที่เงินทุนหมุนเวียน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูนั้น กระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการตาม พ.ร.ฎ. การกำหนดจำนวนเงินสะสมสูงสุดฯ พ.ศ. 2561 แต่อาจจะส่งผลกระทบให้เงินทุนหมุนเวียนฯ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และมีเงินไม่เพียงพอในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการประจำปีงบฯ 2564 – 2566 เนื่องจากจะใช้เงินทุนหมุนเวียนที่ได้รับชำระหนี้คืนใช้ในการบริหารจัดการในแต่ละปีงบประมาณ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนจะนำความคิดเห็นของทั้ง 3 หน่วยงานไปพิจารณาต่อไปด้วย

จัดงบกลาง 6,000 ล้าน จองวัคซีนโควิดฯ 26 ล้านโดส

นายอนุชา เปิดเผยว่าวันนี้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) และการจัดซื้อวัคซีนกับบริษัท AstraZeneca (Thailand) จำกัด และบริษัท AstraZeneca UK จำกัด วงเงิน 6,049.72 ล้านบาท โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติจะจัดทำสัญญาการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า (Advance Market Commitment; AMC) ภายใต้เงื่อนไขว่ามีโอกาสที่จะได้หรือไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าว ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยพัฒนาหรือเหตุผลอื่น ๆ ในวงเงิน 2,379.43 ล้านบาท และให้กรมควบคุมโรคจัดทำสัญญาในการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีนที่ได้จากการจองล่วงหน้านั้น เมื่อคู่สัญญาสามารถจัดหาวัคซีนได้สำเร็จ (Purchase Agree For Supply of AZD1222 in Thailand; PA)) ในวงเงิน 3,670,292,517.- บาท โดยดำเนินการจัดทำสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ในคราวเดียวกัน โดยสัญญาจัดซื้อวัคซีนมีผลผูกพันเมื่อได้รับงบประมาณเรียบร้อยแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคจะจัดทำคำของบประมาณสำหรับการจัดซื้อวัคซีนตามสัญญาดังกล่าวต่อไป

“ในการนี้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติวงเงิน 2,379.43 ล้านบาท งบกลาง จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อจัดหาวัคซีนโควิด 19 โดยการจองล่วงหน้า ให้กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อการดำเนินการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า (Advance Market Commitment; AMC) จากบริษัท AstraZeneca (Thailand) จำกัด และบริษัท AstraZeneca UK จำกัด ภายใต้เงื่อนไขว่า มีโอกาสที่จะได้รับวัคซีน หรือไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยพัฒนาหรือเหตุอื่น ๆ”

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า รัฐบาลมอบให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ทำการจองวัคซีนแบบล่วงหน้า (Advance Market Commitment : AMC) โดยจะเป็นการจัดหาวัคซีนร้อยละ 20 ของประชากร หรือ ประมาณ 13 ล้านคนจำนวน 26 ล้านโดส กับบริษัท AstraZeneca (Thailand) จำกัด และบริษัท AstraZeneca UK จำกัด ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลเห็นความจำเป็นในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ที่มีคุณภาพ ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงเป็นธรรม ในเวลาที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆในโลก

ชงสภาฯไฟเขียวลงนาม RCEP

ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงขั้นตอนต่อไปหลังจากการประชุมการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ครั้งที่ 4 (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งเป็นการประชุมที่มีมูลค่าจีพีดีถึง 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30% ของจีดีพีโลก โดยจะให้สัตยาบันผ่านความเห็นชอบของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งครม.จะส่งเรื่องให้รัฐสภาให้เร็วที่สุด เพื่อให้ข้อตกลงมีผลบังคับใช้และเกิดประโยชน์กับประเทศไทย

สรุปผลประชุม “รมว.คลัง-ธนาคารกลาง” อาเซียน

ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 24 และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 6 ซึ่งประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่  2 ตุลาคม 2563 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  • ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 24 มีความคืบหน้า 2 ด้าน ได้แก่ ด้านศุลกากร โดยเชื่อมข้อมูลใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าอาเซียนแบบอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกันได้ครบทั้ง 10 ประเทศ  ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และด้านภาษีอากร เกี่ยวกับระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายของอาเซียนและการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางสำหรับประเทศสมาชิก
  • ในการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการคลังฯ ผู้แทนประเทศไทยได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงการออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พันธบัตรเพื่อสังคม และพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท สอดคล้องกับมาตรฐานพันธบัตรของอาเซียนตามแนวทางของหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน
  • การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 6 มีการดำเนินงานตาม Roadmap for Monetary and Financial Integration for ASEAN  ของคณะทำงานด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาตลาดทุน การเจรจาเปิดเสรีบริการทางการเงิน การประกันภัยอาเซียน การรวมตัวภาคการธนาคารอาเซียน การเปิดเสรีบัญชีทุนเคลื่อนย้าย การเข้าถึงบริการทางการเงิน และระบบการชำระเงินและธุรกรรมการเงิน
  • แก้ ป.อาญา หญิงตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทำแท้งได้

    ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาความผิดฐานทำให้แท้งลูก มาตรา 301 และ มาตรา 305 ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงและชีวิตของทารกในครรภ์ อีกทั้งสร้างความมั่นใจต่อบุคคลากรการทางการแพทย์ในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์โดยสมัครใจ ลดแรงจูงใจของผู้หญิงในการไปหาหมอเถื่อนเพื่อทำแท้ง ซึ่งผิดกฎหมายและไม่ปลอดภัยต่อชีวิต

    การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 301 ให้หญิงที่มีอายุครรภ์ “ไม่เกิน 12 สัปดาห์” สามารถทำแท้งได้ จากเดิมที่ห้ามหญิงตั้งครรภ์ทำแท้งโดยเด็ดขาด ซึ่งการกำหนดอายุครรภ์ดังกล่าวเป็นไปตามความเห็นของแพทยสภาและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้

    “มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” จากเดิมที่กำหนดให้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ส่วนการแก้ไขมาตรา 305 สาระสำคัญคือเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดฐานทำให้แท้งลูก และคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ รายละเอียดดังนี้

    “มาตรา 305 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือ มาตรา 302 เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด (1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกาย หรือจิตใจของหญิงนั้น (2) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากทารกคลอดออกมาจะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับผลกระทบจากความผิดปกติทางกายหรือจิตใจถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง (3) หญิงมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ (4) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์”

    ผศ.ดร.รัชดา กล่าวอีกว่า ในลำดับต่อไปจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ก่อนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ 1 ปี หากแก้ไขไม่แล้วเสร็จ มาตรา 301 จะไม่มีผลบังคับใช้โดยปริยาย เพราะกฎหมายจะขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้

    ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวสืบเนื่องมาจากวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย ว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 กำหนดให้หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกมีความผิดอาญานั้น เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของหญิงเกินจำเป็น ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย

    “อนุทิน” ชงยกเลิกหาคนค้ำหนี้ กยศ.

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกุล ได้แสดงถึงข้อห่วงกังวลในเรื่องของ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในการไม่ต้องมีบุคคลผู้ค้ำประกันกู้ยืมเงินของนักศึกษาอีกต่อไป ซึ่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้รับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณา ก่อนนำเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป

    “การลงทุนกับนักศึกษา ก็เป็นไปเพื่อให้นักศึกษาเข้าถึงความรู้ในตัวนักศึกษาเอง นักศึกษาไม่ได้ไปแสวงหากำไรอะไรจากการหาความรู้ในครั้งนี้ อีกทั้งผู้ค้ำประกันที่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นญาติ พี่น้อง พ่อแม่ ครูอาจารย์ ต้องได้รับผลกระทบเพราะคนเหล่านี้ก็ไม่มีเช่นเดียวกันนักศึกษาจึงต้องมากู้ยืม จึงฝากประเด็นนี้ไว้ในที่ประชุมว่าจะสามารถหารือแก้ไขกรณีนี้ได้อย่างไรบ้าง”

    ทั้งนี้ นายอาคม ได้รายงาน ครม.ถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. ได้แก่ การผ่อนผันการชำระหนี้หรับหรับผู้กู้ยืมที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้ ในกรณีที่มีรายได้ถดถอย หรือมีรายได้ไม่เกิด 8,008 บาทต่อเดือน สามารถผ่อนผันได้คราวละ 1ปี ไม่เกิน 2 คราว กรณีผู้มีรายได้ถดถอย ผ่อนฟันให้ขยายเวลาการชำระหนี้ได้ 15-25 เท่าของระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามสัญญากู้ยืม โดยขึ้นอยู่กับมูลหนี้คงเหลือ

    การลดเบี้ยปรับจากร้อยละ 7.5 เหลือ ร้อยละ 0.5 ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 นี้ การลดเบี้ยปรับให้ร้อยละ 80 แก่ผู้กู้ยืมที่ปิดบัญชี การลดเบี้ยปรับให้ร้อยละ 75 แก่ผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้เป็นปกติ อีกทั้งยังมีการพักชำระหนี้ให้แก่ผู้กู้ยืมที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2 ปี ผ่อนชำระหนี้ หรือการเรียกเก็บหนี้ งดการขายทอดตลาด และชะลอการบังคับคดี ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกกลุ่มที่เป็นเด็กนักเรียน นักศึกษา และเยาวชน

    อนึ่ง กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาปัจจุบันมีทรัพย์สินสุทธิ 345,068 ล้านบาท ให้กู้ยืมไปแล้ว 5,900,000 ราย เป็นเงิน 639,000 ล้านบาท โดยปีการศึกษา 2560 ให้กู้ไป 600,000 ราย จำนวนเงิน 33,000 ล้านบาท โดยมีผลการรับชำระหนี้ ปีงบประมาณ 2562 จำนวน 31,005 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 จำนวน 27,680 ล้านบาท

    ไฟเขียวเพิ่มสิทธิประโยชน์ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม.อนุมัติในหลักการร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เกี่ยวกับมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ โดยยกเลิกร่างประกาศเดิม 1 ฉบับ พร้อมใช้หลักเกณฑ์ใหม่ 2 ฉบับ รวมเป็น 3 ฉบับได้แก่

    1. ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง ยกเลิกประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาล กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ค่าทำศพกรณีตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ค่าช่วยเหลือบุตร และค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตร
    2. ร่างประกาศฯ เรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ค่าทำศพกรณีตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน
    3. ร่างประกาศฯเรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายค่าช่วยเหลือบุตรและค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตร

    สำหรับร่างประกาศทั้ง  3 ฉบับจะส่งผลให้พนักงานรัฐวิสาหกิจรวม 306,887 คน ได้รับการคุ้มครองในเรื่องของการดำเนินการกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เพื่อรองรับการจ่ายเงินคืนแก่สถานพยาบาลได้โดยเร็ว โดยระหว่างปี 2559-2563 มีพนักงานรัฐวิสาหกิจใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตรวม 1,119 คน คิดเป็นเงินค่ารักษาพยาบาลที่ค้างจ่ายต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)และโรงพยาบาลเอกชนจำนวน 32,966,400 บาท

    ขณะเดียวกันลูกจ้างยังได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นจากเดิม เช่น เพิ่มสิทธิในการได้รับค่าใช้จ่ายเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และค่าใช้จ่ายเพื่อการตวจสุขภาพ และปรับอัตราสิทธิในการได้รับค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของเอกชนประเภทผู้ป่วยในให้สูงขึ้น รวมทั้งกำหนดให้ลูกจ้างสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลโดยใช้ระบบการเบิกจ่ายตรงได้ด้วย และได้ปรับอัตราจ่ายค่าทำศพจากประกาศเดิมให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน

    ขณะเดียวกันยังได้ปรับอัตราเงินช่วยเหลือบุตรจากเดือนละ 50 บาท เป็นเดือนละ 200  บาท และเพิ่มสิทธิการเบิกค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตรให้รวมถึงการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้วย

    อนุมัติ 71 ล้าน เพิ่มทุนกองทุนพัฒนาเอเชีย

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบให้ประเทศไทยบริจาคเงินเพิ่มทุนในกองทุนพัฒนาเอเชีย 13 (Asian Development Fund 13 : ADF 13) จำนวน 71.22 ล้านบาท โดยแบ่งชำระออกเป็น 4 งวด เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564-2567 ปีละ 17.8 ล้านบาท  การบริจาคเงินเพิ่มทุนในกองทุนADF 13 ครั้งนี้ เป็นการรักษาจุดยืนของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศในฐานะการมีบทบาทเป็นประเทศผู้นำ ในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนแก่ประเทศกำลังพัฒนาที่มีฐานะยากจน ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศดังกล่าวโดยเฉพาะกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการลงทุนในภูมิภาค

    สำหรับกองทุนADF เป็นกองทุนพิเศษที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของธนาคารพัฒนาเอเชีย จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2516 เพื่อให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าและความช่วยเหลือทางวิชาการ แก่สมาชิกในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยมีแหล่งเงินทุนส่วนใหญ่มาจากการบริจาคของประเทศสมาชิก ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมบริจาคเงินในกองทุนADF รวม 6 ครั้ง เป็นเงิน 683.59 ล้านบาท  โดยเข้าร่วมครั้งแรกในกองทุนADF 7 เมื่อปี 2541  สำหรับการบริจาคเงินเพิ่มทุนในกองทุนADF 13 มีประเทศสมาชิกบริจาคจำนวน 33 ประเทศ รวมเป็นเงิน 2,332 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนการบริจาคของประเทศไทยจะอยู่ที่ร้อยละ 0.08 ของยอดเงินบริจาคประเทศสมาชิกทั้งหมด

    ยกเว้นค่าทางด่วนวันหยุดชดเชย

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม.รับทราบการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศ คค. กำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษในวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษและเลื่อนวันหยุดชดเชยในช่วงเดือน พฤศจิกายน และ ธันวาคม 2563 บนทางหลวงพิเศษบูรพาวิถีและทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์)

    • ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 เวลา 24.00 น. และ
    • ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2563 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2563 เวลา 24.00 น.

    เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ซึ่งจะทำให้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไม่ได้รับรายได้ประมาณ 197.14 ล้านบาท แต่จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจประเมินเป็นมูลค่าเงินจำนวน 228.72 ล้านบาท

    ตั้ง “กุลยา ตันติเตมิท” นั่ง ผอ.สศค.

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการแต่งตัังโยกย้ายข้าราชการระดับสูงที่สำคัญหลายกระทรวงดังนี้ อาทิ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ครม.มีมติแต่งตั้งโฆษก อว. ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 ที่กำหนดให้ทุกส่วนราชการแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่โฆษกกระทรวง/หน่วยงานอย่างเป็นทางการ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของทางราชการ ดังนี้

      1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นโฆษก อว.
      2. ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. เป็นรองโฆษก อว.

    กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครม.มีมติแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง จำนวน 5 ราย ดังนี้

      1. นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมปศุสัตว์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
      2. พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย รองเลขาธิการ (นักบริหารระดับต้น) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
      3. นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมส่งเสริมการเกษตร ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
      4. นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมชลประทาน ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
      5. นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมส่งเสริมสหกรณ์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    กระทรวงการคลัง ครม.มีมติอนุมัติรับโอน นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ (นักบริหารสูง) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563เพิ่มเติม