ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.50% ชี้ “วัคซีน” โจทย์สำคัญเศรษฐกิจฟื้นตัว

กนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.50% ชี้ “วัคซีน” โจทย์สำคัญเศรษฐกิจฟื้นตัว

5 พฤษภาคม 2021


นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี

คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมากจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 3 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศและแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบันคือการจัดหาและการกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทันการณ์ ในส่วนของด้านการเงิน มาตรการที่สำคัญคือการกระจายสภาพคล่องไปยังธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะมาตรการสินเชื่อและการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะช่วยลดภาระทางการเงินได้อย่างตรงจุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำและยังสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมากจากการระบาดระลอกที่ 3 ซึ่งกระทบการใช้จ่ายในประเทศและแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากการเปิดประเทศที่ช้ากว่าคาดและนโยบายจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน สำหรับแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยมาจากการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

แต่ผลดีต่อการจ้างงานในตลาดแรงงานโดยรวมยังมีจำกัด ขณะที่มาตรการเยียวยาและมาตรการการเงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะมีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่แรงกระตุ้นภาครัฐในปีงบประมาณ 2565 อาจลดลงบ้างจากการเร่งเบิกจ่าย พ.ร.ก. กู้เงินในปีงบประมาณปัจจุบัน สำหรับความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ได้แก่ (1) การกระจายและประสิทธิผลของวัคซีนป้องกัน COVID-19 (2) การฟื้นตัวที่แตกต่างกันและไม่ทั่วถึง ทำให้ตลาดแรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น และส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนและการบริโภคภาคเอกชน และ (3) ฐานะการเงินที่เปราะบางเพิ่มเติม โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลงตามรายได้ที่ลดลง ขณะที่ภาคครัวเรือนมีสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ลดลงทำให้ความสามารถในการรองรับค่าใช้จ่ายได้ลดลง

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเร่งขึ้นชั่วคราวในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 จากฐานราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ด้านการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

สภาพคล่องโดยรวมอยู่ในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น จึงต้องติดตามให้การขยายตัวของสินเชื่อทั่วถึงมากขึ้นหลังมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูมีผลบังคับใช้ ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยทยอยปรับลดลงจากช่วงก่อนหน้า สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวอ่อนค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาค คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด และผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการฯ เห็นว่า ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ โดยควรเร่งมาตรการจัดหาและกระจายวัคซีนเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ มาตรการการคลังควรรักษาความต่อเนื่องของแรงกระตุ้นทางการคลังและลดผลกระทบของการระบาด รวมทั้งสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ที่ออกมาเพิ่มเติมควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุด ลดภาระหนี้ และสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ โดย ธปท. จะติดตามความคืบหน้าและประเมินประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่ออย่างใกล้ชิด

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ สถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ การกระจายและประสิทธิผลของวัคซีน ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาแล้ว โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

การฟื้นตัวขึ้นกับวัคซีน

นายทิตนันท์กล่าววา การระบาดรอบสามมีผลกระทบมากว่าการระบาดรอบสองแต่น้อยกว่าระลอกแรกที่แล้ว แม้ผลกระทบต่อ GDP ในรอบสามน้อยกว่า แต่สายป่านครัวเรือนและเอสเอ็มอีลดลงต่อเนื่อง เพราะสภาพคล่องเงินออมลดลงตั้งแต่ระลอกแรก ประกอบกับเศรษฐกิจรอบนี้ฟื้นตัวในลักษณะไม่ทั่วถึงหรือที่เรียกว่า K-shape จึงต้องจับตาผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

นายทิตนันท์กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ช้าลงมากจากการแพร่ระบาดระลอกที่สามของ COVID-19 โดยการฟื้นตัวระยะข้างหน้าขึ้นอยู่กับการจัดหาและกระจายวัคซีนเป็นสำคัญ โดยผลได้จากการฉีดวัคซีน คือ1)ลดโอกาสที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่ และลดภาระทางการคลังในการเยียวยา 2) ขับเคลื่อนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (Sandbox)ได้เร็วขึ้น ทันฤดูท่องเที่ยวปี 64และทำให้การท่องเที่ยวในไทยฟื้นตัว 3)ลดผลกระทบระยะยาวต่อภาคธุรกิจและตลาดแรงงาน

“ถ้าการฉีดวัคซีนทำได้เร็วจะทำให้กลุ่ม เอสเอ็มอี ท่องเที่ยวแรงงานที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจะฟื้นตัวได้เร็ว การจัดการเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปจากที่ดูแลระยะสั้นไปดูแลการฟื้นตัวได้”

“การประชุมคณะกรรมการครั้งนี้พูดถึงวัคซีนค่อนข้างเยอะ การจัดหาและกระจายวัคซีน ถือเป็นพระเอกของเศรษฐกิจ มาตรการการเงิน มาตรการกระตุ้นเป็นตัวที่ตามมาในช่วงยังไม่ได้รับภูมิคุ้มกันหมู่”

การฉีดวัคซีนเร็วขึ้นจะสามารถช่วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ถึง 3.0-5.7% ในช่วงปี 2564-2565 แต่หากฉีดวัคซีนช้าจนกระทบภูมิคุ้มกันหมู่ จะมีผลต่อเศรษฐกิจไม่ทันไตรมาส 1 ปี 2565

ในระยะสั้นด้านที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดได้แก่ ตลาดแรงงาน เพราะแรงงานเริ่มเปราะบางมากขึ้น แรงงานบางกลุ่มว่างงานมากขึ้น ถ้าปล่อยไว้จะเป็นแผลเป็นเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น จำนวนผู้ว่างไตรมาสแรกปีนี้ลดลงบ้าง ส่วนผู้ว่างระยะปานกลางแม้ลดลงแต่เริ่มเห็นผู้ว่างงานระยะยาวปรับสูงขึ้น หางานไม่ได้สูงขึ้น เป็นสัญญานที่ไม่ดี

นอกจากนี้ผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน คือกลุ่มที่เพิ่งจบการศึกษา มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ และจะมีบัณฑิตจบใหม่ออกมาอีก รวมทั้งแรงงานที่ได้รับการจ้างงานจากรัฐบาลระยะสั้นในปีที่แล้วก็ต้องกลับมาหางาน

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามระยะข้างหน้า ได้แก่ สถานการณ์ความรุนแรงและความยืดเยื้อของการระบาดระลอกที่สาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเพิ่มเติม และการจัดหาและกระจายวัคซีนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ Sentiment การใช้จ่ายภายในประเทศและการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ