ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง.โหวต 4 ต่อ 2 เสียง “คงดอกเบี้ยที่ 0.50%” ปรับคาดการณ์ GDP โตแค่ 0.7%

กนง.โหวต 4 ต่อ 2 เสียง “คงดอกเบี้ยที่ 0.50%” ปรับคาดการณ์ GDP โตแค่ 0.7%

4 สิงหาคม 2021


นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 4 สิงหาคม 2564

คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่านลาประชุม

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 มากกว่าที่ประเมินไว้ และยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย

ณ ปัจจุบัน คือ การเร่งควบคุมการระบาดและกระจายวัคซีน เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนและเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้กลับมาขยายตัว ขณะที่มาตรการทางการคลังและการเงินจะต้องเร่งช่วยผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ยิ่งขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่า ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังอยู่ในระดับสูง การช่วยเหลือต้องเร่งผลักดันผ่านการกระจายสภาพคล่องและลดภาระหนี้ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อเป็นมาตรการเสริมในการช่วยพยุงเศรษฐกิจและรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงในระยะข้างหน้า

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 0.7 และ 3.7 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ โดยปรับลดลงตามการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบมากในปีนี้และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงมากในปีหน้า ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากแนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจาก พ.ร.ก. กู้เงินล่าสุดและการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดี แม้ภาคการผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบจากการระบาดในโรงงานและการขาดแคลนวัตถุดิบชั่วคราว สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มใกล้เคียงเดิม การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญจากการระบาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน รายได้และการจ้างงาน เพิ่มเติมจากผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

สภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาด ทั้งนี้ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่ออกมาช่วยให้ธุรกิจ SMEs เข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวอ่อนค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาคตามปัจจัยในประเทศ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขควรเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ มาตรการการคลังควรเร่งเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ โดยดูแลตลาดแรงงานและภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นในจุดที่เปราะบางอย่างเพียงพอและทันการณ์ นโยบายการเงินต้องสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งปรับปรุงให้มีประสิทธิผลมากขึ้น โดยเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ การกระจายและประสิทธิภาพของวัคซีน สถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศ ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

ปรับลด GDP ปีนี้เหลือ 0.7%

นายทิตนันทิ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ คณะกรรมการจึงได้มีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจรอบพิเศษ เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เร่งตัวขึ้นในทุกภูมิภาค สูงกว่าที่เคยประเมินไว้ โดยมีพื้นที่สีแดงเข้มที่เพิ่มขึ้นเป็น 29 จังหวัดนั้นคิดเป็ 78% ของ GDP และ 43% ของประชากรทั้งประเทศ และมีสัดส่วนผู้ติดเชื้อในรอบ 14 วันที่ผ่านมา 75% ของผู้ป่วยทั้งประเทศ

การระบาดระลอกสามมีผลกระทบรุนแรงต่อตลาดแรงงาน และมีแนวโน้มแย่ลงอีกจากการระบาดยืดเยื้อ คาดการณ์การฟื้นตัวของการจ้างงานลูกจ้างมีลักษณะเป็น W-shaped และอาจจจะใช้ระยะเวลานานขึ้น สำหรับเครื่องชี้ความเปราะบางของตลาดแรงงานได้ แก่

    1) ในไตรมาสสองผู้เสมือนว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบปีโดยมีจำนวน 2.8 ล้านคน
    2) มีแรงงานเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนามากขึ้นจำนวน 1.6 ล้านคน และ
    3) ผู้ว่างงานระยะยาวเร่งตัวมีจำนวน 0.2 ล้านคน

สำหรับประมาณการเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับ สถานการณ์การระบาดในประเทศ พัฒนาการด้านวัคซีนทั้งประสิทธิภาพและการกระจายวัคซีน รวมทั้งนโยบายการควบคุมโรคและนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประเมินออกเป็น 2 กรณี

กรณีแรก เป็นกรณีฐาน ประเมินว่ารัฐจะสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ในต้นไตรมาส 4 และมีการทะยอยผ่อนคลายมาตรการ รวมทั้งลดวันกักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติลงเป็น 0 วัน นักท่องเที่ยวต่างประเทศจะมีจำนวน 150,000 คนในปีนี้ และเพิ่มเป็น 6 ล้านคนในปีหน้า

กรณีที่ 2 ประเมินว่าสถานการณ์การระบาดยืดเยื้อและจะผ่อนคลายมาตรการได้ในปลายไตรมาส 4 ปีนี้ ลดวันกักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติลงเป็น 0 วัน ในไตรมาส 3 ปี 2565 นักท่องเที่ยวต่างประเทศจะมีจำนวน 100,000 คนในปีนี้ และเพิ่มเป็น 2 ล้านคนในปีหน้า

“คณะกรรมการกนง.จึงปรับประมาณการลดลงเหลือ 0.7 ในปีนี้จาก 1.8% ที่คาดไว้ในเดือนมิถุนายน ส่วนปีหน้าปรับลดลงเหลือ 3.7% จาก 3.9% แม้มีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาเพิ่มเติม รวมทั้งแนวโน้มการส่งออกสินค้าที่ดีกว่าคาด แต่เนื่องจากมีปัจจัยที่ฉุดรั้งคือ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อและรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ กับนโยบายเปิดประเทศที่ล่าช้าและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง”

นอกจากนี้ยังได้ประเมินว่า หากการควบคุมการระบาดได้ช้าก็จะเกิดกรณีที่การฟื้นตัวจะยิ่งช้าลงไปอีก ฉะนั้นการระบาดระลอกนี้จะมีผลทั้งในปีนี้และมีผลต่อเนื่องในปีหน้า ที่สำคัญยังมีความเสี่ยงด้านต่ำ นโยบายสาธารณต้องเตรียมพร้อมรองรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น

“โจทย์ที่สำคัญคือการควบคุมโรคระบาดให้ได้ และมาตรการการเงินการคลังที่มีอยู่ในช่วงนี้จะช่วยประคองและทำให้เศรษฐกิจผ่านพ้นช่วงยากลำบากนี้ไปได้”