ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้ Massive disruption “เมื่อปัญหาคนตัวเล็ก ที่ไม่เล็ก” จะสู้ให้รอดอย่างไร

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้ Massive disruption “เมื่อปัญหาคนตัวเล็ก ที่ไม่เล็ก” จะสู้ให้รอดอย่างไร

5 พฤศจิกายน 2020


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานสภาสถาบัน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ Massive Economic Disruption Risks and Opportunities for IA ในงานสัมมนาใหญ่ประจำปี 2563 สมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย Theme: IA’s New Value Proposal During and After the Crisis

“ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ทางสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทยไว้ใจให้ผมกล่าวปาฐกถาเรื่อง “Massive Economic Disruption Risks and Opportunities for IA” เป็นโจทย์ที่ให้โอกาสผมได้มองบริบทธุรกิจผ่านมุมมองของผู้ตรวจสอบภายใน ซึ่งเป็นเสมือนประภาคารที่ช่วยจับตาสถานะความเสี่ยงที่อาจสร้างผลกระทบ และเสนอแนะทางออกให้ธุรกิจ อย่างไรก็ดี งานตรวจสอบภายในเป็นวิชาชีพเฉพาะที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญ ดังนั้น สิ่งที่จะพูดคุยวันนี้จึงเป็นมุมมองของคนนอกที่พยายามตอบโจทย์ที่ให้ไว้แบบ Outside-in ขณะเดียวกัน ขอบเขตความรู้ของผมก็จำกัด หลายอย่างต้องขอให้ผู้รู้ในที่นี้ช่วยกันคิดในช่วงเสวนาหลังจากนี้”

ปาฐกถาครั้งนี้ ผมขอร่วมคิดใน 3 ส่วนหลัก

  • ส่วนแรก Massive Economic Disruption: นัยต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาค ธุรกิจ และครัวเรือน
  • ส่วนที่ 2 การต่อสู้เพื่อความอยู่รอด โจทย์ใหญ่ของทุกภาคส่วน
  • ส่วนที่ 3 ความท้าทายและโอกาสของผู้ตรวจสอบภายใน ในการเป็นกลไกการสนับสนุนการปรับตัวภายใต้การหยุดชะงักครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจ

Massive Economic Disruption: นัยต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาค ธุรกิจ และครัวเรือน

พวกเราคงเห็นไม่ต่างกันว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่มีผู้ติดเชื้อเกือบ 50 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1.2 ล้านคน นับเป็นโศกนาฏกรรมร่วม หรือ Tragedy of the Commons ของมวลมนุษยชาติ ซึ่งไม่เพียงเป็นปัญหาในปัจจุบัน แต่ยังสร้างผลกระทบในระยะปานกลางและระยะยาว มีนัยครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสาธารณสุข และเมื่อนักระบาดวิทยาแนะนำให้ต่อสู้กับไวรัสนี้ด้วยมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ผลที่ตามมาคือ การระงับคำสั่งซื้อ หยุดการผลิต ปิดประตูการท่องเที่ยว เศรษฐกิจหยุดชะงักครั้งใหญ่ จนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งต่อมาทุกประเทศต่างผ่อนคลายมาตรฐานเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นลำดับ สัญญาณเศรษฐกิจไตรมาส 3 เริ่มฟื้นตัว ทำให้ IMF ปรับประมาณการเศรษฐกิจจากที่เคยคาดไว้ในเดือนมิถุนายนว่า เศรษฐกิจโลกปี 2563 จะหดตัวร้อยละ 4.9 เป็นหดตัวลดลงคงเหลือเพียงร้อยละ 4.4 ในการประมาณการล่าสุดเดือนตุลาคม

คล้ายกับฝันร้ายกำลังจะผ่านไป แต่ความจริงกลับเหมือนหนังคนละม้วน เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อที่ค่อนข้างทรงตัวไตรมาส 3 ราว 3 แสนคนต่อวัน ต่อมาช่วงปลายไตรมาสสัญญาณการเกิด 2nd Wave ปรากฏชัดเจนขึ้นในหลายประเทศ และไม่มีใครคาดคิดว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อเร่งตัวขึ้นรวดเร็วเฉลี่ยราว 5 แสนคนต่อวัน หลายประเทศในยุโรปมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลายเท่า และเริ่มนำมาตรการ Lockdown กลับมาใช้อีก โดยล่าสุดฝรั่งเศสและอังกฤษประกาศ Lockdown ทั่วประเทศ อย่างน้อย 1 เดือน

ซ้ำร้าย ผลการทดสอบวัคซีนในหลายประเทศไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นว่า ประชาคมโลกจะมีวัคซีนใช้ในช่วงปลายปีหรือต้นปีหน้าอย่างที่คาดการณ์ นั่นหมายความว่า ความหวังที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่คงต้องเลื่อนห่างไกลออกไป

หลายท่านในที่นี้คงรู้สึกไม่ต่างกันว่า โชคดีที่สถานการณ์การระบาดของโควิดในไทยไม่รุนแรง แต่เวลาเราไม่ได้อยู่ในสนามรบจริง ก็อาจทำให้เราประเมินสถานการณ์ดีเกินจริงได้ เชื่อหรือไม่ว่า นับตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา IMF ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกมากถึง 81 ประเทศ เป็นเงินมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. และธนาคารโลกหรือ World Bank ให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนากว่า 100 ประเทศเพื่อจัดการระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม โดยเตรียมเงินสนับสนุนสูงถึง 160,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. ระหว่างมีนาคมปีนี้ถึงมิถุนายนปีหน้า และจัดสรรเงินให้เปล่าอีก 50,000 ล้านดอลลาร์ สรอ.

ผมแทบไม่อยากเชื่อว่า พวกเราจะได้ยิน MD ของ IMF คุณ Kristalina Georgieva ออกมาพูดกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกใช้จ่าย “… spend as much as you can. … Keep accountability to your citizens. ทั้งที่รู้ว่า ระดับหนี้สาธารณะจะมากขึ้น แต่จำเป็นต้องแก้ปัญหาการว่างงานและความยากจนที่มากขึ้น และความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจำนวนมากที่ IMF คงเห็นแล้วว่า ไม่มีทางเลือกอื่นแล้วจริงๆ

ย้อนกลับมาดูประเทศไทย พวกเราคงทราบดีว่า ก่อนที่จะเกิดโรคระบาด เศรษฐกิจไทยสำแดงอาการอ่อนแออยู่แล้ว จากความน่าสนใจในการลงทุนโดยเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ลดลงเรื่อยๆ ประสิทธิภาพของภาครัฐอยู่ในระดับต่ำสะท้อนจากความล่าช้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ความสามารถในการเรียนรู้และปรับใช้เทคโนโลยีที่ค่อนข้างจำกัดของแรงงานไทย รวมทั้ง ค่าเฉลี่ยของโครงสร้างประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ศักยภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวมลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนว่า แนวกันชนต่อ Shock ทางเศรษฐกิจไทยไม่แข็งแกร่งนัก มีเพียงการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด และกลายเป็นเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา การลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเติบโต ราคาที่ดินในจังหวัดที่เป็น Destination ของนักท่องเที่ยวต่างชาติเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

หลายท่านคงจำได้ ปลายปีที่แล้วแบงก์ชาติยังคาดว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.8 และมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 41.7 ล้านคน หลังจากนั้นไม่นานข่าวการระบาดของโควิดเริ่มปรากฏสู่สาธารณะ สังคมเริ่มรับรู้ความรุนแรงและความไวในการระบาด ตามด้วยการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับมหภาค ธุรกิจ จนถึงครัวเรือน

ในระดับมหภาคผลกระทบที่เห็นชัดเจนคือ กำลังการผลิตของภาคบริการที่เคยรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 40 ล้านคนต้องหยุดชะงักงันอย่างฉับพลัน ส่งผลให้แรงงานเกินกว่า 1 ล้านคน โดยเฉพาะแรงงานที่ทำงานในเมืองหลักหรือพื้นที่อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนา อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงในทุกหมวดไม่เว้นแม้แต่หมวดอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็น มูลค่าการส่งออกลดลง ประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของแบงก์ชาติยังคาดว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะหดตัวร้อยละ 7.8 และมีโอกาสที่ตัวเลขจริงจะหดตัวมากกว่านี้ เนื่องจากประมาณการนี้ยังไม่รวมผลจากการทยอย Lockdown ในยุโรปที่เพิ่งประกาศเร็วๆ นี้

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงทัศนะไว้อย่างน่าสนใจว่า หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ บริบทประเทศจะเปลี่ยนไปอย่างน้อย 3 ด้าน คือ

    1. การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมาก การฟื้นตัวในแต่ละเซกเตอร์มีความแตกต่างกันมาก หรือ Uneven recovery

    2. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคาดว่าจะใช้เวลานานไม่น้อยกว่า 2 ปี เพราะโครงสร้างตลาดส่งออกของไทยกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าและตลาดที่ฟื้นตัวช้า หรือ Long recovery

    3. ความไม่แน่นอน ในหลายด้านทั้งคำถามที่ว่าวัคซีนจะทดลองสำเร็จเมื่อไร นักท่องเที่ยวจะกลับมาเมื่อไร ทำให้นักลงทุนอยู่ในหมวดรอคอยไปด้วย หรือ Uncertain

ในภาคธุรกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักทั่วโลก ทำให้หลายธุรกิจจะต้องปิดตัวลง ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายตัวสะท้อนอาการที่น่าเป็นห่วงของภาคธุรกิจ โดยในครึ่งปีแรกของปีนี้ มูลค่ายอดขายรวมของบริษัทจดทะเบียนลดลงร้อยละ 13 และกำไรสุทธิลดลงเกือบร้อยละ 60 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และ ณ สิ้นไตรมาส 2 สัดส่วนหนี้สินต่อทุนโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 1.37 เท่า เป็น 1.57 เท่า เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

หลายท่านคงเห็นไม่ต่างกันว่า ถ้าบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ยังมีตัวเลขผลประกอบการเช่นนี้ ผลประกอบการของ SMEs คงแย่กว่านี้มาก

ในระดับครัวเรือน ขณะที่หนี้ครัวเรือนต่อ GDP เร่งตัวขึ้นในไตรมาส 2 นี้ โดยอยู่ที่ร้อยละ 84 ประชาชนจำนวนมากเดือดร้อนจากปัญหาหนี้สินจนไม่เป็นอันทำงาน ขณะที่การหารายได้กลับฝืดเคือง ที่สำคัญ วิกฤตินี้กระทบต่อประชาชนคนรากหญ้ามากที่สุด กล่าวคือ ที่ผ่านมาคนตกงานเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ไตรมาส 2 ปีนี้ ตัวเลขผู้ว่างงานสูงถึง 7.5 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงปกติที่อยู่ระดับ 4 แสนคน และการลดจำนวนชั่วโมงจ้างงานซึ่งเป็นทางออกหนึ่งของนายจ้าง พบว่า พวก Underemployed ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานต่ำกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันเพิ่มขึ้นสูงถึง 5.4 ล้านคน จากค่าเฉลี่ยในช่วงปกติประมาณ 2.5 ล้านคน และอีกจำนวนไม่น้อยที่มีรายได้ลดลง ซึ่งมีนัยต่อมาตรฐานการครองชีพ รูปแบบการใช้ชีวิต และอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการที่ลดต่ำลงด้วย

ที่น่ากังวลคือ Shock ในตลาดแรงงานครั้งนี้ จะทำให้ความเหลื่อมล้ำของรายได้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะต่อไป

สิ่งเหล่านี้คือข้อเท็จจริงและข้อสังเกตที่เกิดขึ้น การเรียนรู้ ยอมรับ และปรับตัว ย่อมเปิดทางออกในทุกปัญหาได้

การต่อสู้เพื่อความอยู่รอด โจทย์ใหญ่ของทุกภาคส่วน

ภายใต้การหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ การต่อสู้เพื่อความอยู่รอดเป็นโจทย์ใหญ่ของทุกภาคส่วน และบนความรับผิดชอบหลายมิติ ผู้บริหารหรือผู้นำองค์กรไม่เพียงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ต้องมองไปข้างหน้าว่า จะ Cope หรือจัดการกับสถานการณ์ที่ยากจะคาดเดานี้อย่างไร และเพื่อตอบโจทย์นี้ ผมขออาศัยงานของบริษัท McKinsey ที่แนะให้แตกโจทย์ใหญ่เป็นโจทย์ย่อยใน 5 ข้อ ได้แก่

    ข้อแรก Resolve – จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร
    ข้อที่สอง Resilience – จะทำให้ตัวองค์กรอยู่รอดจากผลกระทบนี้ได้อย่างไร
    ข้อที่สาม Return – จะนำผลประกอบการกลับมาสู่ภาวะปกติเดิมได้อย่างไร
    ข้อที่สี่ Reimagination – จินตนาการว่า โลกหลังโควิดจะเป็นอย่างไร เพื่อการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อ Fit in กับอนาคต
    ข้อที่ห้า Reform – การเปลี่ยนแปลงภายในที่จะทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน

หลายเดือนที่ผ่านมา พวกเราคงได้เห็นการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของทุกภาคส่วน บางส่วนสู้ไหวก็ไปต่อ บางส่วนสู้ไม่ไหว ปรับตัวไม่ได้ก็ค่อยๆ เฉา หรือไม่ก็ต้องออกจากระบบในลักษณะต่างๆ ขณะเดียวกัน หลายชีวิตยังดิ้นรนต่อสู้ และรอการช่วยเหลืออยู่ก็มี
ในระดับประเทศ

เมื่อกระแสเงินสดหลักที่เคยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจถูกตัดขาด รัฐบาลพยายาม Resolve ปัญหาด้วยมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอัดฉีดเงินให้กับครัวเรือนโดยตรงผ่านมาตรการเยียวยาประชาชนในหลายกลุ่ม การผลักดันโครงการเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการทางการเงินต่างๆ เช่น Soft loan รวมทั้งการรักษาฐานโครงสร้างธุรกิจท่องเที่ยวที่จะสร้าง Return ในอนาคต ผ่านโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และล่าสุดให้ความช่วยเหลือทางการเงินควบคู่ไปด้วย

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

อย่างไรก็ดี หลังโควิดปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ ที่กล่าวไว้ในส่วนแรกยังคงรอการแก้ไข และปีหน้าไทยก็เข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ ขณะเดียวกัน ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะยิ่งรุนแรงขึ้น ล้วนเป็นโจทย์ใหญ่ที่รอการแก้ไข แต่กลไกการแก้ปัญหาทั้งภาครัฐและระบบราชการที่ใหญ่โต รวมทั้ง กฎระเบียบที่มากและแข็งตัว อาจเป็นตัวซ้ำเติมให้การฟื้นตัวหลังโควิดอาจยากกว่าวิกฤติไหนๆ ที่เราเคยผ่านมา

เมื่อผนวกกับปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่เหมือนฝีที่เริ่มปะทุให้เห็น เชื่อหรือไม่ว่า คนตัวเล็กๆ 1 คน เป็นหนี้ได้ตั้งแต่หนี้บัตรเครดิต เช่าซื้อรถ กู้บ้าน กู้ลงทุน หนี้จากการค้ำประกันบุคคลอื่น รวมถึงหนี้นอกระบบ คนจำนวนมากมีปัญหาภาระหนี้รุมเร้าและยังถูกซ้ำเติมด้วยการตกงาน เงินเดือนลด จนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หลายครัวเรือนอยู่ในสภาพใกล้ล้มละลาย ข้าราชการจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในวังวนหนี้สินจนแทบจะต้องถูกให้ออกจากราชการ

สถานการณ์ครัวเรือนไทยที่เป็นฐานรากทางเศรษฐกิจลักษณะนี้ ไม่ต่างอะไรกับการสร้างตึกสูงบนรากฐานที่อ่อนแอ พร้อมจะทำให้ตึกทรุดลงมาเมื่อไรก็ได้ ปัญหาของคนตัวเล็กครั้งนี้ จึงไม่เล็กเลย

ในเรื่องนี้ แบงก์ชาติเคยให้ความเห็นว่า “ในขณะที่ช่วงวิกฤติต้องใช้มาตรการ ‘ปูพรม’ ให้ความช่วยเหลือทั่วไปให้ทุกคนและเร่งด่วน เช่น การพักชำระหนี้ 3-6 เดือน แต่โจทย์ใหม่ระยะยาวคือ จะทำอย่างไรให้กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ได้ผลลัพธ์ที่ดี การดูแลสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) การบริหารจัดการหนี้ในมิติต่างๆ” จะใช้วิธีปูพรมอย่างเดียวไม่พอ และอาจไม่มีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน การปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจนับเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเช่นกัน ซึ่งผมขอนำข้อเสนอที่คิดว่าเป็นประโยชน์ของอดีตคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจที่ผมมีส่วนอยู่ด้วยมา Share กับทุกท่านอีกครั้ง

หลักการ Reform ที่จะช่วยให้ไทยฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดได้ มี 3 ด้าน

ด้านที่ 1 การเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน ทางออกเดียวคือทำให้คนไทย ภาคธุรกิจไทย และภาครัฐไทยในอนาคตเก่งขึ้น โดยการมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่เราเก่ง การขยายตลาดให้กว้างขึ้น และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า

ด้านที่ 2 การลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายประโยชน์จากการพัฒนาไปสู่ประชาชนให้ทั่วถึงมากขึ้นในระดับที่ให้พวกเขาพึ่งพาตัวเองได้ ในระดับประเทศจะเน้นการพัฒนาหัวเมืองในภูมิภาค ในระดับชุมชนก็จำเป็นต้องเพิ่มความเข้มแข็งให้พวกเขามีพลังให้การต่อสู้และปกป้องทรัพยากรในชุมชนได้ และ ในระดับบุคคล จะเน้นการเพิ่มรายได้และปลดล็อคหนี้สินให้กับประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรและแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่ยากจน เพื่อให้เขาสามารถยืนอยู่บนขาของตนเองได้ โดยหนึ่งในข้อเสนอการปฏิรูปสำคัญคือ การจัดให้มีหน่วยงานกลางที่จะรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งจะไม่ใช่แค่ทำงานเก็บตัวเลข แต่มีภารกิจในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง

ด้านที่ 3 การปฏิรูปสถาบันทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการปรับกลไกและบทบาทของภาครัฐจากผู้กำกับดูแล ให้เป็นผู้สนับสนุนภาคธุรกิจ และปล่อยให้มีการแข่งขันตามระบบตลาดเสรีให้มากขึ้น โดยทิศทางสำคัญคือ

  • มิติแรก ภาครัฐต้องคำนึงถึง “ประสิทธิภาพ” และ “ความยั่งยืน” มากขึ้น โดยเรื่องสำคัญคือ การปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ ปรับกติกาให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างคล่องตัว ธุรกิจที่ล้มต้องลุกได้เร็ว เพื่อกลับมาเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงหลังโควิดได้
  • มิติที่สอง ต้องโปร่งใส มีการตรวจสอบจากภาคประชาชนได้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาคอร์รัปชั่นที่เป็น “ต้นทุนแฝง” ของภาคเอกชนและประชาชนได้ด้วย
  • มิติที่สาม กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นตัดสินใจมากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถเสนอแนะสิ่งที่ต้องการ ซึ่งจะช่วยให้การแก้ปัญหามีเจ้าภาพชัดเจนและให้รู้ว่าใครเป็นเจ้าของเรื่อง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำที่การพัฒนามีแนวโน้มกระจุกตัวที่ส่วนกลางลงได้
  • มิติที่สี่ ประสานความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โลกหลังโควิด โจทย์ของประเทศหลายเรื่องยากขึ้น จึงจำเป็นที่ภาครัฐต้องปรับบทบาทให้มีความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้นในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือระหว่างส่วนราชการ ที่การทำงานยังมีลักษณะแยกส่วน ขาดการบูรณาการ หรือ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของเอกชนในด้านความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และระบบงานที่มีประสิทธิภาพคล่องตัว โดยเปิดโอกาสให้เอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ หรือ ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลประเทศต่างๆ โควิดทำให้ประชาคมโลกตระหนักว่า พวกเรามีโจทย์ร่วมที่ต้องช่วยกันแก้ไขอีกมาก

ประเด็นเหล่านี้สะท้อนว่า ภาครัฐมีโจทย์ที่ต้องทำอีกหลายเรื่อง นอกเหนือจากการ Resolve ปัญหาเฉพาะหน้า

ในภาคธุรกิจ เราจะเห็นกระบวนการปรับตัวที่ชัดเจน กล่าวคือ โควิดทำให้ยอดขายตก รายได้หด กำไรไม่ดี ฐานะการเงินอาจแย่ไปเลย บางธุรกิจต้องปิดตัวลง แต่หลายธุรกิจพยายาม Resolve ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อหารายได้มาจ่ายค่าจ้างพนักงาน เช่น

    -บางสายการบินต้องให้แอร์โฮสเตสมาขายชานมไข่มุก และบางสายการบินในต่างประเทศต้องให้นักบินมาขับรถเมล์

    -โรงแรม 5 ดาวบางแห่งต้องยอมเปิดให้เป็นที่พักสำหรับกลุ่ม State Quarantine เพื่อดึง Traffic และให้มีรายได้เข้ามาดูแลพนักงาน

และสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้คือ สภาพคล่อง เพราะไม่รู้ว่า วิกฤตินี้จะยืดยาวขนาดไหน ขณะเดียวกัน หลายธุรกิจต้องมาทบทวนว่า จะต้อง Downsizing ไหม หรือจะต้อง Flexible และ Agile แค่ไหน ที่เห็นชัดเจนคือ

    -ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ยอมตัดราคาขายคอนโดมิเนียมให้มีเงินสดในมือมากที่สุด หรือ

    -การออกหุ้นกู้ในหลายธุรกิจล้วนเป็นการสะสมสภาพคล่องเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่คาดไม่ถึงในวันข้างหน้า

ขณะที่หลายธุรกิจต้องลดขนาดกิจการโดยปลดพนักงานในหลายแผนกออก และเกือบทุกธุรกิจต้องปรับองค์กรให้ Flexible และ Agile มากขึ้น โดยเร่งกระบวนการ Digital transformation แทบไม่น่าเชื่อว่า องค์กรใหญ่ๆ หลายแห่งที่ดูจะขับเคลื่อนได้ช้า แต่ภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือนหลัง Lockdown พนักงานต้องพร้อมสำหรับการทำงานที่บ้าน การประชุม Online กลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ และหลายธุรกิจขยายช่องทางการขายปลีกไปสู่ Platform online มากขึ้นตามพฤติกรรมผู้บริโภค

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

มองไปข้างหน้า ธุรกิจหลังโควิดจะเป็นอย่างไรเป็นโจทย์ที่ตอบยาก แต่ที่เราเห็นในปัจจุบันคือ ภาคการเงินที่ถูก Disrupt นับวันคนที่จะไปทำธุรกรรมที่สาขาลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ยอดธุรกรรมออนไลน์กลับเพิ่มขึ้น จนธนาคารคุ้มที่จะสร้าง Virtual banking system ทำให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา และในอนาคตต้องพัฒนาระบบเหล่านี้ให้รองรับเงินดิจิทัลที่อาจมาในวันหนึ่งด้วยก็ได้ แน่นอนว่า ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นกลไกหลักในภาคการเงินต้องปรับตัวผ่านการ Reform หลายอย่าง เช่น

    – เปลี่ยน Business model จากที่เคยเป็นระบบธนาคารสาขาเป็นระบบธนาคารออนไลน์
    – พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ผ่าน Platform online หรือ
    – นำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้เพื่อบันทึกบัญชีระหว่างธนาคาร

นอกจากนี้ ในยุคที่ตลาดแรงงานมีลักษณะ Open source การ Reform ระบบการจ้างงานเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเปิดโอกาสให้เราได้ Talent จากนานาประเทศมาร่วมงานมากขึ้น ซึ่ง Talent เหล่านี้ก็สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ในโลกและรับงานจากบริษัทอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันได้ด้วย ขณะเดียวกัน การทำงานในโครงสร้างองค์กรที่แข็งตัวอาจไม่ตอบโจทย์บริบทธุรกิจที่ต้องรับมือกับ Shock ที่คาดไม่ถึงบ่อยขึ้น การทำงานร่วมกันจึงมีความสำคัญมากขึ้น

และนี่คือบริบทของประเทศและธุรกิจที่ผมเห็นในช่วงหลายเดือนนี้ ทำให้มั่นใจว่า โจทย์หลังโควิดยากกว่าสิ่งที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้

ความท้าทายและโอกาสของผู้ตรวจสอบภายใน ภายใต้การหยุดชะงักครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจ

เมื่อภาคธุรกิจเผชิญกับแรงกระแทกจากการระบาดของโควิดอย่างรุนแรง จนภูมิทัศน์ในหลายธุรกิจเปลี่ยนไป การดิ้นรนเพื่อการอยู่รอดเป็นไปอย่างเข้มข้น และหลายอย่างเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมาย ย่อมสร้างความท้าทายงานของผู้ตรวจสอบภายในไม่น้อย และในฐานะ Partner ของธุรกิจ หลายท่านอาจมีคำถามว่า ผู้ตรวจสอบจะเป็นกลไกการสนับสนุนการปรับตัวภายใต้การหยุดชะงักครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่างไร

3.1 ความท้าทายของผู้ตรวจสอบภายใน ในช่วงโควิด

ผมขอเริ่มจากความท้าทาย ที่คิดว่ามีอย่างน้อย 3 เรื่อง

เรื่องแรก ภารกิจซ่อม-สร้างที่รอการสะสางอีกมาก กล่าวคือ งานตรวจสอบเป็นงานที่มี Rules – Guideline – Standard ชัดเจน แต่เมื่อโควิดเข้ามากระแทกฐานะการเงินของธุรกิจจำนวนมากอย่างรุนแรง จนไม่สามารถดำเนินงานตามแผนได้ ธุรกิจต้องเร่งกระบวนการตัดสินใจ เปิดไลน์ธุรกิจใหม่ ปรับกระบวนการทำงานใหม่ เช่น ลด Process ขณะที่บางธุรกิจต้องควบรวมกิจการ เป็นไปได้สูงที่ระบบงานหลังบ้าน เช่น ระบบข้อมูล การบันทึกบัญชี หรือเอกสาร ซึ่งเป็นข้อมูลและร่องรอยธุรกรรมสำคัญสำหรับผู้ตรวจสอบจะถูกบันทึกรายการไม่สมบูรณ์หรือขาดหายไป หรือจำเป็นต้องบันทึกรายการที่ฉีกกฎหรือมาตรฐานเดิม ที่สำคัญ หลายงานต้องใช้เวลาสะสางกันพอสมควร เชื่อหรือไม่ว่า ธุรกิจใหญ่ควบรวมกันหลายปีก่อน (ผมไม่กล้าเอ่ยชื่อธุรกิจเดี๋ยวจะเดากันได้) จนถึงทุกวันนี้ ระบบงานหลังบ้านยังต้องสะสางกันอยู่มาก ขณะที่ผู้ตรวจสอบยังต้องแบ่งเวลาไปขึ้นระบบงานใหม่ๆ เพื่อรองรับธุรกรรมหลังโควิดอีกไม่น้อย

เรื่องที่สอง มาตรฐานการตรวจสอบควรเข้มข้นหรือผ่อนปรน ยากจะประเมินว่า น้ำหนักแค่ไหนจึงจะช่วยให้ธุรกิจปลอดภัยและไม่เสียหลักการของผู้ตรวจสอบ? กล่าวคือ ในช่วงที่ธุรกิจไม่สามารถดำเนินธุรกรรมได้อย่างปกติ ผู้บริหารจำเป็นต้องลดขั้นตอนการตัดสินใจเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปรับตัวต่อสถานการณ์ที่แทบจะเปลี่ยนแปลงรายสัปดาห์ จนจำเป็นต้องข้ามขั้นตอนการควบคุมภายในของผู้ตรวจสอบ แนวคิดผู้ตรวจสอบบางกลุ่มอาจจะเน้นให้มีการตรวจสอบเข้มข้น เพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหล หรือป้องกันผลกระทบอื่นๆ ในลักษณะ Unintended consequences ซึ่งเป็นความปรารถนาดี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าการตรวจสอบเข้มข้นเกินไปในภาวะที่ธุรกิจเร่งปรับตัว อาจเป็นตัวเหนี่ยวรั้งศักยภาพและมีผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจ

ดังนั้น ความปรารถนาดีเพียงอย่างเดียวจนขาดการพิจารณาบริบทอื่น อาจทำให้ธุรกิจเผชิญกับความยากลำบากคล้ายกับสุภาษิตที่ว่า “The road to hell is paved with good intentions”

ขณะเดียวกัน ในเรื่องมาตรฐานการตรวจสอบที่เข้มข้นในอดีตทำให้ผู้ตรวจสอบไม่มั่นใจว่า กรอบการปฏิบัติในภาวะเช่นนี้ ควรเป็นอย่างไร เช่น

  • ควรให้น้ำหนักกับสิ่งที่จะเกิดในอนาคตแค่ไหน เพราะตามแนวปฏิบัติเดิม ผู้ตรวจสอบจะพิจารณาในกรอบอดีตถึงปัจจุบัน ขณะที่การปรับตัวของธุรกิจ บางเรื่องอาจต้องทำเพื่อหวังผลประโยชน์ที่จะเกิดในอนาคตด้วย
  • ผู้ตรวจสอบบางท่านอาจสับสนว่า ควรเป็น Passive หรือ Proactive agent ในการผลักดันงานปรับมาตรฐานการตรวจสอบ เช่น หากองค์กรต้องปรับโครงสร้างหรือ Restructuring จะต้องผลักดันให้มีการทบทวนมาตรฐานหรือกฎระเบียบให้ยืดหยุ่นอย่างไร และระดับใดจึงเรียกว่า พอดี และปลอดภัยต่อองค์กร ซึ่งเรื่องการหาความพอดีเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่เฉพาะผู้ตรวจสอบ

วันก่อนในวงสนทนาที่ผมอยู่ด้วยมีการคุยกันว่า จะตัดสินใจอย่างไร ถ้าผู้ตรวจสอบมาขออนุญาตผัดผ่อนมาตรฐานบัญชีบางเรื่องออกไปด้วยเหตุผลต่างๆ ซึ่งบนโต๊ะมีการแสดงทัศนะกันอย่างกว้างขวาง สรุปคือ ต้องให้ผู้ตรวจสอบชี้แจงว่า จะผัดผ่อนที่จุดไหน Scale แค่ไหน ประสบการณ์ที่เคยทำมาเป็นประโยชน์ไหม แต่ต้องเตือนให้ผู้ตรวจสอบระมัดระวังว่า อย่าให้เกิดสถานการณ์ ที่ปีหน้า ตื่นมาแล้วมี Surprise เหมือนกับเราอยู่ในช่วงอดข้าว เราประเมินแล้วว่า อดข้าวขนาดนี้ฉันไม่เสียชีวิต แต่ปรากฏว่า คนแนะให้อดข้าวลืมตรวจสอบก่อนว่า ที่จริงแล้วเราไม่ได้แข็งแรงขนาดอดข้าวได้ เพราะมีปัญหาเบาหวานแฝงอยู่ภายใน พออดข้าวไม่นานน้ำตาลตกและ Shock ในที่สุด

เรื่องที่สาม ทำอย่างไรจึงจะช่วยธุรกิจขับเคลื่อนฝ่าวิกฤติด้วยความคล่องตัว บนแผนการประเมินและจัดการความเสี่ยงที่รัดกุม เมื่อธุรกิจต้อง Reform เพื่อให้เกิดความคล่องตัว คำถามสำคัญที่ผมมักได้ยิน CEO หลายท่านจะถามผู้เกี่ยวข้องรวมถึงผู้ตรวจสอบภายในเสมอ คือ

  • องค์กรเราควรทำ Digital transformation ในจุดไหนบ้าง และระดับไหน จึงจะเรียกได้ว่า คุ้มค่าที่สุด
  • การยกเครื่ององค์กรรูปแบบใหม่ จะต้องปรับระบบตรวจสอบอย่างไรให้รัดกุม ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่แข็งตัวเกินไป จนการปฏิรูปไม่เกิดขึ้นจริง
  • หากองค์กรต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก จะให้เขา Access ข้อมูลได้ระดับไหน จะทำอย่างไรให้พวกเขามี Accountability ต่อองค์กร แม้ไม่ได้เป็นพนักงาน รวมทั้ง ขอบเขตความรับผิดชอบที่พวกเขาต้องมีต่อองค์กรควรอยู่ในระดับใด
    และความท้าทายสำคัญยิ่งกว่าของผู้ตรวจสอบคือ การผลักดันคำตอบที่ได้เป็นแนวปฏิบัติได้จริง บนแผนการประเมินและจัดการความเสี่ยงที่รัดกุม
  • ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

    นอกจากนี้ ทัศนคติของผู้บริหาร และ CEO ก็เป็นความท้าทายที่อยู่คู่กับงานตรวจสอบภายในคือ ทัศนคติของผู้รับการตรวจหรือ Business units ที่มักเห็นว่า ผู้ตรวจมาจับผิดจนขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และเป็นอุปสรรคต่อความตั้งใจที่จะสร้างคุณค่าเพิ่มให้องค์กร และความท้าทายที่สำคัญที่สุด คือ หาก CEO ของบริษัทไหนมี Ego และตามใจตัวเอง ไม่ฟังใคร ก็จะทำให้งานตรวจสอบภายในยุคนี้ยากขึ้นอีกหลายเท่าตัว

    อย่างไรก็ดี ฟังถึงตรงนี้ ท่านผู้ตรวจสอบที่นั่งอยู่ ณ ที่นี้ อย่าเพิ่งท้อนะครับ คำถามต่างๆ ที่ผมพยายามวาดให้เห็นความท้าทายข้างหน้า เป็นทั้งข้อมูลและ Reflection ที่เกิดจากการเป็นผู้บริหารองค์กร เพื่อให้ท่านได้วางกรอบในการดำเนินงานอย่างเหมาะสมต่อไป ขณะเดียวกัน ก็ตั้งใจให้ผู้บริหารที่นั่งอยู่ ณ ที่นี้ เข้าใจภารกิจของผู้ตรวจสอบด้วย ทุกฝ่ายล้วนทำงานบนข้อจำกัดที่ต่างกัน การเห็นใจซึ่งกันและกันจึงเป็นหัวใจที่จะทำให้ทุกคนร่วมกันพาองค์กรก้าวข้ามวิกฤติได้ และขอให้เชื่อมั่นว่า ทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส ซึ่งผมจะได้กล่าวต่อไป

    3.2 โอกาสของผู้ตรวจสอบภายใน ในการเป็นกลไกการสนับสนุนการปรับตัวภายใต้การหยุดชะงักครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจ

    พวกเราคงคิดเหมือนกันว่า ผู้ตรวจสอบภายในแทบจะเป็นอาชีพเดียวที่เห็นงานในภาพรวมขององค์กรเชิงลึก และผู้ตรวจสอบหลายท่านรู้ปัญหาภายในองค์กรอย่างดี และที่ผ่านมาแม้จะพยายามผลักดันแต่ยังไม่มีความก้าวหน้ามากนัก วิกฤตินี้จึงเป็นโอกาสให้ผู้ตรวจสอบได้สนับสนุนองค์กรให้คล่องตัวตอบสนองต่อ Shock ได้ดีขึ้น อย่างน้อย 3 มิติ

    มิติแรก การปรับกระบวนการตรวจสอบให้ยืดหยุ่นขึ้น กล่าวคือ แนวคิดการตรวจสอบขณะนี้ส่วนใหญ่จะเน้นตรวจสอบความเสี่ยง แต่ในภาวะเช่นนี้ ไม่ว่าจะตรวจจุดไหนก็ล้วนมีความเสี่ยงสูงขึ้นทั้งนั้น เหมือนกับเข็มวัดระดับความร้อนที่จุดตั้งต้นอยู่ใกล้พื้นที่สีแดงจึงอ่อนไหวมาก การตรวจแบบเข้มข้นเพียงเล็กน้อย เข็มจะเคลื่อนไปอยู่ในพื้นที่สีแดงทันที ขณะเดียวกัน ข้อมูลและระบบงานหลังบ้านต่างๆ ก็อาจไม่พร้อมเหมือนกับภาวะปกติ ซึ่งยากต่อการตรวจสอบตามมาตรฐานบัญชี หรือมาตรฐานการตรวจสอบ ที่มีกฎกติกาที่แข็งตัว และเน้นความพร้อมของข้อมูล

    เท่าที่ผมลองไปหาเทคนิคจากผู้รู้เพื่อปิดความเสี่ยงในจุดที่ยังไม่มีกฎเกณฑ์พิจารณาอย่างชัดเจน เขาก็แนะนำให้ใช้ Information disclosure หรือการเปิดเผยข้อมูล มาเสริมมาตรฐานบัญชีและตรวจสอบ นัยคือ ในช่วงเวลาที่ธุรกิจปรับตัว บางอย่างเราไม่สามารถบอกได้ว่า อะไรถูกผิดตามแบบมาตรฐานปกติ แต่เงื่อนไขคือ คุณต้องเปิดเผยข้อมูลมาให้เรารู้ว่า คุณกำลังจะทำอะไร ด้วยวัตถุประสงค์อะไร และปล่อยให้ Market เป็นตัวชี้ว่า ทิศทางการปรับตัวของคุณถูกหรือผิด

    มิติที่สอง การประยุกต์ใช้ Distributed Ledger Technology หรือระบบบัญชีกระจายตัวแทนที่ระบบบัญชีกลางแบบเดิมจะช่วยลดเวลาตรวจสอบได้มาก เทคโนโลยีที่มีการกล่าวถึงกันมากคือ Blockchain ซึ่งทำให้ผู้ตรวจสอบไม่ต้องตรวจสอบความถูกต้องจากระบบบัญชีกลางแบบเดิม โดยข้อมูลธุรกรรมต่างๆ จะถูกบันทึกในบัญชีที่กระจายตัวเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทราบข้อมูลพร้อมกันทันที และให้สมาชิกในกลุ่มตรวจสอบกันเอง เพิ่มประสิทธิภาพงานตรวจสอบจากเดิมที่ผู้ตรวจสอบไม่น้อยจะใช้เวลาส่วนใหญ่กับงาน Financial controls จึงไม่มีเวลาให้กับงานที่เป็นความเสี่ยงใหม่ขององค์กร เช่น Cybersecurity หรือการเปลี่ยนแปลงกฎข้อบังคับและการวางแนวทางเพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนด

    คล้ายกับวงการสถาปนิก ย้อนกลับไปตอนผมเป็นนิสิต เห็นพวกนิสิตสถาปัตย์ใช้เวลามากในการ Drawing พิมพ์เขียว แต่ปัจจุบัน งานนั้นปล่อยให้คอมพิวเตอร์ทำ และนิสิตสถาปัตย์รุ่นใหม่ จะให้เวลากับ Creativities มากกว่า Drawing พิมพ์เขียว

    มิติที่สาม การร่วมมือเป็นทางออกสำคัญ กล่าวคือ เทคโนโลยีได้ขยายพรมแดนการตรวจสอบภายในให้กว้างขวางขึ้น และความเสี่ยงใหม่ๆ พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ จึงเป็นโอกาสในการร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและกฎหมาย เพื่อยกระดับงานตรวจสอบให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง การทำงานร่วมกันระหว่างผู้ตรวจสอบกับ Business units มากขึ้นจะช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น และการผนึกกำลังเติมเต็มประสบการณ์และมุมมองระหว่างผู้ตรวจสอบอาวุโส และผู้ตรวจสอบรุ่นใหม่ จะช่วยเพิ่มศักยภาพงานตรวจสอบและสร้างความมั่นใจแก่ผู้ตรวจสอบในการเป็นกลไกสนับสนุนการปรับตัวขององค์กรให้มีความคล่องตัว ยืดหยุ่น และรับมือกับ Shock ต่างๆ ได้ดีขึ้น

    นอกจากนี้ การใช้ชุดข้อมูลใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนความเห็นและโน้มน้าว CEO จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือแก่ทีมงานผู้ตรวจสอบได้ด้วย และภายใต้เทคโนโลยีปัจจุบัน ข้อมูลไม่ใช่สิ่งหายากอีกต่อไป จึงเป็นโอกาสของผู้ตรวจสอบอีกทางหนึ่ง

    สุดท้ายนี้ ผมคิดว่า แม้จะมี Massive disruption ในทุกภาคส่วน หลายอย่างเป็นความท้าทาย ขณะเดียวกันก็มีโอกาสสำหรับผู้ตรวจสอบภายในอย่างมากเช่นกัน อย่างไรก็ดี ความเป็นมืออาชีพของผู้ตรวจสอบที่มีหลักพื้นฐานที่ดี จำเป็นต้องรักษาไว้ แต่ต้องเข้าใจ Purpose ของแต่ละหลักการ และมองเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น หากยึดติดเกินไปโดยลืมเรื่อง Purpose ขณะเดียวกัน ต้องเปิดใจรับกลไกเสริมที่จะช่วยสนับสนุนให้องค์กรมีความคล่องตัว ยืดหยุ่น และปรับตัวได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด