ตั้งแต่ต้นปี 2556 เงินบาททำสถิติแข็งค่าขึ้นตลอด โดยช่วงกลางเดือนมกราคมทำสถิติแข็งค่ามากสุดในรอบ 17 เดือน จากนั้น ช่วงกลางเดือนมีนาคมก็ไต่ระดับแข็งค่าสุดในรอบ 28 เดือน และล่าสุด เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา ทุบสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 16 ปี หรือ ทะลุ 29 บาทต่อดอลลาร์
การแข็งค่าของเงินบาทที่ทุบสถิติใหม่ในรอบ 16 ปี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทเมื่อวานนี้ (9 เม.ย.) ค่อนข้างเร็วเกินไป เพราะว่าจากสิ้นวันศุกร์ (5 เม.ย.) มาถึง 10.30 น. ของเมื่อวานนี้ (9 เม.ย.) ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น 1.4% และถ้าเปรียบเทียบเงินบาทกับเงินเยนแข็งค่าขึ้นมากกว่า 4% หรือเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับบาทเกือบ 4% เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างเร็ว
ดร.ประสารระบุว่า เท่าที่ ธปท. ติดตามปริมาณการซื้อขายเงินตราต่างประเทศเมื่อเช้านี้ ปริมาณการขายเงินตราต่างประเทศมากกว่าปกติ และสันนิฐานว่าเป็นการขายสินทรัพย์เงินเยนเป็นสาเหตุใหญ่ เพราะฉะนั้น สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งเป็นไปในทางผ่อนคลายอย่างมาก และมากกว่าที่ ธปท. เคยคาดเอาไว้
โดยเมื่อทางการญี่ปุ่นประกาศเข้าซื้อสินทรัพย์เงินเยน โดยในที่นี้หมายถึงพวกพันธบัตร อีกฝ่ายซึ่งคือผู้ลงทุนต่างๆ ก็ขายเงินเยนออกไปลงทุนสกุลเงินต่างๆ จะสังเกตว่า วันจันทร์ (8 เม.ย.) เงินในสกุลเงินภูมิภาคละตินอเมริกาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว พอมาเมื่อเช้านี้ก็ปรับในทิศตรงข้าม เมื่อวานตลาดเมืองไทยปิด พอเปิดมาวันนี้เงินก็ไหลก็มาทางภูมิภาคเอเชีย และตลาดของไทยในช่วงสัปดาห์นี้คนหยุดจำนวนมาก ทำให้ปริมาณคนซื้อเงินตราต่างประเทศไทยค่อนข้างเบาบาง จึงเห็นการเคลื่อนไหวที่เร็วกว่าปกติ
“ก็เป็นการเคลื่อนไหวของค่าเงินต่อปฏิกิริยามาตรการใหม่ๆ ของเศรษฐกิจหลัก กรณีนี้ก็เป็น ญี่ปุ่น ที่ทำมาตรการผ่อนคลายมากกว่าที่คาดไว้ และถือเป็นเรื่องใหม่ของวงการธนาคารกลาง” ดร.ประสารกล่าว
ทั้งนี้ ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า ธุรกรรมขายดอลลาร์ปกติในวันธรรมดามีประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เมื่อเช้าวานนี้ (9 เม.ย.) มีธุรกรรมขาย 300-400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนขาซื้อวันนี้เนื่องจากหยุดงานกันเยอะ จึงมีเบาบางกว่าปกติ ซึ่งพวกที่เขาใช้จังหวะนี้เป็นโอกาส ถ้าเขาใช้เงินตราต่างประเทศ การซื้อจังหวะนี้ก็จะได้ราคาดี แต่พอหยุดงานกันธุรกรรมจึงน้อย แต่เป็นเรื่องที่ต้องดูอีกทีหลังสงกรานต์
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าเร็ว คือ เป็นผลจากการไหลเข้าของเงินทุน เพื่อชำระค่าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอส โกรท (BTSGIF) เนื่องจากต่างประเทศสนใจ BTSGIF เป็นจำนวนมาก โดยต่างประเทศได้รับจัดสรรประมาณครึ่งหนึ่ง วงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท บางส่วนขายหุ้นแล้วโยกเงินไปลงทุนบีทีเอส และส่วนที่เหลืออาจเป็นเงินเข้ามาใหม่ ช่วงนี้ที่เห็นหุ้นลง บาทแข็ง อาจเป็นเพราะนำเงินมาซื้อกองทุนนี้
“ทางแบงก์ชาติก็เป็นห่วง เห็นการเปลี่ยนแปลงเร็ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องใช้ความระมัดระวัง ส่วนแบงก์ชาติจะติดตามการเคลื่อนไหวนี้ในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิดต่อไป” ดร.ประสารกล่าว
สำหรับการดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ปกติ ธปท. ดูแลอยู่แล้ว แต่การดูแลไม่จำเป็นต้องเข้าแทรกแซงด้วยการซื้อเสมอไป
“ถ้าไม่ได้ดูแลคงเล่าให้ฟังไม่ได้ เพราะดูแลจึงเล่าให้ฟังได้ว่าเกิดอะไรขึ้น” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว
นอกจากนี้ การดูแลค่าเงินบาทของ ธปท. มีชุดเครื่องมือเป็นชั้นๆ ชั้นแรกสุด ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น ซึ่งในระยะที่ผ่านมาได้ทำงานตามศักยภาพของเครื่องมือดังกล่าว ส่วนชั้นที่สอง คือ พยายามรักษาดุลการเคลื่อนย้ายเงินทุนโดยธรรมชาติ โดยถ้ามีเวลา ธปท. ก็ทำมาตรการต่างๆ ส่งเสริมภาคเอกชนซื้อเครื่องจักร การลงทุนต่างประเทศได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น สำหรับในเวลาสั้น ธปท. ได้ประสานงานหน่วยงานรัฐ รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่มีหนี้ต่างประเทศอยู่ และมีแผนการลงทุนต่างประเทศ ให้เร่งรัดปรับโครงสร้างหนี้ หรือมีแผนลงทุนซื้อเครื่องจักร ลงทุนต่างประเทศก็ควรทำฟอร์เวิร์ด (ซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า) ซึ่งลักษณะนี้จะเป็นเครื่องมือตามธรรมชาติที่จะรักษาดุล และก็เป็นจังหวะที่เหมาะมากที่จะดำเนินการ
ทั้งนี้ นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ธปท. ได้ประสานทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เรื่องเร่งรัดให้หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจที่มีหนี้เงินต่างประเทศมีการปรับโครงสร้างหนี้ หรือมีแผนลงทุนซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า โดยในกรณีปรับโครงสร้างหนี้มีวงเงินประมาณ 2,000 เหรียญสหรัฐฯ และกรณีลงทุนมีวงเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ หากดำเนินการในส่วนนี้ก็จะช่วยรักษาสมดุลได้พอสมควร
เครื่องมือชั้นที่ 3 คือ การแทรกแซงตลาดด้วยการเข้าซื้อเงินตราต่างประเทศ หลักการของ ธปท. คือ ถ้าเห็นว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทผิดไปจากพื้นฐานเศรษฐกิจ การแทรกแซงดังกล่าวก็เป็นชุดเครื่องมือที่ ธปท. พร้อมใช้เหมือนกัน และเครื่องมือชั้นที่ 4 คือ การเข้าไปกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายในรูปแบบต่างๆ
“เรื่องการออกมาตรการคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย ดร.ประสารกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องคิดให้รอบคอบ ตัวอย่างเช่น บราซิล ซึ่งเป็นเจ้ายุทธจักรเก็บภาษีเงินนำเข้า ก็มีการประเมินว่า พอทำไปแล้วก็สร้างผลข้างเคียง ทำให้เกิดการหยุดชะงักของเงินทุนที่ต้องการให้เข้ามา และช่วงที่ผ่านมาระยะใกล้ๆ ทางการบราซิลก็ออกมา เหมือนบอกว่าอยากจะลดอัตราภาษีเงินทุนนำเข้า แต่เกิดเหตุการณ์เมื่อวาน (8 เม.ย.) ไม่แน่ใจว่าจะปรับหรือไม่ ของพวกนี้ต้องดูให้รอบคอบว่าจะเกิดผลข้างเคียงอย่างไร ขณะนี้คิดว่าเราอยากจะใช้พวกมาตรการที่เป็นธรรมชาติก่อน” ดร.ประสารกล่าว
สำหรับผลกระทบของค่าเงินบาทแข็งต่อการส่งออก ดร.ประสารกล่าวว่า เป็นโจทย์ที่ ธปท. ติดตามอยู่ แต่ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า กำลังซื้อและการเจริญเติบโตของประเทศคู่ค้าเป็นอย่างไร ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนนั้นอยากดูในกรอบเวลาที่ยาวหน่อย ถ้าดูในกรอบสั้นๆ จะแกว่งตัวมาก ต้องดูในระยะถัดไปอีกระยะหนึ่งว่าจะเป็นอย่างไร
“สาเหตุที่เกิดขึ้นช่วงนี้เป็นเพราะว่าค่าเงินเยนอ่อนค่าเร็ว” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวและระบุว่า การที่เงินเยนอ่อนควรมองมุมกลับด้วย ซึ่งเท่าที่ศึกษาความคิดของผู้ลงทุน เขาตีความว่า เงินเยนอ่อนจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย เพราะถ้าพูดถึงการค้าระหว่างประเทศ เศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีบทบาทลักษณะเป็นคู่ค้ามากกว่าคู่แข่งในลักษณะที่อุตสาหกรรมไทยหลายอย่างอยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกับญี่ปุ่น
ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมมีการนำเข้าจากญี่ปุ่นค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ อะไหล่ รวมกันแล้วถือเป็นสัดส่วน 60-70% ของการนำเข้า หมายความว่า อุตสาหกรรมจำนวนหนึ่งในประเทศไทยจะซื้อของได้ในราคาถูก ทำให้เขาอาจได้เปรียบเชิงต้นทุน ส่วนการส่งออกไปญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีความจำเป็น
“เพราะฉะนั้นเงินเงินอ่อนกลายเป็นเอื้อเศรษฐกิจมากกว่าจะเป็นอุปสรรค” ดร.ประสารกล่าว
ธปท. กำชับนายแบงก์เข้มคุณภาพสินเชื่ออสัหาฯ และเตือนอย่าแข่งขันรุนแรง
ปัญหาภาวะฟองสบู่ในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นประเด็นหนึ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความสนใจและติดตามอย่างใกล้ชิด ล่าสุด ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกลุ ผู้ว่าการ ธปท. ยอมรับว่าบางเขตบางพื้นที่มีสัญญาณว่าราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ให้ทีมงานกำลังติดตามดูอยู่ แต่จุดสำคัญของ ธปท. คือให้น้ำหนักค่อนข้างมากกับคุณภาพการปล่อยสินเชื่อ ด้วยเหตุผลว่า ภาวะอสังหาริมทรัพย์ที่เราเรียกว่าเป็นความเสี่ยงจะเกิดภาวะฟองสบู่และภาวะฟองสบู่แตก ผลกระทบของมันจะรุนแรงหรือไม่ จะมีความสัมพันธ์ค่อนข้างมากกับระดับการกู้ยืมและการปล่อยสินเชื่อ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ ธปท. ดำเนินการไปบ้างแล้วคือ “กำชับผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง” ใน 2 ข้อ
ข้อที่หนึ่ง ขอให้รักษามาตรฐานการปล่อยสินเชื่อข้าสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์
ข้อที่สอง พึงระมัดระวังการแข่งขัน อย่างแข่งขันกันจนเกินเลย
“ได้กำชับเรื่องดังกล่าวกับผู้บริหารระดับสูงของธนาคารทุกแห่งไปเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา”
ส่วนที่จะทำอะไรมากกว่านี้หรือไม่ ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า ขณะนี้เรากำลังติดตามภาวะอยู่ เพราะว่าของพวกนี้ต้องดูให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เพราะทำน้อยไปก็อาจจะเกิดปัญหา ทำมากไปก็สร้างปัญหาอีกแบบหนึ่งได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ลักษณะของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ยังอยู่ในกรอบปกติ
โดยการขยายตัวของสินเชื่อเฉพาะของระบบธนาคารพาณิชย์ภาคที่อยู่อาศัย กับภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่ระดับปกติ 10% ต้นๆ ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก็อยู่ในระดับที่ไม่ได้มากจนเกินไป แต่การแข่งขันสังเกตเห็นว่า มีสัญญาณการแข่งขันรุนแรงพอประมาณ
ทั้งนี้ ดร.ประสารยอมรับว่า มีคนแนะนำให้ลดสัดส่วนการปล่อยกู้ต่อหลักประกัน (แอลทีวี) สำหรับบ้านหลังที่ 2 เพื่อสกัดภาวะฟองสบู่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 90% แต่ด้านหนึ่ง ธปท. ก็อยากให้ผู้ประกอบการวางแผนทางธุรกิจได้ และอยากดูว่า ภาวะที่เราเห็นๆ อยู่ เกิดเพราะปัจจัยพื้นฐานที่เกิดจากการขยายรถไฟฟ้าออกไป เกิดเพราะคนมีรายได้เพิ่ม เกิดเพราะคนย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองต้องการที่อยู่อาศัย หรือเกิดขึ้นเพราะว่าเก็งกำไรกัน
“ขณะนี้ ธปท. กำลังรวบรวมข้อมูลอยู่ โดยให้เจ้าของโครงการส่งข้อมูลให้ว่า ลูกค้าที่มาซื้อโครงการต่างๆ เขาซื้อเพื่ออยู่อาศัย หรือเพื่อลงทุน หรือเพื่อขายต่อ เพื่อให้เราเห็นอะไรต่างๆ ชัดเจน ประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้อง แต่ไม่ใช่ว่าช้าจนเกินไป อยากจะดูให้ชัดเจน ไม่ใช่กะทันหัน ทำอะไรต่างๆ ออกแล้วก็เกิดผลข้างเคียงขึ้นที่ไม่พึ่งปรารถนา”
นอกจากนี้ เรื่องอัตราดอกเบี้ย ผู้ว่าการ ธปท. ย้ำว่า เราไม่อยากให้ดอกเบี้ยต่ำเกินไป เพราะถ้าต่ำมากๆ คนก็จะนำเงินไปเก็งกำไรคอนโด ดังนั้น บางอันเราพอทำได้ก็ทำเป็นพื้นไว้ก่อน ซึ่งดอกเบี้ยถือเป็นพื้นฐาน ถ้าต่ำมากๆ คนก็บอกไปซื้อคนโดดีกว่า
“ดอกเบี้ยของเราตอนนี้เป็นอย่างไรนั้น ถ้าดูเงินเฟ้อที่ขยายตัว 2.6-2.7 % และเศรษฐกิจโต 4-5% ถือเป็นดอกเบี้ยที่ช่วยเอื้อในเรื่องการเติบโต แต่ไม่อยากไปพูดอะไรที่เป็นการตีความว่าจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ย” ดร.ประสารกล่าว