ThaiPublica > คนในข่าว > “ไชยันต์ ธุระสกุล ” นายกเทศมนตรี “เกาะเต่า” ชี้มาตรการเยียวยาโควิด-19 ซ้ำเติมปัญหาท้องถิ่น

“ไชยันต์ ธุระสกุล ” นายกเทศมนตรี “เกาะเต่า” ชี้มาตรการเยียวยาโควิด-19 ซ้ำเติมปัญหาท้องถิ่น

5 พฤศจิกายน 2020


นายไชยันต์ ธุระสกุล นายกเทศมนตรีตำบลเกาะเต่า

เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎ์ธานี มีรายได้จากการท่องเที่ยวเฉลี่ยมากกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี นักท่องเที่ยวเฉลี่ย 300,000 คนต่อปี นับเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ในปี 2558 เกาะเต่าเคยถูกจัดอันดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เหมาะแก่การพักร้อนอันดับ 5 ของโลก

ในปี 2562 จังหวัดสุราษฎ์ธานีมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 53,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากเกาะเต่าถึง 11%

กระทั่งปี 2563 วิกฤติโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก สถานการณ์การท่องเที่ยวในเกาะเต่าได้รับผลกระทบโดยตรง ทำให้เกาะเต่าเผชิญกับวิกฤติเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี จนถึงบัดนี้การท่องเที่ยวยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวในเร็ววัน

นายไชยันต์ ธุระสกุล นายกเทศมนตรีตำบลเกาะเต่า กล่าวกับไทยพับลิก้าว่า เศรษฐกิจในเกาะเต่าพึ่งพาการท่องเที่ยว 100% ประชากรในพื้นที่เกือบหมื่นรายขาดรายได้ ผู้ประกอบการโรงแรมจำนวนมากปิดกิจการ รวมถึงประมงพื้นฐานและคนขับเรือท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักจนแรงงานบางส่วนต้องออกจากพื้นที่ไปหางานใหม่

“ธุรกิจ 80-90% ต้องหยุดกิจการ บางส่วนเลิกจ้างเพราะลดต้นทุน เพราะถ้าเปิดจะมีรายจ่ายเดือนละ 2 ถึง 3 แสนบาท ยิ่งไม่มีลูกค้า มองไม่เห็นทางข้างหน้า ต่อให้กลับมาเปิดก็ไม่รู้เอาแรงงานที่ไหน เพราะแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมียนมาแทบทั้งหมด แล้วเรารอคนมาเที่ยวเกาะเต่าได้แค่ช่วงหยุดยาวสุดสัปดาห์ เราไม่ใช่หัวหินหรือชะอำที่เดินทางง่าย เพราะเกาะเต่าใช้เวลาเดินทางไกลอย่างน้อยไปกลับ 2 วัน นี่เป็นภาวะกล้ำกลืนฝืนทนกับผู้ประกอบการมาก”

ภาพรวมธุรกิจในเกาะเต่า แบ่งกว้างๆ ได้ 4 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจคนขับเรือขนส่ง-แท็กซี่ กลุ่มประมงพื้นบ้าน และกลุ่มค้าขาย-บริการ เช่น นวด-สปา ฯลฯ

นายไชยันต์ให้ข้อมูลว่า ธุรกิจโรงแรมในพื้นที่มีประมาณ 300 แห่ง ขณะนี้เปิดบริการเพียง 10% ส่วนกลุ่มคนขับเรือ-แท็กซี่ต้องหยุดงานเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว กลุ่มประมงพื้นบ้านมี 7-8 รายก็ไม่สามารถหาตลาดได้ เช่นเดียวกับกลุ่มค้าขาย-บริการที่ขาดรายได้โดยปริยาย

แม้ภาครัฐจะมีมาตรการต่างๆ เยียวยาผู้ประกอบการและกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่นายกเทศมนตรีเกาะเต่าบอกว่านโยบายที่ออกมาเป็นการ “ซ้ำเติม” ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงแรมซึ่งเป็นเค้กก้อนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ

เนื่องจากโรงแรมเกือบทั้งหมดไม่มี ‘ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม’ ทำให้ไม่เข้าเกณฑ์และไม่ได้รับการช่วยเหลือ

“เรามีปัญหาพื้นที่เรื่องความขัดแย้งที่ดิน ผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนไม่ได้รับการเยียวยา หรือมาตรการ ‘ไทยเที่ยวด้วยกัน’ เขาจ่ายค่ารถ ค่าเครื่องบินให้ แต่ไม่จ่ายค่าเรือ ซึ่งของเราต้องเดินทางด้วยเรืออย่างเดียว อย่างซอฟต์โลน (มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ) ผู้ประกอบการเราก็ไม่ได้รับ”

“ทุกปัญหาที่เกิดขึ้น พอเราแก้อย่างก็เกิดอีกอย่าง ผมไม่ได้มองว่ารัฐบาลไม่ได้คิดเรื่องนี้ แต่บางเรื่องมันละเอียดอ่อน”

ความท้าทายของนายกเทศมนตรีฯ คือการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการให้ได้ ไม่จมน้ำไปมากกว่านี้ ซึ่งนายไชยันต์กล่าวย้ำว่าไม่มีอำนาจท้องถิ่นในการจัดการแก้ไขระบบ แต่สิ่งที่ทำได้มากที่สุดคือเป็นคนกลางในการพูดคุยกับกระทรวงพาณิชย์ให้ช่วยปลดล็อกเงื่อนไขบางอย่างให้ผู้ประกอบการเกาะเต่าเข้าถึงได้ แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถช่วยเหลือในรูปแบบอื่นๆ ได้

“สิ่งที่ผมทำได้คือ เอาปัญหาความเดือดร้อนให้กับคนที่มีอำนาจในการตัดสินให้ได้มากที่สุด เราไปคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เขาก็เห็นปัญหาหลายๆ เรื่อง”

นายไชยันต์บอกอีกว่า ที่ผ่านมาในยุคก่อนโควิด-19 เวลามีโครงการการช่วยเหลือเกาะเต่าของภาครัฐ งบประมาณที่ภาครัฐจัดสรรมาให้จะมาไม่ถึงโดยตรง เพราะงบส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับค่าการจัดการหรือค่าเดินทางเป็นหลัก

นอกจากปัญหาเรื่องเงื่อนไข-กฎกติกาของธุรกิจโรงแรมแล้ว เกาะเต่ายังมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมคือ ‘ขยะ’ จากนักท่องเที่ยวและขยะที่ลอยมาจากทะเล เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เป็นเกาะทำให้ขยะถูกซัดขึ้นมาเกยตื้นจากทะเลทุกทิศทาง นับเป็นอีกปัญหาเรื้อรังที่ท้องถิ่นยังไม่สามารถแก้ไขได้

อย่างไรก็ตาม UNDP ได้เข้ามาทำโครงการ “Koh Tao, Better Together” ร่วมกับธนาคารกรุงไทย และมูลนิธิรักษ์ไทย โดยตั้งเป้าระดมทุนเกือบ 2 ล้านบาท สร้างอาชีพให้คนขับเรือท่องเที่ยวขนาดเล็กในเกาะเต่า จำนวน 200 คน ร่วมทำความสะอาดและเก็บขยะ โดยมีค่าจ้างเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน จนถึงเดือนมกราคม 2564

  • UNDP จับมือ KTB เปิด “e-Donation” ระดมทุน 2 ล้าน จ้างคนขับเรือเกาะเต่า-เก็บขยะเดือนละ 3,000 บาท

  • “UNDP เห็นว่าองค์ประกอบของพื้นที่เราพร้อม ตั้งแต่มุมมองผู้บริหารไปจนถึงการจัดการ ถือว่าโชคดีมากที่เขาเลือก”

    โครงการนี้เปรียบเสมือนยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว คือ ชาวบ้านได้รับการเยียวยาและช่วยเก็บขยะ สร้างจิตสำนึกให้คนในพื้นที่รักสิ่งแวดล้อม

    นายไชยันต์ กล่าวต่อว่า เงินเยียวยา 3,000 บาทจากโครงการดังกล่าวไม่ใช่เงินจำนวนมาก แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงคือเป็นขวัญและกำลังใจให้คนในพื้นที่

    นายไชยันต์อธิบายว่า โครงการความร่วมมือกับ UNDP ยังเป็นโครงการนำร่องในการหาพันธมิตรที่สร้างความเชื่อใจในพื้นที่ และยกระดับการทำงานในท้องถิ่นให้คล่องตัวมากขึ้น เพราะจะมีอำนาจตัดสินใจในการทำงาน

    ส่วนมาตรการอื่นๆ ของท้องถิ่นในอนาคต นายไชยันต์กล่าวว่า กลุ่มที่ต้องได้รับความช่วยเหลือคือกลุ่มประมงและกลุ่มแรงงาน เน้นการเรียนอบรมพัฒนาศักยภาพ ผ่านการส่งเสริมอาชีพและสร้างองค์ความรู้ให้สามารถปรับตัวได้กับการแข่งขัน และเป็นโครงการที่วัดผลได้ ไม่ใช่จ่ายเงินแล้วจบ

    ด้านการท่องเที่ยว นายไชยันต์บอกว่า เกาะเต่ามีแผนจะกระจายความเสี่ยงให้เป็นพื้นที่ที่ไม่พึ่งพาการท่องเที่ยว 100% เพื่อปรับตัวเพื่อความอยู่รอดเวลาเกิดวิกฤติ

    “เราอยากหาคนที่ยอมรับเกาะเต่า สร้างพาร์ตเนอร์นี่สำคัญมาก ทำโปรเจกต์ร่วมกัน เม็ดเงินอาจไม่ได้เยอะ แต่เมื่อผ่านโครงการความร่วมมือกับ UNDP ไปได้ ก็จะสร้างความไว้วางใจได้ นี่จะเป็นโครงการนำร่องที่จะกำหนดการทำงานในอนาคตว่าเป็นโครงการภายใต้โครงสร้างการบริหารของภาครัฐ เพราะในระยะยาวเราจะทำให้คนมีโอกาสมากกว่านี้”