ThaiPublica > คอลัมน์ > ราชประชาสมาสัย 2020 คิดไปข้างหน้า ไม่ใช่ย้อนเวลากลับไป

ราชประชาสมาสัย 2020 คิดไปข้างหน้า ไม่ใช่ย้อนเวลากลับไป

27 ตุลาคม 2020


ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

ผมเป็นคนแรกๆ ที่ออกมาพูดเรื่อง “การตื่นรู้ของคนรุ่นใหม่” หรือ “The Great Awakening” ตามมาด้วยการเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาฯ ในขณะนั้น ขอให้เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้นิสิตนักศึกษาเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัย มิพักต้องเอ่ยถึงว่า ผมเป็นคนแรกและคนสุดท้ายในวงการโทรทัศน์ไทย ที่นำเสนอประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ มาออกอากาศติดต่อกันเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์

นั่นเป็นครั้งแรกและเพียงครั้งเดียวที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้อภิปรายประเด็นดังกล่าวในรายการโทรทัศน์ ซึ่งในขณะนั้นจนถึงในขณะนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก นำมาสู่การแทรกแซงภายในจากหลายคนในสถานี จนนำมาสู่การงดออกอากาศรายการในค่ำวันศุกร์ ซึ่งขัดทั้งรัฐธรรมนูญ ประมวลจริยธรรมของสถานี เพราะเทปบันทึกรายการดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการในทุกระดับ ก่อนจะได้รับพิจารณาออกอากาศอย่างเป็นทางการ

นั่นเท่ากับจำนวนผู้มีวิจารณญาณ ผู้ยืนยันว่า เนื้อหาในรายการนั้น ไม่มีความตอนใดที่ผิดกฎหมาย เมื่อสถานียอมระงับรายการเสียเอง ในวันเสาร์ผมและทีมงานจึงประกาศยุติรายการ เพื่อกดดันให้สถานีชี้แจงหลักการต่อสาธารณะ จนในที่สุด หลังการประชุมในวันอาทิตย์ สถานีไทยพีบีเอส จึงนำเทปบันทึกรายการดังกล่าวมาออกอากาศในวันจันทร์

รายการที่ถูกสั่งงดออกอากาศ

กระนั้น ผมก็ได้ตัดสินใจที่จะยุติบทบาทการทำงานร่วมกันกับไทยพีบีเอสไปแล้ว

ที่เข้าใจกันว่า ผมถูกสถานีปลดออก จึงเป็นความเข้าใจผิด

แท้จริงแล้ว ผมเป็นฝ่ายปลดสถานีออกตั้งแต่วันเสาร์ เพราะสถานีโทรทัศน์สาธารณะตามรัฐธรรมนูญ ทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง ด้วยการแทรกแซงสื่อตัวเอง

นี่คือการทำผิดหลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดทางวิชาชีพ ซึ่งในเวลานั้น หลายคนอาจจะยังไม่เห็น หรือแกล้งไม่เห็น เพราะได้ผลประโยชน์ที่ตามมาจากสถานการณ์นั้น

เหตุการณ์นั้น นำมาสู่การแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อผมและผู้ร่วมรายการตามสถานีตำรวจทั่วประเทศ เป็นการใช้กฎหมายนี้เล่นงานปัญญาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชนครั้งใหญ่ และผมได้รับเกียรติให้ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ จนผมต้องใช้เวลาตั้งรับ กับเรื่องนี้นานปี แม้จนบัดนี้ ก็ยังมีราคาที่ต้องจ่าย

การพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในเวลานั้น ไม่ได้ทำได้ง่ายเหมือนทุกวันนี้ แม้จะเป็นการสนทนาอารยะอย่างปัญญาชนก็ตามที ผมจึงเข้าใจหัวอกของเยาวชนคนหนุ่มสาวทุกวันนี้ จึงไม่มีเหตุผลใดที่ผมจะขัดขวางการเปลี่ยนแปลง หรือพยายามหมุนเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปหาอดีต

นั่นคือ เหตุที่ทำให้ผมเขียนหนังสือ “FUTURE | ปัญญาอนาคต” เป็นเล่มแรก เพื่อชี้ชวนให้ทุกคนในสังคมมุ่งมั่นสร้างตัวตน สร้างความคิด สร้างอนาคตขึ้นมาใหม่ ผมเซ็นชื่อในหนังสือนับพันเล่มว่า “ขอให้เห็นอนาคตใหม่”

จากนั้น ผมจึงเขียน “Past | ปัญญาอดีต” เพื่อปลุกความกล้าหาญและสร้างสรรค์ ให้เยาวชนคนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงและสร้างจิตวิญญาณแห่งยุคสมัย

ผมเขียน “One Million | ปัญญาหนึ่ง ถึงร้อยหมื่น” เพื่อชี้ให้เห็นการทำงานของโลกสมัยใหม่ ว่าคนเพียงหนึ่ง อาจมีพลานุภาพได้ถึงล้าน ด้วยการสนุบสนุนของเทคโนโลยีและการเชื่อมต่อในโลกสมัยใหม่

ในช่วงที่สังคมไทยเผชิญหน้ากับวิกฤติรอบด้าน ผมเขียน “Crisis Wisdom | ปัญญา {ฝ่า} วิกฤติ” เพื่อสร้างแพลทฟอร์มทางปัญญาให้ผู้อ่านใช้ขบคิดร่วมกับประสบการณ์ชีวิตส่วนตนว่า จะตัดสินใจอย่างไรเมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติ

นี่เป็นที่มาของการให้สัมภาษณ์คุณเคน–นครินทร์ แห่ง The Standard

ผมพยายามใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดราวหนึ่งชั่วโมงสิบเอ็ดนาที อธิบายเหตุและปัจจัยที่นำประเทศไทยมาสู่วิกฤติใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อย่างกระชับ ซึ่งวิญญูชนย่อมเข้าใจได้เมื่อวางใจเป็นธรรมว่า ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ผมเข้าใจว่าการพูดในวาระที่สังคมแตกแยกแบ่งฝ่าย ร้าวลึกลงไปถึงในระดับครอบครัวนั้น จัดได้ว่าเป็นความเสี่ยงภัยขั้นสูง จนยากจะมีผู้ใดอยากจะรับความเสี่ยงนั้นไว้ แต่ผมก็ยังยินดีที่จะทำหน้าที่นั้น ด้วยจิตที่ปรารถนาดีต่อประเทศชาติบ้านเมือง ต่อผู้หลักผู้ใหญ่ ต่อคนรุ่นใหม่ และอนาคตของประเทศไทย

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา (ซ้าย) ให้สัมภาษณ์ เคน–นครินทร์ แห่ง The Standard (ขวา)

ผมพยายามวิเคราะห์ แยกแยะปัญหา และหาทางออกด้วยปัญญา ซึ่งถ้าฟังให้ครบจบกระบวนความ ผู้ฟังย่อมพึงได้รับรู้ถึงความตั้งใจนั้น บทสนทนาชิ้นนี้จึงถูกส่งต่ออย่างกว้างขวาง ไปจนกระทั่งถึงระดับไลน์กลุ่มของครอบครัว ที่กำลังมีความขัดแย้งกันจนยากจะประสาน บทสนทนาชิ้นนี้ได้ทำหน้าที่ประสานรอยแยกแตกนั้น เท่าที่มันพอจะทำได้

ปัญหาจึงตกมาอยู่ที่รอยแยกใหญ่ของประเทศไทย

กล่าวอย่างรวบรัด เฉพาะประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ วันนี้มีผู้พึงใจจากฝั่งขวาสุด ในระดับจะกลับไปสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปจนถึงสุดทางฝั่งซ้าย ผู้มีความฝันในระดับไปสู่การเป็นสาธารณรัฐ

คำถามสำคัญที่สุดจึงอยู่ที่ว่า เราจะจัดวางตำแหน่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน ไว้ ณ ที่จุดไหน

จุดก่อนเหตุการณ์ 2475 ซึ่งดีที่สุดสำหรับองค์กษัตริย์
จุดหลัง 2475 ซึ่งดีที่สุดสำหรับคณะราษฎร
จุดก่อนการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 10 (ตามข้อเสนอของคุณบรรยง พงษ์พานิช)

หรือการร่วมสร้างร่วมคิด เพื่อหาตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ใหม่ ตำแหน่งที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ได้สถาวร ปลอดภัย เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย และเป็นที่พึงใจหรือยอมรับได้จากทุกฝ่าย

“ราชประชาสมาสัย” ที่ผมนำเสนอ จึงไม่ใช่ราชประชาสมาสัยโบราณ แบบที่ผู้ไม่ได้ฟังบทสนทนา หรือฟังไม่จบหยิบยกไปกล่าวอ้าง บิดเบือน ให้ร้าย ว่าผมจะนำพาประเทศไทยกลับไปอยู่ในอดีต

มีแต่ผู้ยึดติดอยู่กับอดีต ตำราเล่มเดิม และกรอบคิดเก่าเท่านั้น ที่ชอบพาตนเองและสังคมกลับไปหาอดีต

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมศึกษาอดีต เพื่อหาทางออกที่ดีให้กับสังคม และให้ลูกหลานมีลู่ทางในการสร้างอนาคตใหม่ แม้จะมีข้อจำกัดอยู่รอบด้านมากมาย

“ราชประชาสมาสัย 2020” จึงคือ ข้อเสนอในการหาสมการให้สถาบันพระมหากษัตริย์ อยู่ร่วมกันได้กับประชาธิปไตย

หาจุดที่พระราชาอยู่ร่วมกันได้กับประชา โดยการสร้างสมดุลใหม่ หลังจากสมดุลเดิมได้สูญเสียไป

ในสมดุลใหม่ มิใช่ว่าทุกฝ่ายต้องมีอำนาจเท่ากัน หากแต่ต้องมีอำนาจถ่วงดุล ที่ทุกฝ่ายพึงใจ และพอยอมรับร่วมกันได้ ซึ่งเป็นคำถามที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันหาคำตอบว่า สมดุลใหม่นั้นคือจุดใด

เมื่อกำหนดเป้าหมายได้ชัด เราจึงจะออกแบบกฎ กติกา เพื่อสร้างสมดุลใหม่นั้น

ถ้าสังคมทำให้ราชและประชาอาศัยอยู่ร่วมกันได้ เราจึงจะก้าวข้ามความขัดแย้งครั้งใหญ่ในมหาวิกฤตินี้ไปได้

แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เกิดความบาดเจ็บ เสียหาย หรือล้มตาย สมดุลอันเหลืออยู่เพียงน้อยนิด ย่อมมิอาจเพียงพอให้สังคมทรงตัวต่อไปได้ นั่นคือจุดเสี่ยง ที่จะทำให้สังคมล่มสลาย จนยากต่อการเยียวยาแก้ไขกลับมา

ในฐานะผู้ก้าวออกมายืนเบื้องหน้าเพื่อรับทุกความเสี่ยงภัยมาทุกยุคทุกสมัย
ผมไม่ได้ต้องการคำชื่นชม หรือความเห็นใจ
ผมขอเพียงอย่าบิดเบือนเอาคำพูดที่ผมไม่ได้กล่าวมาใส่ปากผม
อย่าใส่หนังสืออ้างอิง ในสิ่งที่ผมไม่ได้อ้าง เพื่ออ้างว่าเป็นแนวคิดผม
อย่าตัดตอนประเด็นใหญ่ให้เหลือเพียงประเด็นเดียว เพื่อทำลายภาพใหญ่
โปรดจงมองให้เห็นป่าทั้งป่าและพิจารณาประเด็นทั้งหมดในบทสนทนาอย่างรอบด้าน
ผมเชื่อว่าผู้มีใจเป็นกลางและเป็นธรรมจะมองเห็นความงดงามของข้อคิดต่างๆ ที่ผมนำเสนอไว้

ครั้งหนึ่งผมเคยถูกกล่าวหาว่าล้มเจ้า จนเวลาผ่านไป ผู้คนจึงเริ่มเล็งเห็นว่า ความพยายามที่แลกมาด้วยหน้าที่การงานและเดิมพันแห่งอิสรภาพนั้น ถ้าทำสำเร็จจะเป็นผลดีต่อสถาบันในระยะยาวเพียงใด และสังคมไทยคงไม่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นทุกวันนี้

ผู้ที่ได้ชมตอบโจทย์สถาบันพระมหากษัตริย์ ตอนสุดท้าย คงจะทราบว่า แม้อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็ยังยอมรับที่จะอยู่ร่วมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ ถ้าเสียงส่วนใหญ่ในประเทศต้องการให้เป็นเช่นนั้น

นี่คือบทสรุปอันงดงาม ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ยอมให้ออกอากาศ และแนวคิดแห่งการรอมชอมได้ปลาสนาการไป พร้อมการลี้ภัยของอาจารย์สมศักดิ์ การบีบบังคับกดดันจนทำให้อาจารย์สมศักดิ์และผู้เห็นต่างทางการเมืองทั้งหลายต้องลี้ภัย เป็นความผิดพลาดร้ายแรง และนำมาสู่มหันตภัยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันยากจะประเมินได้ จนถึงวันนี้ ผู้ตัดสินใจคงประจักษ์ในความเสียหายที่ก่อขึ้นนั้น

7 ปีผ่านไป ผมยังคงเป็นคนคนเดิม มีจุดยืนเดิม ประกอบสัมมาชีพด้วยการเขียนหนังสืออย่างสมถะ แต่มาคราวนี้ กลับถูกล่าวหาว่าพยายามจะล้มล้างความก้าวหน้า ล้มล้างนักศึกษา ขัดขวางอนาคต

เพราะมีขบวนการดึงแนวคิดราชประชาสมาสัยกลับไปในอดีต เพื่อเป็นการเบี่ยงเบนทางเลือกเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการนำมาซึ่งความขัดแย้งรุนแรงครั้งใหม่ และมิใช่ข้อเสนอใดของผม

ข้อเสนอของผมคือส่วนผสมและดุลอานาจใหม่ คือ “ราชประชาสมาสัย 2020” ซึ่งต้องฉีกตำราและแนวคิดในอดีตทิ้งไป ก่อนเราจะเริ่มออกแบบความสัมพันธ์และอนาคตใหม่ได้

ผมจะไม่กล่าวลงไปในรายละเอียด แต่ในฐานะผู้มีประสบการณ์ตรง ผมเพียงอยากจะบอกว่า กระบวนการ วิธีคิด อคติ ของทั้งฝ่ายเหลืองสุดข้างและแดงสุดขั้วนั้น มีวิธีการทำงานแทบไม่แตกต่างกัน และอย่างแทบไม่น่าเชื่อ

การไม่มุ่งถกกันที่ประเด็น แต่ขับเน้นด้วยการทำลายในเรื่องส่วนตัว การผสมโรงโดยไม่ยั้งคิด การผลิตซ้ำความเกลียดโดยไม่ศึกษา บัดนี้ได้ก้าวเข้ามาครอบงำผู้อ้างตนเองว่าก้าวหน้า จนพาผมให้หวนคิดถึงเหตุการณ์เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา

ไม่มีอะไรเลวร้ายกว่า การกลายเป็นปีศาจที่ตัวเองกล่าวหา ไม่ว่าจะในเสื้อคลุมของเผด็จการหรือความก้าวหน้า จำนวนหนึ่งจึงสะใจที่ได้แขวนประจาน เอาเก้าอี้ฟาด และจำนวนมากยืนหัวเราะอย่างสะใจ ใต้ต้นมะขาม เมื่อกระบวนการทำลายล้างได้เริ่มต้นกับคนผู้หนึ่ง

จากหนึ่งจะกลายเป็นล้าน ถ้าเรายังไม่หยุดยั้งความรุนแรงในหัวใจ

สังคมไทยยังพอมีเวลาที่จะขบคิดหาทางออกที่สร้างสรรค์ร่วมกันเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของยุคสมัย ผมได้พยายามตั้งคำถามที่ท้าทายสังคมอย่างเต็มที่

แน่นอน ราคาที่ต้องจ่ายทุกครั้งนั้นมี และผมก็ยินดีที่จะจ่ายราคานั้นเสมอมา เพื่อไม่ให้สังคมโดยรวมต้องจ่ายราคาที่แพงกว่า

บัดนี้ ถึงเวลาที่เราจะละวางความเกลียดชัง มองไปยังเส้นทางที่ยังพอมีแสงสว่างและความหวัง แล้วสร้างอนาคตของประเทศไทยไปสู่ยุคสมัยใหม่ร่วมกัน

27 ตุลาคม 2563