ThaiPublica > คอลัมน์ > อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่ผมรู้จัก

อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่ผมรู้จัก

30 ตุลาคม 2014


ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา(ขวา) และนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์(ซ้าย) ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/openbooks2?fref=nf
นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา(ขวา) และนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์(ซ้าย) ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/openbooks2?fref=nf

ผมน่าจะรู้จักกับอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมปลาย เพราะเมื่อเข้าเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว มีอยู่วันหนึ่ง ผมติดรถเพื่อนไปกินข้าวแถวๆ ราชดำริ เห็นอาจารย์สุลักษณ์ใส่ชุดไทยสะพายย่ามสวมหมวกควงตะพดเดินอยู่บนถนน ด้วยความห่ามของวัยหนุ่ม ผมจึงตะโกนดังๆ ด้วยอารามดีใจที่ได้เห็นอาจารย์สุลักษณ์ตัวเป็นๆ ว่า

“อาจารย์ครับ สวัสดีครับ”

อาจารย์สุลักษณ์ท่านคงมีความเป็นผู้ดีกว่าผมจึงไม่ได้ตะโกนตอบ แต่ท่านถอดหมวกออกแบบผู้ดีอังกฤษแล้วโค้งให้เล็กน้อยแต่พองาม ภาพนั้นยังประทับอยู่ในความทรงจำของผมเรื่อยมา

ผมมีโอกาสได้สนทนากับอาจารย์สุลักษณ์จริงๆ ไม่นานหลังจากนั้น เมื่อท่านแวะมาที่ร้านอาหารสุภรส ที่สามย่าน ข้างคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี อันเป็นที่ชุมนุมของร้านอาหารรสดี ก่อนจะถูกไล่ทีเพื่อสร้างจามจุรีสแควร์

สมัยนั้น อาจารย์สุลักษณ์มีธรรมเนียมแจก ส.ค.ส. ให้กับผู้คนแล้ว นอกจากจะได้ลายเซ็นอาจารย์แล้ว ผมยังได้รับ ส.ค.ส. เป็นที่ระลึกจากอาจารย์อีกหนึ่งใบ ซึ่งให้เป็นที่ปลาบปลื้มแก่ผมมาก เพราะในสมัยนั้น อาจารย์สุลักษณ์ ถือเป็นไอดอลของผมเลยก็ว่าได้

นอกจากผมแล้ว ผมคิดว่านักคิด นักเขียน นักเคลื่อนไหว และนักอะไรอีกต่อมิอะไรอีกหลายนักในประเทศนี้น่าจะมีน้อยคนนักที่จะไม่ได้รับอิทธิพลจากอาจารย์สุลักษณ์ เพราะถ้าไม่ได้รับในทางตรง ในฐานะลูกศิษย์ลูกหาที่อาจารย์มีอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง ก็น่าจะได้รับในทางอ้อมผ่านการอ่านหนังสือ การฟังปาฐกถา และการมีโอกาสได้สนทนากับอาจารย์เป็นระยะ เช่นเดียวกับผม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ที่อาจารย์สุลักษณ์เป็นบรรณาธิการ มีผลอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งกำลังจะเวียนมาบรรจบครบ 40 ปีในปีนี้ แม้ไม่มีหนังสือเล่มนั้นแล้ว แต่สำนักพิมพ์น้อยใหญ่ ที่อาจารย์สุลักษณ์เข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งภายใต้ร่มของเคล็ดไทยก็ดี ภายใต้นามของมูลนิธิโกมล คีมทองก็ดี กระทั่งภายใต้เงาไม้แห่งสวนเงินมีมาก็ดี ล้วนส่งอิทธิพลทางความคิดต่อนักคิด นักเขียน และสื่อมวลชนร่วมสมัยอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออาจารย์มีใจอุดหนุนให้เด็กรุ่นใหม่ได้มีโอกาสลงไม้ลงมือผลิตหนังสือออกมาอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้ทั้งป๋วย ปาจารยสาร และตำนานแห่งอดีตอันรุ่งโรจน์ถูกปลุกให้ลุกขึ้นมาโลดแล่นอีกครั้ง ผ่านเจตจำนงอันแรงกล้า ของชายชราผู้ปรับตัวเข้าหาโลกสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืน จนแฟนเพจในหน้าเฟซบุ๊คขึ้นไปแตะที่ระดับหลายหมื่น

ให้เป็นที่น่าชื่นใจยิ่งนัก

จะว่าไปแล้ว ความนิยมชมชอบที่สังคมมีต่ออาจารย์สุลักษณ์นั้นไม่เคยเสื่อมถอย แต่ความนิยมดังกล่าวก็หาได้ทำให้ยอดขายหนังสือของอาจารย์สุลักษณ์สูงตามไปด้วย ดังคำกล่าวของขงจื่อที่ว่า ยาดีมักมีรสขม หนังสือของอาจารย์สุลักษณ์หาใช่ขนมหวานที่จะเคี้ยวกลืนได้ง่าย ในยุคที่ผู้คนเริ่มหันเหออกจากอุดมคติและมุ่งสู่การสั่งสมความมั่งคั่งทางโภคทรัพย์ หนังสืออาจารย์สุลักษณ์ซึ่งเป็นความมั่งคั่งทางปัญญาจึงถูกนำมาขายลดราคามากมายหลายเล่มตามแผงแบกะดินหน้ามหาวิทยาลัย

ในแง่คนทำหนังสือ สถานการณ์เช่นนี้อาจถือเป็นข่าวร้าย แต่ในแง่นักอ่านรุ่นใหม่กำลังทรัพย์น้อย หนังสือราคาถูกเหล่านี้นี่เองที่สร้างฐานทางปัญญาให้กับผมมาตั้งแต่มัธยมปลาย จึงไม่น่าแปลกใจที่ผมจะตะโกนทักอาจารย์สุลักษณ์ด้วยความดีใจเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย เพราะผมรู้จักอาจารย์สุลักษณ์ผ่านการอ่านมานานหลายปีแล้ว

และก็อาจจะเป็นหนังสือของอาจารย์สุลักษณ์อีกเช่นกัน ที่สอนให้ผมรู้จักคำภาษาไทยใหม่ๆ เช่น วัตถุนิยม บริโภคนิยม ความกล้าหาญทางจริยธรรม ปลาสนาการ อหังการ โยนิโสมนสิการ กัลยาณมิตร กระทั่ง อิทัปปัจยตา ก็น่าจะมาจากขรัวตาสุลักษณ์เป็นสำคัญ

คำใหม่ๆ อันเป็นองค์ประกอบของความรู้และความคิดใหม่ๆ เหล่านี้ ล้วนท้าทายและปลุกเร้าให้เด็กหนุ่มสาวอยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ถ้าว่ากันตามภาษาของอาจารย์สุลักษณ์ ก็ต้องบอกว่า ภาษาและความคิดของอาจารย์สุลักษณ์นั้นเอง ที่ช่วยปลุกมโนธรรมสำนึกของคนหนุ่มสาวรุ่นผมจำนวนหนึ่งให้ตื่นขึ้น หลังจากภาษาและความคิดของอาจารย์สุลักษณ์เคยปลุกหนุ่มสาวให้ตื่นขึ้นมาแล้วในสมัยก่อน 14 ตุลาฯ

สมัยอยู่มหาวิทยาลัย ผมอ่านหนังสือของอาจารย์สุลักษณ์มากกว่าอ่านหนังสือเรียน ผมเรียนผ่านปาฐกถาของอาจารย์สุลักษณ์ตามที่ต่างๆ มากกว่าเรียนจากอาจารย์ในชั้น การศึกษานอกระบบที่อาจารย์สุลักษณ์สร้างเครือข่ายไว้อย่างกว้างขวางส่งผลต่อการศึกษาของผมจนกระทั่งเข้าทำงานหนังสือพิมพ์ ทุกครั้งที่มีโอกาส ผมมักจะไปนั่งฟังการอภิปรายที่มีอาจารย์สุลักษณ์เป็นตัวชูโรงอยู่เสมอ ซึ่งนอกจากจะได้ความรู้ความบันเทิงตามแบบอย่างของนักพูดชั้นดีแล้ว ผมยังได้หนังสือจำนวนหนึ่งในราคาลดพิเศษซึ่งมักจะวางขายอยู่หน้างานติดมือกลับไปอ่านที่บ้านเสมอ

เรียกว่า ถ้ามีการจัดรายการแฟนพันธุ์แท้อาจารย์สุลักษณ์ แบบเอาสาระสำคัญเป็นที่ตั้ง ผมคงสามารถลงแข่งเพื่อเพิ่มสีสันให้กับรายการได้อย่างสบายๆ

ด้วยเหตุนี้เมื่อผมเริ่มทำนิตยสารไทคูนกับเพื่อนรุ่นพี่หลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 คนแรกที่ผมเลือกที่จะไปขอสัมภาษณ์เพื่อตีพิมพ์ในนิตยสารก็คืออาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์

ตอนนั้น อาจารย์สุลักษณ์ยังนั่งทำงานอยู่ที่สำนักงานเคล็ดไทย ถนนเฟื่องนคร อาจารย์ต้อนรับแขกด้วยชาร้อน รินจากกาขนาดใหญ่ที่ใส่ไว้ในถังบุผ้า แบบที่หลวงตาตามวัดชอบใช้

ช่างได้บรรยากาศดีแท้

ตอนนั้นเราสนใจทำเรื่องธรรมกาย ซึ่งอาจารย์สุลักษณ์ก็ได้ให้คำอรรถาธิบายพุทธศาสนาอย่างละเอียด และขีดเส้นให้เห็นชัดเจนว่าธรรมกายคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นพุทธศาสนาที่แท้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไรบ้าง

ผมถามอาจารย์สุลักษณ์ว่า ถ้าธรรมกายผิดเพี้ยนไปจากหลักพระศาสนา แต่ทำไมยังคงมีนักศึกษา คนทำงานความรู้สูงมากมายเชื่อมั่นในธรรมกาย อาจารย์สุลักษณ์ตอบได้อย่างคมคายว่า

“มีปริญญาก็ไม่ได้หมายความว่ามีปัญญา”

ผมกลับมาพาดหัวโปรยปกนิตยสารเล่มนั้นว่า ธรรมกู แด่ตัวกู และพวกพ้องของกู

หลังจากนั้น ผมมีโอกาสสัมภาษณ์อาจารย์สุลักษณ์อีกหลายครั้ง ต่างกรรมต่างวาระ เรียกว่า มีโอกาสเมื่อใดก็มักจะไปขอสัมภาษณ์อาจารย์สุลักษณ์อยู่เรื่อยๆ ถ้าไม่สัมภาษณ์ก็ตามไปฟังอาจารย์ปาฐกถาตามงานเสวนา แล้วถอดความมาลงตีพิมพ์ในหนังสืออยู่เป็นระยะ อาจารย์ก็เมตตาทักทายสม่ำเสมอต่อหน้าผู้คน จนช่วงหลังเมื่อมาทำนิตยสาร OPEN ญานชักแก่กล้า เมื่อลูกศิษย์ลูกหาอาจารย์เชิญไปดำเนินรายการให้กับอาจารย์ ผมก็รีบรับปาก เพราะอยากไปคุยกับอาจารย์สุลักษณ์ ทุกครั้งที่ได้พูดคุยสนทนากับอาจารย์สุลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นงานเปิดตัวหนังสือ งานรำลึกถึงผู้หลักผู้ใหญ่ที่อาจารย์สุลักษณ์นับถือ ผมก็ได้รับความรู้ใหม่ๆ เสมอ ยิ่งซักลึกก็ยิ่งได้ความรู้มาก และเป็นความรู้ที่บางเรื่องไม่ได้ถูกเล่าไว้ในหนังสือ ผมจึงถือการสนทนากับอาจารย์สุลักษณ์เป็นกิจการงานอันประเสริฐ

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา อาจจะถือได้ว่า ไม่มีครั้งไหนที่อาจารย์สุลักษณ์ส่งสารมาให้ไปดำเนินรายการ แล้วผมจะปฏิเสธ

ความใกล้ชิดแบบห่างๆ ระหว่างอาจารย์สุลักษณ์และผมจึงเพิ่มมากขึ้นตามวันเดือนปีตามที่เล่ามา เมื่อใกล้ชิดมากขึ้น ผมก็เริ่มกล้าล้อเล่นกับอาจารย์บนเวทีเพื่อเพิ่มสีสันการสนทนา แต่แทนทีอาจารย์จะถือสา อาจารย์กลับชอบใจ เพราะทำให้การสนทนาออกรส ผมจึงแอบบถืออภิสิทธิ์ในการล้อเลียนอาจารย์สุลักษณ์ไว้เรื่อยมา เพราะถือว่าอาจารย์สุลักษณ์ท่านได้มอบความเมตตาให้แล้ว

การสนทนากับอาจารย์สุลักษณ์ในช่วงหลังๆ จึงมักเต็มไปด้วยสีสันและเรียกความนิยมจากผู้ฟังได้อย่างกว้างขวาง ทั้งหมดนี้ ก็ด้วยความเมตตาและความใจกว้างที่อาจารย์สุลักษณ์มีให้กับเด็กรุ่นหลังเสมอ

อาจารย์สุลักษณ์นั้น ท่านมีศิลปะในการพูดชนิดหาตัวจับได้ยากในประเทศ จะหยอดมธุรสวาจา ใส่น้ำผึ้งบุหงาลดามาลย์ก็ทำได้ไพเราะจับใจ แต่ลงว่าจะวิพากษ์ใคร คนที่โดนเข้าคงนอนสะดุ้งไปหลายวัน ลีลาของท่านอาจารย์นั้นอาจจะเรียกได้ว่าขวานผ่าซากในบางครั้ง หรือถ้าว่ากันอย่างสำนวนอาจารย์สุลักษณ์

เรียกว่าซากผ่าขวานน่าจะเหมาะกว่า

ลีลาซากผ่าขวานเช่นนี้ ทำให้พิธีกรรายการโทรทัศน์ส่วนใหญ่หวั่นเกรงอาจารย์ หลังหมดยุค ขอคิดด้วยคน ของอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทองแล้ว ก็เรียกว่า อาจารย์สุลักษณ์แทบจะไม่เคยปรากฏกายอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายการโทรทัศน์ในฟรีทีวี จนอาจกล่าวได้ว่า สืบเนื่องจากรายการตอบโจทย์ ในยุคแรกนี่เอง ที่ทำให้อาจารย์สุลักษณ์ต้องปรากฏกายถี่ขึ้น

ผมจำได้ว่าเมื่อเริ่มจัดรายการตอบโจทย์ใหม่ๆ และเชิญอาจารย์สุลักษณ์มาออกรายการนั้น ผู้บริหารฝ่ายข่าวของไทยพีบีเอสขณะนั้น แทบจะกินไม่ได้นอนไม่หลับกันไปหลายคน อัดรายการเสร็จต้องเรียกเทปมาดูกันเป็นการใหญ่

นั่นเป็นแรงเสียดทานแรกๆ ที่ทำให้ผมเริ่มรู้จักการทำงานกับผู้คนในวิชาชีพโทรทัศน์มากขึ้น

ที่หนักข้อคือ มีอยู่เทปหนึ่งที่ผมสัมภาษณ์อาจารย์สุลักษณ์ไว้แล้ว ถูกสั่งจากฝ่ายบริหารไม่ให้นำออกอากาศ

แน่นอน มือใหม่อายุงานไม่กี่วันเช่นผม ไม่สามารถจะไปต่อกรกับระบบราชการและความกลัวที่ฝังรากลึกในองค์กรสื่อทั้งหลายได้ ผมจึงทำได้แต่เพียงค่อยๆ ขยับเส้นแห่งเสรีภาพให้ถ่างกว้างออกทีละนิด ตามอายุงานและประสบการณ์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีอาจารย์สุลักษณ์เป็นกำลังใจและเป็นส่วนสำคัญในการช่วยจรรโลงจริยธรรมของสื่อมวลชนไทยให้ปรากฏ

หลายครั้ง เมื่อจำเป็นต้องพูดถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการรณรงค์ให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 อาจารย์สุลักษณ์ เป็นหนึ่งในแขกรับเชิญไม่กี่คน ที่พร้อมจะแบกรับความเสี่ยงทางการเมืองมาเป็นแขกสนทนาในหัวข้อที่ล่อแหลมเช่นนี้

นี่เป็นความกล้าหาญทางจริยธรรมในทางสาธารณะ ที่คนอย่างอาจารย์สุลักษณ์มีอยู่มากล้น จนสามารถแสดงออกมาให้ปรากฎโดยไม่หวั่นเกรงต่อกระแสและแรงเสียดทานใด ซึ่งก็ใช่ว่าจะหาได้ง่ายนัก ในสังคมที่รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดีเช่นที่สุนทรภู่กล่าว

เมื่อมีโอกาสปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการใหม่ ผมจึงมีโอกาสทำรายการตอบโจทย์ในช่วง คนเก่าเล่าเรื่อง ร่วมกับอาจารย์สุลักษณ์อยู่หลายตอน ซึ่งเป็นรายการที่ผู้หลักผู้ใหญ่ชอบกันมาก เพราะนอกจากจะได้ฟังเรื่องเก่าจากอาจารย์สุลักษณ์แล้ว ผู้ชมทางบ้านยังได้ติดตามรายการไปชมสถานที่จริง ที่ไม่บ่อยครั้งนักที่รายการโทรทัศน์กระแสหลักจะนำเสนอ

เราจึงได้ชมวังวรดิศไปพร้อมกับฟังเรื่องราวในอดีตอันรุ่งโรจน์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ชมวังสวนผักกาดไปพร้อมกับฟังเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ผ่านตัวละครสำคัญอย่างสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจและทายาท รวมทั้งได้ศึกษาพัฒนาการศึกษาไทยผ่านประวัติศาสตร์แห่งโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้ทบทวนเรื่องความยุติธรรมผ่านการถกศาล รวมทั้งร่วมขับขานปณิธานกวี ผ่านงานเขียนอันคมฉกาจของอังคาร กัลยาณพงษ์ ผู้ล่วงลับ

และที่เร้าใจประชาชนชาวไทยที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้นสัปดาห์ประวัติศาสตร์ของรายการ ตอบโจทย์ประเทศไทย ที่มีการถกกันเรื่อง สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ หนึ่งสัปดาห์เต็ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสองวันสุดท้ายของการออกอากาศ ที่มีการดีเบตกันอย่างเข้มข้นระหว่างอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กับอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ผมคงมิต้องกล่าวถึงเนื้อหาสาระว่าเป็นการก้าวข้ามความกลัวครั้งสำคัญของสังคมไทย เพราะนี่เป็นการสนทนาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาที่สุดในรายการโทรทัศน์ นับจากมีการออกอากาศรายการโทรทัศน์มาในประเทศนี้

ผมคงมิต้องพูดว่า นี่เป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญของสื่อมวลชนไทยที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวและการเซ็นเซอร์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา แม้ในสถานีโทรทัศน์ที่ใช้เงินภาษีประชาชนในการดำเนินงาน และถูกคาดหวังว่าจะทำหน้าที่อย่างสง่าสมราคาที่คนไทยทั้งประเทศร่วมกันจ่าย

ผมคงไม่ต้องพูดถึงแรงต้าน การตัดสินใจของผู้บริหารสถานี การเมืองภายใน การป้ายสี และความขลาดเขลาเอาตัวรอดของฝ่ายต่างๆ ที่ออกมาแสดงกันอย่างเอิกเกริก รวมทั้งฝ่ายโหนกระแสแห่เจ้า ที่แสดงตนเป็นเจ้าเสียยิ่งกว่าเจ้า ดังทีอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เคยวิจารณ์เอาไว้ในอดีต

ว่ากันเฉพาะหลักการและเหตุผลของการถกเถียง รายการดีเบตระหว่างอาจารย์สุลักษณ์และอาจารย์สมศักดิ์นั้น จัดได้ว่าเป็นความบันเทิงทางปัญญาชั้นดี ที่มีผู้รอเสพอยู่ทั่วประเทศ ตั้งแต่ระดับบนสุด ลงไปถึงระดับล่างสุดของสังคม ต่างอดใจรอติดตามรายการในวันนั้น

แม้ตัดเนื้อหาสาระออกไปแล้ว จะเหลือแต่ลีลา ผู้ชมก็ยังคงสามารถเห็นความแพรวพราวของปัญญาชนสยามอย่างอาจารย์สุลักษณ์ เช่นเดียวกับการได้เห็นความหนักแน่นมั่นคงในหลักการของอาจารย์สมศักดิ์

ไม่ว่าจะเกลียดหรือรัก นี่คือสิ่งที่สังคมไทยควรมีโอกาสได้รับฟังอย่างยิ่ง

น่าเสียดายที่เกิดอุบัติเหตุกับรายการ จนนำมาสู่การตัดสินใจร่วมกันของผมและทีมงานที่จะยุติการรายการ เพื่อตอบโต้กับการแทรกแซงรายการโดยขัดกับหลักเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ความบันเทิงทางปัญญาเช่นนี้จึงดูเหมือนจะถูกทำให้สูญพันธุ์ไป หรือถ้าใช้สำนวนอาจารย์สุลักษณ์ ก็คงจะต้องบอกว่า ปลาสนาการไปโดยสิ้นเชิงจากไทยพีบีเอส โดยมิต้องเสียเวลาเอ่ยถึงสถานีโทรทัศน์แห่งอื่น ทั้งที่มีอยู่ และที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

อาจารย์สุลักษณ์ให้คนโทรศัพท์ตามหาผมอยู่หลายวันหลังเกิดเหตุการณ์นั้น ผมได้แต่ล้อเลียนอาจารย์เหมือนเช่นเคยว่า สงสัยต้องลี้ภัยการเมืองเช่นเดียวกับอาจารย์สมัยก่อน อาจารย์สุลักษณ์ตอบกลับทันทีว่า

“คุณไปไหน ผมไปด้วย จะได้ไปนั่งกินไวน์กัน”

นี่คืออารมณ์ขันของปัญญาชนสยาม ซึ่งแม้ในยามวิกฤตก็ยังคงยิ้มได้

ผมคุยกับอาจารย์สุลักษณ์อยู่นานพอสมควร ก่อนอาจารย์สุลักษณ์จะทิ้งท้ายบทสนทนาวันนั้นว่า

“ภิญโญ ผมเป็นเพื่อนคุณนะ ถ้ามีอะไรให้โทรหาผมที่บ้านได้ตลอดเวลา”

ผมยังจำประโยคนั้นของอาจารย์สุลักษณ์ได้จนถึงทุกวันนี้ เช่นเดียวกับที่จำลีลาการถอดหมวกโค้งน้อยๆ ของอาจารย์เมื่อ 30 ปีก่อนได้

เมื่ออาจารย์สุลักษณ์ขอให้เขียนคำนำให้กับหนังสือชวนอ่านและวิจารณ์หนังสือ มีหรือที่ผมจะปฏิเสธ เพราะนี่คือการให้เกียรติอย่างสูงจากอาจารย์สุลักษณ์ เพราะน้อยคนนักที่จะได้รับเกียรติให้เขียนคำนำในหนังสือของผู้ที่ถือว่าเป็นปัญญาชนสยามคนสำคัญของประเทศไทย

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2512 หรือหนึ่งปีก่อนผมเกิด อายุของหนังสือจึงมากกว่าอายุของผมด้วยซ้ำ แถมคำนำหนังสือเล่มนี้เมื่อตีพิมพ์ครั้งแรก ยังถูกเขียนโดยครูเจริญ บุญมโหตม์ ครูภาษาไทยของอาจารย์สุลักษณ์ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ คำอุทิศของหนังสือนั้นก็บูชาพระคุณของท่านหญิงจงจิตรถนอม ดิศกุล ที่อาจารย์สุลักษณ์นับถือยิ่ง

แม้อาจารย์เจริญเองก็ยังออกตัวว่า เหมือนนำหิ่งห้อยไปเปรียบด้วยแสงจันทรา เนื่องจากหนังสือของอาจารย์สุลักษณ์นั้น มักจะเขียนคำนำโดยผู้หลักผู้ใหญ่สำคัญของบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อาจารย์ดิเรก ชัยนาม อาจารย์สุกิจ นิมมาเหมินท์ กระทั่งระยะหลังไปถึงขั้น ท่านทะไลลามะ ก็มีปรากฏมาแล้ว

การได้มีนามและคำนำมาอยู่อิงแอบกับท่านผู้อาวุโสทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนังสือของอาจารย์สุลักษณ์ จึงถือเป็นมงคลชีวิตอย่างสูงของผมในปีนี้ และผมเชื่อว่าการได้อ่านงานของอาจารย์สุลักษณ์ในวัยหนุ่ม ก็น่าจะเป็นมงคลชีวิตแก่ท่านผู้อ่านเช่นเดียวกัน

หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือเล่มสำคัญที่เปลี่ยนชีวิตของนักศึกษาธรรมศาสตร์คนหนึ่งซึ่งอยู่ในวัยแสวงหา สี่สิบปีผ่านไป สังคมไทยรู้จักนักศึกษาคนนั้น ในนาม พระไพศาลวิสาโล

กล่าวสำหรับตัวผมเอง หนังสือเล่มนี้คงมิได้เปลี่ยนชีวิตผม ไปมากกว่าสิ่งที่อาจารย์สุลักษณ์ได้ลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมยาวนานหลายทศวรรษ

หนังสือเล่มใหญ่ที่ศึกษาเท่าไรก็ไม่หมด ที่ชื่อ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ต่างหากที่เปลี่ยนชีวิตผมอย่างไม่อาจย้อนกลับไปไปเป็นแบบเดิมได้อีก และก็ใช่แต่ชีวิตผม ผมคิดว่าอาจารย์สุลักษณ์ได้เปลี่ยนสังคมไทยในหลากหลายมิติ อย่างกว้างขวางลึกซึ้งเรื่อยมา ตลอดระยะเวลาที่สังคมไทยได้สัมผัสกับหนังสือเล่มนี้ ด้วยความคมคาย ครบเครื่อง ท้าทาย และเร่าร้อน

เห็นแค่ปกหนังสือที่ชื่อสุลักษณ์ ศิวรักษ์ สังคมไทยบางครั้งจึงตกใจจนไม่กล้าเปิดเข้าไปอ่านเนื้อใน
แต่ลงว่าเมื่อใดได้หยิบอ่าน

ผมเชื่อว่าสังคมไทยจะวางสุลักษณ์ ศิวรักษ์ไม่ลง

และโลกคงจะดีขึ้น อีกทั้งอาจารย์สุลักษณ์ก็คงจะดีใจ ถ้ามีเด็กรุ่นใหม่ตะโกนเรียกชื่อในศูนย์การค้า ท่านอาจารย์คงไม่ถือสา หากทว่าคงถอดหมวก โค้งแต่พองาม เพื่อให้เด็กคนนั้นมีความทรงจำไปอีก 20 ปี

ท่านที่อ่านคำนำหนังสือเล่มนี้ในการตีพิมพ์ครั้งหน้า

ท่านคงรู้แล้วว่า ใครเป็นผู้เขียนคำนำคนถัดไป

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ ‘ชวนอ่าน และวิจารณ์หนังสือต่างๆ’ โดย ส.ศิวรักษ์
พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับปรับปรุงใหม่) สำนักพิมพ์สยามปริทัศน์
ล่าสุดตีพิมพ์ในเฟซบุ๊ก openbooks 29 ตุลาคม 2557