ThaiPublica > เกาะกระแส > อนาคตของ “ศตวรรษแห่งเอเชีย” จะขับเคลื่อนและนำโดยกลุ่มประเทศเอเชีย-7

อนาคตของ “ศตวรรษแห่งเอเชีย” จะขับเคลื่อนและนำโดยกลุ่มประเทศเอเชีย-7

9 ตุลาคม 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://globaltradeasia.com/the-asian-century/

เว็บไซต์ nikkei.asia.com สำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเรื่อง อนาคตของ “ศตวรรษแห่งเอเชีย” ว่า ศตวรรษที่ 21 จะไม่ใช่ศตวรรษแห่งเอเชีย ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพราะในช่วงเวลา 20 ศตวรรษที่ผ่านมาในอดีตนั้น เป็นเวลาถึง 18 ศตวรรษ ที่เศรษฐกิจเอเชียมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตโลก ดังนั้น การที่เอเชียมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลก จึงไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบปฏิวัติ แต่จะเป็นการฟื้นฟูฐานะที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตของเอเชีย

ในศตวรรษที่ 19 ยุโรปกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก เพราะสามารถระดมเงินทุนครั้งใหญ่ เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม และการล่าอาณานิคม ส่วนสหรัฐอเมริกา เข้ามาแทนที่ยุโรป เพราะสงครามโลก 2 ครั้ง แต่ปัจจุบัน เอเชีย ที่มีประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของโลก กำลังก้าวขึ้นมาสู่ฐานะนำทางเศรษฐกิจของโลกอีกครั้งหนึ่ง

ปัญหาท้าทายข้างหน้า

Nikkei Asia กล่าวว่า ทุกวันนี้ เอเชียมีสภาพคล้ายกับสหรัฐฯในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 คือเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ แต่เป็นคนแคระทางการเมือง

นอกจากนี้ สหรัฐฯเริ่มทิ้งบทบาทประเทศผู้นำ ที่เคยมีพันธกิจต่อ “ระเบียบโลกเสรี” เพราะสหรัฐฯเห็นว่า ภาระกิจดังกล่าวมีต้นทุนแพง ทำให้เกิดช่องว่างของประเทศ ที่จะแสดงบทบาทผู้นำโลกในการแก้ปัญหาระดับโลก เช่น วัคซีนโควิด-19 ข้อตกลงการค้า และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

แต่ Nikkei Asia กล่าวว่า พัฒนาการขั้นต่อไปของศตวรรษแห่งเอเชีย จะเผชิญกับปัญหาท้าทายและโอกาสหลายอย่าง เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเปลี่ยนโลกไปอย่างไร ประชากรของประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของเอเชีย เช่นญี่ปุ่น ที่มีอายุสูงขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อนโยบายแรงงานอพยพ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จำเป็นต้องอาศัยการดำเนินการร่วมกันของประเทศต่างๆ แต่ประเทศในเอเชียแบ่งกลุ่มทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง และการแข่งขันของมหาอำนาจระหว่างสหรัฐฯกับจีน ประเทศในเอเชียจะวางตัวอย่างไร

โอกาสทางประวัติศาสตร์

ธนาคารพัฒนาเอเชีย ADB เคยทำรายงานชื่อ Asia 2050: Realizing the Asian Century (2011) ว่า ภูมิภาคเอเชียกำลังเดินทางถึงจุดของการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง หากเส้นทางการเติบโตยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในปี 2050 เอเชียจะมีมูลค่าการผลิตทางเศรษฐกิจเป็น 51% ของ GDP โลก ขณะที่ในปี 2010 มีสัดส่วน 27% ในเวลานั้น ความมั่งคั่งกระจายทั่วไปในเอเชีย รายได้ต่อคนของเอเชียจะเพิ่มขึ้น 6 เท่า มาอยู่ในระดับรายได้ต่อคนของยุโรปในปัจจุบัน ศักยภาพดังกล่าวนี้ถูกเรียกว่า “ศตวรรษแห่งเอเชีย” (The Asian Century)

ความรุ่งเรืองดังกล่าวของเอเชีย คือสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ไม่ได้มีความหมายว่า การพัฒนาของเอเชียในอนาคต จะเป็นเส้นทางแบบเดิมที่เคยดำเนินการมาแล้ว การพุ่งขึ้นมาของเอเชียไม่ใช่สิ่งที่เป็นชะตากรรมที่ถูกกำหนดไว้แล้วเช่นกัน เส้นทางข้างหน้าในการพัฒนาของเอเชีย ยังเต็มไปได้ปัญหาความท้าทายและความเสี่ยงต่างๆ

อย่างเช่น ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้นในบางประเทศในเอเชีย สามารถกัดกร่อนเอกภาพทางสังคมและเสถียรภาพทางการเมือง บางประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ ทำให้เสี่ยงที่จะติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันแย่งชิงทรัพยากร ที่มีอยู่จำกัด เช่น พลังงาน แหล่งน้ำ และที่ดินทำกิน นอกจากนี้ แทบทุกประเทศประสบปัญหาความสามารถขององค์กรรัฐ ในการรับมือปัญหาการท้าทายดังกล่าว

กลุ่มประเทศเอเชีย-7

การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะหลายทศวรรษปีที่ผ่านมา ทำให้สามารถแบ่งประเทศในเอเชีย 49 ประเทศออกเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 มี 7 ประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วนับจากทศวรรษที่ 1950 ทำให้สามารถหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลาง และกลายเป็นประเทศรายได้สูง ภายในระยะเวลาคนรุ่นเดียว ได้แก่ บรูไน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเก้า สิงคโปร์ และไต้หวัน รายได้ต่อคนและมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชากรในประเทศเหล่านี้ เท่าเทียมกับประเทศตะวันตก

กลุ่มที่ 2 มี 11 ประเทศ ซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่เอเชีย 2 ประเทศ คือ จีนกับอินเดีย ที่เศรษฐกิจเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องนับจากทศวรรษ 1990 และการพัฒนาได้มาถึงจุดรายได้ปานกลาง แต่ปัจจุบัน เผชิญความเสี่ยงมากสุดที่จะตกหล่นลงไปสู่กับดักรายได้ปานกลาง กลุ่มประเทศนี้ได้แก่ อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน กัมพูชา จอร์เจีย อินโดนีเซีย คาซัคสถาน มาเลเซีย ไทย เวียดนาม รวมทั้ง จีนกับอินเดีย

กลุ่มที่ 3 มีทั้งหมด 31 ประเทศ ที่ประกอบด้วยประเทศขนาดเล็กจำนวนมาก เศรษฐกิจประเทศเหล่านี้เติบโตในอัตราปานกลางหรือต่ำ หากประเทศในกลุ่มที่ 3 สามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ก็จะมีส่วนทำให้ความมั่งคั่งกระจายสู่ทั่วเอเชีย ได้รวดเร็วขึ้น

รายงาน Asia 2050 กล่าวว่า การพุ่งขึ้นมาเป็นศตวรรษแห่งเอเชีย จะนำและขับเคลื่อนโดยเศรษฐกิจของ 7 ประเทศ คือ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไทย หรือเอเชีย-7 ในปี 2010 ทั้ง 7 ประเทศมีประชากรรวมกัน 3.1 พันล้านคน หรือ 78% ของเอเชีย มี GDP มูลค่ารวมกัน 14.2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 87% ของเอเชีย เมื่อถึงปี 2050 สัดส่วนของ GDP ของเอเชีย-7 จะเพิ่มเป็น 90% ของเอเชีย

ที่มาภาพ : https://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/This-is-the-Asian-Century-Seven-reasons-to-be-optimistic-about-it

การเปลี่ยนแปลงที่ต้องบรรลุ

Asia 2050 กล่าวว่า บนเส้นทางการพัฒนามุ่งสู่ศตวรรษแห่งเอเชีย ประเทศในเอเชียจะต้องดำเนินนโยบายระดับชาติและการเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์สำคัญหลายด้าน

ประการแรก การจะรักษาการเติบโตอย่างยั่งยืนและยาวนาน ทุกชาติในเอเชียต้องมุ่งให้คนทุกส่วนให้ได้อนิสงค์จากการเติบโต (inclusion) และลดความความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนรวยกับคนจน ชนบทกับเมือง คนมีการศึกษากับคนไร้การศึกษา

รัฐต้องให้ความสำคัญต่อการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาชนบทยังสำคัญสำหรับประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง เพราะจะช่วยยกระดับชีวิตของคนหลายล้านคน ที่ยังอาศัยอยู่ในชนบท แต่การพัฒนาชนบทไม่ใช่ทางเลือกที่มาแทนการพัฒนาเมือง การพัฒนาทั้งสองด้าน คือสิ่งที่ส่งเสริมกันและกัน

ประการที่ 2 เมื่อเศรษฐกิจของเอเชียมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของโลก สินทรัพย์ทางการเงินของเอเชีย ก็จะมีสัดส่วนระดับเดียวกัน นอกจากผู้นำเอเชียจะต้องระมัดระวังต่อบทเรียนจากวิกฤติการเงินเอเชียปี 1997 เอเชียจะต้องพัฒนาเครื่องมือการเงิน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจแท้จริง (real economy) คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการการขยายเมือง

ประการที่ 3 เมื่อถึงปี 2050 เอเชียจะเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยประชากรในเมืองจะเพิ่มจาก 1.6 พันล้านคนในปี 2010 เป็น 3.1 พันล้านคนในปี 2050 เมืองจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาขั้นสูง การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาเทคโนโลยี ดังนั้น คุณภาพและประสิทธิภาพของพื้นที่ในเมือง จะเป็นตัวกำหนดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว เอเชียต้องส่งเสริมการพัฒนาของเมืองที่มีขนาดกระชับ ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย และน่าอยู่อาศัย เช่น การพึ่งพิงระบบขนส่งมวลชนมากกว่าการใช้รถยนต์

ประการที่ 4 ในอนาคตข้างหน้า การเติบโตแบบรวดเร็วและอย่างต่อเนื่องของเอเชีย จำเป็นต้จะต้องอาศัยการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่กับเทคโนโลยี นวัตกรรม และการประกอบการ ที่ผ่านมา เอเชียใช้นโยบาย “ไล่ตาม” (catch-up) ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยอาศัยเทคโนโลยีจากประเทศเหล่านี้ มาดัดแปลง แล้วผลิตสินค้าสนองตลาดประเทศตะวันตก เอเชียต้องการประเทศในภูมิภาคนี้จำนวนมากขึ้น ที่เลียนแบบญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาลีใต้ เพื่อสร้างแนวปฏิบัติที่ดีสุดของโลก (global best practice)

จีนกับอินเดียเป็นแบบอย่าง ที่ดำเนินการประสบความสำเร็จมาแล้ว ในเรื่องนวัตกรรมเชิงประหยัด (frugal innovation) ที่สนองความต้องการของคนหลายล้านคนที่มีรายได้ต่ำ ที่ถูกเรียกว่า “กลุ่มคนที่เป็นฐานของพีระมิด” ปัจจัยที่เป็นแกนสำคัญคือการศึกษาที่มีคุณภาพ ในทุกระดับ การให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ โดยการสนับสนุนจากระบบนิเวศ ที่ส่งเสริมนวัตกรรมและการประกอบการ

รายงาน Asia 2050 ให้ข้อเสนอแนะแก่ประเทศที่มีการเติบโตที่รวดเร็วว่า การหลีกเลี่ยงกับดักรายได้ปานกลาง ควรจะเป็นเป้าหมายสำคัญของกลุ่มประเทศดังกล่าว นอกเหนือจากการลดความเหลื่อมล้ำและเสริมความเข้มแข็งให้แก่การพัฒนาพื้นฐานแล้ว ยังจะต้องฝึกแรงงานให้มีทักษะที่ดีสุดของโลก สร้างองค์กรที่ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และองค์กรที่ทำหน้าที่แก้ไขข้อพิพาทอย่างเที่ยงธรรม

Asia 2050 กล่าวสรุปว่า ประเทศที่เติบโตรวดเร็วของเอเชีย ที่ต้องการจะหลีกเลี่ยงกับดักรายได้ปานกลาง จำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ใหม่ที่สำคัญ 4 ด้าน คือ (1) เปลี่ยนแปลงระบบการเงินที่จะมาสนับสนุนภาคเศรษฐกิจแท้จริง (2) บริหารจัดการปัญหาท้าทายที่เกิดจากการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว (3) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ และ (4) ส่งเสริมนวัตกรรมกับการประกอบการ เพื่อเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพ และความสามารถในการแข่งขัน

เอกสารประกอบ
This is the Asian Century: Seven reasons to be optimistic about it. nikkei.asia.com, September 30, 2020.
Asia 2050: Realizing the Asian Century, Asian Development Bank, 2011.