ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ขายสลากเกินราคา ใครได้ – ใครเสีย?

ขายสลากเกินราคา ใครได้ – ใครเสีย?

22 ตุลาคม 2020


สำนักงานสลาก ฯ ชี้ตัวแทนจำหน่ายทั้งระบบ ฟันกำไรจากการขายสลากเกินราคา 48,000 ล้านบาทต่อปี คนถูกลอตเตอรี่เงินรางวัลหาย 28,800 ล้านบาท รัฐขาดรายได้ 11,040 ล้านบาท

ตามที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าววิเคราะห์ “ต้นตอของปัญหาขายสลากเกินราคา” ก่อนหน้านี้ เริ่มต้นจากปัญหาเชิงโครงสร้างของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ไม่มีช่องทางการจัดจำหน่ายสลากเป็นของตนเอง การขายต้องขายผ่านตัวแทนจำหน่ายเพียงช่องทางเดียว โดยใช้วิธีการ “ขายขาด” เลขไม่สวย ขายไม่หมด ขาดทุน เป็นภาระของตัวแทนจำหน่าย

ทั้งนี้เนื่องจากทางสำนักงานสลาก ฯ ต้องการรายได้แน่นอน เพื่อนำมาจัดสรรให้แก่ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล 2562บัญญัติไว้ อาทิ กันเงินรายได้จากการขายสลาก 60% เตรียมไว้จ่ายให้แก่ผู้ถูกรางวัล , ส่งรายได้เข้าคลังไม่น้อยกว่า 23% และอีก 17% แบ่งเป็นส่วนลดให้กับตัวแทนจำหน่าย และค่าใช้จ่ายของสำนักงานสลาก ฯ นี่คือที่มาของคำว่า “สลากกินแบ่ง” ซึ่งแตกต่างจาก “กินรวบ” คือ เจ้ามือรวบเงินรายได้จากการขายสลากไว้ทั้งหมด โดยได้ไม่แบ่งใคร

ปัจจุบันสำนักงานสลาก ฯ จัดสรรสลากงวดละ 100 ล้านใบ ผ่านตัวแทนจำหน่าย 2 ประเภท คือ 33 ล้านใบ จัดสรรให้ตัวแทนจำหน่ายระบบโควตา อีก 67 ล้านใบ จัดสรรให้ผู้ค้าสลากรายย่อยผ่านระบบซื้อ-จองล่วงหน้าของธนาคารกรุงไทย ปรากฏในทางปฏิบัติมีปัญหาเรื่องการกระจายสลากไม่ทั่วถึง คนขายจริงที่ไม่ได้โควตาสลาก ไปแย่งกันซื้อ-จองสลากผ่านธนาคารกรุงไทย ได้รับสลากคนละ 5 เล่ม มี 134,000 ราย อีก 35,000 ราย ซื้อ-จองไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีผู้ค้านอกระบบอีก 100,000 ราย ที่ไม่ได้ไปลงทะเบียนกับธนาคารกรุงไทย ทำธุรกรรมซื้อ-จองไม่ได้ กลุ่มนี้ทั้งหมดจึงไปซื้อสลากราคาแพงจากยี่ปั๊วมาขาย

  • เจาะกระบวนการรวมชุดสลาก ขายเกินราคา “คนขายจริงไม่ได้โควตา”
  • 4 ปี รัฐบาล คสช. กับการแก้ปัญหาสลาก ยิ่งแก้ยิ่งขายเกินราคา
  • หวยขายเกลี้ยง 6 ปี จาก 37 ล้านใบ เป็น 100 ล้านใบ ขายเกินราคายังแก้ไม่ได้!!
  • กองสลากฯ ออกหวยชุด 2 ใบ สลับเลข 4 ตัวหน้า ขาย 1 มี.ค. นี้ ดัดหลัง “ยี่ปั๊ว” ตั้งโต๊ะรับซื้อ รวมชุดขายเกินราคา
  • “บางงวดต้นทุนมาใบละ 90-95 บาทแล้ว จะให้ขายใบละ 80 บาทอย่างไร ไม่ให้ถูกจับ หรือ ถูกตัดโควตา – เพิกถอนทะเบียนการซื้อ-จองผ่านธนาคารกรุงไทยเป็นคำถามที่ฝากไปถึงผู้บริหารสำนักงานสลาก ฯ ครั้นจะเลิกขายลอตเตอรี่ ก็ไม่รู้จะไปขายอะไร” นี่คือ…เสียงสะท้อนของผู้ค้าสลากตัวจริง

    คราวนี้มาดูกันว่าปัญหาการขายสลากเกินราคาแต่ละงวด “มีใครได้ – ใครเสีย” ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล 2562 กำหนดให้สำนักงานสลาก ฯ ต้องกันเงินรายได้จากการจำหน่ายสลาก 60% ของยอดขาย เตรียมไว้จ่ายให้กับผู้ถูกรางวัล , นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินไม่น้อยกว่า 23% และที่เหลือ 17 % เป็นค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายสลาก ในจำนวนนี้แบ่งเป็นส่วนลดให้กับตัวแทนจำหน่ายสลาก 12% แบ่งให้สมาคม -มูลนิธิ-องค์กรคนพิการ และจังหวัดได้อีก 2% ส่วนสำนักงานสลากฯได้ 3% เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร

    รายได้จากการขายสลากไปไหน ใครได้บ้าง?

    พูดง่ายๆ ผู้บริโภคจ่ายเงินซื้อสลาก 1 ใบ ราคา 80 บาท ในจำนวนนี้ถูกกันไว้จ่ายเป็นเงินรางวัล 48 บาท นำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน 18.40 บาท แบ่งเป็นส่วนลดให้ตัวแทนจำหน่ายประเภทมูลนิธิ-สมาคมใบละ 11.20 บาท แต่ถ้าเป็นผู้ค้าสลากรายย่อยได้ใบละ 9.60 บาท ส่วนสำนักงานสลากฯได้ ใบละ 2.40 บาท

    หลักเกณฑ์การจัดสรรเงินรางวัลที่ 1 ถึงเลขท้าย 2 ตัว

    จากหลักการ หรือ โครงสร้างการจัดสรรเงินรายได้จากการขายสลาก ตามที่กล่าวข้างต้น สลากทุก ๆ 1 ล้านใบ จะประกอบไปด้วยสลากเลข 000,000 – 999,999 ถ้าขายใบละ 80 บาท สำนักงานสลาก ฯจะมีรายได้จากยอดขาย 80 ล้านบาท รายได้จากยอดขายสลาก 60% หรือ ประมาณ 48 ล้านบาท ถูกนำมาจัดสรรให้กับผู้ที่ถูกรางวัลทั้งหมด 14,168 รางวัล ประกอบไปด้วย

    • รางวัลที่ 1 รางวัลละ 6 ล้านบาท จำนวน 1 รางวัล หรือ คิดเป็นสัดส่วน 7.5% ของรายได้จากยอดขายสลาก
    • รางวัลข้างเคียงรางวัลที่ 1 รางวัลละ 2 แสนบาท จำนวน 2 รางวัล รวมมูลค่า 2 แสนบาท
    • รางวัลที่ 2 รางวัลละ 2 แสนบาท จำนวน 5 รางวัล รวมมูลค่า 1 ล้านบาท
    • รางวัลที่ 3 รางวัลละ 8 หมื่นบาท จำนวน 10 รางวัล รวมมูลค่า 8 แสนบาท
    • รางวัลที่ 4 รางวัลละ 4 หมื่นบาท จำนวน 50 รางวัล รวมมูลค่า 2 ล้านบาท
    • รางวัลที่ 5 รางวัลละ 2 หมื่นบาท จำนวน 100 รางวัล รวมมูลค่า 2 ล้านบาท
    • รางวัลเลขหน้า 3 ตัว รางวัลละ 4 พันบาท จำนวน 2,000 รางวัล รวมมูลค่า 8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10 % ของรายได้จากยอดขายสลาก
    • รางวัลเลขท้าย 3 ตัว รางวัลละ 4 พันบาท จำนวน 2,000 รางวัล รวมมูลค่า 8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10 % ของรายได้จากยอดขายสลาก
    • รางวัลเลขท้าย 2 ตัว รางวัลละ 2 พันบาท จำนวน 10,000 รางวัล รวมมูลค่า 20 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 25% ของรายได้จากยอดขายสลาก

    สรุปว่า ทุก 1 ล้านใบ จะมีคนถูกรางวัลที่ 1 ได้รับเงิน 6 ล้านบาท เพียง 1 รางวัล โอกาสความน่าจะเป็นคือ “หนึ่งในล้าน” ปัจจุบันสำนักงานสลากฯ พิมพ์สลากออกขายงวดละ 100 ล้านใบ หมายความว่าในแต่ละงวดจะมีคนถูกรางวัลที่ 1 ทั้งหมด 100 รางวัล

    รวมทุกรางวัลในแต่ะละงวดจะมีผู้ที่โชคดีถูกรางวัลรวมทั้งสิ้น 1,416,800 รางวัล สำหรับรางวัลที่มีผู้ถูกกันมากที่สุด คือ เลขท้าย 2 ตัว ถัดมาคือรางวัลเลขหน้า 3 ตัว และรางวัลเลขท้าย 3 ตัว

    สลากเกินราคา ใครได้ – ใครเสีย?

    คราวนี้มาเข้าประเด็นขายสลากเกิน “ใครได้ – ใครเสีย” ต้นทุนสลากออกจากสำนักงานสลากฯ ใบละ 70.40 บาท ขาย 80 บาท ตัวแทนจำหน่ายสลากจะได้กำไรใบละ 9.60 บาท ถ้าขาย 90 บาท ได้กำไรใบละ 19.60 บาท และถ้าขายใบละ 100 บาท ได้กำไรใบละ 29.60 บาท คิดเป็นสัดส่วน 37% ของราคาสลากใบละ 80 บาท

    คนขายเกินราคา ฟันกำไรต่อปี 48,000 ล้านบาท

    ปัจจุบันสำนักงานสลาก ฯ พิมพ์สลากออกขาย งวดละ 100 ล้านใบ แต่ละงวดมีรายได้จากการขายรวม 8,000 ล้านบาท ใน 1 เดือน มี 2 งวด รวมรายได้จากการขาย 16,000 ล้านบาทต่อเดือน รวม 12 เดือน 192,000 ล้านบาท แต่ถ้าขายสลาก ใบละ 100 บาท แต่ละงวดจะมีรายได้รวม 10,000 ล้านบาท รายได้ต่อเดือน 20,000 ล้านบาท และต่อปี 240,000 ล้านบาท แต่ละปีจะมีตัวแทนจำหน่ายสลากได้กำไรจากการขายเกินราคา คิดเป็นมูลค่าประมาณ 48,000 ล้านบาท

    คนถูกลอตเตอรี่ถูกปล้น-เงินรางวัลหายปีละ 2.8 หมื่นล้าน

    กลุ่มที่เสียผลประโยชน์มากที่สุด ก็คือ ประชาชน นอกจากจะเสียเงินซื้อสลากแพงแล้ว ยังถูกเอาเปรียบ ได้รับเงินรางวัลไม่ครบถ้วน ยกตัวอย่าง ซื้อสลากใบละ 80 บาท บังเอิญโชคดีถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 จะได้รับเงินรางวัล 6 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.5% ของรายได้จากยอดขาย (คำนวณตามหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินรางวัล 60% ตามที่กล่าวมาในข้างต้น) ดังนั้น ถ้าผู้บริโภคจ่ายซื้อสลากใบละ 100 บาท แล้วถูกรางวัลที่ 1 ถ้าคิดตามหลักการดังกล่าว ก็ควรที่จะได้รับเงินรางวัล 7.5 ล้านบาท แต่เมื่อไปขึ้นเงินรางวัลกับสำนักงานสลากได้เงินแค่ 6 ล้านบาท เท่ากับเงินรางวัลของผู้ที่ถูกรางวัลที่ 1 หายไปรางวัลละ 1.5 ล้านบาท

    รางวัลข้างเคียงรางวัลที่ 1 ก็เช่นกัน มี 2 รางวัล รางวัลละ 100,000 บาท คิดเป็นสัดส่วน 0.25% ของรายได้จากยอดขาย คำนวณตามหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินรางวัล แต่ถ้าผู้บริโภคจ่ายเงินซื้อสลากใบละ 100 บาทแล้วถูกรางวัลข้างเคียงรางวัลที่ 1 คิดตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ต้องได้รับเงินรางวัล 125,000 บาท เท่ากับเงินรางวัลของผู้ถูกรางวัลหายไปรางวัลละ 25,000 บาท

    รางวัลที่ 2 มี 5 รางวัล รางวัลละ 200,000 บาท ถ้าซื้อสลากใบละ 100 บาทแล้ว ถูกรางวัลที่ 2 ต้องได้เงินรางวัลละ 250,000 บาท เท่ากับเงินรางวัลของผู้ถูกรางวัลที่ 2 หายไปรางวัลละ 50,000 บาท

    รางวัลที่ 3 มี 10 รางวัล รางวัลละ 80,000 บาท ถ้าซื้อสลากใบละ 100 บาท ต้องได้เงินรางวัล 100,000 บาท เท่ากับเงินรางวัลของผู้ถูกรางวัลหายไปรางวัลละ 20,000 บาท

    รางวัลที่ 4 มี 50 รางวัล รางวัลละ 40,000 บาท ถ้าซื้อใบละ 100 บาทแล้วถูกรางวัลที่ 4 ต้องได้เงิน 50,000 บาท เท่ากับเงินรางวัลหายไป 10,000 บาท

    รางวัลที่ 5 มี 100 รางวัล รางวัลละ 20,000 บาท ซื้อใบละ 100 บาท ถูกรางวัลต้องได้เงิน 25,000 บาท เท่ากับเงินรางวัลหายไปรางวัลละ 5,000 บาท

    รางวัลเลขหน้า 3 ตัว และรางวัลเลขท้าย 3 ตัว รวมทั้งหมดมี 4,000 รางวัล รางวัลละ 4,000 บาท ซื้อใบละ 100 บาท ถ้าถูกรางวัลต้องได้เงินรางวัลละ 5,000 บาท เท่ากับเงินรางวัลหายไปรางวัลละ 1,000 บาท

    รางวัลเลขท้าย 2 ตัว มี 10,000 รางวัล รางวัลละ 2,000 บาท ถ้าซื้อใบละ 100 บาท ถูกรางวัลต้องได้เงิน 2,500 บาท เท่าเงินรางวัลหายไปรางวัลละ 500 บาท

    สรุปผลกระทบจากการขายสลากเกินราคา ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ โดยเฉพาะคนที่ถูกรางวัล นอกจากจะจ่ายเงินซื้อสลากแพงแล้ว หากถูกรางวัลก็ได้รับเงินรางวัลไม่ครบตามที่ควรจะได้รับ สำนักงานสลาก ฯ คาดว่าผู้ถูกรางวัลได้รับเงินรางวัลน้อยกว่าที่ควรจะได้รับรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,200 ล้านบาทต่องวด รวมตลอดทั้งปีคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 28,800 ล้านบาท

    อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อเงินรายได้ที่ต้องนำส่งคลัง ทำให้รัฐขาดรายได้ปีละ 11,040 ล้านบาท และรายได้ของสำนักงานสลาก ฯ หายไปอีก 1,440 ล้านบาท โดยเงินส่วนต่างกำไรจากการขายสลากเกินราคาทั้งหมด 48,000 ล้านบาท ถูกโยกเข้าไปอยู่ในกระเป๋าตัวแทนจำหน่ายที่ขายสลากเกินราคา