ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 17-23 ต.ค. 2563
“กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” — ในหลวงตรัส
ช่วงหัวค่ำวันที่ 23 ต.ค. 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จฯ ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย หรือวันปิยมหาราช ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง
มีคลิปวิดีโอมากมายจากช่วงเวลาที่ทรงเสด็จมีพระราชปฏิสันฐานแก่พสกนิกรที่มาเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดเผยแพร่ในโลกออนไลน์ โดยคลิปหนึ่งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชปฏิสันฐานแก่ชายคนหนึ่ง โดยมีเนื้อหาในคลิปช่วงหนึ่งดังนี้
พระราชินี: “คนนี้ไปยืนถือป้าย คนนี้ไปยืนชูป้ายท่ามกลางผู้ประท้วง ขอบคุณมาก ๆ เราจำได้ ขอบคุณมาก ๆ เป็นกำลังใจให้ ขอบคุณมาก ๆ”
พระเจ้าอยู่หัว: (ทรงชี้พระดัชนีไปยังชายคนหนึ่ง) “ใช่ไหม คนนี้”
พระราชินี: “ใช่ คนเดียวถือป้าย”
พระเจ้าอยู่หัว: “กล้ามาก ๆ เก่งมาก ขอบใจ”
ชายคนหนึ่ง: “ทรงพระเจริญครับ รักในหลวงมาก ๆ ทรงพระเจริญ”
พระเจ้าอยู่หัว: “ขอบใจมาก ขอบใจ”
ชายคนหนึ่ง: “อูย เป็นบุญของผมมาก ๆ ครับ ทรงพระเจริญ หาที่สุดไม่ได้”
พระราชินี: “ขอบคุณนะคะ เราก็ภูมิใจที่คุณทำมาก ขอบคุณมาก”
พระเจ้าอยู่หัว: “กล้ามาก ขอบใจมาก”
ทรงมีพระปฏิสันถารกับประชาชนผู้ซึ่งเป็นบุคคลที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร.9 ไว้เหนือหัวที่หน้าเซ็นทรัลปิ่นเกล้า ในวันที่มีการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรัสว่า ขอบใจมาก..กล้ามาก..เก่งมาก pic.twitter.com/o5BpTHUYMQ
— เรารักพระราชวงศ์ (@ThaiRoyalFamily) October 24, 2020
อนึ่ง ชายคนดังกล่าวคือ นายฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ซึ่งเป็นผู้อัญเชิญภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปยืนอยู่ใกล้พื้นที่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วม “ราษฎร” ด้านศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563
อ่านเพิ่มเติม
เว็บไซต์บีบีซีไทย — ในหลวง ร. 10 ตรัสทักทาย “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ต่อชายที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร.9 ไว้เหนือหัว
เว็บไซต์เนชั่นทีวี — ได้ใจ! คนทั้งชาติ ยืนถือรูปในหลวง ประจันหน้าม็อบ
นายกฯ แถลง วอนม็อบ ถอยคนละก้าว แถลงเสร็จจับผู้ชุมนุม

วันที่ 21 ต.ค. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) เรื่องสถานการณ์และการร่วมกันนำพาประเทศเดินต่อไปข้างหน้า โดยมีใจความบางช่วงบางตอน ดังนี้
นายกฯ ยืนยันว่า ตน “ต้องบริหารประเทศบนพื้นฐานหลักการตามกฎหมาย และตามแนวทางและการตัดสินใจจากรัฐสภา ในฐานะเป็นตัวแทนของประชาชนไทย นั่นคือระบบรัฐสภาที่เราต้องเคารพ เราไม่สามารถบริหารประเทศตามเสียงประท้วง หรือความต้องการของผู้ประท้วงกลุ่มต่างๆ ทุกกลุ่มประท้วงได้ แม้ผมจะพูดได้อย่างเต็มปากว่า ผมได้ยินเสียงความต้องการของผู้ประท้วงก็ตาม”
“เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เราได้เห็นเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่มีใครอยากเห็นว่าเกิดขึ้นในประเทศไทย เราได้เห็นการกระทำที่น่าหดหู่ใจอย่างมากที่เกิดขึ้นกับตำรวจ มีการทุบตีทำร้ายตำรวจ ด้วยคีมเหล็กขนาดใหญ่ และพฤติกรรมรุนแรงอีกหลายอย่างต่อเจ้าหน้าที่ เป็นการตั้งใจทำร้ายคนไทยด้วยกัน”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์
และบอกว่า
“ในเวลานี้ เราต้องถอยกันคนละก้าว เพื่อออกห่างจากทางที่จะนำไปสู่ปากเหว เส้นทางที่จะพาประเทศไทยของเราค่อยๆ ตกลงไปสู่หายนะ และสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมจะเริ่มเกิดขึ้นมากขึ้นๆ การใช้อารมณ์ความรู้สึกนำ ก็จะยิ่งสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่ร้อนมากยิ่งขึ้น และการใช้ความรุนแรง จะยิ่งนำมาซึ่งความรุนแรงที่มากกว่าเดิม สิ่งเหล่านี้ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ได้สอนเรามาแล้วหลายครั้ง ซึ่งตอนจบของทุกครั้งก็คือความเสียหายที่ทิ้งไว้กับประเทศ”
นอกจากนี้ นายกฯ ยังกล่าวด้วยว่า
“มีวิธีเดียว ที่เราจะก้าวผ่านปัญหาไปได้อย่างยั่งยืน แน่นอนว่าต้องเกิดขึ้นจากการพูดคุยกัน จากการเคารพกระบวนการของกฎหมาย และจากการมองเห็นความต้องการของประชาชน ที่แสดงออกมาผ่านทางกระบวนการรัฐสภา นี่คือวิธีการเดียว
ผู้ประท้วงได้แสดงความคิดของเค้าแล้ว เสียงและความคิดของพวกเค้า ถูกได้ยินโดยทุกฝ่ายและทุกคนเป็นที่เรียบร้อย
ตอนนี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสม ที่จะนำความคิด และความต้องการของผู้ประท้วง มาพิจารณาร่วมกับความต้องการของประชาชนส่วนอื่นๆ ในสังคมไทย หาเส้นทางที่เหมาะสมและเห็นชอบร่วมกันส่วนใหญ่ ผ่านกระบวนการในระบบรัฐสภา ซึ่งถือเป็นตัวแทนของประชาชน โดยคณะรัฐมนตรี เห็นชอบการเปิดประชุมวิสามัญ และได้ทูลเกล้าพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาแล้ว คาดว่าจะเปิดประชุมสภาได้ประมาณวันจันทร์ที่ 26 และวันอังคารที่ 27 ตุลาคมที่จะถึงนี้”

ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์
แถลงการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นในขณะที่กลุ่มประชาชนที่มาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง โดยการชุมนุมดังกล่าวสิ้นสุดลงในเวลาประมาณ 22.00 น. ทว่า หลังจากนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบนำหมายจุบเข้าจับกุม ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ สมาชิกคณะประชาชนปลดแอก ณ คาเฟ่แห่งหนึ่งบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ในการจับกุมนั้น เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะนำตัวภัสราวลีไปยังสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี แต่เมื่อขึ้นแล้วกลับถูกนำตัวไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ปทุมธานี แทน
แม้วันต่อมา ศาลจะมีคำสั่งให้ปล่อยตัวภัสราวลีโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่การกระทำดังกล่าวของเจ้าที่ตำรวจ ก็ทำให้สังคมบางส่วนเกิดความกังขาว่า “ถอยคนละก้าว” ที่ พล.อ. ประยุทธ์ ว่านั้น มีความจริงใจแค่ไหน
อ่านเพิ่มเติม
เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — นายกฯ แนะ ทางออก “ถอยคนละก้าว” เข้าสภา ใช้สติปัญญา แก้ปัญหาร่วมกัน (คลิป)
เว็บไซต์เดลินิวส์ — สรุปไทม์ไลน์ทั้งวัน!ตร.ฉีดน้ำสีฟ้า สลายม็อบแยกปทุมวัน
เว็บไซต์ไทยพีบีเอส — “ไอลอว์” เปิดหลักสากล “การชุมนุม-สลายการชุมนุม”
เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ — ด่วน! นอกเครื่องแบบบุกจับ “น้องมายด์” ในซอยเปลี่ยว แถมไม่แสดงบัตร
เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — ศาลสั่งปล่อยตัวชั่วคราว “มายด์ ภัสราวลี” ไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกัน
ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ
วันที่ 22 ต.ค. 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศเรื่อง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร ประกาศ ช้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง โดยระบุว่าสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได้คลี่คลายและยุติลง จึงให้ยกเลิกประกาศที่ออกมาก่อนหน้า รวมทั้งข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่ง ที่ออกมาเนื่องจากการประกาศก่อนหน้า
อ่านเพิ่มเติม
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา — ประกาศ เรื่อง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร ประกาศ ช้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง
พบหญิงฝรั่งเศสที่สมุยติดโควิด-19 หลังกักตัว 14 วันไม่พบเชื้อ
วันที่ 23 ต.ค. 2563 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 เป็นหญิงสัญชาติฝรั่งเศส อายุ 57 ปี ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี
ที่มาภาพ: เว็บไซต์ Workpoint TODAY
สำหรับผู้ติดเชื้อรายนี้เดินทางจากประเทศฝรั่งเศสพร้อมครอบครัว 2 ราย เป็นสามีและลูก ถึงประเทศไทยวันที่ 30 กันยายน 2563 ด้วยสายการบินไทย TG 933 เข้ารับการกักตัวในสถานที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine) จ.สมุทรปราการ อาการปกติ ได้รับการตรวจเชื้อ 2 ครั้ง วันที่ 3 ตุลาคม และวันที่ 11 ตุลาคม ผลเป็นลบทั้ง 2 ครั้ง เมื่อครบกำหนดออกจากสถานที่กักกัน วันที่ 15 ตุลาคม ไปสถานทูตฝรั่งเศส และช่วงบ่ายเดินทางไปเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ด้วยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ เที่ยวบิน PG 167 เมื่อถึงมีเพื่อน 1 คน มารับด้วยรถยนต์ส่วนตัวไปส่งบ้านพัก
สำหรับผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อในกรณีนี้ แบ่งเป็น ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 15 ราย ได้แก่ สามีและลูก ผู้โดยสารเที่ยวบินเดียวกัน 10 ราย และลูกเรือ 2 ราย และเพื่อนที่ไปรับที่สนามบิน 1 ราย เบื้องต้นผลการตรวจสมาชิกในครอบครัวไม่พบเชื้อและรับไว้ในห้องแยกโรค รพ.เกาะสมุยแล้ว อยู่ระหว่างการเฝ้าระวังอาการ ส่วนเพื่อนอยู่ระหว่างการรอผลตรวจ ขณะที่ผู้โดยสารและลูกเรือกำลังติดตามมารับการตรวจ ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำมีทั้งหมด 21 ราย คาดว่าผู้ติดเชื้อรายนี้มีโอกาสเป็นการติดเชื้อภายในประเทศ
อ่านเพิ่มเติม
เว็บไซต์Workpoint TODAY — หญิงฝรั่งเศสติดโควิด-19 ที่เกาะสมุยหลังกักตัวครบ 14 วัน เบื้องต้นมีผู้สัมผัสใกล้ชิด 40 ราย
ปธน. ไนจีเรียสอนหยุดชุมนุม แต่ไม่กล่าวถึงเหตุการณ์กราดยิง
วันที่ 22 ต.ค. 2563 ประธานาธิบดีมูฮัมมาดู บูฮารี กล่าวในแถลงการณ์เมื่อคืนวันที่ 22 ต.ค. ว่า ขอให้ผู้ประท้วงหยุดชุมนุม และหัน “มาหาทางออก” ร่วมกันกับรัฐบาล
ทว่า แถลงการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากทหารกราดยิงใส่ผู้ชุมนุมที่มาชุมนุมอย่างสันติ
แถลงการณ์ของบูฮารี ที่ขอให้ผู้ชุมนุมหยุดประท้วงและหันมาหาทางออกร่วมกันกับรัฐบาล โดยไม่กล่าวถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่รัฐบาลทำกับประชาชน จึงทำให้หลายคนมองว่าบูฮารีไม่ได้เข้าใจปัญหา และไม่ได้ตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม
อนึ่ง การชุมนุมในไนจีเรียครั้งนี้เริ่มต้นจากการประท้วงหน่วยตำรวจพิเศษต่อต้านการโจรกรรม (Special Anti-Robbery Squad) หรือที่มีชื่อย่อว่า Sars โดยเกิดเป็นแฮชแท็ก #EndSars ในทวิตเตอร์เรียกร้องให้ยุบหน่วยดังกล่าว
หลายปีที่ผ่านมา มีข้อกล่าวหาว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยตำรวจพิเศษนี้เองที่ลักทรัพย์ ทำร้าย และแม้กระทั่งสังหารประชาชน แต่การประท้วงเพิ่งมาเป็นรูปเป็นร่างเมื่อราวสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีมูฮัมมาดู บูฮารี สั่งยุบหน่วยตำรวจพิเศษนี้เมื่อวันที่ 11 ต.ค. แต่การประท้วงก็ยังดำเนินต่อไป กลายเป็นการเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศในหลายประเด็น ทั้งในแวดวงทหาร ตำรวจ และการบริหารประเทศ
อ่านเพิ่มเติม
เว็บไซต์บีบีซีไทย — นองเลือดในไนจีเรีย : รัฐบาลส่งทหาร-ตำรวจเข้าปราบประชาชนที่ต้องการการปฏิรูป