ThaiPublica > Native Ad > AIS Academy ขันอาสาช่วยคนไทย ชู 3 โมเดลใหญ่ เติมเต็มองค์ความรู้-นวัตกรรม ก้าวข้ามวิกฤติสู่ชีวิตใหม่ที่ยั่งยืน

AIS Academy ขันอาสาช่วยคนไทย ชู 3 โมเดลใหญ่ เติมเต็มองค์ความรู้-นวัตกรรม ก้าวข้ามวิกฤติสู่ชีวิตใหม่ที่ยั่งยืน

28 ตุลาคม 2020


นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล เอไอเอส

ความท้าทายของ ‘เอไอเอส’ ในยุคนี้คือการปรับตัวและพัฒนา ‘บุคลากร’ ให้สอดรับกับกระแส Digital Disruption เพื่อเติมเต็มทักษะด้านการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ

กระแสออนไลน์ไม่ได้เปลี่ยนเฉพาะบริบทของการทำธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา และสิ่งแวดล้อม นี่จึงเป็นที่มาของ โครงการ AIS Academy โดยมีเป้าหมายหลักคือการพาคนเดินให้ไวกว่าดิสรัปชั่น

นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล เอไอเอส เปิดเผยว่า AIS Academy พัฒนาขึ้นจากไอเดียเมื่อเห็นทรัพยากรบุคคลต่างๆ โดยเฉพาะอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญมาบรรยายภายในบริษัท ทำให้ตั้งคำถามว่าจะเป็นอย่างไรหากองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นได้เผยแพร่สู่คนภายนอก ซึ่งไม่ใช่แค่พนักงานของเอไอเอส เพื่อให้สังคมจะมีความพร้อมที่จะเติบโตไปด้วยกัน

“วันนั้นเราไปปรึกษาพี่สมชัย (นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส) แล้วก็ได้เงินลงทุนมา 18 ล้าน กติกาของพี่สมชัยคือให้ไปชวนภาคเอกชนมาช่วยกันเพื่อจุดประกายความคิด และเป็นคนที่ชวนแล้วไม่ได้มีเงื่อนไขเรื่องเงิน”

ราวปี 2558 AIS Academy จึงเกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการเป็นศูนย์กลางด้านการเรียนรู้เทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ จากทั้งภายในและนอกประเทศ ด้วยบทบาทหน้าที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภายในองค์กรในทุกระดับชั้น โดยมี Digital Platform เป็นแหล่งความรู้ให้พนักงานสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา

จากนั้นปี 2561 เอไอเอสได้รวบรวมพันธมิตรภาคเอกชน และต่อยอดเป็นโครงการ AIS Academy for Thais: ภารกิจคิดเผื่อ เพื่อคนไทย ด้วยความเชื่อมั่นว่าการเติบโตแต่เพียงผู้เดียว มิใช่การเติบโตอย่างแท้จริง แต่การทำให้สังคมไทยเข้มแข็งและแข็งแรงขึ้น เป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน

AIS ACADEMY for THAIs เป็นเสมือนเวทีแชร์ประสบการณ์และความรู้จากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็น ‘Digital Disruption’ โดยจัดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค

จนถึงปี 2563 หลังวิกฤติโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย AIS ACADEMY ก็ได้กำหนดจัดงาน “AIS Academy for Thais: JUMP THAILAND ในรูปแบบ virtual ขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ในวาระครบรอบ 30 ปีของเอไอเอส เพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์ของเอไอเอสในการอยู่เคียงข้างสังคมไทย โดยผนึกพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมถ่ายทอดแนวคิดและองค์ความรู้ให้คนไทยกระโดดข้ามผ่านวิกฤติ สู่ชีวิตใหม่ที่เหนือกว่าไปด้วยกัน

นางสาวกานติมา กล่าวถึงโครงการย่อยว่าในปี 2563 AIS ACADEMY for THAIs แบ่งออกเป็น 3 โครงการ ได้แก่

  1. JUMP to Innovation กระโดดสู่ความเหนือกว่าด้วยนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของประเทศ
  2. JUMP over the Challenge กระโดดข้ามความท้าทาย สู่เส้นทางอาชีพใหม่ที่สร้างได้เอง
  3. JUMP with EdTech กระโดดสู่การยกระดับการพัฒนาตนเอง ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลในวันที่ต้องรีสกิล

“เราจัดงานขึ้นเพื่อช่วยคนไทยและประเทศไทยให้กลับมาแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน…เพราะเราปล่อยให้รัฐบาลทำอย่างเดียวมันเดียวดาย” นางสาวกานติมาพูดถึงเป้าหมายของการจัดงาน

JUMP to Innovation: นวัตกรรมแก้ปัญหาสังคม

ย้อนกลับไปปี 2561 ภายในบริษัทได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องการส่งเสริมนวัตกรรมผ่านการมีส่วนร่วมของพนักงาน ทำให้เกิดโครงการ AIS InnoJump Competition

แต่โครงการในครั้งนั้นเปิดโอกาสประชันไอเดียเฉพาะหนักงานเอไอเอสเท่านั้น

ที่ผ่านมา AIS ได้พัฒนาโครงการต่างๆ เช่น School Van Safety ที่ช่วยแก้ปัญหาเด็กถูกลืมในรถโรงเรียน, Forest Fire Detection ที่ช่วยตรวจจับไฟป่าด้วยเทคโนโลยี IoT Satellite และ AI Juandice Monitor ที่นำเทคโนโลยี AI มาช่วยตรวจอาการตาเหลือง ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของโรคมะเร็งตับ ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง อันดับหนึ่งของเมืองไทย

โดยปัจจุบันเอไอเอสมีนวัตกรรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาราว 200 นวัตกรรม และอยู่ในการพัฒนาระดับที่ 2 ที่ 8 นวัตกรรม และมีนวัตกรรมที่พร้อมใช้งานจริงเพียง 3 นวัตกรรม

เพราะลำพังเพียงธุรกิจเดียวอาจไม่เพียงพอ ทำให้ปี 2563 เอไอเอสพัฒนาโครงการ JUMP Thailand 2021 เพื่อชวนคนไทยมาร่วมแรงคิดสร้างนวัตกรรมแก้ปัญหาสำคัญต่างๆ ของประเทศ ในรูปแบบการแข่งขันระดมสมอง นำเสนอผลงานในรูปแบบ Hackathon โดยบุคคลทั่วไปสามารถส่งหัวข้อปัญหาได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ผ่าน www.jumpthailand.earth

“หลายๆ ครั้งคนมีไอเดียเยอะมาก และเป็นไอเดียที่มีประโยชน์ แต่ปัญหาคือคนเหล่านี้ไม่รู้จะหันหน้าไปหาใคร การลดช่องว่างเหล่านี้เราจะได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ คนเอไอเอสก็ได้เรียนรู้ คนข้างนอกที่มีไอเดียก็มีเพื่อนที่นำนวัตกรรมให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม” นางสาวกานติมา กล่าว

JUMP over the Challenge: สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้

ถัดมาคือ “อุ่นใจอาสาพัฒนาอาชีพ” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการของ “AIS Academy for Thais: JUMP THAILAND” เพื่อพัฒนาทักษะวิชาชีพให้สังคม

นางสาวกานติมา กล่าวต่อว่า โครงการอุ่นใจอาสาพัฒนาอาชีพต่อยอดจากโครงการอุ่นใจอาสาที่รวมพลพนักงานเอไอเอสที่มีทักษะความรู้หลากหลายมาร่วมถ่ายทอดทักษะวิชาชีพ และด้วยวิกฤตหลังโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบให้หลายองค์กรต้องปิดตัวลง หลายคนต้องตกงานทำให้วิถีชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ดังนั้นเอไอเอสจึงมุ่งมั่นที่จะเป็นอีกมือที่ช่วยในคนไทยก้าวพ้นวิกฤตนี้

โครงการอุ่นใจอาสาฯ มีวัตถุประสงค์ขึ้นเพื่อส่งมอบพลังและความรู้ความสามารถ รวมถึงทักษะในการประกอบอาชีพจำนวน 31 หลักสูตร อาทิ ทำเทียนหอม ทำสบู่ ถังขยะ น้ำปลาหวาน เขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ การทำตลาดออนไลน์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการสร้าง Content ให้น่าสนใจบนโลกออนไลน์ ฯลฯ โดยผู้เข้าเรียนสามารถเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ และไม่มีค่าใช้จ่าย

นางสาวกานติมา กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างอาชีพว่า “เราเห็นความท้าทายของคนรุ่นหนึ่งเจอต้มยำกุ้ง เห็นคนได้รับผลกระทบ คุณแม่ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมลูก เห็นอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น เราจึงมุ่งมั่นที่จะเป็นอีกทางเลือกโดยเฉพาะ แต่ก่อนเวลาเราทำ ‘อุ่นใจอาสา ’ ก็ไปสร้างห้องสมุดห้องน้ำบ้าง พอเรามาจัดลำดับความสำคัญใหม่ เราเชื่อว่าอาชีพเป็นเรื่องสำคัญ เลยหันมาสร้างทักษะให้คนแทน”

“โครงการนี้ เรามั่นใจว่าจะได้ช่วยคนที่ตั้งใจจริง คนตกงาน คนมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เราเห็นได้ว่าวันที่เราเปิดให้ลองระบบประมาณ 15 นาที มีคนเขียนเรื่องราวเข้ามาสมัครจำนวนมาก นี่คือสิ่งที่เราเห็นว่าสิ่งที่เราทำมันกลับไปสู่เขาจริงๆ และทักษะต่างๆ เราจะทำให้รู้ว่าหลายอาชีพไม่จำเป็นต้องใช้ทุนมากมาย อาทิ การถ่ายโฆษณาด้วยกล้องมือถือแทนการใช้กล้องราคาแพงต้องมีกล้องราคาแพง คุณก็ถ่ายโฆษณาได้” นางสาวกานติมา กล่าว

นอกจากนั้นเอไอเอสยังรวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการ เพื่อมาถ่ายทอดความรู้ให้ผู้สมัคร โดยเปิดรับผู้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ผ่าน Facebook Page: AIS Academy for Thais หรือ YouTube Channel: AIS Academy

“เราไม่ได้คิดว่าเราจะลดปัญหาคนตกงานทั้งหมดได้ แต่ในฐานะสมาชิกของสังคม เราได้เริ่มขยับจุดประกายความคิด นี่เป็นภาระของภาคเอกชนในการคืนกำไรสู่สังคม” นางสาวกานติมา กล่าว

JUMP with EdTech: ติดปีกการศึกษาไทย

“การศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ประกอบกับที่เรามี 5G ศักยภาพของเทคโนโลยีทำให้เอื้อมมือและส่งผ่านไปให้คนไทยได้เข้าถึงการศึกษาที่กว้างขึ้น” นางสาวกานติมา พูดถึงความสำคัญของการศึกษาที่ล้อกับเทคโนโลยี 5G

เอไอเอสจึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ชื่อ “LearnDi for Thais” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) โดยผนึกกำลังกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ทั้งจากภายในและต่างประเทศ มาช่วยยกระดับศักยภาพของผู้คน องค์กร สังคม และประเทศชาติ

นอกจากนี้ AIS Academy ยังได้ผนึกกำลังความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรเพื่อร่วมพัฒนากลุ่มเยาวชนในวัยเรียน จึงเปิดโครงการ “The Tutor Thailand by AIS Academy” เชิญชวนผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ในหลากหลายสาขา มาร่วมกันยกระดับการเรียนรู้ของเยาวชนไทย ผ่านกิจกรรม The Tutor Boot Camp ที่จะพัฒนาทักษะให้เหล่าติวเตอร์ สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

โดยผู้สนใจโครงการ “The Tutor Thailand” สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ผ่าน www.aisacademy.com

“สิ่งที่สะท้อนว่าเรามาถูกทางคือไม่ได้วัดที่ผลกำไร แต่เราเริ่มเห็นคนสนใจเรื่องการศึกษามากขึ้น วันที่เราเริ่มทำแพลตฟอร์ม Learndi มันเป็น rare item เราเห็นคนที่มาใช้แพลตฟอร์มเราจำนวนมาก เห็นคนมีความรู้มากขึ้น เห็นบุคลากรทางการศึกษามากขึ้น เพราะเวลาคนไทยมีความรู้มากขึ้น ประเทศก็จะแข็งแรงขึ้น และบริษัทจะได้เติบโตขึ้น”

ในวันที่เอไอเอส ครบรอบ 30 ปีของการดำเนินธุรกิจ เอไอเอสได้แสดงให้เห็นถึงพลังของธุรกิจในการขับเคลื่อนสังคม ซึ่ง “AIS Academy” เสมือนเป็นตัวชี้วัดในการทำธุรกิจเพื่อสังคมด้วยการเปิดโอกาส 3 ด้าน ทั้งด้านนวัตกรรมโดยให้คนไม่มีทุนได้สร้างนวัตกรรมแก้ปัญหาสังคม สร้างอาชีพให้คนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และเติมเต็มจุดอ่อนในการศึกษาไทยเพื่อช่วยให้คนไทยได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นหลักประกันว่า ‘เอไอเอส ’ ในฐานะภาคธุรกิจที่อยู่คู่กับคนไทยมาเป็นเวลา 30 ปี ไม่ได้มีแค่สินค้า-บริการ แต่ยังมีการทำงานเพื่อสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดียิ่งขึ้น