นายกรัฐมนตรีนำนักลงทุนเข้าพื้นที่ EEC ติดตามความคืบหน้า เชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ พร้อมรับรถไฟฟ้าโมโนเรลขบวนแรก โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง 1 ต.ค. 63 นี้
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าในวันที่ 1 ต.ค. 2563 นี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปตรวจราชการจังหวัดชลบุรีเพื่อไปติดตามความก้าวหน้าการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน EEC ในยุค New Normal โดยในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในพิธีรับขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรล ขบวนแรก โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้นโยบาย PPP Fast Track ของรัฐบาลที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมระบบรางของไทย
นายอนุชากล่าวต่อว่ากำหนดในนช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางไปยังท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อเป็นประธานการประชุมแนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง โดยรับฟังรายงานสรุปโครงการท่าเรือบก (Dry Port) ท่าเรือแหลมฉบัง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภายใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน พร้อมทั้งเป็นประธานการประชุมกับนักลงทุนไทยและต่างประเทศ ประกอบด้วยบริษัทชั้นนำ เช่น ปตท. จำกัด Mitsubishi Motor (Thailand) QMB Co., Ltd เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการลงทุนใน EEC ในยุค New Normal
พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในพิธีรับขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรล ขบวนแรก โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ซึ่งเป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เป็นผู้กำกับการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ ในรูปแบบ PPP Net Cost ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 พร้อมเยี่ยมชมขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรล ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในช่วงเที่ยง
“แนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ซึ่งประกอบไปด้วยหลายโครงการ อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (PPP) การเชื่อมโยงอ่าวไทยและทะเลอันดามัน รวมทั้ง โครงการท่าเรือบก (Dry Port) ท่าเรือแหลมฉบัง ถือเป็นความก้าวหน้าในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสู่การขนส่งสินค้าด้วยระบบราง มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค (กลุ่มประเทศ CLMV) นักลงทุนไทยและต่างประเทศเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ร่วมกับภาครัฐ นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้แก่นักลงทุนไทยและต่างประเทศ มุ่งสู่การลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมด้านการแพทย์ อีกด้วย” นายอนุชากล่าว