ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์ประชากรลดลงครั้งแรกรอบ 10 ปี แรงงานต่างชาติเดินทางออกหลังตกงาน

ASEAN Roundup สิงคโปร์ประชากรลดลงครั้งแรกรอบ 10 ปี แรงงานต่างชาติเดินทางออกหลังตกงาน

27 กันยายน 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 20-26 กันยายน 2563

  • สิงคโปร์ประชากรลดลงครั้งแรกรอบ 10 ปี
  • เวียดนาม FDI ลดลง 3.2% รอบ 9 เดือน
  • เวียดนามเดินหน้าผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลม
  • เมียนมาขยายเวลาระงับเที่ยวบินต่างประเทศถึงสิ้นต.ค.
  • มาเลเซียกำหนดต่างชาติจ่ายเต็ม 4,700 ริงกิตค่ากักกันโควิด
  • สิงคโปร์ประชากรลดลงครั้งแรกรอบ 10 ปี

    ที่มาภาพ: https://www.tnp.sg/news/singapore/singapore-population-drops-first-time-10-years

    ประชากรสิงคโปร์ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี เนื่องจากแรงงานต่างชาติจำนวนมากเดินทางออกนอกประเทศหลังจากตกงาน เป็นผลจากการระบาดของโรคโควิด -19 ที่ต้องปิดพรมแดนและปิดกิจการ และนับเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษที่มีแรงงานต่างชาติออกนอกประเทศหลังจากตกงาน

    ในทางกลับกันปีนี้มีชาวสิงคโปร์จำนวนมากที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน แต่ก็ลดลงจาก 217,200 คนในปี 2019 เป็น 203,500 คนในปีนี้ โดยลดลงชัดเจนในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 20 ถึง 24 ปี

    ประชากรที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ในสิงคโปร์ ได้แก่ ชาวต่างชาติที่เข้าประเทศในฐานะนักเรียน หรือทำงานโดยมีใบอนุญาตทำงานและอื่นๆ ลดลงราว 35,800 คนเหลือ 1.64 ล้านคน ซึ่งลดลง 2.1% และสูงกว่าการลดลงของชาวสิงคโปร์ในต่างประเทศ

    ทั้งนี้ส่งผลให้จำนวนประชากรทั้งหมดของสิงคโปร์ลดลงราว 17,800 คนในปีที่ผ่านมาเหลือ 5.69 ล้านคน จากรายงานสรุปประชากรประจำปี

    การจ้างงานแรงงานต่างชาติในภาคบริการลดลงเนื่องจากผู้ถือใบอนุญาตทำงานลดลงมากที่สุด และเป็นที่น่าสังเกตว่า นับตั้งแต่มีการปรับกรอบการเข้าแดนของสิงคโปร์ในปลายปี 2009 สิงคโปร์ได้รับผู้เข้ามาพำนักถาวรใหม่ประมาณ 30,000 คนต่อปี

    รายงานระบุว่า การดำเนินการส่งผลให้ขนาดประชากรจัดว่าเป็นผู้มีถิ่นฐานพำนักถาวรคงที่ และมีกลุ่มผู้สมัครที่อาจเหมาะสมกับการเป็นพลเมือง ของเราสิงคโปร์ ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 25 ถึง 59 ปี รายงานระบุอีกว่า การย้ายถิ่นฐานจะมีการประเมินและรักษาให้มีเสถียรภาพ

    จำนวนประชากรสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 0.6% แตะ 3.52 ล้านคนในเดือนมิถุนายน ขณะที่ประชากรที่จัดว่าเป็นผู้มีถิ่นฐานพำนักถาวรยังคงทรงตัวที่ 0.52 ล้านคน

    ปีที่แล้วมีบุคคล 22,714 คนได้รับสัญชาติและ 32,915 คนได้รับอนุญาตให้เป็นผู้มีถิ่นฐานพำนักถาวร และยังเป็นจำนวนที่มีเสถียรภาพอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในจำนวนพลเมืองใหม่ 1,599 คน หรือ 7% เป็นเด็กที่เกิดในต่างประเทศกับพ่อแม่ชาวสิงคโปร์

    อัตราการเติบโตของประชากรในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาก็ช้าลงเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้า

    ด้วยอายุขัยที่เพิ่มขึ้นและอัตราการเกิดที่ลดลง ส่งผลให้สัดส่วนของพลเมืองที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจึงเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมา โดยสัดส่วนของพลเมืองที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นจาก 10.1% ในปี 2010 เป็น 16.8%ในปีนี้ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 23.7% ภายในปี 2030

    ตัน เอิร์น เส่อ นักสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ตั้งข้อสังเกตว่า การลดลงของประชากรที่จัดว่าเป็นผู้ไม่มีถิ่นฐานถาวรส่วนใหญ่เป็นผลมาจากผู้ถือใบอนุญาตทำงาน ซึ่งรับทำงานประเภทที่คนสิงคโปร์ไม่สนใจเป็นพิเศษตั้งแต่แรก

    ที่สำคัญ ตัน เอิร์น เส่อกล่าวว่า เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจบางภาคส่วนยังไม่ดีขึ้น “ประเด็นชาวต่างชาติในประเทศเรา ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงแค่การลดจำนวนลงโดยไม่มีผลเสียต่อเศรษฐกิจของเรา”

    พอลลีน สเตราก์ฮาน คณบดีนักศึกษาและศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยการจัดการแห่งสิงคโปร์ กล่าวว่า ในระยะยาวสิ่งนี้สามารถบ่งชี้ได้ว่าสิงคโปร์ควรพึ่งพากำลังคนน้อยลงและต้องพึ่งพาเครื่องจักรและระบบดิจิทัลมากขึ้น

    “นั่นอาจเป็นสิ่งที่ดีเนื่องจากข้อจำกัด ด้านกำลังคนของเรา จำนวนประชากรสูงวัยและอัตราการเกิดที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง” จึงควรให้ความสำคัญมากขึ้นเพื่อปลดล็อกศักยภาพของผู้สูงอายุชาวสิงคโปร์

    เวียดนาม FDI ลดลง 3.2% รอบ 9 เดือน

    ที่มาภาพ: https://en.nhandan.com.vn/business/item/9109002-increasing-vietnam%E2%80%99s-attractiveness-for-high-quality-fdi-flow.html

    ในรอบ 9 เดือนแรกของปีนี้ เงินลงทุนโดยตรง หรือ foreign direct investment (FDI)ไหลเข้าเวียดนาม ลดลง 3.2% จากระยะเดียวกันของปีก่อน จากการเปิดเผยของกระทรวงวางแผนและการลงทุน

    FDI เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม บริษัทซึ่งเป็นการลงทุนจากบริษัทต่างประเทศคิดเป็น 70% ของการส่งออกของประเทศ

    ส่วน FDI ที่ได้ประกาศไว้ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้วัขนาดของการเบิกจ่าย FDI ในอนาคตลดลง 18.9% จากปีก่อนหน้าเป็น 21.2 พันล้านดอลลาร์กระทรวงฯกล่าวในแถลงการณ์ ทั้งนี้ FDI ที่ประกาศไว้นั้น 46.6% จะเป็นการลงทุนในการผลิตและการแปรรูป ส่วนอีก 20.6% จะลงทุนในก๊าซ ระบบน้ำและไฟฟ้า

    นักลงทุนต่างชาติที่ประกาศจะเข้ามาลงทุนมากที่สุดคือ สิงคโปร์ รองลงมาคือ เกาหลี และจีน

    ปัจจุบันมี โครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจำนวน 32,000 โครงการรวมทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 378 พันล้านดอลลาร์จาก 136 ประเทศและเขตปกครอง ขณะที่การลงทุนโดยตรงทั่วโลกลดลง 40% แต่การลงทุนโดยตรงที่ไหลเข้าเวียดนามลดลงเพียง 13.7% ใน 8 เดือนแรกของปี

    เวียดนามมีโอกาสที่จะดึงดูด FDI ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ท่ามกลางแนวโน้มของ บริษัทต่างชาติที่โยกการลงทุนและย้ายโรงงานผลิตเพื่อกระจายห่วงโซ่อุปทานและลดการพึ่งพาตลาดเดียว

    ตัวอย่างเช่น แอปเปิลบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ได้เริ่มผลิต AirPods ในเวียดนามในจำนวนประมาณ 3-4 ล้านเครื่องหรือ 30% ของการผลิตทั้งหมดในไตรมาสที่สองของปี 2020 ส่วนกูเกิล ไมโครซอฟต์ และพาราโซนิคกำลังวางแผนที่จะย้ายสายการผลิตบางส่วนไปยังเวียดนามในขณะที่ บริษัทอื่น ๆ เช่น เพกาตรอน แอมะซอน และโฮมดีโป้ก็กำลังพิจารณาให้เวียดนามเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำหรับซัพพลายเชน

    เวียดนามมีข้อได้เปรียบหลายด้านในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เช่น ประชากรจำนวนมาก และมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น แรงงานอายุน้อยที่มีความคล่องตัวสูง ต้นทุนค่าจ้างแรงงานและค่าเช่าที่ดินที่ต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค เช่น ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

    อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในเวียดนามยังอยู่ในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่กิจการในนิคมอุตสาหกรรมได้รับสิทธิทางภาษีและวีซ่าอีกด้วย

    นอกจากนี้เวียดนามยังมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีเสถียรภาพ เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ข้อตกลงการค้าเสรีฉบับใหม่ และการควบคุมการระบาดไวรัสโคโรนาวายพันธ์ใหม่ประสบความสำเร็จ ยังช่วยเพิ่มสถานะของประเทศในฐานะจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนจากต่างชาติ

    การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่มีคุณภาพสูงไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับเงินทุนจำนวนมากและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขั้นสูงเท่านั้น แต่ยังทำให้ประเทศผู้รับมีโครงสร้างใหม่ในเครือข่ายการผลิตและเทคโนโลยี ตลอดจนโอกาสจากการลงทุนทางการเงิน การท่องเที่ยวและบริการทั่วโลก

    เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภาคเหล่านี้เป็นที่ต้องการและยอมรับจากทุกประเทศทั่วโลก แต่ไม่ได้สนใจประเทศใดโดยไม่คำนึงถึงความต้องการและความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่ง

    ดังนั้นเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่มีคุณภาพสูง และเพิ่มสัดส่วนของธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้น 50% ในปี 2025 และ 100% ในปี 2030 เมื่อเทียบกับปี 2018 จึงจำเป็นต้องกำหนดนโยบายและแผนงานเฉพาะที่เหมาะสม

    ข้อแรกเวียดนามจำเป็นต้องกำหนดเกณฑ์สำหรับโครงการ FDI คุณภาพสูงให้สอดคล้องกับระดับการพัฒนาของประเทศและแนวโน้มด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโลก มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับปรุงการบริหารจัดการในนิคมอุตสาหกรรมหลักบางแห่งที่รองรับโครงการ FDI ที่สำคัญ และรวบรวมรายชื่อโครงการและภาคธุรกิจที่ต้องการ FDI คุณภาพสูง ให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทแห่งชาติ

    ข้อสอง จำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามแผนพิเศษเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของนักลงทุนโครงการที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา การควบคุมการทุจริตคอร์รัปชัน การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ตลอดจนสิ่งจูงใจในด้านภาษีที่ดิน แรงงานและโครงสร้างพื้นฐานและอื่น ๆ

    ภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การส่งเสริมวิสาหกิจในอุตสาหกรรมสนับสนุนที่มีศักยภาพอีกมาก เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตของ บริษัทข้ามชาติที่วางแผนจะลงทุนในเวียดนาม

    นอกเหนือจากการสนับสนุนโครงการลงทุนภาครัฐเพื่อช่วยให้นิคมอุตสาหกรรมได้รับประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้นแล้ว จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนความต้องการของเวียดนามในการขยายและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย เป็นโอกาสในการดึงดูดโครงการ FDI คุณภาพสูงในด้านนี้

    การดึงดูด FDI ที่มีคุณภาพสูง จำเป็นที่ต้องมีการปรับแนวคิด และการดำเนินการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของบริษัทข้ามชาติได้เร็วขึ้นและดีขึ้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับโครงการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีวิธีการจัดการที่ทันสมัยสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงและผลในวงกว้าง เชื่อมโยงการผลิตและซัพพลายเชนระดับโลกและกับผู้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

    เวียดนามเดินหน้าผลิตกระแสไฟฟ้าลังงานลม

    ที่มาภาพ: https://en.nhandan.com.vn/business/item/9108002-roadmap-recommended-for-offshore-wind-power-development.html

    เวียดนามสามารถผลิตกระแสไฟฟ้า 10 กิกะวัตต์ จากฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งภายในปี 2030จากผลการศึกษาของสำนักงานพลังงานเดนมาร์ก (Danish Energy Agency:DEA) และธนาคารโลก (World Bank:WB)

    ข้อเสนอแนะจากผลการศึกษาได้นำเสนอในที่ประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับแผนงานและนโยบายเพื่อแนะนำเวียดนามในการใช้ศักยภาพพลังงานลมนอกชายฝั่งซึ่งจัดขึ้นโดยทั้งสององค์กรในฮานอยเมื่อวันที่ 22 กันยายน

    ตามรายงานในที่ประชุม เวียดนามมีชายฝั่งที่ยาวและมีศักยภาพสำหรับพลังงานลม 160 กิกะวัตต์ภายในรัศมี 5-100 กิโลเมตรจากฝั่ง

    การประชุมเชิงปฏิบัติการได้นำเสนองานวิจัยที่ประเมินศักยภาพ ระบบการส่งกระแสไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง ห่วงโซ่อุปทานในประเทศ ความท้าทายและโอกาสที่ต้องเผชิญในการพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่ง รวมทั้งประสบการณ์จากประเทศที่ประสบความสำเร็จ และอื่น ๆ ข้อแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรดแมปสำหรับเวียดนามในภาคนี้ก็มีการเปิดเผยในที่ประชุมเช่นกัน

    ผลที่ได้จากการประชุม จะนำไปสู่รายได้ตามแผนแม่บทการพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติปี 2021-2030 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) จัดทำขึ้น

    ฮวง เทียน ดุง ผู้อำนวยการแผนกไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียนสังกัด MoIT ยืนยันว่า รัฐบาลเวียดนามมุ่งมั่นที่ผลักดันการขยายตัวของพลังงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมย้ำว่า เวียดนามชื่นชมกับคำปรึกษาและคำแนะนำจาก DEA และ WB ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของเวียดนามที่มีประสบการณ์ด้านพลังงานหมุนเวียน

    คิม โฮลุนด์ คริสเต็นเสน เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำเวียดนามกล่าวว่า พลังงานลมนอกชายฝั่งเป็นหนึ่งในตัวเลือกพลังงานสีเขียวที่ดีที่สุดสำหรับเวียดนาม ซึ่งจะสร้างพลังงานสะอาด ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างงานและดึงดูดการลงทุน และเดนมาร์กยินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์ 30 ปีที่ได้ดำเนินการมากับเวียดนาม

    แอนตัน เบ็ค หัวหน้าฝ่ายความร่วมมือระดับโลก ของ DEA กล่าวว่า กังหันลมนอกชายฝั่งเป็นพลังงานหมุนเวียนรูปแบบหนึ่งที่แข็งแกร่งที่สุด โดยกังหันขนาด 8 เมกะวัตต์สามารถรองรับความต้องการไฟฟ้าของครัวเรือนเวียดนามได้ 43,000 ครัวเรือนได้นาน 1 ปี

    ตั้งแต่ปี 2009 เดนมาร์กได้ให้เงินช่วยเหลือเวียดนามกว่า 60 ล้านดอลลาร์ในด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    โครงการความร่วมมือหุ้นส่วนของทั้งสองประเทศในด้านพลังงานระยะที่ 3 จะเริ่มในปลายปี 2020 และจะดำเนินไปจนถึงปี 2025 โดยเน้นไปที่พลังงานลมนอกชายฝั่ง

    เมียนมาขยายเวลาระงับเที่ยวบินต่างประเทศถึงสิ้นต.ค.

    ที่มาภาพ: http://mizzima.com/article/foreign-and-domestic-travel-ban-extended-until-31-october

    เมียนมาร์ขยาย คำสั่งห้ามนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและการเดินทางภายในประเทศออกไปอีก 1 เดือนเพื่อป้องกันการติดเชื้อโคโรนาไวรัสที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่ประเทศจะจัดการเลือกตั้งทั่วไป

    การระงับเที่ยวบินระหว่างประเทศและห้ามผู้เดินทางต่างชาติเข้าชั่วคราวจะมีขึ้นไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคมนี้ จากที่จะครบกำหนวันที่ 30 กันยายนคณะกรรมการกลางควบคุมโควิด -19 ของเมียนมาประกาศ

    มาเลเซียกำหนดต่างชาติจ่ายเต็ม 4,700 ริงกิตค่ากักกันโควิด

    ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/foreigners-arriving-in-malaysia-must-now-pay-s1550-in-fees-for-covid-19-quarantine

    ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในมาเลเซียผ่านจุดข้าออกของประเทศทุกแห่ง ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม เต็มจำนวน 4,700 ริงกิต (1,550 ดอลลาร์สิงคโปร์) สำหรับการกักกันโควิด -19 ที่กำหนดไว้ รัฐมนตรีอาวุโส อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (24 กันยายน)

    ก่อนหน้านี้ทั้งชาวมาเลเซียและไม่ใช่ชาวมาเลเซียจะต้องจ่ายเงิน 2,100 ริงกิตสำหรับที่พักและอาหารสำหรับระยะเวลากักกันสองสัปดาห์ที่โรงแรมหรือในสถานที่ที่รัฐบาลจัดให้ แต่จากนี้ไปชาวต่างชาติจะต้องจ่ายเพิ่มอีก 2,600 ริงกิต

    รัฐมนตรีอาวุโส อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบกล่าวว่า รัฐบาลจะยังคงอุดหนุนค่าใช้จ่ายสำหรับชาวมาเลเซีย

    “ตั้งแต่วันพฤหัสบดีบุคคลที่ไม่ใช่ชาวมาเลเซียทุกคนที่เดินทางเข้าประเทศจากจุดเข้าออกระหว่างประเทศจะต้องจ่ายค่าบริการเต็มจำนวน” นายอิสมาอิลกล่าวในแถลงการณ์

    “รัฐบาลได้ตัดสินใจที่จะให้เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการกักกันสำหรับชาวมาเลเซียต่อไป ชาวมาเลเซียจะต้องจ่ายค่าที่พักเพียง 2,000 ริงกิต ส่วนค่าใช้จ่ายที่เหลืออีก 2,600 ริงกิตจะจ่ายโดยรัฐบาล สำหรับชาวต่างชาติจะต้องจ่ายค่าบริการเต็มจำนวน 4,700 ริงกิต”

    นายอิสมาอิล กล่าวว่า สำหรับบุคคลที่สองและสามที่ได้รับอนุญาตให้แชร์ห้องกับบุคคลแรก เช่น คู่สามีภรรยา และบุตรที่มีอายุเกิน 6 ปีจะต้องจ่ายเงิน 700 ริงกิตต่อคน แต่เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม

    ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนดให้ ทุกคนที่เดินทางมาถึงมาเลเซียจะต้องได้ถูกกักกัน 14 วันที่โรงแรมหรือสถานที่ต่างๆ

    นายอิสมาอิลกล่าวว่า จนถึงวันพุธมีคนทั้งหมด 33,354 คน เดินทางมาถึงจุดผ่านเข้าออกระหว่างประเทศของมาเลเซียและถูกกักกันตัว ขณะนี้อยู่ระหว่างการกักกัน 8,005 คนและ 103 คนถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา ส่วนอีก 25,426 คนได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้