เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมพบมาตรการจำกัดการใช้สารไกลโฟเซตล้มเหลวในทุกกลุ่มเป้าหมาย
พบร้านค้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายเพียง 13.7% ส่วนเกษตรกรและผู้รับจ้างฉีดพ่นสามารถปฏิบัติตามได้ 17.9% และ 2 % ตามลำดับ หากไม่สามารถควบคุมได้ตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายต้องพิจารณาปรับให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4
ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันที่ 27 สิงหาคม 2563 เวลา 13.00 น. คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (คอบช.) โดย คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ ร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้เผยแพร่ผลการสำรวจมาตรการจำกัดการใช้วัตถุอันตรายประเภทที่ 3 ไกลโฟเซต โดยเครือข่ายผู้บริโภคและเครือข่ายเกษตรกร ได้ร่วมกันสำรวจใน 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ มหาสารคาม ยโสธร จันทบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และสงขลา ระหว่างเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2563 พบว่า
1) ร้านค้าที่เข้าสำรวจแล้วพบการขายไกลโฟเซตจำนวน 51 ร้าน มีร้านค้าที่สามารถปฏิบัติได้ครบตามมาตรการ 7 ร้าน หรือ 13.7% มีรายละเอียดการปฏิบัติเป็นรายมาตรการ ดังนี้
– มีการจัดวางไกลโฟเซตแยกจากสารชนิดอื่น 45 ร้าน (88.2%)
– มีการติดป้าย “วัตถุอันตรายที่จำกัดการใช้” 36 ร้าน (70.6%)
– มีการแสดงเอกสารใบอนุญาตจำหน่ายวัตถุอันตรายที่จำกัดการใช้ 30 ร้าน (58.8%)
– มีผู้ควบคุมการจำหน่ายประจำร้านพร้อมแสดงใบอนุญาต 22 ร้าน (43.1%)
– มีการขอให้ผู้ซื้อแสดงหลักฐานผ่านการอบรม 16 ร้าน (31.4%)
– มีการบันทึกข้อมูลไกลโฟเซตที่จำหน่ายเพื่อแจ้งแก่กรมวิชาการเกษตร 8 จาก 32 ร้าน (25.0%)
2) สัมภาษณ์เกษตรกร 60 ราย มีเกษตรกรที่ยังคงใช้ไกลโฟเซตจำนวน 28 ราย มีเกษตรที่สามารถปฏิบัติได้ครบตามมาตรการ 5 จาก 28 ราย หรือ 17.9% มีรายละเอียดการปฏิบัติเป็นรายมาตรการ ดังนี้
– ใช้ในพืชที่กำหนด 13 ราย (46.4%)
– ผ่านการอบรมเพื่อใช้ไกลโฟเซต 7 ราย (25.0%)
– กรณีฉีดพ่นเอง มีการใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวครบตามกำหนด 7 ราย (25.0%)
– กรณีจ้างผู้ฉีดพ่น เกษตรกรเป็นผู้จัดเตรียมไกลโฟเซตให้ 7 จาก 8 ราย (87.5%)
3) สัมภาษณ์ผู้รับจ้างพ่น 50 ราย มีผู้รับจ้างพ่นที่สามารถปฏิบัติครบตามมาตรการ 1 ราย หรือ 2.0% มีรายละเอียดการปฏิบัติเป็นรายมาตรการ ดังนี้
– ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้รับจ้างพ่น 16 ราย (32.0%)
– ใช้ไกลโฟเซตที่เกษตรกรจัดหาให้ 41 ราย (82.0%)
– ใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวครบตามกำหนด 10 ราย (25.0%)
– กรณีที่มีลูกจ้าง ลูกจ้างผ่านการอบรม 5 จาก 19 ราย (26.3%)
– ฉีดพ่นในพืชที่กำหนด 27 ราย (54.0%)
– บันทึกรายละเอียดเพื่อแจ้งกรมวิชาการเกษตร 6 ราย (12%)
มาตรการจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชไกลโฟเซต เป็นมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เห็นว่ามาตรการดังกล่าวจะลดผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และสิ่งแวดล้อม แต่ผลการสำรวจนี้ชี้ให้เห็นว่ายังไม่สามารถดำเนินการได้จริงในทางปฏิบัติ ดังนั้นคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (คอบช.) และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) มีข้อเสนอ ต่อหน่วยงานของรัฐ ดังนี้
1) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกวดขันเพื่อให้มีการจำกัดการใช้ไกลโฟเซตเป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากสารเคมีกำจัดวัชพืชนี้เป็นสารก่อมะเร็ง ที่บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายต้องจ่ายค่าไกล่เกลี่ยคดีมากกว่าสามแสนล้านบาทแก่ผู้ฟ้องคดีชาวอเมริกันซึ่งเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิ้ง
2) หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาปรับระดับการควบคุมไกลโฟเซตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เพื่อปกป้องสุขภาพของเกษตรกร ชุมชน ผู้บริโภค และป้องกันปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม