ThaiPublica > เกาะกระแส > มกอช. เปิดผลการตรวจพืชผัก โต้พบสารพิษตกค้างน้อยกว่าผลตรวจของ Thai-PAN เหตุมาตรฐานไม่ตรงกัน

มกอช. เปิดผลการตรวจพืชผัก โต้พบสารพิษตกค้างน้อยกว่าผลตรวจของ Thai-PAN เหตุมาตรฐานไม่ตรงกัน

31 มีนาคม 2015


เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(Thai-PAN) เผยผลสุ่มตรวจสารเคมีตกค้างในผัก 10 ชนิดที่คนไทยนิยมบริโภค พบ “กะเพรา” มีสารเคมีตกค้างมากสุด รองลงมาเป็น “ถั่วฝักยาว-คะน้า” เตรียมใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฟ้องเอาผิดผู้ประกอบการ

มาสัปดาห์นี้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) แถลงเรื่องเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน (MRL) ในผักผลไม้ที่คนไทยบริโภค พบว่า มีมะเขือเปราะเพียงอย่างเดียวที่มีสารพิษเกินค่ามาตรฐาน โต้ผลการตรวจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)ที่พบสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตรจากห้างค้าปลีกและตลาดสดในผักยอดนิยมของคนไทย 10 ชนิด

โดยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) แถลงข่าวเรื่องเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน (MRL) ในผักผลไม้ที่คนไทยบริโภค ณ สำนักงาน มอกช. โดยนายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เลขาธิการ มกอช. และนายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการ มกอช. ร่วมแถลงหลังจากที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ออกมาเปิดเผยผลการตรวจสอบสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตรจากห้างค้าปลีกและตลาดสด

นายศักดิ์ชัยกล่าวว่า ในฐานะเจ้าของมาตรฐาน Q เห็นว่าในภาพรวมผลการตรวจสอบของ Thai-PAN โดยเฉพาะตลาดสดและผลไม้ที่มีตราเครื่องหมาย Q รับรองนั้นปริมาณการตกค้างของวัตถุอันตรายทางการเกษตรในสินค้าเกษตรลดลงเมื่อเทียบกับปี 2557 และเมื่อพิจารณาผลการตรวจสอบหลัง มกอช. นำไปเปรียบเทียบกับมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องสารพิษตกค้างสูงสุด (มกษ.9002-2556) จะเห็นว่ามีตัวสินค้าเกษตรที่มีปริมาณสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน MRL เพียง 1 ตัวอย่าง คือ มะเขือเปราะ และมีตัวอย่างที่มีค่าปริมาณสารตกค้างอยู่ในระดับที่น้อย (Limit of Quantitation: LOQ) 1 ตัวอย่างคือ กะเพรา เป็นค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่วิเคราะห์ได้ทางหลักสากล ถือว่าค่านี้ต่ำมาก และไม่เกินค่ามาตรฐาน

“การตีความตามมาตรฐานของ มกอช. และ Thai-PAN แตกต่างกันเล็กน้อยโดย Thai-PAN ใช้ค่าปริมาณสูงสุดสารพิษตกค้างตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้างปี 2554 ทำให้บางภาพมีความแตกต่างกัน” นายศักดิ์ชัยกล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การตีความตามมาตรฐานของ มกอช. และ THAI-PAN ที่รายงานมาก่อนหน้านี้มีความแตกต่างกัน เนื่องมาจากเหตุผล 2 ประการ คือ

1. ค่าสารพิษตกค้างในระดับที่ต่ำกว่า LOQ และไม่มีค่า MRL เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบซึ่งในทางสากลถือว่ามีค่าต่ำมากและไม่เกินค่ามาตรฐาน จะเห็นว่าเกือบทุกตัวอย่างจะเป็นพืชรอง (minor crop) เช่น มะเขือเปราะ กะเพรา

2. ใช้ค่า MRLs ในการเปรียบเทียบต่างกัน โดย MRLs ที่ THAI-PAN ใช้ในการเทียบผลนั้น เป็นค่า MRL ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (26 พฤษภาคม 2554) ซึ่งอ้างอิงจาก มกษ.9002-2551 ทั้งนี้ค่า MRLs ในประกาศดังกล่าวมีบางค่าแตกต่างจาก มกษ.9002-2556 โดยกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขประกาศฯ ตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้สอดคล้องกัน

ข่าวสารเคมีปนเปื้อน

อย่างไรก็ตาม จากการแปลผลข้อมูลผักรายชนิด พบว่า กะเพราเป็นผักที่ตรวจพบปริมาณสารพิษตกค้างเกินค่า MRLs มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 37.5 ของตัวอย่างกะเพราทั้งหมด รองลงมาคือ คะน้า ถั่วฝักยาว และผักกวางตุ้ง คิดเป็นชนิดละร้อยละ 25 ในขณะที่มะเขือเปราะและผักบุ้งจีน พบสินค้าตกมาตรฐานคิดเป็นชนิดละร้อยละ 12.5 ส่วนพริกแดงและแตงกวา พบการตกค้างในระดับที่เป็นไปตามมาตรฐาน

สำหรับการแปลผลข้อมูลเป็นรายชนิดที่พบว่ากะเพรามีปริมาณสารพิษตกค้างเกินค่า MRL มากที่สุดนั้น นายพิศาล กล่าวว่า กะเพรา โหระพา และมะเขือเปราะ จัดเป็นพืชรองที่ไม่มีค่า MRL ในการอ้างอิง ซึ่งทาง มกอช. กำลังจัดทำค่ามาตรฐานสำหรับกลุ่มพืชดังกล่าว

“กะเพราไม่มีค่ามาตรฐานกำหนดเพราะเป็นพืชเล็กพืชน้อยหากเทียบปริมาณการผลิตระดับประเทศและระดับโลก จึงไม่ได้กำหนดมาตรฐานไว้” รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว

ในต่างประเทศกำลังสนับสนุนงบประมาณเพื่อศึกษาวิจัยสารเคมีตกค้างในกะเพราปัจจุบันทำเสร็จไปแล้ว 4-5 ชนิดสารเคมี คาดว่าภายในปีนี้จะเสร็จอีกไม่ต่ำกว่า 6-7 ชนิดสารเคมี จากนั้น มกอช. กำหนดค่ามาตรฐานของไทยรวมถึงจะส่งข้อมูลทั้งหมดไปให้ CODEX กำหนดเป็นมาตรฐานสากลต่อไป คาดว่าใช้เวลาประมาณ 2 ปี

นายพิศาลกล่าวถึงความเข้าใจผิดเรื่องกะเพราว่า ในอดีตอาจไม่มีแมลงมารบกวนกะเพรา แต่ปัจจุบันแมลงปรับตัวแล้วทำให้เกษตรกรใช้สารเคมีเพื่อไล่แมลงที่มารบกวน จนมีสารตกค้าง อีกทั้งในอดีตไทยเคยส่งกะเพราออกไปสหภาพยุโรป (EU) และพบแมลงหนอน แมลงหวี่ขาว จึงถูกระงับการนำเข้ามาแล้ว ซึ่งกรณีนั้นไม่ได้เจอสารพิษตกค้างแต่เจอแมลง

“จุดอ่อนของกฎหมายไทยคือ ไม่ได้กำหนดให้ชัดเจนว่า การพบสารเคมีตกค้างระดับต่ำมากๆ นั้นผิดหรือไม่ผิดมาตรฐาน ซึ่งปัญหานี้ มกอช. กำลังปรับปรุงแก้ไขกฎหมายโดยเฉพาะการตีความกฎหมาย” นายพิศาลกล่าว

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาดังกล่าว ทาง มกอช. ได้ดำเนินการแก้ปัญหาดังนี้ 1. ปรับปรุงการประสานงานและการสร้างความเข้าใจระหว่าง THAI-PAN และ มกอช. ในการแปลข้อมูลการพบสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตรตามมาตรฐานและได้จัดทำคู่มือการใช้ค่า MRL สำหรับการพิจารณาความสอดคล้องกับมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง สารพิษตกค้าง: ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด หรือ มกษ.9002 เพื่อให้ตีความถูกต้องตรงกัน ซึ่งทาง มกอช. ได้ เผยแพร่ข้อมูลนี้แล้วที่นี่

2. พยายามแก้ไขปัญหากรณีไม่มีค่า MRL ในการอ้างอิงสำหรับพืชเขตร้อน โดยเฉพาะพืชรองที่เพาะปลูกในประเทศไทย เช่น กะเพรา โหระพา โดยได้ดำเนินการจัดทำ มกษ. เรื่องการจัดกลุ่มพืช เพื่อให้สามารถกำหนดค่า MRL สำหรับกลุ่มสินค้าเกษตรต่างๆ ต่อไปในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในปลายปี 2558

3. พิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดค่า default limit เพื่อใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงชั่วคราวสำหรับสินค้าเกษตร/วัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ยังไม่มีการกำหนดค่า MRL ใน มกษ. และ Codex

4.ตรวจสอบสารพิษตกค้างในผลไม้ทั้งที่รับรอง Q และไม่ได้รับรอง Q โดยวางแผนตรวจสอบในปี 2558 ทั้งหมด 500 ตัวอย่าง ซึ่งขณะนี้ตรวจวิเคราะห์ไปแล้ว 75 ตัวอย่าง ได้แก่ กะหล่ำปลี คะน้า แตงกวา ถั่วฝักยาว กวางตุ้ง พริก มะเขือเทศ มะเขือเปราะ กะเพรา ขึ้นฉ่าย โหระพา แมงลัก และผลไม้ ได้แก่ ฝรั่ง ส้ม และแตงโม โดยผลการตรวจวิเคราะห์เบื้องต้นโดยใช้ test kit พบสารตกค้าง 14 ตัวอย่าง แต่ยังต้องรอผลวิเคราะห์ละเอียดในห้องปฏิบัติการเพื่อเปรียบเทียบความสอดคล้องกับมาตรฐานต่อไป

ทั้งนี้จากผลวิเคราะห์สารตกค้างปี 2557 ทั้งสินค้าที่รับรอง Q และไม่ได้รับรอง Q รวม 500 ตัวอย่าง พบการตกค้างเกินมาตรฐานประมาณร้อยละ 6 ของตัวอย่างทั้งหมด อีกทั้ง มกอช. ยังดำเนินโครงการแผนปฏิบัติงานเฝ้าระวังและควบคุมมาตรฐานสินค้าเกษตรในระดับจังหวัด โดยสนับสนุนงบประมาณให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ เก็บตัวอย่างวิเคราะห์สารพิษตกค้าง จังหวัดละอย่างน้อย 20 ตัวอย่าง รวมทั้งประเทศไม่น้อยกว่า 1,500 ตัวอย่าง ซึ่งจะได้ผลการวิเคราะห์ประมาณกลางปี 2558

ทั้งนี้จากการทบทวนข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับจาก THAI-PAN ทาง มกอช. ไม่ได้ละเลยปัญหาที่เกิดขึ้นและเห็นด้วยกับแนวทางที่ THAI PAN เสนอแนะในเชิงนโยบาย อาทิ การบูรณาการระบบการเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ โดยร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และควรมีการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ระบบการควบคุมคุณภาพของสินค้าเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ภาครัฐ เกษตรกร และเอกชน ควรร่วมมือกันในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดย มกอช. เห็นว่า ในอนาคตควรพิจารณาข้อมูลร่วมกัน เพื่อให้เป็นแหล่งข้อมูลแก่ผู้บริโภคจากแหล่งเดียว ซึ่งจะช่วยป้องกันการสับสน รวมถึงอาจพิจารณาถึงการกำหนดนโยบายร่วมเพื่อพัฒนาระบบการผลิตที่ปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหาร โดยที่ภาครัฐดำเนินการอย่างจริงจังในการควบคุม กำกับดูแล ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง