ThaiPublica > เกาะกระแส > วิจัยกรุงศรี หั่นจีดีพีอีกรอบ -10.3% หนักกว่าต้มยำกุ้ง เสี่ยงสูงฟื้นตัวแบบ L-shape

วิจัยกรุงศรี หั่นจีดีพีอีกรอบ -10.3% หนักกว่าต้มยำกุ้ง เสี่ยงสูงฟื้นตัวแบบ L-shape

6 กรกฎาคม 2020


วิจัยกรุงศรีปรับคาดการเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง จาก -5% เป็น -10.3% ซึ่งหนักกว่าวิกฤติการเงินในปี 1998 และจากการวิเคราะห์แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแบบ U-shape แต่มีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะฟื้นตัวแบบ L-shape

ประเทศไทยไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศมากว่าหนึ่งเดือนแล้ว หลังจากที่มีการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ แต่มาตรการล็อกดาวน์บางอย่าง เช่น มาตรการรักษาระยะห่าง และการห้ามทำการบิน และพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไป ยังคงมีผลกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 11 ล้านคน โดยมีการติดเชื้อมากในพื้นที่สำคัญบางแห่ง และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดรอบสอง ซึ่งจะยังคงมีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง แม้ว่าไทยจะควบคุมการระบาดไวรัสโควิดได้ดี แต่ยังเป็น 1 ใน 10 ประเทศเปราะบางต่อการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง

เมื่อมองไปข้างหน้า บาดแผลที่วิกฤติไวรัสทิ้งไว้ เช่น การว่างงานที่เพิ่มขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า แม้มาตรการกระตุ้นทางการคลังและการผ่อนคลายทางการเงินจะช่วยให้เศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับมาในครึ่งหลังของปี ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวแบบ U-shape

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแบบ L-shape กลับสูงมากขึ้น เพราะมีสัญญาณว่าการตอบสนองของนโยบายนั้นไม่เพียงพอ แม้มีการลดอัตราดอกเบี้ยลงที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ภาวะทางการเงินตึงตัวขึ้นในอัตราเร่งตัว ซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและเพิ่มความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจโดยรวม

นอกจากนี้โอกาสที่ภาระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนจะกลับมาเพิ่มขึ้นในระยะอันใกล้นี้ ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับภาคการเงิน เพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจจะพื้นตัวแบบ L-shape

การระบาดของโควิด-19 มีผลกระทบต่อ GDP ไตรมาสสองราว 17.5% เป็นผลจากการทรุดตัวของภาคการท่องเที่ยว และผลของตัวทวีคูณ

เศรษฐกิจไทยถดถอยลงสู่การคาดการณ์ในกรณีเลวร้าย 3 ปัจจัย

ปัจจัยแรก การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าที่คาด เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มในขึ้นหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และการระบาดกลับมาอุบัติใหม่ในจีน ส่งผลให้มีการขยายระยะเวลาการห้ามเดินทางข้ามประเทศออกไปนานกว่าที่คาด นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยลดลง 83% (ลดลงมากขึ้นจาก -60% ในการประมาณการก่อนหน้า) ซึ่งบ่งชี้ว่ายากที่จะเห็นนักท่องเที่ยวเข้ามาในเวลาที่เหลือของปี จำนวนนักท่องเที่ยวภายใต้ข้อตกลงการเดินทางแบบ Travel Bubble มีสัดส่วนเพียงไม่ถึง 1% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปีที่แล้ว แม้ระยะต่อไปนี้สถานการณ์จะดีขึ้นบ้าง แต่จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเพิ่มขึ้นเกิน 1 ล้านคนต่อเดือนก่อนครึ่งหลังของปีหน้า

ปัจจัยที่สอง กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะลดลงแรงมากขึ้น และผลสะท้อนกลับทางลบในวงจรเศรษฐกิจโดยจะเลวร้ายกว่าที่ได้ประมาณการไว้ในครั้งก่อน แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากผลสะท้อนการระบาดของโควิด-19 จะมากถึง 80% ของช่วงพีกของการระบาด (เทียบกับ 50% ในการประมาณการก่อนหน้า) และการว่างงานยังคงต่ำกว่าระดับปกติถึง 30% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 (เทียบกับ 10% ในการประมาณการก่อนหน้า)

ปัจจัยสุดท้าย การตอบสนองของนโยบายเศรษฐกิจน่าจะไม่มากพอ ดังจะเห็นจากภาวะการเงินที่ตึงตัว

จากการวิเคราะห์ของวิจัยกรุงศรี บ่งชี้ถึงผลที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยว่าจะย่ำแย่สุดในไตรมาสสอง ปี 2020 และการควบคุมที่นานขึ้นจะทำให้ผลทางลบของตัวทวีคูณกว้างขึ้นและขยายวงมากขึ้น การระบาดของโควิด-19 จะฉุดจีดีพีปีนี้ลงราว 10.6% จากกรณีฐาน และส่งผลให้จีดีพีไตรมาสสองลดลง 17.5% ผลกระทบที่รุนแรงที่สุดในไตรมาสสองปีนี้มาจากผลทางลบของตัวทวีคูณ หรือเงินรายได้ติดลบ (negative income effect) ถึง -5.8% ตามมาด้วยภาคการท่องเที่ยว -5.5% ห่วงโซ่อุปทานในประเทศ -3.9% และห่วงโซ่อุปทานโลก-2.2%

ในไตรมาสสองปีนี้ แม้สถานการณ์เลวร้ายจะผ่านไป แต่การระบาดของไวรัสยังคงทิ้งแผลเป็นให้กับเศรษฐกิจ ความรู้สึกหดหู่และมาตรการการควบคุมในบางด้านจะยังมีผลทางลบต่อภาคการท่องเที่ยว ผลของตัวทวีคูณยังมีผลอย่างมากต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม

ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2020 เป็น -10.3% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

แม้การติดเชื้อในประเทศของไทยเป็นศูนย์และมีการคลายล็อกดาวน์ ผลสะท้อนของการระบาดของไวรัสจะมีผลต่อจีดีพีไทย 10.6% เพราะมาตรการรักษาระยะห่างและมาตรการควบคุมอื่นๆ จะสร้างความเสียหายให้กับภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องหนักขึ้นและนานกว่าที่ประมาณการณ์ครั้งก่อน การว่างงานที่สูงและภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจและครัวเรือนจะยิ่งมีผลต่อรายได้ที่ติดลบให้นานขึ้น

หลังจากมาตรการสนับสนุนสิ้นสุดลง ความเสี่ยงที่จะมีการปลดพนักงานรอบสองจะยิ่งซ้ำเติมวงจรอุบาทว์ระหว่างความเชื่อมั่นและการเติบโตของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ความล่าช้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและภัยแล้งก็จะมีผลฉุดจีดีพีลง 1.0% และ 0.4% ตามลำดับ

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะช่วยหนุนจีดีพีได้ 1.7% แต่มาตรการทางการคลังและการผ่อนคลายนโยบายการเงินไม่สามารถที่จะต้านทานการถดถอยของเศรษฐกิจได้ และอาจจะมีขนาดไมาใหญ่เพียงพอจะส่งเสริมการใช้จ่ายของครัวเรือนและการลงทุนของธุรกิจ

โดยรวมวิจัยกรุงศรีคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะหดตัว -10.3% ในปีนี้ (เทียบกับ -5.0% ในการประมาณการครั้งก่อน) ซึ่งหนักยิ่งกว่าวิกฤติเศรษฐกิจการเงินเอเชียในปี 1998 ส่วนในปี 2021 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ขยายตัวมาที่ 2.9% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำของปี 2020 ผลจากการระบาดของโควิด-19 (เช่น การว่างงานที่สูง ภาระหนี้ที่สูงขึ้นและความเสี่ยงภาคการเงินที่สูงขึ้น) กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยการขยายตัวแบบเทียบรายปีจะกลับไปบวกตั้งแต่ไตรมาสองปีหน้า

วิจัยกรุงศรีมองว่าระดับจีดีพี (หักปัจจัยฤดูกาลแล้ว) จะไม่ฟื้นไปที่ระดับเดิมก่อนการระบาดของโควิด-19ได้ก่อนครึ่งหลังของปี 2023