ThaiPublica > เกาะกระแส > วิจัยกรุงศรี ชี้ “หนี้ครัวเรือน” ฉุดเศรษฐกิจฟื้นตัว คืนหนี้ได้ยากขึ้น

วิจัยกรุงศรี ชี้ “หนี้ครัวเรือน” ฉุดเศรษฐกิจฟื้นตัว คืนหนี้ได้ยากขึ้น

25 พฤษภาคม 2020


วิจัยกรุงศรีเผยแพร่ รายงานเศรษฐกิจประจำเดือนพฤษภาคม 2563 Monthly Economic Bulletin วิเคราะห์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจของประเทศหลักที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งพบว่าปัจจัยหลักที่มีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาระหนี้ โดยเฉพาะประเทศไทยที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง

รายงานระบุว่า การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 มีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์ปิดเมืองปิดประเทศ จนกองทุนการเงินระหว่างประเทศต้องปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกมาที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี 1930 โดยประมาณการว่าเศรษฐกิจโลกปี 2563 จะติดลบ 3%

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) โดยรวมของโลกเดือนเมษายนลดลงมาที่ระดับ 26.5 ต่ำสุดในรอบ 22 ปีและยังต่ำกว่าระดับ 36.8 ในช่วงวิกฤติการเงินโลกปี 2552 เสียอีก อีกทั้ง PMI รายประเทศก็ลดลงมาที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกปี 2009 โดยที่ตัวชี้วัดสำคัญใน PMI ทั้งคำสั่งซื้อใหม่ คำสั่งซื้อจากต่างประเทศ และการจ้างงานต่างพากันทรุดตัวหนัก สะท้อนถึงความต้องการในประเทศที่อ่อนตัวลง การค้าโลกหดตัว และกำลังซื้อที่ลดลง

แม้จะเริ่มสัญญานการฟื้นตัว แต่วิกฤติไวรัสก็จะทิ้งร่องรอยให้กับเศรษฐกิจ ทั้งการว่างงานที่อยู่ในระดับสูงและภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ก่อนการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัส ข้อมูลจาก Institute of International Finance ก็แสดงให้เห็นว่า ภาระหนี้โลกก็อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว ถึง 322% ของจีดีพีในไตรมาส 3 ของปี 2562 รวมมูลหนี้ทั้งสิ้น 253 ล้านล้านดอลลาร์

ภาระหนี้โลกเพิ่มขึ้นจากภาคธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารและจากภาครัฐ การระบาดของโควิด-19 จะยิ่งทำให้ภาระหนี้สูงขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการใช้จ่ายของภาคเอกชนในอนาคต และจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า

สหรัฐฟื้นตัวช้า 2 ปี

สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกปีนี้ติดลบ 4.8% เป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นผลจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากความต้องการที่ตกลงช่วงการระบาดของไวรัส หลังจากมีการปิดเมืองทั่วโลกตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ขณะที่การลงทุนในประเทศขยายตัวไม่มากพอที่จะช่วยพยุงไว้ได้

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสสองยังมีแนวโน้มที่จะหดตัวลงอีก เมื่อวัดจากหลายตัวชี้วัดในเดือนเมษายน ทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงมาที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2015 ดัชนี PMI ภาคการผลิตลดลงมาที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2009 การจ้างงานอกภาคเกษตรที่ลดลง 20.5 ล้านตำแหน่งและอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นไประดับเดียวกับหลังสงครามโลกที่ 14.7%

  • แม้ดัชนีชี้วัดหลักทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ต้องใช้เวลา
  • ตัวเลขเศรษฐกิจในภาคเศรษฐกิจจริงและตลาดเงินเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากจุดต่ำสุด แม้ยังมีการระบาดของไวรัส โดยการยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงมาที่ 3.8 ล้านรายในสิ้นเดือนเมษายนจาก 6.8 ล้านคนในกลางเดือนมีนาคม ขณะเดียวกันภาวะการเงินเริ่มดีขึ้น สะท้อนว่าการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ผล

    ในการฟื้นตัวในแบบ U shape กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาแบบค่อยเป็นค่อยไปในตามการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ในไตรมาสสอง วิจัยกรุงศรีมองว่า สหรัฐฯ อาจจะต้องใช้เวลา 2 ปีหรือนานกว่านั้น กว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาที่ระดับปกติ การฟื้นตัวอาจจะเร็วกว่าช่วงวิกฤติการเงินและช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เนื่องจากเป็นผลกระทบจากภายนอก ต่างจากวิกฤติครั้งก่อนๆ ที่เกิดจากความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ

  • ภาระหนี้ที่สูงขึ้นของรัฐบาลและภาคธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร อันดับความน่าเชื่อถือที่ลดลง อาจมีผลต่อการฟื้นตัว
  • ภาระหนี้โดยรวมของสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มขึ้น จากการให้กู้แก่รัฐบาลและธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร มีการคาดการณ์ว่าภาระหนี้รัฐบาลกลางจะเพิ่มขึ้นจาก 80% ของจีดีพีในปี 2562 เป็น 101% ในปีงบประมาณนี้และแตะ 108% ในปีหน้า อันเนื่องจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันการปรับเปลี่ยนนโยบายของธนาคารกลางที่หันมาซื้อตราสารหนี้เอกชน สะท้อนถึงความเปราะบางของภาคธุรกิจ

    การลดอันดับความน่าเชื่อถือจะเพิ่มสัดส่วนตราสารหนี้ในระดับเก็งกำไรมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับเสถียรภาพทางการเงิน สัดส่วนตราสารหนี้ธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารสูงถึง 77% ของตราสารหนี้ทั้งหมด และส่วนใหญ่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ BBB-

    ภาระหนี้ของรัฐบาลและภาคธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารที่สูงขึ้น หากไม่มีการจัดการจะมีผลให้เศรษฐกิจหลังผ่อนคลายล็อกดาวน์จะฟื้นตัวได้ช้า

    ยูโรโซนถดถอยแรง

    ทางด้านยุโรป เศรษฐกิจยูโรโซนไตรมาสแรกปีนี้หดตัว 3.8% จากไตรมาสก่อนหน้าและติดลบ 3.3% จากระยะเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการทรุดตัวมากสุดนับตั้งแต่ปี 2538 จีดีพีของประเทศหลักๆ ทั้งอิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี หดตัวรุนแรงแม้มาตรการล็อกดาวน์บังคับใช้มาเพียงเดือนเดียว ดัชนี PMI ของยูโรโซนร่วงไปที่ระดับต่ำสุดใหม่ในเดือนเมษายน ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดลงไปที่ระดับต่ำสุดจากการปิดกิจการชั่วคราวและการใช้จ่ายของครัวเรือนที่ลดลง

  • แนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาสสองย่ำแย่กว่าไตรมาสแรก และวิกฤติยังมีต่อเนื่องจากไม่สามารถควบคุมการระบาดของไวรัสได้
  • หลังจากหลายประเทศเริ่มผ่อนปรน กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มดีขึ้นอย่างช้าๆ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้มีสภาพคล่องเข้าสู่ระบบธนาคาร ส่งผลให้ภาวะการเงินดีขึ้น แต่สถานการณ์ในประเทศที่มีการระบาดหนักทั้งอิตาลี สเปน ยังคงกดดันเศรษฐกิจในประเทศและของภูมิภาค นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีตัดสินว่า มาตรการ QE ของธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) ขัดต่อหลักเกณฑ์ของสนธิสัญญา สร้างความกังวลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต ประกอบกับขีดความสามารถทางนโยบายที่จำกัดก็มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

  • ภาระหนี้ประเทศและของภาคเอกชนที่ไม่ใช่ธนาคารอยู่ในระดับสูงจะเป็นข้อจำกัดทางด้านนโยบายและกลับมาหลอกหลอนเศรษฐกิจยุโรปอีกครั้ง
  • การฟื้นตัวของยุโรปแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และพื้นฐานทางเศรษฐกิจ รวมทั้งขีดความสามารถทางนโยบาย การระบาดของโควิด-19 ทำให้การว่างงานสูงขึ้นและภาระหนี้เพิ่มขึ้น ก่อนการระบาดของไวรัสภาระหนี้ของภูมิภาคนี้อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว นำโดยหนี้ภาคเอกชนที่ไม่ใช่ธนาคารซึ่งสูงถึง 110% ของจีดีพี ขณะที่ภาระหนี้ของประเทศที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลจากอิตาลีที่รัฐบาลออกพันธบัตร ซึ่งส่วนใหญ่ถือครองโดยประเทศสมาชิกอียู แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่กระจายไปทั่วภูมิภาค นอกจากนี้ภาระหนี้เอกชนก็น่ากังวล เพราะต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น

    การระบาดของไวรัส ปัญหาเชิงโครงสร้าง (ภาระหนี้ที่สูงและเพิ่มขึ้น) และความสามารถทางนโยบายที่จำกัดในประเทศที่ระดับการพัฒนาไม่สูงนัก อาจจะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ช้ากว่าประเทศหลักรายอื่น เช่น สหรัฐฯ กับ จีน

    ญี่ปุ่นจ่อหดตัว 3 ไตรมาสติดในปีนี้

    เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ติดลบในไตรมาสแรกของปีนี้ต่อเนื่องจากที่ลดลง 7.1% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 สะท้อนว่าเศรษฐกิจถดถอยทางเทนิค การว่างงานเดือนมีนาคมสูงสุดที่ 2.5% และมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจะแย่ลงในไตรมาสที่สอง หลังจากการประกาศภาวะฉุกเฉินวันที่ 7 เมษายน ไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม โดยคาดว่าจีดีพีไตรมาสองจะลดลง 25% จากไตรมาสแรก แม้ญี่ปุ่นจะผ่อนคลายล็อกดาวน์ในครึ่งปีหลัง แต่การฟื้นตัวจะช้า เนื่องจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อ การลงทุนของธุรกิจที่ชะลอจากการค้าโลกที่อ่อนตัว และแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักวัน แต่การขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นสะท้อนว่า ภาคธุรกิจมีปัญหาสภาพคล่อง โครงการค้ำประกันสินเชื่อไม่มากพอ และมีความล่าช้าในการดำเนินการ

    ตลอดทั้งปี 2020 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัวอย่างมาก ซึ่งธนาคารกลาง (Bank of Japan: BoJ) คาดการณ์ไว้ที่ -5% ถึง -3% ต่ำสุดในรอบ 11 ปีนับตั้งแต่วิกฤติการเงินโลก

    ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ปรับแนวทางการดำเนินนโยบายจากการกระตุ้นเงินเฟ้อมาเป็นการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือน ด้วยการเพิ่มการซื้อตราสารหนี้เอกชนและตราสารการเงิน และให้ธนาคารพาณิชย์นำสินเชื่อที่ปล่อยให้ครัวเรือนมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอเงินกู้จากธนาคารกลางได้ การระบาดของไวรัสมีผลต่อสภาพคล่องและอาจจะทำให้ธุรกิจล้มละลายเพราะก่อนการระบาดภาระหนี้ของเอกชนสูงถึง 103% ของจีดีพีอยู่แล้ว

    วิจัยกรุงศรีคาดว่า ธนาคารกลางยังคงจัดสรรทรัพยากรมาเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือน เพื่อป้องกันการล้มละลาย แม้มีข้อจำกัดทางนโยบาย เนื่องจากภาระหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นในปี 2019 สูงถึง 238% ของจีดีพี สูงกว่าหลายประเทศหลัก

    จีนเจอหนี้เอกชนสูง-ว่างงาน

    เศรษฐกิจจีนหลายภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อัตรากำไรต่อรายได้ของภาคอุตสาหกรรมลดลงจาก 5.9 เดือนธันวาคม เป็น 3.9 ในเดือนมีนาคม ต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด แม้หลังจากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ด้านอุปทานยังฟื้นตัวช้า เนื่องจากความต้องการอ่อนตัวลง และการส่งออกที่ลดลง ขณะที่ภาคการผลิตยังไม่กลับมาเพราะคำสั่งซื้อใหม่จากต่างประเทศลดลง เพราะการระบาดของไวรัสมีผลต่อความต้องการของโลก เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าจะทำให้การว่างงานในเขตเมืองสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดหลังจากเพิ่มขึ้นไปที่ 5.9% ในเดือนมีนาคม และแรงงานยังไม่กลับเข้ามาทำงานในเมือง บางเมืองการกลับเข้ามาทำงานของแรงงานต่ำกว่า 80% โดยที่กวางโจว อยู่ที่ 77% ปักกิ่ง 68% และอู่ฮั่น 38%

  • การผ่อนคลายมาตรการของธนาคารกลางจีน (People Bank of China: PBOC) ช่วยเสริมสภาพคล่องในระบบ แต่มีความเสี่ยงจากการกู้ยืมที่สูงขึ้น
  • ธนาคารกลางจีนได้ปรับอัตราสำรองและอัตราดอกเบี้ยลง เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องปริมาณมาก ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พันธบัตรรัฐบาลมีปริมาณมากขึ้นจากการดำเนินนโยบายการคลัง และคาดว่าจะยังคงออกมาต่อเนื่อง ขณะที่สินเชื่อขยายตัวมากขึ้น ไม่เฉพาะสินเชื่อธนาคารเท่านั้น แต่ยังมีการกู้ยืมผ่านการออกตราสารหนี้และการออกหุ้น ส่งผลให้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น (M2 เพิ่มขึ้น 10.1% ในเดือนมีนาคม) การลดดอกเบี้ยนโยบายมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาด นอกจากนี้ตั้งแต่ต้นปีรัฐบาลท้องถิ่นยังได้ออกพันธบัตรมากขึ้นเพื่อกระตุ้นความต้องการผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

    การดำเนินมาตรการทางการเงินและการคลังร่วมกันจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้เพียงเพื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง

  • จีนยังมีความเสี่ยงจากภาระหนี้เอกชนที่มีจำนวนมากและการว่างงานอาจจะมีผลต่อการฟื้นตัว
  • การให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินสูงถึง 149.3% ของจีดีพี แม้ลดลงจากปี 2550 ที่ได้บังคับใช้หลักเกณฑ์ที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการให้เงินกู้ที่มีความเสี่ยง อย่างไรก็ตามสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่อาจจะเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ จากผลกระทบของการระบาดของไวรัส หลังการระบาดของไวรัส ภาระหนี้รัฐวิสาหกิจและธุรกิจเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเพิ่มขึ้น ภาวะสภาพคล่องที่ตึงตัวอาจจะทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้เอกชนสูงขึ้น ในรอบ 4 เดือนแรกของปีนี้การผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้เอกชนสูงถึง 30.4 พันล้านหยวน ขณะเดียวกันหนี้ครัวเรือนอาจจะเพิ่มขึ้น เพราะรายได้ลดลงและการว่างงานเพิ่มขึ้น

    การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอาจจะไม่เป็นตามคาดการณ์ เพราะมีแรงกดดันจากภาระหนี้เอกชน การว่างงานที่สูงขึ้น และปัจจัยเสี่ยงภายนอก โดยเฉพาะความต้องการของโลกที่ลดลงและความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนรอบใหม่

    ไทยเจ็บหนักทุกภาคธุรกิจ

    สำหรับประเทศไทย การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบทุกภาคธุรกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงันในวงกว้าง หลังจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์ปลายเดือนมีนาคม การบริโภคภาคเอกชนลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2014 ขณะที่การลงทุนเอกชนหดตัวเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน และการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 และลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 โดยเฉพาะรถยนต์ น้ำตาลทราย เพราะความต้องการทั้งในและต่างประเทศลดลง การส่งออกสินค้าหลักเดือนมีนาคมทรุดลง การนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคลดลง สะท้อนว่าแนวโน้มการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่ไม่สดใสและ

    การส่งออกทั้งปีจะหดตัวอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2552 แม้การส่งออกเดือนมีนาคมที่ขยายตัว แต่การล็อกดาวน์ทั้งในสหรัฐฯ และประเทศอาเซียนจะกระทบต่อการส่งออกในไตรมาสสอง

    วิจัยกรุงศรีคาดว่า การส่งออกทั้งปี 2563 จะหดตัว 8-10% และหดตัวมากที่สุดในไตรมาสสอง แม้การส่งออกบางรายการ เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และอาหารบางประเภท จะปรับตัวขึ้นในระยะสั้น ตามความต้องการสินค้าที่มาทดแทนการส่งออกของจีนที่หายไปในช่วงล็อกดาาวน์และความต้องการกักตุนสินค้า ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์ในระยะสั้นเท่านั้น เพราะการล็อกดาวน์ของหลายประเทศในช่วงปลายเดือนมีนาคมจะกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างานทั่วโลก ซึ่งจะลดความต้องการสินค้าไทยลง และแม้ว่าการส่งออกจะฟื้นตัวกลับมาในครึ่งหลังของปี แต่การส่งออกของไทยก็ยังย่ำแย่

    ทางด้านการท่องเที่ยว เดือนมีนาคมนักท่องเที่ยวลดลง 76.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาที่ 0.82 ล้านคน เพราะหลายประเทศรวมทั้งไทยมีคำสั่งห้ามการเดินทางระหว่างประเทศ รายได้จากการท่องเที่ยวเดือนมีนาคมลดลง 77.6% จากระยะเดียวกันของปีก่อนมีจำนวนเพียง 39.5 พันล้านบาท และ รายได้จากการท่องเที่ยวในไตรมาสแรกลดลง 40.4%

    วิจัยกรุงศรีคาดว่า ทั้งปีจำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลง 65% เป็น 14.2 ล้านคน บนสมมติฐานว่ามีการล็อกดาวน์เป็นเวลา 2 เดือน โดยที่ไตรมาสสองไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเลย แต่จะฟื้นตัวกลับมาบ้างในครึ่งหลังของปี

    ขณะนี้เริ่มมีสัญญานฟื้นตัวของเศรษฐกิจบ้าง แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและผลกระทบยังคงอยู่

    จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศลดลงเป็นศูนย์เมื่อเร็วๆ นี้และรัฐบาลได้เริ่มผ่อนปรนบางส่วน ทำให้เกิดความหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว ผู้โดยสารที่สนามบินเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นดัชนีไปยืนเหนือระดับ 1,200 จุด และเงินบาทเริ่มแข็งค่าในกลางเดือนเมษายน

    อย่างไรก็ตาม สัญญานเหล่านี้ไม่เพียงพอที่จะชี้ชัดว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง และผลกระทบจากการระบาดของไวรัสยังมีอยู่ ทั้งการว่างงานสูง กำลังซื้อที่ลดลง กำลังการผลิตส่วนเกินที่อยู่ในระดับสูง และภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น

    หนี้ครัวเรือนขวากหนามการฟื้นตัว

    อุปสรรคที่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือน ซึ่งภาระหนี้ที่สูงขึ้นส่วนใหญ่มากจากภาคครัวเรือน

    ภาคครัวเรือนมีภาระหนี้ที่สูงขึ้น เป็นผลจากการว่างงานและการสูญเสียรายได้อันเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งก่อนการระบาดของไวรัสภาระหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นไปที่ระดับสูงสุดรอบ 3 ปีที่ 80% คุณภาพสินทรัพย์ของสินเชื่อเพื่อการบริโภค (consumer loan) ลดลงในทุกกลุ่ม (segment) และมีแนวโน้มที่จะแย่ลงอีก ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเปราะบางมากขึ้นในระยะยาว

    ก่อนการระบาดของโควิด-19 ครัวเรือนที่เป็นหนี้และมีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาท ก็ชำระหนี้คืนได้ยากอยู่แล้ว

    ครัวเรือนในประเทศไทยมีจำนวน 21 ล้านครัวเรือน (คิดเป็นแรงงาน 35 ล้านคน) ซึ่งในจำนวนนี้มี 10 ล้านครัวเรือน (แรงงาน 19.6 ล้านคน) เป็นหนี้ หรือคิดเป็นสัดส่วน 48% ของครัวเรือนทั้งหมด (56% ของแรงงานทั้งหมด)

    สำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง (มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน) โดยเฉลี่ยมีรายจ่าย (รายจ่ายส่วนบุคคลรวมการชำระหนี้) สูงกว่ารายได้ ส่วนกลุ่มครัวเรือนที่ชำระหนี้ได้ยากมาก เป็นครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท ซึ่งรายจ่าย (ไม่รวมการชำระหนี้) โดยปกติแล้วจะสูงกว่ารายได้

    ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อัตราส่วนรายจ่ายรวมต่อรายได้ของลูกจ้างที่เป็นหนี้จะเพิ่มขึ้น จาก 106% เป็น 111%

    แรงงานนอกภาคเกษตรที่ประกอบอาชีพอิสระเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด จากผลกระทบของการระบาด ทั้งนี้ก่อนการระบาด รายจ่ายรวมของ แรงงานนอกภาคเกษตรที่ประกอบอาชีพอิสระอยู่ในระดับสูง 114% ของรายได้รวม นำโดยแรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางพาราและพลาสติก กลุ่มคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มยานยนต์ ผลกระทบจากโควิด-19 จะทำให้อัตราส่วนรายจ่ายรวมสูงขึ้นเป็น 129% ของรายได้รวม เป็นผลจากกลุ่มที่พักและอาหาร

    การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ได้ทำให้สัดส่วนลูกจ้างที่มีความเปราะบางเพิ่มขึ้น โดยลูกจ้างที่มีรายไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายประจำเดือนจะเพิ่มขึ้นสูงมากจาก 6.7 ล้านคนหรือ 38% ของลูกจ้างทั้งหมด เป็น 8.1 ล้านคนหรือ 56% ของลูกจ้างทั้งหมด แรงงานนอกภาคเกษตรที่ประกอบอาชีพอิสระจะเพิ่มขึ้นจาก 2.8 ล้านคนหรือ 46% ของแรงงานนอกภาคเกษตรที่ประกอบอาชีพอิสระ เป็น 3.8 ล้านคนหรือ 62% แรงงานนอกภาคเกษตรที่ประกอบอาชีพอิสระ


    สำหรับเกษตรกรที่เป็นหนี้นั้นซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงอยู่แล้ว จะได้รับผลกระทบมากขึ้นจากวิกฤติภัยแล้ง มากกว่าผลกระทบจากการระบาดของโควิด

    เกษตรกรที่มีหนี้มีจำนวน 7.9 ล้านคน หรือ 70% ของเกษตรกรทั้งหมด ก่อนที่ไวรัสจะระบาด รายจ่ายรวมของเกษตรกรที่มีหนี้สูงถึง 132% ของรายได้รวม ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่ปลูกประเภทผักและพืชกินหัว (รวมทั้งมันสำปะหลัง) กลุ่มผู้ผลิตข้าว และเลี้ยงสัตว์

    ผลกระทบที่รุนแรงของการระบาดของโควิด-19 จะเพิ่มรายจ่ายรวมของเกษตรกรที่มีหนี้สูงเป็น 133% ของรายได้รวม เนื่องจากความต้องการสินค้าเกษตรประเภทอาหารยังมีอยู่ แต่วิกฤติภัยแล้งจะมีผลกระทบเกษตรกรกลุ่มปลูกข้าวและมันสำปะหลังรุนแรง ซึ่งจะทำให้รายจ่ายรวมของเกษตรกรที่มีหนี้สูงเป็น 148% ของรายได้รวม เพราะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อย โดยเฉพาะข้าวและมันสำปะหลัง

    หนี้ค้างชำระของครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น 9% และมีผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า

    ผลกระทบที่รุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 คาดว่าจะทำให้หนี้ที่ไม่สามารถชำระได้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น 9% เป็น 480 พันล้านบาทจาก 440 พันล้านบาท ซึ่งมาจากกลุ่มประกอบอาชีพอิสระที่จะเพิ่มขึ้น 17.1% และหนี้ค้างชำระของกลุ่มครัวเรือนเกษตรกรจะเพิ่มขึ้น 8.6% ทั้งสองกลุ่มนี้เดิมก่อนการระบาดก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้อยู่แล้ว สำหรับแนวโน้มกลุ่มครัวเรือนจะเปราะบางมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อ ลดการใช้จ่ายภาคเอกชน และอาจจะมีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ