ThaiPublica > สู่อาเซียน > ภาวะเศรษฐกิจ CLMV : มิ.ย.เวียดนามฟื้นตัวแกร่ง ชี้ EVFTA ดึง FDI มากขึ้น

ภาวะเศรษฐกิจ CLMV : มิ.ย.เวียดนามฟื้นตัวแกร่ง ชี้ EVFTA ดึง FDI มากขึ้น

19 กรกฎาคม 2020


ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/travel/places/vietnam-attracts-record-tourist-numbers-in-2017-but-can-t-escape-bad-reputation-3692288.html

วิจัยกรุงศรีสรุปภาวะเศรษฐกิจประจำเดือนมิถุนายนของกลุ่มประเทศ CLMV ว่า ในภาพรวมกิจกรรมด้านอุตสาหกรรมส่งสัญญานฟื้นตัว โดยเวียดนามแข็งแกร่งที่สุด

หลังจากการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ กิจกรรมการผลิตเดือนมิถุนายนในกลุ่มประเทศอาเซียนโดยรวมมีการฟื้นตัวแม้ดัชนีหลายตัวยังคงติดลบ ยกเว้นเวียดนาม และเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (purchasing manager’s index: PMI) ขยายตัว PMI ในภาคการผลิตที่ขยายตัวยังสอดคล้องกับแนวโน้มยอดค้าปลีกในประเทศอื่นๆ ด้วย

วิจัยกรุงศรีประเมินว่าจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยมากกว่าที่คาด ทำให้ความต้องการจากต่างประเทศในปีนี้จะหดตัวและจะมีผลต่อโอกาสของเศรษฐกิจอาเซียนที่พึ่งพาการค้า โดยเฉพาะเวียดนามและกัมพูชาที่มูลค่าการค้ามีสัดส่วนเกินกว่า 200% และ 130% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ตามลำดับ

สถานการณ์นี้จะมีผลต่อกิจกรรมการผลิตทั่วอาเซียนต่อเนื่อง และจากการที่ภาคการผลิตของประเทศอาเซียนมีการจ้างงานราว 20-25% ของแรงงานทั้งหมด การฟื้นตัวที่อ่อนแอของกิจกรรมการผลิตจะถ่วงการใช้จ่ายของครัวเรือนในช่วงเวลาที่เหลือของปี โดยเฉพาะประเทศที่การบริโภคในประเทศเปราะบาง เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ยอดค้าปลีกของทั้งสองประเทศร่วงลงใน 2-3 เดือนที่ผ่านมา จากการขยายการใช้มาตรการล็อกดาวน์

กัมพูชา

นักท่องเที่ยวปีนี้จะลดลงจากมาตรการที่เข้มงวดและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

วิจัยกรุงศรีประเมินว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกัมพูชาได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากมีการพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างมากจากจีน ซึ่งจีนมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม ขณะที่กัมพูชาได้ห้ามการเดินทางทั่วประเทศในเดือนมีนาคม ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาลดลงเกือบ 100% จากระยะเดียวกันของปีก่อนในเดือนมีนาคม ตั้งแต่การยกเลิกการคำสั่งระงับเที่ยวบินระหว่างประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าลดลงราว 40%

การจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลกจะยังคงบังคับใช้ไปในช่วงที่เหลือของปีเป็นอย่างน้อย ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างไม่คาดคิด วิจัยกรุงศรีคาดว่าภาคการท่องเที่ยวของกัมพูชาจะติดลบในปีนี้ และโดยที่ภาคธุรกิจนี้มีสัดส่วน 18% ของจีดีพี ก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจกัมพูชาอย่างมาก อีกทั้งความกังวลต่อการระบาดรอบสองก็จะยังคงกดดันภาคการท่องเที่ยว

เมียนมา

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอ่อนแอ เงินลงทุนโดยตรงไหลเข้าช่วยลดความกดดัน

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของเมียนมายังคงอยู่ในระดับสูงประมาณ 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงค่าครองชีพที่สูงท่ามกลางรายได้ที่ลดลง ผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 อาจทำให้ดุลการค้าของประเทศขาดดุลเพิ่มขึ้น การส่งออกจะลดลงอีกเนื่องจากความต้องการทั่วโลกที่อ่อนแอ ขณะที่การนำเข้าคาดว่าจะฟื้นตัวทีละน้อย (แต่ยังคงติดลบจากปีก่อน) นำโดยการฟื้นตัวของภาคก่อสร้าง จะมีผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้น และจะมีแรงกดดันทางลบต่อค่าเงินจ๊าดที่มีเสถียรภาพในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม กระแสเงินลงทุนโดยตรงที่ยังขยายตัวจะมีผลดีต่อดุลบัญชีเดินสะพัดส่วนหนึ่ง และลดแรงกดดันต่อเสถียรภาพด้านต่างประเทศ

สปป.ลาว

ชี้ผลกระทบจากโควิด-19 คาดลาวขาดดุลการค้ามากขึ้น

ข้อมูลเศรษฐกิจ สปป.ลาวล่าสุด แสดงให้เห็นว่าการค้าของลาวได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อันเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในตลาดส่งออก การส่งออกโดยรวมเดือนมีนาคมลดลง 2% จากระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการส่งออกไปประเทศไทยที่อ่อนตัวลง ทั้งนี้การส่งออกไปไทยมีสัดส่วน 50% ของการส่งออกโดยรวมของ สปป.ลาว ส่วนการนำเข้ารวมลดลง 28.2% เพราะการนำเข้าจากจีนลดลงมาก (ส่วนใหญ่เป็นวัสกดก่อสร้าง) ซึ่งปกติแล้วมีสัดส่วน 55% ของการนำเข้าทั้งหมด

มองไปข้างหน้า วิจัยกรุงศรีคาดว่าการส่งออกของ สปป.ลาวจะหดตัวในปีนี้ เนื่องจากความต้องการกระแสไฟฟ้าจากไทยอ่อนตัวลง การนำเข้าจะหดตัวน้อยกว่าการส่งออก เพราะการก่อสร้างของโครงการที่จีนมีบทบาทได้กลับมาดำเนินการอีกครั้งหลังจากที่ชะงักไปในไตรมาสแรกของปี อันเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 กับการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในจีน และตามมาด้วยการล็อกดาวน์ทั่วโลก ดังนั้น สปป.ลาวจะยังคงขาดดุลการค้าจำนวนมากในปีนี้

เวียดนาม

การลงทุนจะดีขึ้นในครึ่งปีหลังจาก EVFTA คาเดึง FDI มากขึ้น

หลังจากที่ขยายตัว 7.2% ในปี 2019 การลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (foreign direct investment: FDI) ในเวียดนามในครึ่งปีแรกลดลง 15.1% จากระยะเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนทั้งสิ้น 15.7 พันล้านดอลลาร์ จากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่เวียดนามได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่เอเชียมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นนั้น FDI ของเวียดนามลดลง 82.6% และ 10.8% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม วิจัยกรุงศรีคาดว่าแนวโน้มจะดีขึ้นในอีกหลายเดือนข้างหน้า หลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทั้งนี้ยังมีความต้องการลงทุนในเวียดนาม แต่อาจจะขยายตัวไม่มาก จากการระบาดของโควิด-19 รอบสอง และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

สำหรับแนวโน้ม วิจัยกรุงศรีคาดว่า FDI จะทยอยกลับเข้าไปในเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามมีความน่าสนใจกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนามมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคและบริษัทจากจีนแผ่นดินใหญ่จะย้ายฐานการผลิตมาเวียดนามต่อเนื่อง และเมื่อความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรปเวียดนาม (The EU-Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA) มีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคมปีนี้ EU จะยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าแก่เวียดนามเป็นสัดส่วน 85.6% ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างกันทันที ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของเวียดนามในตลาดยุโรปท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เวียดนามยังจะได้รับผลดีจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ได้ตกลงเมื่อเร็วๆ นี้ รวมทั้งความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership: CPTPP) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่ง RCEP จะมีการลงนามในเดือนพฤศจิกายนนี้