ThaiPublica > เกาะกระแส > เมื่อ “โควิด-19” กลายเป็นหายนะโลก ประเมินผลกระทบ หลัง IMF คาด ศก. โลกเลวร้ายที่สุดรอบเกือบศตวรรษ

เมื่อ “โควิด-19” กลายเป็นหายนะโลก ประเมินผลกระทบ หลัง IMF คาด ศก. โลกเลวร้ายที่สุดรอบเกือบศตวรรษ

26 มิถุนายน 2020


รายงานโดย พิมฉัตร เอกฉันท์ Krungthai COMPASS

Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินผลกระทบ หลัง IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกเลวร้ายที่สุดในรอบเกือบศตวรรษ โดยมองว่า

  • IMF คาดเศรษฐกิจโลกปีนี้อาจหดตัวถึง 4.9% หลังโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่าที่คาด ท่ามกลางหนี้สาธารณะทั่วโลกที่มีโอกาสแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และการขาดดุลงบประมาณทั่วโลกที่น่าจะสูงถึง 14% ต่อ GDP
  • ทั้งนี้ ยังได้ปรับลด GDP ไทยปีนี้ว่าจะหดตัวมากถึง 7.7% เมื่อเทียบกับประมาณการเดิมที่หดตัว 6.7% ก่อนที่จะพลิกกลับมาขยายตัวที่ 5.0% ในปี 2021
  • Krungthai COMPASS ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะหดตัวถึง 8.8% ขณะที่รูปแบบเศรษฐกิจและชีวิตวิถีใหม่ (new normal) ทำให้ต้องพึ่งพามาตรการทางการคลังอย่างเร่งด่วน ส่งผลให้แรงกดดันต่อหนี้สาธารณะอาจพุ่งสูงขึ้น และจะเป็นข้อจำกัดในการกู้ยืมเพื่อพัฒนาประเทศในระยะยาว

IMF ประเมิน The Great Lockdown ฉุดเศรษฐกิจโลกหดตัว 4.9% หลังพิษโควิด-19 รุนแรงและเลวร้ายกว่าที่คาด

IMF คาดเศรษฐกิจโลกปีนี้อาจหดตัวถึง 4.9% ตามรายงาน World Economic Outlook เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยปรับลดลงจากประมาณการเดิมในเดือน เม.ย. ที่ติดลบ 3.0% จากการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ได้สร้างความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีมากกว่าที่คาด โดยเฉพาะผลกระทบที่รุนแรงต่อครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งคาดว่าจะทำให้โลกต้องเผชิญกับความยากจนที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1990 สำหรับปี 2021 ประเมินว่าเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัว 5.4% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 5.8% ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่ต่ำกว่าก่อนเกิดโควิด-19

ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าระดับปกติค่อนข้างมาก และการฟื้นตัวที่คาดว่าจะช้ากว่าที่ประเมินไว้ ยิ่งสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น โดยนับจากนี้ โลกต้องเผชิญกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ต่อไป ซึ่งจะยิ่งกระทบต่อแนวโน้มการผลิต (supply potential) อย่างรุนแรง โดยการปรับลดประมาณการมีสาระสำคัญดังนี้

  • การแพร่ระบาดเลวร้ายลงในหลายประเทศ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องใช้มาตรการปิดเมืองอย่างเข้มงวด จนเกิด disruption ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ส่วนในประเทศอื่นๆ ที่ยอดติดเชื้อและเสียชีวิตยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด อาจยังมีข้อจำกัดเรื่องการตรวจสอบโรค ซึ่งก็หมายรวมถึงความไม่แน่นอนในการประเมินระดับการแพร่ระบาด
  • ส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับเศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรงในไตรมาส 2 ยกเว้นจีนที่เกือบทั้งหมดเริ่มเปิดทำการตามปกติแล้วในช่วงต้นเดือน เม.ย. ขณะที่ทั่วโลกยังต้องเผชิญกับการบริโภคและบริการที่หดตัวอย่างรุนแรงจาก social distancing และมาตรการปิดเมือง ส่งผลให้รายได้หดหาย ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอ่อนแอ ขณะที่ผู้ผลิตจำเป็นต้องหั่นเม็ดเงินสำหรับการลงทุนเพื่อใช้รับมือกับดีมานด์ที่ลดลง การแทรกแซงด้านอุปทาน (supply interruption) และความไม่แน่นอนในการประเมินรายได้ในอนาคต
  • อุปสงค์โดยรวมชะงักงันเป็นวงกว้าง และยังไม่เห็นการฟื้นตัวชัดเจน แม้หลายประเทศจะค่อยๆ กลับมาเปิดเศรษฐกิจได้บางส่วนตั้งแต่เดือน พ.ค. แต่จากข้อมูล mobility trend กลับพบว่า กิจกรรมต่างๆ ทั้งการจับจ่ายใช้สอย สันทนาการ และการเดินทางไปทำงานยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเมื่อเทียบกับก่อนเกิดโรคระบาดจากผลของ social distancing (รูปที่ 1)
  • แรงปะทะต่อตลาดแรงงานอย่างรุนแรง เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างรวดเร็ว ย่อมสร้างหายนะต่อตลาดแรงงานทั่วโลก โดยจากข้อมูล International Labour Organization พบว่า เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2019 จำนวนชั่วโมงการทำงานแบบเต็มเวลาในไตรมาส 1/2020 ที่ลดลงเทียบเท่าได้กับการสูญเสียงานไปถึง 130 ล้านตำแหน่ง และลดลงมากกว่า 300 ล้านตำแหน่งในไตรมาส 2/2020 ยิ่งกว่านั้น ยังพบว่า แรงปะทะดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกลุ่มแรงงานฝีมือต่ำ (low-skilled worker) ซึ่งไม่สามารถปฎิบัติงานที่บ้านได้
  • การหดตัวของการค้าโลก การค้าโลกในไตรมาส 1/2020 ที่หดตัวถึง 3.5%YoY สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ในประเทศที่ขาดหายไปทั่วโลก ภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศหยุดชะงัก รวมถึงภาคการผลิตที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนหรือเคลื่อนย้ายสายพานการผลิตได้จากข้อจำกัดด้านการค้าในบางประเทศ
  • อัตราเงินเฟ้ออ่อนแรงมากขึ้น อันเนื่องจากแรงกดดันด้านราคาสินค้าที่มีที่มาจากอุปสงค์โดยรวมชะลอตัว รวมไปถึงผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้โดยเฉลี่ยแล้ว อัตราเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วหดตัวราว 1.3 ppt นับตั้งแต่ปลายปี 2019 สู่ระดับ 0.4%YoY ในเดือน เม.ย. ส่วนกลุ่มประเทศเกิดใหม่หายไป 1.2 ppt สู่ระดับ 4.2%YoY

เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอท่ามกลางหนี้สาธารณะทั่วโลกที่พุ่งแตะระดับสูงสุดตลอดกาล

กลุ่มเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว 8.0% ในปี 2020 จากประมาณการเดิมที่หดตัว 6.1% จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่น่าจะกลับมาฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากหลายประเทศยังเผชิญแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อไป สำหรับปี 2021 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 4.8% ซึ่งถือว่ายังต่ำกว่าระดับปี 2019 ถึง 4.0% อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ รวมไปถึงปัญหาหนี้ที่อยู่ในระดับสูง อาจกลายเป็นตัวฉุดอุปสงค์ในประเทศ กดดันให้เข้าสู่เงินฝืดในระยะต่อไป

กลุ่มเศรษฐกิจกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแรงมากขึ้น โดยคาดว่าเศรษฐกิจกลุ่มนี้จะติดลบ 3.0% ในปี 2020 และขยายตัวที่ 5.9% ในปี 2021

ทั้งนี้ ยังได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ว่าจะหดตัวมากถึง 7.7% เมื่อเทียบกับประมาณการเดิมที่หดตัว 6.7% ก่อนที่จะพลิกกลับมาขยายตัวที่ 5.0% ในปี 2021 (ประมาณการเดิมที่ 6.1%) ขณะที่ราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำอย่างรวดเร็ว ยังส่งผลกระทบต่อรายได้สุทธิและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเป็นหลัก

คาดหนี้สาธารณะทั่วโลกแตะระดับสูงสุดตลอดกาลเกินกว่า 100% ต่อจีดีพี อยู่ที่ 101.5% และ 103.2% ในปี 2020-2021 ขณะที่การขาดดุลงบประมาณทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ 14% ต่อจีดีพี เนื่องจากรายได้ภาครัฐที่อาจลดลงอย่างหนักจากรายได้ภาคครัวเรือนและธุรกิจที่ปรับตัวลดลง รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนได้รับแรงปะทะอย่างรุนแรงจากโควิด-19

สรุป

  • การประเมินจาก IMF สะท้อนความรุนแรงของวิกฤติโควิด-19 ที่ได้สร้างความเสียหายในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนพร้อมกันทั่วโลก แม้หลายประเทศจะคลายล็อกดาวน์ไปแล้วตั้งแต่ช่วงกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา แต่การบริโภคเอกชนกลับยังไม่ฟื้นตัว ขณะเดียวกันกับที่ผู้ผลิตก็พยายามลดค่าใช้จ่ายเพื่อประคองธุรกิจภายใต้ความไม่แน่นอนสูงเช่นนี้ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าโลกต้องเผชิญกับ “twin supply-demand shock” พร้อมๆ กันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงและเลวร้ายที่สุดในรอบเกือบ 100 ปี
  • Krungthai COMPASS คงประมาณการเดิมที่เศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะหดตัวถึง 8.8% จากอุปสงค์ต่างประเทศที่หดตัวอย่างรุนแรง ขณะที่รูปแบบเศรษฐกิจและชีวิตวิถีใหม่หลังวิกฤติโควิด-19 ทำให้ไทยต้องพึ่งพาตัวขับเคลื่อนจากภาครัฐอย่างเร่งด่วน ด้วยเศรษฐกิจไทยในระยะหลังพึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศมากกว่าครึ่งหนึ่งของจีดีพี แต่กลับกลายเป็นว่ากลไกดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงจากแรงกดดันรอบด้าน โดยเฉพาะภาคส่งออกที่อาจต้องเผชิญกับการกีดกันทางการค้าที่ต่อจากนี้จะรุนแรงขึ้น (trade protectionism) ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติก็คาดว่าจะยังไม่กลับมาจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกจะเริ่มคลี่คลาย ส่วนอุปสงค์ในประเทศก็ดูเหมือนจะอ่อนแรงลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนรุมเร้า “มาตรการทางการคลังแบบเร่งด่วน” จึงกลายเป็นตัวขับเคลื่อนเดียวที่มีอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ แม้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยจะยังอยู่ในกรอบวินัยทางการคลังที่ 42.88% หรือเกือบ 7.9 ล้านล้านบาท แต่ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไปที่ส่อเค้ายังไม่ฟื้นกลับไปสู่จุดเดิมในปี 2019 ทำให้จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติม ส่วนการจัดเก็บรายได้รัฐก็มีแต่จะลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งยิ่งทำให้เกิดขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง และส่งผลให้หนี้สาธารณะพอกพูนจนกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่วนกลับไปซ้ำเติมการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว