เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย หรือ Krungthai Compass ได้เผยแพร่บทวิจัยเรื่อง “เกาะติดทิศทางนักท่องเที่ยวจีน” โดยดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัยฯ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากภาคการส่งออกที่ชะลอตัวจนดึงให้จีดีพีของไทยในปีนี้ชะลอตัวลงเหลือ 2.5% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 2.8% อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหากหันไปดูภาคท่องเที่ยวหรือการส่งออกบริการกลับยังเติบโตได้ดีกว่ามาก โดยใน 10 เดือนแรกของปีนี้พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโตได้ 4.3% และรายได้เติบโตไป 5.7% มากกว่าจีดีพีมากกว่า 2 เท่า แต่หากมองไปข้างหน้าก็มีคำถามว่าในระยะต่อไปแรงส่งแบบนี้จะยังต่อเนื่องแค่ไหน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวสำคัญของไทยและมีสัดส่วนประมาณ 27% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ถือความสำคัญอย่างมากต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยและทั่วโลก
“ที่ผ่านมาจะมีข่าวว่าเศรษฐกิจีนกำลังชะลอลง ค่าเงินบาทก็แข็งค่าขึ้น มีประเทศอื่นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวคู่แข่งกับไทยมากขึ้น เช่นญี่ปุ่นหรือประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามที่พยายามลงทุนในเรื่องนี้ บทวิจัยนี้จึงพยายามจะเจาะลงไปที่นักท่องเที่ยวจีนและมองไปในอีก 10 ปีข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งในแง่ที่แนวโน้มการท่องเที่ยวของคนจีนเอง กระแสการท่องเที่ยวของคนจีนในไทย หรือจีนเที่ยวไทยว่าเรามีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร และการเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการในไทยจะต้องปรับตัวรับมืออย่างไรบ้าง” ดร.พชรพจน์ กล่าว
นางสาวพิมฉัตร เอกฉันท์ นักวิจัย Krungthai Compass กล่าวว่าหากมองด้านกำลังซื้อคนจีนถือว่ายังมีกำลังซื้อมหาศาล แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงในระยะหลัง สืบเนื่องจากสัดส่วนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2010 ที่มีประมาณ 1.7% เพิ่มเป็น 8.2% และ 58.5% ในปี 2018 และคาดว่าจะเป็นในปี 2030 นอกจากนี้ รายได้ที่เพิ่มมากขึ้นของชนชั้นกลางจีนยังนำไปสู่งการท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2013-2018 โดยเฉพาะคนในเมืองที่รายได้มีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ขณะที่คนในชนบทแม้จะมีความสัมพันธ์น้อยลงไปถือว่ายังเพิ่มขึ้นไปด้วยกันอยู่
สำหรับปัจจัยค่าเงินโดยหากคำนวณจากค่าเงินของ 7 ประเทศหลักตามสัดส่วนการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีน พบว่าการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินไม่ได้สัมพันธ์มากนักกับจำนวนนักท่องเที่ยว และในบางช่วงเวลาที่ค่าเงินหยวนอ่อนค่ามาก จำนวนนักท่องเที่ยวจีนกับเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ สะท้อนว่ามีปัจจัยอื่นที่อาจจะกำหนดการตัดสินใจไปท่องเที่ยวของคนจีนนอกจากเรื่องราคา แม้ว่าจะมีคนจีนบางส่วนที่อาจจะอ่อนไหวต่อราคาจนเปลี่ยนประเทศที่จะไปเที่ยวตามค่าเงินอยู่บ้างก็ตาม
นอกจากนี้ จีนยังมีแผนขยายสนามบินและเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง โดยจะเพิ่มสนามบินใหม่อีกกว่า 217 แห่งภายในปี 2035 รวมทั้งปรับโครงสร้างพื้นฐานสนามบินเดิม มีการส่งเสริมให้คนจีนทำหนังสือเดินทางมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันคนจีนมีหนังสือเดินทางค่อนข้างน้อยประมาณ 240 ล้านคน หรือคิดเป็น 15% ของประชากรทั้งหมด รวมทั้งมาตรการผ่อนคลายด้านวีซ่าของประเทศต่างๆหนุนให้ชาวจีนเที่ยวนอกได้ง่ายขึ้นโดยวัดจากระดับการเปิดประเทศ เช่นข้อกำหนดเกี่ยวกับการขอวีซ่าที่ง่ายขึ้น การให้บริการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศที่ดี เป็นต้น
“จากปัจจัยดังกล่าวทำให้เราคาดว่าการท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีนจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 6.9% จาก 160 ล้านคน ในปี 2019 เป็น 334 ล้านคน ในปี 2030 เนื่องจากกำลังซื้อที่ยังเพิ่มขึ้น แม้เพิ่มในอัตราที่ชะลอลงบ้างตามทิศทางเศรษฐกิจ ชาวจีนรวยขึ้นในลักษณะกระจายตัวตามมณฑลต่างๆ โดยสัดส่วนชนชั้นกลางจะเพิ่มขึ้นจนเกือบเป็นครึ่งหนึ่งของครัวเรือนจีน นอกจากนี้โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปทำให้คนยุค Millennials จะเติบโตขึ้นมาเป็นนักท่องเที่ยวหลักของประเทศกว่า 80% และจากการคาดการณ์พบว่าคนในยุคดังกล่าวในปีนี้ประมาณ 167 ล้านคน ประมาณ 20% จะท่องเที่ยวต่างประเทศหรือจะสร้างนักท่องเที่ยวจีนหน้าใหม่ราว 33 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า” นางสาวพิมฉัตร
นายณัฐพร ศรีทอง นักวิจัย Krungthai Compass กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันไทยยังเป็นปลายทางแหล่งท่องเที่ยวอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวจีน รองลงมาคือญี่ปุ่นและเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังมานี้กลับพบว่าการเติบโตของเกาหลีใต้และญี่ปุ่นกำลังมาแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในไทยเติบโตเพียง 2% เทียบกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ 15% และ 27% ตามลำดับ คำถามต่อไปคือแล้วอะไรเป็นปัจจัยที่คนจีนคำนึงเวลาออกไปเที่ยวบ้าง จากผลสำรวจของ Nielsen และ Hotels.com พบว่าความสวยงานมีเอกลักษณ์ของสถานที่ท่องเที่ยวและความปลอดภัยเป็นปัจจัยอันดับแรกๆ ที่คนจีนให้ความสนใจ รองลงมาคือกลุ่มความยากง่ายของการขอวีซ่า แหล่งช้อปปิ้ง ความเป็นมิตรของคนในท้องถิ่น ราคาที่ถูก เป็นต้น
หากหันมาดูความสามารถในการแข่งขันของจากการจัดอันดับของหลายสถาบันพบว่าประเทศไทยมีจุดแข็งอยู่ที่ความงดงามทางธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ การบริการท่องเที่ยว การขนส่งทางอากาศ และราคา อย่างไรก็ตาม เรื่องความปลอดภัยถือว่าเป็นปัจจัยใหญ่ที่ไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่อย่างชัดเจนด้วยอันดับที่ต่ำกว่าคู่แข่งค่อนข้างมาก ดังนั้น ในแง่นี้จึงไทยต้องแข่งขันด้วยการรักษาจุดแข็งด้วยการเพิ่มความหลากหลายและความพร้อมของแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ โดยเฉพาะเมืองรอง เช่น จังหวัด เชียงราย สุโขทัย ตราด ตรัง และแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนมากกว่าเมืองหลักหรือกรงเทพเกือบ 2-3 เท่าในระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากนักท่องเที่ยวในปัจจุบันที่เด็กลงและมีความสามารถเข้าถึงข้อมูลในโลกออนไลน์และสามารถท่องเที่ยวได้ด้วยตนเอง ซึ่งเริ่มมองหาแหล่งท่องเที่ยวประเภท Unseen รวมถึงเมืองรองทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น โดยเวียดนาม เมียนมาและกัมพูชา เป็นแหล่งท่องเที่ยวมาแรงในสายตาของนักท่องเที่ยวจีน ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยที่จริงจังมากขึ้น
“ในอนาคต Krungthai Compass ประเมินแนวโน้มนักท่องเที่ยวจีนออกเป็น 2 กรณี โดยกรณีแรก คือ หากไทยสามารถรักษาสัดส่วน 7% ของชาวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาเยือนไทยมีโอกาสแตะ 23 ล้านคน ในปี 2030 จากขณะนี้ที่มีจำนวน 11.1 ล้านคน และกรณีที่สอง คือ หากการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม อาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเติบโตเพียง 5.5% หรืออยู่ที่ 20 ล้านคนใน 10 ปีข้างหน้า” นายณัฐพร กล่าว
ประเด็นสุดท้ายที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวจีนคือ “โซเชียลมีเดีย” โดยกว่า 40% ตัดสินใจผ่านโซเชียลมีเดียอย่าง weChat และ Wei Bo และในแง่ของกระบวนการพบว่าโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมากขึ้นจากช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้ ตั้งแต่การรับรู้สินค้าที่เพิ่มขึ้น 1.4 เท่า การประเมินและเปรียบเทียบเพิ่มขึ้น 1.8 เท่า และการซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้น 3.6 เท่า
“ในแง่นี้ที่สำคัญผู้ประกอบการไทยควรทำการตลาดบนโซเชียลมีเดียจีนมากขึ้น เพื่อดึงดูดความสนใจและสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวจีนที่เชื่อถือข้อมูลบนโซเชียลมีเดียสูงมาก การสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์จีนนั้น อาจมีความท้าทายจากกฎระเบียบของประเทศจีน ผู้ประกอบการไทยจึงอาจเลือกใช้บริการจากเอเจนซีผู้เชี่ยวชาญในการทำการตลาดออนไลน์บนแพลตฟอร์มของจีนแทน ซึ่งมีทั้งบริษัทคนไทยและบริษัทร่วมทุน โดยสามารถจัดทำเป็นบทความภาษาจีนที่น่าสนใจ เพื่อเผยแพร่ในรูปแบบและช่องทางที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย การส่งแบนเนอร์ของธุรกิจไปยังหน้าจอ WeChat ตลอดจนการใช้บุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดของชาวจีน (Key Opinion Leaders) ที่มีอยู่มากมายช่วยรีวิวสินค้าและบริการ” นายณัฐพร กล่าว