ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “18 กก.บห. พลังประชารัฐ ลาออก” และ “ฮิวแมนไรท์วอทช์-แอมเนสตี้ฯ จี้กัมพูชาแจงผู้ลี้ภัยไทยถูกลักพาตัว”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “18 กก.บห. พลังประชารัฐ ลาออก” และ “ฮิวแมนไรท์วอทช์-แอมเนสตี้ฯ จี้กัมพูชาแจงผู้ลี้ภัยไทยถูกลักพาตัว”

6 มิถุนายน 2020


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 30 พ.ค. – 5 มิ.ย. 2563

  • 18 กก.บห. พลังประชารัฐ ลาออก
  • ศักดิ์สยาม สั่งห้ามทุกรัฐวิสาหกิจจ่ายโบนัสเด็ดขาด
  • กระทรวงการคลังเตรียมตรวจสอบสิทธิกลุ่มตกหล่นเยียวยาโควิด
  • พุทธิพงษ์เผย Thaiflix แค่แนวคิด หวังสร้างแพลตฟอร์ม
  • ฮิวแมนไรท์วอทช์-แอมเนสตี้ฯ จี้รัฐบาลกัมพูชาชี้แจงกรณีผู้ลี้ภัยชาวไทยถูกลักพาตัว

  • 18 กก.บห. พลังประชารัฐ ลาออก

    นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

    เว็บไซต์ไทยพีบีเอสรายงานว่าวันที่ 1 ม.ย. 2563 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ทำหนังสือถึงหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พร้อมแนบรายชื่อกรรมการบริหารพรรคลาออก จำนวน 18 คน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2563 เป็นต้นไป จึงเป็นเหตุให้จำนวนกรรมการบริหารพรรคว่างลงเกินกึ่งหนึ่งของกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐทั้งหมด มีผลทำให้กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เป็นไปตามข้อบังคับพรรค ข้อที่ 15 (3) และตามข้อบังคับพรรค ข้อที่ 15 วรรคสาม กำหนดว่า

    “ในกรณีกรรมการบริหารพรรคการเมืองพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ยกเว้น (2) ให้เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองชุตใหม่ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ” และตามวรรคสี่ “ในกรณีที่มีเหตุให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะให้กรรมการบริหารพรคการเมืองที่พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งคณะกรมการบริหารพรคการเมืองชุดใหม่”

    ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงมีหนังสือฉบับนี้มาเพื่อขอให้ท่านในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐได้เรียกประชุมรักษาการคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐโดยเร็ว เพื่อเร่งกำหนดวันจัดประชุมใหญ่สามัญและให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐชุดใหม่ ภายใน 45 วันนับจากวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ข้อที่ 15 วรรค 4 จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการ
     
    รายชื่อกรรมการบริหารพรรคที่ยื่นหนังสือลาออกทั้ง 18 คน มีดังนี้ 
    1. นายสันติ พร้อมพัฒน์ 2. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ 3. นายสุพล ฟองงาม 4. นายธรรมนัส พรหมเผ่า 5. นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ 6. นายไผ่ ลิกค์ 7. นายนิโรธ สุนทรเลขา 8. นายสัมพันธ์ มะยูโซะ 9. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 10. นายพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ 11. นายชาญวิทย์ วิภูศิริ 12. นายสกลธี ภัทรยิกล 13. นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ 14. นายสุรชาติ ตรีบุศกร 15. นายนิพันธ์ ศิริภร 16. นายสุริยะ จึงรุ่งเรื่องกิจ 17. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 18. นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ

    เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า กก.บห. พรรคที่ดำรงหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค ที่ต้องสิ้นสภาพไปพร้อมกัน ได้แก่

    1. นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค – รมว.กระทรวงการคลัง
    2. นายวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค – รมว. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
    3. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรค – รมว.กระทรวงศึกษาธิการ
    4. นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค
    5. นายอนุชา นาคาศัย รองหัวหน้าพรรค
    6. นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค – รมว.กระทรวงพลังงาน

    และยังรายงานด้วยว่า นายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนสมาชิกพรรค พปชร. หนึ่งใน กก.บห.ของพรรคที่ไม่ได้ยื่นใบลาออก ยอมรับว่าคาดการณ์มาก่อนแล้วและเห็นว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่การปรับเก้าอี้คณะรัฐมนตรี แต่ในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญสถานการณ์โรคระบาด ไม่คิดว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะเกิดขึ้นเร็ว เพราะประเทศยังไม่พ้นวิกฤติ การปรับเปลี่ยนภายในพรรคอาจกระทบกระเทือนต่อการทำงานของการดูแลพี่น้องประชาชนเพราะ พปชร. เป็นพรรคแกนนำหลักของรัฐบาล

    “เจตนาของคนที่ลาออกและความเปลี่ยนแปลงนี้คงมีเจตนาแบบนั้น เพราะว่าเป็นที่ทราบกันทั่วไปอยู่แล้วว่าน่าจะเกี่ยวไปถึงการปรับ ครม.”

    เมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกนายอุตตมและนายสนธิรัตน์เข้าพบเพื่อเคลียร์ใจและส่งสัญญาณให้ทำงานต่อในตำแหน่ง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เป็นเวลาที่ต้องมุ่งทำงานในภาวะที่กำลังเผชิญโรคโควิด-19
    เมื่อถามว่าความเคลื่อนไหวนี้มีไฟเขียวจาก พล.อ. ประยุทธ์ แล้วหรือไม่ นายวิเชียรกล่าวว่า “ต้องถามท่านดู การเมืองก็อย่างงี้ล่ะครับ”

    ส่วนจะมีการประชุมวิสามัญเมื่อใดนั้น รักษาการนายทะเบียนพรรคบอกว่ายังต้องคุยกันเป็นลำดับต่อไป เนื่องจากตอนนี้อยู่ในช่วงบังคับใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน การประชุมที่สมาชิกเดินทางมาจากทั่วประเทศอาจยุ่งยากพอสมควร รวมไปถึงการจัดสถานที่ประชุมสำหรับคนจำนวนมากด้วย

    “ศักดิ์สยาม” สั่งห้ามทุกรัฐวิสาหกิจจ่ายโบนัสเด็ดขาด

    นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

    วันที่ 4 มิ.ย. 2563 เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้พูดถึงเรื่องโบนัสของรัฐวิสาหกิจในการประชุมหัวหน้าหน่วยงานกระทรวงคมนาคม โดยสั่งห้ามเสนอเรื่องจ่ายโบนัสเด็ดขาด หากหน่วยงานใดเสนอมานั้นจะรายงานต่อนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาตำแหน่งผู้บริหารหน่วยงานนั้น เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลต้องใช้เม็ดเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 หากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ จะจ่ายโบนัส 7 เดือน 8 เดือนก็ได้ ดังนั้นขอความร่วมมือและให้ชี้แจงพนักงานให้เข้าใจสถานการณ์ นอกจากนี้การที่รัฐบาลต้องกู้เงิน แต่รัฐวิสาหกิจมีกำไรจ่ายโบนัส ต้องถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์แน่นอน

    ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีทั้งสิ้น 12 หน่วย โดยล่าสุดเหลือ 11 หน่วยเนื่องจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พ้นจากสภาพรัฐวิสาหกิจหลังกระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้น โดยรัฐวิสาหกิจที่มีการจ่ายโบนัสสูงสุด คือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. โดยปี 2562 จ่ายโบนัส 7.25 เท่าของเงินเดือน จากผลดำเนินงานที่มีกำไรสุทธิ 2.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปี 2563 คาดว่าผลประกอบการและกำไรจะลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่สายการบินหยุดทำการบิน โดยช่วง 6 เดือนแรก/63 มีกำไรสุทธิ 1 หมื่นล้านบาทเศษ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 21.68% แต่คาดว่าครึ่งปีหลังมีโอกาสฟื้น และยังมีศักยภาพในการจ่ายโบนัสได้ ล่าสุด รายงานข่าวแจ้งว่า ทอท. จะงดจ่ายโบนัสในปี 2563

    กระทรวงการคลังเตรียมตรวจสอบสิทธิกลุ่มตกหล่นเยียวยาโควิด

    เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานความคืบหน้าของการเยียวยาผลกระทบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ล่าสุดได้มีการเปิดเผยรายละเอียดภายหลังการประชุมที่กระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการเยียวยากลุ่มประชาชนที่ยังตกหล่นจากมาตรการเยียวยาของภาครัฐเป็นล็อตสุดท้ายรวม 9 ล้านราย

    ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการเยียวยาผลกระทบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ให้รายละเอียดว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการเยียวยากลุ่มประชาชนที่ยังตกหล่นพบว่ามีอยู่ราว 9 ล้านคน ซึ่งเป็นล็อตสุดท้ายที่จะเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อพิจารณาเยียวยา

    โดย กลุ่มตกหล่นที่คลังได้ทำการพิจารณาเยียวยาในที่ประชุม 9 ล้านราย สามารถแบ่งออกเป็น 1. กลุ่มที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 1.2 ล้านคน 2. กลุ่มที่ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5 พันบาทไม่สำเร็จ จำนวน 1.7 ล้านคน ซึ่งคัดกรองจากความซ้ำซ้อนรับมาตรการแล้วเหลือ 3 แสนคน แต่ยังไม่รู้ว่า จะได้รับเงินเยียวยา 5 พันบาทหรือไม่ 3. กลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการ ผู้สูงอายุ และเด็ก จำนวน 6.9 ล้านคน โดยคัดกรองความซ้ำซ้อนในการรับมาตรการรัฐจาก 13 ล้านคน จะได้รับ 1 พันบาท ระยะ 3 เดือน 4. กลุ่มที่ไม่ได้รับการดูแลจากประกันสังคม เนื่องจาก จ่ายประกันสังคมไม่ครบ 6 เดือน จำนวน 6.6 หมื่นคน กลุ่มนี้ จะได้รับเยียวยา 5 พันบาท เป็นเวลา 3เดือน

    พุทธิพงษ์เผย Thaiflix แค่แนวคิด หวังสร้างแพลตฟอร์ม

    นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า วันที่ 4 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสแนวคิดสร้าง แพลตฟอร์มไทย Thaiflix เป็นช่องทางขึ้นมาแข่งขันกับแพลตฟอร์มต่างประเทศว่า เป็นแนวคิดที่ตนแนะนำในระหว่างจัดประชุมทางไกล RoLD Virtual Forum : Living with COVID-19 ตอน “How to Empower Digital Citizenship in COVID-19 Era” เพื่อให้อุตสาหกรรมธุรกิจในหลายๆ ประเภท ได้มีทางเลือกในการแข่งขันและหาโอกาสเติบโตของธุรกิจ

    แพลตฟอร์มของไทยก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เนื่องจากคนไทยคุ้นเคยกับการใช้แพลตฟอร์มของต่างประเทศ ทำให้รายได้จากการใช้แพลตฟอร์มไหลออกไปยังต่างประเทศ ดังนั้น หากมีแพลตฟอร์มของไทยไว้ใช้เองก็จะมีข้อดี จึงยกตัวอย่างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เห็นภาพได้ชัดเจน ไม่ว่าละคร ภาพยนตร์ เกมโชว์ และสารคดีของไทยที่ดีๆ มีมากมาย

    เรามีของดีในมือมาก ละคร หนัง เกมโชว์ต่างๆ แต่โดยปกติเราใช้ประโยชน์ครั้งเดียว เสร็จแล้วก็จบไป จึงยกตัวอย่างแพลตฟอร์มในลักษณะนี้อย่าง Netflix ที่รวบรวมเอาหนัง-ละครจากหลายๆ ประเทศมารวมกัน

    ไม่ว่าเกาหลี จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สเปน ให้คนเข้าถึงสะดวกในการใช้งาน จึงคิดว่าคอนเทนต์หนัง-ละคร ไทยมีเยอะ ถ้ามีศูนย์รวมทำแบบนี้ ช่อง 3 5 7 9 11 ช่องวัน ช่องดิจิทัลก็มีคนทำ ถ้ามี เราก็ควรส่งเสริมให้เกิดการรวบรวม โดยรัฐบาลเป็นเจ้าภาพทำแพลตฟอร์มกลางให้เอกชนเอาคอนเทนต์มาใส่ ไม่ว่าคนจะอยู่ที่ไหนก็ตามสามารถดูได้ ตอนนี้คนไปดูในยูทูบ ซึ่งก็เป็นคอนเทนต์หนึ่ง โดยบางทีเจ้าของหนัง-ละครไม่ได้อะไรเลย เม็ดเงินโฆษณาก็หายไปมาก

    การนำมารวมกันตรงนี้ก็คล้ายๆ กับ Netflix ซึ่งนอกจากจะให้คนไทยได้ชมแล้ว เนื้อหารายการบางอย่าง หรือที่มีคอนเทนต์ดีๆ ก็สามารถนำไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้อีกด้วย เพราะขณะนี้ตลาดทั้งอาเซียนก็สนใจดูหนัง-ละครไทย

    “คำว่า Thaiflix ยังไม่มีใครตั้ง เป็นเรื่องของแนวคิดและการพูดเปรียบเทียบให้คนเห็นภาพและเข้าใจง่าย ว่าหากประเทศไทยมีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง เราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง โดยที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน ตอนนี้เป็นแค่แนวคิด การที่จะผลักดันให้แนวคิดเกิดขึ้นได้ หัวใจสำคัญอยู่ที่ผู้ประกอบการของธุรกิจนั้นๆ ตลอดจนกลุ่มลูกค้า หรือผู้ที่จะมาใช้บริการ ” ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าว

    นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า การทำแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่นอกจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ผ่านมารัฐบาลพูดคุยกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล่านั้นมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ภาพยนตร์ แต่ยังมีธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ การซื้อขายของออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านๆ มาพบปัญหาการเก็บค่าบริการที่สูง บางเจ้าเก็บค่าบริการสูงถึง 30% และยังมีค่าขนส่ง ทำให้ต้นทุนร้านเล็กๆ สูงขึ้น และส่งผลให้ขาดทุน

    ฮิวแมนไรท์วอทช์-แอมเนสตี้ฯ จี้รัฐบาลกัมพูชาชี้แจงกรณีผู้ลี้ภัยชาวไทยถูกลักพาตัว

    วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
    ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก WANCHALEARM SATSAKSIT

    เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch-HRW) ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการลักพาตัววันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยในประเทศกัมพูชา และเรียกร้องให้ทางการกัมพูชาออกมาชี้แจงเรื่องนี้ทันที

    แถลงการณ์ระบุว่า “กรณีการลักพาตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวไทยในกรุงพนมเปญ เป็นเรื่องที่ทางการกัมพูชาต้องออกมาชี้แจงโดยทันที” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการ HRW ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวพร้อมกับเรียกร้องให้สืบสวนและตามหาตัววันเฉลิมอย่างเร่งด่วนเพื่อให้แน่ใจว่าเขาปลอดภัย

    “รัฐบาลกัมพูชามีหน้าที่ค้นหาว่าเกิดอะไรขึ้นกับวันเฉลิมซึ่งถูกใช้อาวุธปืนจี้และลักพาตัวไปในกรุงพนมเปญ”

    นายอดัมส์ยังเรียกร้องให้นานาชาติและองค์กรทุนต่าง ๆ กดดันให้รัฐบาลกัมพูชาดำเนินการหรือใช้มาตรการจำเป็นใดก็ตามเพื่อตามหาตัววันเฉลิมให้พบ ไม่เช่นนั้นอาจถูกมองว่าสมรู้ร่วมคิดกับการลักพาตัวครั้งนี้

    ขณะที่แถลงการณ์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พุ่งเป้าไปที่รัฐบาลกัมพูชาเช่นเดียวกัน โดยระบุว่าทางการกัมพูชาจะต้องตามหาตัววันเฉลิมอย่างเร่งด่วนเพื่อให้แน่ใจว่าเขาปลอดภัย และหากพบตัว จะต้องไม่ส่งกลับประเทศไทย เพราะ “เสี่ยงที่จะถูกประหัตประหาร”

    เดวิด กริฟฟิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแถลงว่า ทางการกัมพูชาต้องเร่งสืบสวนต่อข้อกล่าวหาที่ว่า วันเฉลิมถูกลักพาตัวและต้องสืบให้ทราบว่าเขาอยู่ที่ใด ส่วนทางการไทยต้องยืนยันว่าวันเฉลิมถูกจับตามคำร้องขอของตนหรือไม่

    “หากวันเฉลิมถูกควบคุมตัวอยู่ ทางการกัมพูชาต้องยืนยันว่า เขาอยู่ในการควบคุมของทหารหรือตำรวจ หากเขาอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของรัฐ เราขอให้ทางการประกันว่า ได้มีการควบคุมตัวเขาในสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ และอนุญาตให้เขาสามารถติดต่อทนายความอิสระ เข้าถึงบริการทางการแพทย์และติดต่อครอบครัวได้ทันที”

    “การหายตัวไปอย่างกะทันหันของเขาในเหตุการณ์ที่รุนแรง เป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างยิ่ง” แอมเนสตี้ฯ ระบุ

    อ่านรายละเอียดทั้งหมดที่นี่