ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > “มหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อสังคม” เป้าหมายจุฬาฯ หลังก้าวสู่Top100 มหาวิทยาลัยโลก

“มหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อสังคม” เป้าหมายจุฬาฯ หลังก้าวสู่Top100 มหาวิทยาลัยโลก

13 มิถุนายน 2020


ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้รักษาการแทนอธิการบดีจุฬาฯ

“เราใช้เวลา 100 ปี ในการก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่ติดท็อป 100 มหาวิทยาลัยโลก” ดร.เอกก์ ภทรธนกุล รักษาการผู้ช่วยอธิการบดีด้านแบรนด์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบคำถาม “ไทยพับลิก้า” ในงาน “อธิการบดีชวนสื่อจิบน้ำชายามบ่าย เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน 2563  ที่เรือนจุฬานฤมิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อถูกถามคำถามว่า “จุฬาฯใช้เวลานานเท่าไหร่ในการก้าวขึ้นสู่ 100 อันดันแรกของมหาวิทยาลัยโลก”

งานพบสื่อมวลชนนี้เป็นงานที่จัดขึ้นสดๆร้อนๆ หลังจาก 7 โมงเช้าของวันพุธที่ 10 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมาQS World University Rankings 2021 ได้ประกาศผลการจัดอันดับล่าสุด โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับ 96 ของโลกในด้านมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทางด้านวิชาการ (Academic Reputation) จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ที่ มีสถาบันอุดมศึกษาร่วมการจัดอันดับ 1,604 แห่งจากทั่วโลก โดยมีอันดับดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปีที่แล้วถึง 39 อันดับ

ถือเป็นอันดับที่ดีที่สุดที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเคยได้รับการจัดอันดับที่ผ่านมา จุฬาฯ ยังครองอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยไทยเป็นปีที่ 12 ติดต่อกัน และอยู่ในอันดับที่ 46 ของมหาวิทยาลัยระดับเอเชีย

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้รักษาการแทนอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาฯ ภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนของคนไทยขึ้นสู่ Top 100 ของโลกด้านชื่อเสียงทางวิชาการ จากการจัดอันดับโดย QS World University Rankings 2021 เป็นผลจากการพัฒนาการเรียนการสอนและงานวิชาการอย่างไม่หยุดนิ่งโดยประชาคมจุฬาฯ เพื่อพัฒนาคนไปพร้อมกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะช่วยนำพาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ทำให้วันนี้ จุฬาฯ เป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยนวัตกรรม เพื่อสังคม ซึ่ง 3 แกนหลักที่จุฬาฯ มุ่งผลักดันพัฒนาให้ถึงขีดสุด คือ คน นวัตกรรม และความยั่งยืนทางสังคม

“เราทำเพื่อพยายามนำความรู้มาเพื่อให้สามารถสร้างประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม จึงกลายเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อสังคม และทำให้จุฬาฯ ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เราหวังว่าเมื่อเราไปถึงท็อป100 แล้วในอนาคตจะมีมหาวิทยาลัยอื่นๆในไทยเช่นเดียวกัน เราหวังว่าสิ่งดีๆจะเกิดขึ้นในสังคมและจะเป็นสติปัญญาที่นำไปสู่การพัฒนาบ้านเมืองในอนาคต”

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก โดย QS World University Rankings 2021 พิจารณาจากตัวชี้วัด     6 ด้าน ประกอบด้วยความมีชื่อเสียงด้านวิชาการ (40%) การเป็นที่ยอมรับจากนายจ้าง (10%) สัดส่วนของอาจารย์ต่อนิสิต (20%) ผลงานวิชาการต่ออาจารย์ (20%) สัดส่วนของอาจารย์ชาวต่างชาติ (5%) และสัดส่วนของนิสิตชาวต่างชาติ (5%)  ซึ่งความมีชื่อเสียงด้านวิชาการ (Academic Reputation) เป็นตัวชี้วัดสำคัญในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS สะท้อนความเชื่อมั่นผ่านการแสดงความคิดเห็นจากตัวแทนนักวิชาการ ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษากว่า 100,000 คนทั่วโลก

“ในกระบวนการจัดอันดับเขาเชิญคนระดับศาตราจารย์ คณบดี ของมหาวิทยาลัยทั่วโลก โหวตมหาวิทยาลัย 40 รายชื่อ คะแนนที่จุฬาฯได้รับส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ ซึ่งในแง่บวกนั่นหมายความว่าการยอมรับของต่างประเทศที่มีต่อไทยสูงมาก”

ในภาษาทางการตลาด สิ่งนี้คือ “ Top of Mind” ในฐานะรักษาการผู้ช่วยอธิการบดีด้านแบรนด์ ดร.เอกก์ ประเมินว่า หัวใจสำคัญที่ทำ จุฬาฯ เป็น Top of Mind ของตัวแทนนักวิชาการ ผู้ประกอบการทั่วโลก 1. นิสิตจุฬาฯเก่งเมื่อไปเรียนต่อต่างประเทศคนจะจดจำได้ 2. มี Brand Sponsorship ที่สร้างการจดจำผ่านโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยระดับโลก เช่น โครงการร่วมมือสาขาการตลาดของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์   ความร่วมมือของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับเคลล็อค หรือสุดยอดสาขาธุรกิจวอลตัน บิสซิเนส สคูล  3. จุฬาฯมี Brand Endorsement เป็นผู้นำสำคัญในระดับโลกทำให้เป็นที่จดจำ เช่น การเดินทางมาไทยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส ที่ทรงแสดงปาฐกถาพิเศษ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ

ดร.เอกก์ ภทรธนกุล รักษาการผู้ช่วยอธิการบดีด้านแบรนด์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3 เป้าหมายในการพัฒนา คน – นวัตกรรม- ความยั่งยืน

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ในฐานะอธิการบดีที่กำลังเข้าสู่วาระที่ 2 อธิบายว่า จุฬาฯมุ่งเน้นการพัฒนา 3 ด้านได้แก่ การพัฒนาคน (Building human capital) เพราะ “คน” คือ ปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ จุฬาฯ จึงเสริมสร้างและพัฒนาบัณฑิตทุกคน (Educating future leader) ให้มีคุณสมบัติพร้อมเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของประเทศและโลก บัณฑิตจุฬาฯ จะต้องมีความสามารถด้านวิชาการ  มีทักษะทันสมัยของศตวรรษที่ 21 มีจิตสาธารณะ และมีความเป็นผู้นำ

การสร้างสรรค์นวัตกรรม (Boosting innovations and knowledge) นวัตกรรมของจุฬาฯ จะไม่เป็นเพียงแค่สิ่งประดิษฐ์ในห้องเรียน แต่นวัตกรรมของจุฬาฯ จะต้องนำไปใช้ประโยชน์ได้ แก้ปัญหาจริง เป็นที่นิยมของผู้ใช้งาน และที่สำคัญคือ ขายได้ หรือมีมูลค่าเชิงพาณิชย์ด้วย  ผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมของจุฬาฯ เช่น การพัฒนาต้นแบบ “วัคซีน COVID-19” โดยทดลองในลิงเป็นแห่งแรกในประเทศไทย จุฬาฯ ผนึกกำลังพันธมิตรเปิดตัว“ปัตตานีโมเดล”ด้วยการปูพรมตรวจภูมิคุ้มกันก่อนคลายล็อกดาวน์ให้ชาวปัตตานีนับหมื่นรายด้วยชุดตรวจว่องไว “Chula Baiya Strip Test”  จุฬาฯ สร้างรากฐานนวัตกรไทยด้วยการเปิดพื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์ SID หรือ Siam Innovation District ให้เป็นศูนย์รวมการประยุกต์ใช้   องค์ความรู้และนวัตกรรมของประเทศ และเป็นพื้นที่สำหรับการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง

หนึ่งในนวัตกรรมเพื่อสังคมในช่วงโควิด-19 CU-RoboCovid คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนา “น้องปิ่นโต” หุ่นยนต์พัฒนาเพื่อการขนส่งและการสื่อสารทางไกลเพื่อช่วยสนับสนุนภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์

ในแง่การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน (Brightening and leading glocal society) จุฬาฯ กำหนดให้ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เป็นหลักคิดในการดำเนินนโยบายของมหาวิทยาลัยตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา  เราไม่เพียงยกระดับการบริหารงานมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลเท่านั้น แต่จุฬาฯ คิดได้ไกลขึ้น ไม่ใช่แค่ 5 ปี หรือ 10 ปี แต่มองไกลถึงคุณภาพชีวิตของประชาคมจุฬาฯ ชุมชนโดยรวม รวมไปถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลานอีกด้วย โดยจุฬาฯ ได้เริ่มต้นการพัฒนาอย่างยั่นยืนด้วยการจัดการสิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภค และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และได้ขยายขอบเขตการทำงานไปสู่การยกระดับงานวิจัยให้สอดคล้องกับหลัก SDGs อีกทั้งยังทำงานในเชิงโครงสร้างนโยบายของมหาวิทยาลัยด้วย โดยเฉพาะในด้านเมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน (SDG 11) มหาวิทยาลัยได้มอบอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ เพื่อเป็นปอดกลางกรุงแก่ชุมชน อีกทั้งยังปลูกจิตสำนึกด้านการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (SDG 12) ให้เกิดขึ้นในหัวใจของประชาคมจุฬาฯ ทุกคน ผ่านโครงการ Chula Zero Waste ซึ่งผลการรณรงค์ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาสามารถช่วยลดการเกิดขยะไปแล้วกว่า 100 ตัน

อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขาโครงการสร้างเสร็จระดับใหญ่ จาก World Landscape Architecture Awards 2019 (WLA) เป็นสวนสาธารณะแห่งอนาคตที่บรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตอบโจทย์การรองรับการระบายน้ำของพื้นที่กรุงเทพ รวมถึงการยุบตัวของพื้นที่กรุงเทพที่จะต่ำลงในอนาคตพื่อเป็นการป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต และเล็งเห็นไปถึงปัญหาระดับพื้นดินของกรุงเทพฯ ที่ลดลงต่ำ 1 เซนติเมตรในทุกๆ ปี อาจจะทำให้ทั้งเมืองอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลภายในปี 2030

“คณาจารย์นักวิจัยจุฬาฯ ได้สร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของประเทศ สร้างชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์วิกฤตจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) นวัตกรรมต่างๆ ล้วนเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ตอบสนองบทบาทของจุฬาฯ ในการเป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อสังคม” รักษาการอธิการบดีจุฬาฯ กล่าว