ThaiPublica > คนในข่าว > For Whom the Bell Tolls ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ‘กุนซือเศรษฐกิจ 7 รัฐบาล’ กับหน้าที่ลั่นระฆังก่อนภัยจะมา

For Whom the Bell Tolls ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ‘กุนซือเศรษฐกิจ 7 รัฐบาล’ กับหน้าที่ลั่นระฆังก่อนภัยจะมา

7 พฤศจิกายน 2021


ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ที่มาภาพ : นิตยสาร Optimise

For Whom the Bell Tolls ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ‘กุนซือเศรษฐกิจ 7 รัฐบาล’ กับหน้าที่ลั่นระฆังก่อนภัยจะมา เขียนโดย ธนกร จ๋วงพานิช *ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Optimise ของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ในห้องทำงานบนตึกสูงหลายสิบชั้นของดร.วีรพงษ์ รามางกูร ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์มหภาควัย 76 ปี หรือที่สังคมรู้จักกันมานานในนาม ‘ดร.โกร่ง’ มีสองสิ่งที่โดดเด่น หนึ่งคือนาฬิกาเจ้าคุณปู่ขนาดสูงท่วมหัวคน ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามโต๊ะทำงาน และอีกหนึ่งคือชั้นหนังสือสูงจากพื้นจรดเพดานเต็มสองฝาผนังห้อง ที่เรียงรายไว้ด้วยตำรับตำราหลากหลายตั้งแต่ The Marketing of Nations ของฟิลิป คอตเลอร์ Econometrics Statistical Foundations and Applications ของฟีบัส ดไรมส์ Making Globalization Work ของโจเซฟ สติกลิตซ์ ‘จดหมายเหตุลาลูแบร์’ ‘สามก๊ก’ ผลงานสำคัญเกือบทุกเรื่องของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือแม้กระทั่ง ‘มูลบทบรรพกิจ’ อันเป็นตำราเรียนภาษาไทยสมัยโบราณ ‘อมตพระกรุ’ อันเป็นคู่มือดูพระ และ ‘จักรทีปนีและลิลิตทักษาพยากรณ์’ อันเป็นคู่มือการดูดวง

ชั้นหนังสือนี้บ่งบอกได้เป็นอย่างดีถึงความกว้างขวางของภูมิทัศน์การทำงานและความสนใจของดร.วีรพงษ์ ผู้เคยผ่านงานอันเป็นส่วนผสมของศาสตร์และศิลป์มาอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะงานวิชาการในฐานะอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานบริหารธุรกิจในฐานะประธานกรรมการและกรรมการของบริษัทเอกชนหลายสิบแห่ง งานการเมืองตั้งแต่การเป็นที่ปรึกษาไปจนกระทั่งรัฐมนตรีใน 7 รัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบาลพล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน รัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และแน่นอนที่สุดงานคิดงานเขียนในฐานะคอลัมนิสต์ฝีปากคมที่ในระยะหลังดูเหมือนจะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ผ่านการวิจารณ์ออกสื่ออยู่เป็นประจำ จนเพื่อนฝูงคนใกล้ชิดมักมีความเห็นว่า ‘แรง’ ไว้ลายการเป็นลูกศิษย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ได้ชื่อว่าเป็น ‘เสาหลักประชาธิปไตย’ กระทั่งฝีมือในการผูกดวงชะตาวางราศีของดร.วีรพงษ์ยังได้รับการยอมรับในวงการว่าไม่ธรรมดา

ดร.วีรพงษ์ กล่าวไว้ในปาฐกถาครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนมีนาคมว่า “เราคาดการณ์ว่าจะอาศัยการท่องเที่ยวเป็นตัวช่วย เมื่อเกิดโควิด-19 ทุกอย่างผิดพลาดหมด ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจปีกลายเผาหลอก ต้นปีนี้เผาจริง และปลายปีจะเก็บกระดูกไปลอยอังคาร ให้เตรียมการไว้” ซึ่งหากฟังเป็นคำทำนายทางโหราศาสตร์ก็น่ากังวลอยู่แล้ว และยิ่งฟังหมดอนาคตหากเป็นคำพยากรณ์ทางเศรษฐศาสตร์ของดร.วีรพงษ์ ภาวะดังกล่าวดูห่างกันไกลกับเศรษฐกิจยุค ‘โชติช่วงชัชวาลย์’ ที่เขาและนานาเทคโนแครตเป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้นจนจีดีพีของประเทศไทยพุ่งทะยานเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ติดต่อกันหลายปี

บางทีอาจเป็นเช่นเดียวกับเสียงของนาฬิกาเจ้าคุณปู่ในห้องที่เมื่อถึงเวลาก็ดังกังวานขึ้นแบบไม่กลัวคนสะดุ้ง คำเตือนของดร.วีรพงษ์ชัดเจนไม่อ้อมค้อม และมุ่งบอกประเด็นที่ต้องรู้มากกว่าถนอมน้ำใจ

โลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม เสียงเตือนก่อนทุกอย่างจะสายเกินการณ์เป็นของสำคัญเสมอ

ฟันธงเศรษฐกิจ

สำหรับผู้ที่ได้อ่านบทความของดร.วีรพงษ์เป็นครั้งแรกในปัจจุบัน อาจรู้สึกว่าดร.วีรพงษ์ อยู่ฝั่งตรงข้ามรัฐบาลอย่างแน่ชัด แต่ในความเป็นจริง หากจะมีข้างดร.วีรพงษ์ ก็ดูเหมือนจะอยู่ข้างวิชาการ โดยไม่สนว่าข้างนั้นจะมีรัฐบาลอยู่หรือไม่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือในสมัยที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังปลุกกระแสด้วยโครงการจำนำข้าว ดร.วีรพงษ์ ผู้โดยทั่วไปควรต้องถือเป็นคน ‘ฝ่ายรัฐบาล’ อย่างยิ่งด้วยตำแหน่งประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กลับคือคนแรกๆ ที่ออกมาฟันธงว่า “รัฐบาลจะพังเพราะจำนำข้าว” จนเป็นที่เลื่องลือ สาเหตุเดียวที่บทความของดร.วีรพงษ์ ดูจะเจือการเมืองมากกว่าจะเพียงวิเคราะห์เศรษฐกิจ น่าจะมาจากความตระหนักโดยส่วนตัวของเขาว่าเศรษฐศาสตร์กับการเมืองอันเป็นรัฐศาสตร์นั้น ไม่อาจวินิจฉัยแยกจากกันได้ หากหวังผลเป็นความยั่งยืน

“วิชาเศรษฐศาสตร์มันเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าทางรัฐศาสตร์ ทางรัฐศาสตร์ถึงจะใช้คำว่า Political Science แต่ที่จริงมันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แต่เป็นความเป็นมนุษย์ (humanity) เสียเป็นส่วนใหญ่ ระบอบการปกครอง ระบบราชการ อะไรต่ออะไรเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นตามพลังทางสังคมอย่างเดียว ไม่เหมือนเศรษฐศาสตร์ กลไกตลาดมันเดิน มันทำงานของมันเอง มนุษย์ไม่เกี่ยว ดังนั้นถ้ามนุษย์เราจะเข้าไปทำความเข้าใจกับพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ มันมีเหตุมีผลมากกว่าทางรัฐศาสตร์ ทางรัฐศาสตร์เป็นเรื่องการกระทำของบุคคลเสียมาก จะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการหรืออะไร มันเกี่ยวดองกันหลายเรื่อง ไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์เท่าไหร่ อาจจะเป็นผลมาจากประวัติศาสตร์ของสังคมนั้น จากการแบ่งชนชั้นของคนในประเทศนั้น จากความเป็นมาหรือความต้องการของคนในแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน บางชาติหวงแหนสิทธิเสรีภาพ บางชาติไม่สนใจ ใครจะมาปฎิวัติยึดอำนาจไปก็ไม่ว่า จริงไหม”

…การที่เรามีพื้นฐานทางรัฐศาสตร์และกฎหมาย เป็นเหตุให้เราสามารถทำงานด้านเศรษฐกิจได้มีประสิทธิภาพมาก เราเข้าใจกลไกทางการเมือง กลไกระบบราชการ และในขณะเดียวกันก็เข้าใจกลไกทางเศรษฐกิจพร้อมๆ กันไปด้วย ผมจึงเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของพล.อ.เปรมที่มีความคิดเห็นไม่เหมือนใคร ไม่ได้เดินออกจากตำรา ผมเข้าใจดีว่าสำหรับนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหาร รัฐศาสตร์เขาอาจจะเข้าใจ แต่จะให้เขาเข้าใจเศรษฐศาสตร์ได้อย่างไร

พล.อ.เปรมบอกกับผมว่า ‘ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ของป๋าไม่ถึงประถมสี่’ ท่านถ่อมตัวมาก ท่านเรียกผมว่านาย ‘เพราะฉะนั้นนายมีหน้าที่ทำให้นายกฯ เข้าใจจนตัดสินใจได้ ถ้านายกฯ ไม่เข้าใจ ย่อมตัดสินใจให้ไม่ได้’ คำพูดท่านยังก้องอยู่ในหูเลย

…ประเทศเราได้ดำเนินนโยบายต่างๆ ในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยป๋าเปรม สมัยนายกฯ อานันท์ สมัยนายกฯ พี่จิ๋ว (พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ) แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ได้พัฒนาเลยคือการเมือง เพราะฉะนั้นมันจะเขย่งกันตามทฤษฎี คือทางเศรษฐกิจเจริญก้าวหน้า สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้พอสมควร แต่ทางด้านการเมืองนั้น ไม่ได้มีการพัฒนา อันนี้จะเป็นตัวฉุดดึงไม่ให้เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าต่อจากนี้ไปได้ การก้าวจากประเทศรายได้ปานกลางไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ในโลกนี้ไม่มีใครทำได้ด้วยเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เขาก็เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย เพื่อที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจของเขาไปข้างหน้า เพราะว่ามันเป็นเงื่อนไขในประชาคมระหว่างประเทศในการเจรจาการค้าก็ดี การลงทุนก็ดี ที่เขาไม่ต้อนรับประเทศเผด็จการทหาร เกาหลีใต้ที่เคยเป็นเผด็จการมาตั้งแต่สมัยพักช็อง-ฮี ก็ต้องเปลี่ยน ไต้หวันก็ต้องเปลี่ยน จีนยังต้องเปลี่ยนเลย

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ที่มาภาพ : นิตยสาร Optimise

…ขณะนี้เรากลับย้อนไปล้าหลังทางการเมืองยิ่งกว่าประเทศจีนอีก แล้วระดับการพัฒนาของเรายังสำคัญน้อยกว่าเทรนด์การพัฒนาของเรามันไปทางไหน เราไปสวนทางกับเขา ด้วยเหตุนี้ ผมจึงไม่เห็นด้วยกับการทำปฏิวัติรัฐประหาร ผมเชื่อว่าถ้าเราไม่ทำปฏิวัติรัฐประหารเที่ยวนี้ พรรคการเมืองจะต้องถูกประชาชนบีบให้อยู่ในร่องในรอยมากขึ้น เราจะได้ไม่ต้องมาตั้งต้นใหม่แบบนี้ เรากลายเป็นเหมือนรัฐบาลถนอม(กิตติขจร)หรือรัฐบาลประภาส (จารุเสถียร)ที่มีวุฒิสมาชิกมาช่วยลงคะแนนเลือกตัวเอง เท่ากับย้อนหลังไป 50 ปี ผมไม่ได้ว่าเรื่องบุคคล ผมว่าระบบ ระบบมันย้อนยุคไป ระหว่างเป็นที่ปรึกษาของป๋า ผมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ไปเยือนเวียดนามเยือนจีน เยือนอะไรต่ออะไร ได้ไปเห็นของจริง แล้วก็เห็นว่าระบอบการปกครองแบบสังคมนิยม แบบคอมมิวนิสต์มันไม่เวิร์กหรอก”

กระทั่งหมอดูที่แม่นที่สุดก็ไม่อยากกล่าวถึงความแม่นของตัวเอง แต่อาจเป็นเพราะเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่โหราศาสตร์ ดร.วีรพงษ์จึงค่อนข้างเชื่อมั่นในคำพยากรณ์ทางเศรษฐกิจของตัวเขาเสมอ เขาเคยให้สัมภาษณ์กับน.ส.พ.ประชาชาติธุรกิจในปี 2555 ว่า “ผมเหมือนตุ่มน้ำที่วางอยู่ข้างทาง ใครกระหายจะตักดื่ม หรือเดินผ่านไปก็ได้ ผมซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพของตัวเอง ผมอาจจะผิดก็ได้ แต่ผิดโดยสุจริต แต่โชคดี 30 กว่าปีมานี่ยังไม่เคยผิดเลย”

เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ก็สนับสนุนความเชื่อมั่นเช่นนั้นของดร.วีรพงษ์ เช่นครั้งหนึ่งพล.อ.เปรม เคยกล่าวเตือนพล.อ.ชวลิต นายกรัฐมนตรีที่คัดค้านคำแนะนำในการลดค่าเงินบาทของดร.วีรพงษ์ว่า “โกร่งมันอยู่กับเรามาตั้งแต่หนุ่มจนแต่งงานมีลูกแล้ว มันยังไม่เคยผิดเลย ฟังมันบ้าง” แต่ในที่สุดเมื่อพล.อ.ชวลิตไม่เชื่อทั้งคำดร.วีรพงษ์และพล.อ.เปรม ประเทศก็เดินทางไปสู่การประกาศลอยตัวค่าเงินบาทที่เป็นจุดเริ่มต้นของ ‘วิกฤติต้มยำกุ้ง’ ที่ลามไปทั่วเอเชีย

ในวันนี้ก็เช่นกัน ดร.วีรพงษ์ยังคงยืนยันคำเดิม “เท่าที่ผมพยากรณ์ไว้ มันก็เป็นไปอย่างที่ผมพยากรณ์ทั้งนั้น แต่คนที่เป็นตัวละครเขาไม่ได้คิดอย่างนั้น บางทีเราก็โกรธ แต่เราไม่ได้ว่าอะไร เพราะเขามีหน้าที่ เขาต้องรับผิดชอบ แต่ว่าในเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งที่ผมพยากรณ์ไว้มันไม่เคยผิด”

วิสัยนักอ่าน

ไม่ผิดหากจะบอกว่า ‘ความเป๊ะ’ ในหลักวิชาคือลักษณะของดร.วีรพงษ์มาตั้งแต่เด็ก ในบรรดาหนังสือที่วางเรียงรายอยู่บนชั้นในห้องทำงาน มีหลายเล่มที่หน้าแรกปรากฏลายมือคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนไว้ว่า “ให้แก่ นายวีรพงษ์ รามางกูร นิสิตชั้นปีที่…ในการสอบไล่ได้ที่ 1 ประจำปีการศึกษา…” เช่น Ideas and Issues in Public Administration หรือ A Textbook of Economic Theory และหนังสือบางเล่มอย่าง ‘๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า’ ในหน้าแรกก็ระบุว่า “ให้พระ ด.ช. วีรพงษ์ ธมมวีโร (รามางกูร) ผู้แต่งเรียงความแก้กระทู้ธรรม ๑๐ ครั้ง ได้คะแนนรวมเป็นที่ ๑ พรรษากาล ๒๕๑๙” ซึ่งข้างท้ายมีลายมือลงไว้ว่า “สด. พระญาณสังวร เจ้าอาวาส วัดบวรนิเวศวิหาร” หลักฐานยืนยันชัดว่าดร.วีรพงษ์ เรียนดีมาตั้งแต่เล็ก แล้วดูเหมือนจะยังเรียนอยู่แม้ในปัจจุบันผ่านการอ่านที่ไม่หยุดยั้ง

“เราหัวดีหรือยังไงไม่รู้ ก็สอบได้ที่หนึ่งเรื่อยมา ตั้งแต่ชั้น ม.3-4-5-6 ได้ที่หนึ่งมาตลอด เราชอบคณิตศาสตร์ แล้วก็ชอบอ่านหนังสือ หนังสือที่อ่านไม่ใช่หนังสือเรียนอย่างเดียว หนังสือยอดฮิตที่ชอบที่สุดก็คือหนังสือของ ป. อินทรปาลิต เช่น ‘ซูเปอร์แมนแกละ’ ‘พล นิกร กิมหงวน’ อ่านจ.ไตรปิ่น อ่านหลวงวิจิตรวาทการ ผู้ชนะสิบทิศนี่ก็อ่านตั้งแต่ต้นจนจบ หนังสือออกที่กรุงเทพฯ แล้ว อีก 7 วันถึงจะถึงนครพนม เราก็อ่านดีเลย์นิดหนึ่ง สมัยก่อนมีหนังสือไม่มาก จะมีร้านให้เช่าอ่านหนังสือ ค่าเช่าสลึงหนึ่ง เราอ่านไม่จบ เราก็จดไว้ว่าอ่านถึงหน้าไหน แล้วก็คืนเค้าไป วันหลังก็ไปอ่านต่อได้ มันไม่ง่ายเหมือนสมัยนี้ มันต้องเสียเงิน แต่ผมเป็นคนรักหนังสือ ถ้าซื้อมาอ่านเสร็จแล้วผมก็ไม่ทิ้ง เก็บเอาไว้แล้วนานๆ ก็หยิบมาดูใหม่ว่าเป็นอย่างไร อย่านึกว่าวางไว้สวยๆ บางทีเวลาคุยกับพรรคพวก ถามว่ามึงเคยอ่านเล่มนี้มั้ย มันบอกไม่ได้อ่าน เราบอกจะไม่อ่านได้ยังไง มันเป็นหนังสือเรียน มันก็เออ—จริงแต่ลืมไปแล้ว แต่ผมยังจำได้ จนทุกวันนี้นั่งทำงานอยู่ที่นี่ก็นั่งอ่านหนังสือ งานไม่ค่อยจะมีเท่าไหร่”

อย่างไรก็ตาม แม้จะเรียนดีมาตั้งแต่ประถม แต่เมื่อถึงอุดมศึกษา ดร.วีรพงษ์ กลับไม่สอบเข้าคณะที่คะแนนสูงอย่างแพทยศาสตร์ หรือวิศวกรรมศาสตร์ตามอย่างสมัยนิยม เพราะปู่ของเขา (เจ้าพระอุปราชา (เฮือง รามางกูร)) ผู้มีศักดิ์เป็นบุตรชายของเจ้าเมืองธาตุพนมคนที่สอง และผู้ตั้งสกุล ‘รามางกูร’ แห่งอำเภอธาตุพนม ปลูกฝังมาแต่เล็กๆ ให้ดร.วีรพงษ์เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของข้าราชการ

“ตอนมัธยม อยู่โรงเรียนเตรียมอุดมฯ ผมอยู่ห้องคิง แผนกวิทยาศาสตร์ เกือบทั้งห้องเพื่อนๆ เรียนหมอหรือไม่ก็วิศวะ เรียนรัฐศาสตร์มีอยู่แค่สองคน เราเลือกทางนี้เพราะตอนที่เป็นเด็กอยู่นครพนม ปู่พูดเสมอว่าอยากเห็นลูกหลานเป็นข้าหลวง คนต่างจังหวัดเขามองข้าหลวงใหญ่มาก ก็คือผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งจังหวัดมีรถเก๋งอยู่คันเดียวคือของข้าหลวง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยังไม่มีรถเก๋งใช้เลย เพราะว่าจังหวัดหนึ่งมันไม่ใหญ่โตอะไร มีศาลากลางจังหวัด มีศาล มีสำนักงานอัยการจังหวัด มีสถานีตำรวจ มีคุก ฯลฯ ดังนั้นในเมืองเล็กๆ ใหญ่ที่สุดก็คือข้าหลวง เราก็มุ่งมาทางนี้ ปกติเข้ารัฐศาสตร์ เขาจะไปทางการทูต การคลังกัน เราก็ไม่เอา เราเอาทางปกครอง ซึ่งคะแนนน้อยที่สุด เพื่อจะได้เป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย แล้วไต่เต้าเป็นนายอำเภอ เป็นข้าหลวงต่อไป

…แต่มาเรียนแล้วบังเอิญเรียนดีกว่าเพื่อนเสียอีก เป็นนักเรียนเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทองคนแรกของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งแต่ตั้งคณะมา ไม่เคยมีเลย ยังจำได้วันประกาศผลคะแนนสอบไล่ปีที่ 4 คณบดีคือศาสตราจารย์เกษม อุทยานิน ท่านภูมิใจมาก ท่านก็มาประกาศผลเองแล้วให้เกียรติยื่นมือมาขอเชกแฮนด์ด้วย ซึ่งสมัยก่อนยากที่คณบดีจะมาเชกแฮนด์กับนิสิต แล้วท่านก็บอกว่าเธออย่าไปเป็นปลัดอำเภอเลย งานลำบาก เพราะท่านก็เคยเป็นผู้ว่าฯ มาก่อน เป็นอาจารย์ดีกว่า จะหาทุนให้ไปเรียนเมืองนอก”

ศาสตราจารย์เกษม คณบดีคณะรัฐศาสตร์ได้จัดสรรให้ดร.วีรพงษ์ ไปพบกับ ดร.วิลเลียม แบรดลีย์ หลานปู่ของ ‘หมอปลัดเล’ ซึ่งเป็นตัวแทนของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ในประเทศไทยขณะนั้น แต่สิ่งที่ผิดแผนคือ ในขณะที่ศาสตราจารย์เกษมต้องการให้ดร.วีรพงษ์ เรียนต่อทางวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลแม่นเหมือนตาเห็นว่า “เมืองไทยมันต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญอยู่เรื่อยๆ” ดร.วิลเลียมกลับต้องการให้ ดร.วีรพงษ์เรียนต่อทางเศรษฐศาสตร์

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ที่มาภาพ : นิตยสาร Optimise

“อาจารย์เกษมก็บอกว่าวีรพงษ์ อย่าไปเอาทุนนี้เลย แต่เด็กสมัยก่อน ความใฝ่ฝันก็คือเป็นนักเรียนนอก อยากไปเรียนโดยเร็ว เราก็เลยไปหาศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ประชุม โฉมฉาย หัวหน้าแผนกวิชารัฐศาสตร์การคลัง บอกท่านว่าเรียนจบ ผมอยากจะมาอยู่แผนกการคลัง ให้ช่วยพูดกับอาจารย์เกษมให้หน่อย จนอาจารย์เกษมเรียกผมไปต่อว่า วีรพงษ์—เธอนี่หัวดื้อมาก ไปเอาอาจารย์ประชุมมาบีบอาจารย์อีกที อาจารย์ว่าเธอตกแน่เพราะไม่มีพื้นทางคณิตศาสตร์และเศรษฐศาสตร์เลย ผมเลยบอกว่าสมัยเตรียมอุดมฯ ผมเรียนแผนกวิทยาศาสตร์ มีความรู้ทางคณิตศาสตร์พอสมควรเหมือนกัน อาจจะเรียนเองได้ ท่านก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ตามใจ

…ในที่สุดปลายปี 2509 ผมก็ได้รับทุนมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ไปเรียนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ปรากฎว่าเกือบตาย อยู่เมืองไทยได้ที่หนึ่งตลอด ไปอยู่ที่นู่นสอบแล้วต้องนั่งลุ้นว่าจะตกหรือจะผ่าน ภาษาก็ฟังไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ คณิตศาสตร์ก็ไม่รู้อีก เราเรียนมาแค่แอลจีบรา ยังไม่ได้เรียนแคลคูลัส เพื่อนๆ เขาเรียนมาหมดแล้ว ก็ต้องมาเรียนเองทั้งหมด ไปซื้อตำรามาทำการบ้านเองเพื่อไล่ให้ทัน ผมก็เขียนจดหมายถึงท่านคณบดีที่เมืองไทยว่าอาจารย์ครับ เป็นจริงอย่างที่อาจารย์ว่า วิชาเศรษฐศาสตร์นี้ใช้คณิตศาสตร์มาก เพราะฉะนั้นผมคิดว่าจะเรียนวิชาเศรษฐมิติ (Econometrics) ให้หนักไปเลย เหตุผลก็เพราะความมุมานะหนึ่ง และอีกอย่างผมคิดว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เป็นคณิตศาสตร์มากๆ มันเข้าใจง่ายกว่าวิชาที่ไม่ใช้คณิตศาสตร์ การเขียนเป็นสมการคณิตศาสตร์นี่ชาติไหนก็เขียนเหมือนกันหมด เวลาภาษาไม่แข็งแรง สมการมันช่วยอธิบาย

…ในที่สุดปรากฏว่าวิชาที่เป็นคณิตศาสตร์ผมได้ A หมดเลย วิชาบรรยายกลับได้ B เมื่อกลับมาเมืองไทย งานแรกที่ภูมิใจมากก็คือ การโอนจากการเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มาเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะตั้งใหม่ แล้วผมมาจัดหลักสูตรวิชาเศรษฐศาสตรบัณฑิตและมหาบัณฑิตใหม่หมดเลย ให้มันเป็นสากล มีแผนกประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่ไม่ใช้คณิตศาสตร์ แล้วก็แผนกที่เป็นเศรษฐศาสตร์ทฤษฎี หรือปริมาณวิเคราะห์ที่ใช้คณิตศาสตร์ทั้งหมด มีวิชาแคลคูลัส 1 แคลคูลัส 2 เป็นวิชาบังคับ มีวิชาสถิติ จนหลักสูตรคณะเศรษฐศาสตร์ของจุฬาฯ กลายเป็นหลักสูตรที่ก้าวหน้ากว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเกษตรศาสตร์ ซึ่งยังคงใช้มาจนทุกวันนี้”

วางรากฐาน

ในเมื่อสถาบันอุดมศึกษาอันเป็นพรมแดนที่ก้าวหน้าที่สุดทางวิชาความรู้ ยังเพิ่งมีการลงหลักปักฐานวิชาเศรษฐศาสตร์ จึงยิ่งไม่ต้องพูดถึงความรู้ความเข้าใจของสังคมโดยทั่วไปเกี่ยวกับเศรษฐกิจและกลไกภาครัฐต่างๆ ซึ่งยังต้องเรียกว่าอยู่ในขั้นตอน ‘ตั้งไข่’ ในภายหลังเมื่อดร.วีรพงษ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หนึ่งในภารกิจของเขาก็คือการอบรมให้ความรู้แก่สื่อมวลชน ดร.วีรพงษ์ตระหนักมาตั้งแต่เนิ่นๆ ว่า วิชาการลึกซึ้งในการบริหารประเทศ จะไม่มีความหมายเลย หากสื่อมวลชนผู้นอกจากเป็น ‘ปาก’ แล้วยังเป็น ‘หู’ ของสังคม ฟังสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ไม่รู้เรื่อง

“ผมต้องหัดพูดให้มันรู้เรื่อง การที่สามารถทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย กลายเป็นตราประจำตัว สื่อมวลชนสมัยนั้นไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์เลยแม้แต่นิดเดียว ค่าเงินบาทคืออะไร ราคาคืออะไร การแข่งขันเสรี อุปสงค์อุปทานคืออะไร ยังไม่รู้เลย แต่เรารู้ว่าจะทำงานให้ง่ายเราต้องสอนนักข่าว จึงนัดนักข่าวมาติวกันที่บ้านที่ห้วยขวางทุกวันอาทิตย์ ไม่ใช่ว่าติวทฤษฎี แต่ติวว่าเรื่องที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เรื่องที่ผมหรือเรื่องที่รัฐมนตรีคลังให้สัมภาษณ์มันแปลว่าอะไร ไม่งั้นเขาก็อัดเทปแล้วก็ถอดเทปผิดๆ ถูกๆ หรือไม่ก็ลอกกัน ใครจดต้นฉบับผิดคนหนึ่งก็ผิดกันไปหมด สมัยนี้เป็นใหญ่เป็นโตกันไปหมดแล้ว ตั้งแต่เจ๊วิภา (วิภา สุขกิจ อดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย) หรือเจ๊ยุ (ยุวดี ธัญสิริ อดีตนักข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล) เพราะฉะนั้นพอเมื่อมีการขึ้นภาษีก็ดี ตัดงบประมาณรายจ่ายก็ดี หรือตอนจบต้องลดค่าเงินบาทก็ดี พวกนักข่าวเข้าใจ อย่างน้อย 75 เปอร์เซ็นต์คอยช่วยชี้แจงให้เราอย่างมาก ชี้แจงโรงพิมพ์ ชี้แจงคอลัมนิสต์ซึ่งไม่รู้เรื่อง เราไม่ได้บอกให้นักข่าวเชียร์ เราบอกให้เขาเข้าใจ เขาจะได้วิจารณ์ได้ถูก สื่อถึงไม่ค่อยเกลียดผม บางทีผมด่าตรงๆ เขาก็ไม่ว่าอะไร”

ที่ปรึกษาทั้งปวง

เป็นการยากที่จะกล่าวถึงชีวิตของดร.วีรพงษ์ โดยไม่กล่าวถึงพล.อ.เปรม เพราะการได้เป็นที่ปรึกษาให้กับนายกรัฐมนตรีที่ได้ชื่อว่า ‘ฟังเก่ง’ ที่สุดคนหนึ่งจนได้ฉายาว่า ‘เตมีย์ใบ้’ อีกทั้งอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันถึง 8 ปี 5 เดือน ย่อมเป็นโอกาสของการเรียนรู้และสร้างผลงานอย่างวิเศษ อย่างที่ดร.วีรพงษ์เคยให้สัมภาษณ์ว่า “จังหวะดีที่ได้รับโอกาสทำงานกับป๋าเปรม สำคัญมาก 8 ปีครึ่งมีเรื่องทุกอาทิตย์” ยิ่งกว่านั้น หากยึดตามข้อสังเกตของดร.วีรพงษ์ที่บอกว่าปรากฏการณ์ทางรัฐศาสตร์เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตามมนุษย์แต่ละคน มากกว่าจะเคลื่อนไหวไปตามพลังของสังคมดังเช่นเศรษฐศาสตร์ ชัดเจนว่าปรากฏการณ์ทางรัฐศาสตร์ที่นำมาสู่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของประเทศในยุคโชติช่วงชัชวาลย์นั้น ต้องมีส่วนไม่น้อยมาจากบุคลิกและการกระทำของ ‘รัฐบุรุษ’ ที่ชื่อว่าพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

“เมื่อปี 2520 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้ทำการปฏิวัติ โดยมีพวก ‘ยังเติร์ก’ สนับสนุน แต่แล้วในที่สุดกลุ่มนี้ก็ขัดใจกับพล.อ.เกรียงศักดิ์ แล้วหันไปสนับสนุนพล.อ. เปรมเป็นนายกฯ ป๋าบอก เอ—แล้วป๋าจะบริหารยังไง ป๋าเป็นทหาร ไม่มีความรู้ทางเศรษฐกิจอะไรเลย พวกยังเติร์กก็เลยตั้งคณะที่ปรึกษา มีพล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา เป็นประธาน แล้วผมก็ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาของพล.อ.เปรม คณะนี้ แต่เป็นที่ปรึกษาที่พิเศษหน่อยคือป๋าสั่งให้เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีในฐานะผู้เข้าร่วมประชุม และก็ให้ผมไปเป็นที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจด้วย แต่ท่านบอกว่าถ้าไม่เรียกไม่ต้องยกมือนะ เพราะเราไม่ใช่รัฐมนตรี ไม่มีสิทธิ์ ผมก็ค้านว่าถ้าบางอย่างผมต้องการจะพูดล่ะ ท่านก็ว่า ให้ยกเตี้ยๆ แล้วเวลาท่านเห็นท่านจะชี้ให้พูดเอง ถ้าท่านไม่ชี้ห้ามพูด มีวินัยมาก

…แต่คณะที่ปรึกษาสมัยก่อนแข็ง ไม่ได้ยอมป๋าง่ายๆ เช่น เราเคยมีอาจารย์ ดร.วทัญญู ณ ถลาง เป็นประธานคณะที่ปรึกษา แต่ต่อมามีการ reshuffle คณะรัฐมนตรี ไม่ค่อยมีที่เหลือให้คุณชาญ มนูธรรม ป๋าก็เลยตั้งคุณชาญมาเป็นประธานที่ปรึกษาแทน พวกเราก็รู้สึกว่า เอ—อาจารย์วทัญญูท่านก็ดีอยู่แล้ว พวกที่ปรึกษาเลยประชุมกันจะทุบโต๊ะลาออก โดยทุกคนแต่งตั้งให้ผมไปเจรจากับป๋า พอเจอป๋า ป๋าบอกเลย ‘ไปบอกพวกเรานะ พวกเราเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ แต่ความรู้ความสามารถเช่นว่านั้นจะไม่เป็นประโยชน์กับใครเลย ถ้าเป็นนักวิชาการที่ถือตัวจนเกินไป จะไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ พระเจ้าอยู่หัว และประชาชน อย่างมากก็ได้แต่สอนหนังสือ ทุกคนจะรังเกียจคุณชาญทำไม ท่านมาเป็นประธานที่ปรึกษาก็เพราะป๋ามีความจำเป็นที่ต้องให้ท่านอยู่ที่นี่’ เราก็อึ้ง ไม่รู้จะว่ายังไง ก็ถอยมาบอกคณะที่ปรึกษาว่าป๋าว่าอย่างนี้ ทุกคนก็เลยต้องถอยกรูด

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ที่มาภาพ : นิตยสาร Optimise

…คณะที่ปรึกษาจะปฏิวัติอีกครั้ง ตอนพล.อ.เปรมเป็นนายกฯ ปีแรก ท่านอายุ 59 ปี พออีกปีหนึ่ง ปกติแล้วท่านจะต้องเกษียณอายุออกจากตำแหน่ง ผบ.ทหารสูงสุด แต่ท่านกลับเสนอพ.ร.บ.ต่ออายุราชการ พวกเราที่ปรึกษาไม่เห็นด้วย เพราะพ.ร.บ.ฉบับนี้แก้ไขเพื่อคนๆ เดียว ผิดหลักการ คณะที่ปรึกษาเลยมีมติให้ผม อาจารย์ทินพันธุ์ นาคะตะ และดร.อาณัติ อาภาภิรม ไปบอกป๋า ปรากฏป๋าเดินมาที่ห้องที่ปรึกษาแล้วบอกว่าได้ข่าวว่าจะไปคัดค้านพ.ร.บ.ต่ออายุใช่มั้ย พอเราบอกใช่ครับ ป๋าก็บอกว่า ‘ผมไม่ได้มีความต้องการที่จะต่ออายุผม แต่ผมมีความจำเป็นที่จะต้องต่ออายุ และความจำเป็นนั้น ผมไม่สามารถบอกที่ปรึกษาได้’ ที่ปรึกษาก็ เอ๊ะ—ความจำเป็นอะไรของท่าน แต่ปรากฏว่าระหว่างนั้นพรรคประชาธิปัตย์ โดยพ.อ. (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ หัวหน้าพรรคและพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ถูกเรียกเข้าเฝ้า พอ พ.อ.ถนัด ออกมาจากสวนจิตรลดา นักข่าวก็ไปถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังจะค้านการต่ออายุของพล.อ.เปรมหรือไม่ พ.อ.ถนัดบอกไม่ค้านแล้ว นักข่าวถามว่าทำไมไม่ค้าน พ.อ.ถนัดบอก ‘เพราะผมมีข้อมูลใหม่’ วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ลงข่าวนี้ ที่ปรึกษาก็เลยเข้าใจป๋า เลิกค้าน”

ดูเหมือนในขณะที่พล.อ.เปรม ยอมรับว่าตนเองมีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์แค่ป.4 แต่ทักษะในทางรัฐศาสตร์กลับทำให้พล.อ.เปรมมีอิทธิพลอย่างสูงเหนือคณะที่ปรึกษา ที่ประกอบด้วยนักวิชาการระดับครูบาอาจารย์หลากหลายสาขา ไม่ว่าศาสตราจารย์ ดร.สุจิต บุญบงการ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช กระทั่งดร.วีรพงษ์เอง ก็เคยหันหลังให้กับตำแหน่งรองประธานธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank – ADB) เพื่ออยู่ทำหน้าที่ที่ปรึกษามาแล้ว

“ครั้งหนึ่งตำแหน่งรองประธานเอดีบีว่างลง แล้วก็เป็นโควต้าของประเทศไทย เราก็อยากจะไปหาสตางค์ เพราะเงินเดือนมันสูง ก็ไปล็อบบี้ท่านสิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีต่างประเทศว่าผมอยากจะไปรับตำแหน่ง ท่านบอกเอาสิ แต่ให้ไปขอป๋าเอง ผมก็กะลิ้มกะเหลี่ยไปขอป๋าเปรม ท่านร้อง ‘ฮื้อ—แล้วเราคิดว่างานเอดีบีกับงานป๋าเนี่ย งานไหนสำคัญต่อประเทศชาติ และประชาชนไทยมากกว่ากัน’ เจออย่างนี้เราจะตอบยังไง เราก็ครับ ถ้างั้นผมไม่ไป ก็เลยต้องอยู่ต่อ

…ท่านเคยพูดว่า ‘อยากฟังนักหรือ ว่าผมยังต้องการพวกที่ปรึกษาให้ช่วยงานผมอยู่ ถ้าอยากฟังก็จะพูดให้ฟังว่ายังต้องการ จะได้ไม่ถือตัวมาก ต้องให้ขอหรือ’ ผมว่าเป็นคุณสมบัติพิเศษของการเป็นผู้นำของพล.อ.เปรม เพราะท่านสามารถได้ใจจากพวกนักวิชาการที่ถือตำรา ถือตัว และหยิ่งในศักดิ์ศรีของการเป็นนักวิชาการเหลือเกิน และสามารถเอามาใช้งานได้ คนที่อยากจะมาอยู่เยอะแยะท่านก็ไม่เอา ซึ่งการรู้จักใช้คน รู้จักคนของป๋า เป็นคุณสมบัติสำคัญอันหนึ่งที่เป็นเหตุให้ท่านยังไม่เคยทำอะไรผิดเลยในช่วงที่เป็นนายกฯ อยู่ถึง 8 ปี 5 เดือน

…บางอย่างอาจจะช้าจะเร็ว แต่ท่านได้นำประเทศพ้นวิกฤติเศรษฐกิจ และสามารถปกป้องระบอบประชาธิปไตย ระบอบรัฐสภาไว้ได้ ตลอดเวลาที่ท่านอยู่ในตำแหน่ง มีปฏิวัติถึง 3 ครั้ง สองครั้งเปิดเผย อีกหนึ่งครั้งไม่เปิดเผย แต่ท่านก็เอาอยู่ สามารถรักษาระบอบรัฐสภาเอาไว้

ระหว่างที่อยู่กับท่านแปดปีครึ่ง เป็นช่วงที่ผมมีความภูมิใจในบทบาทของตนเอง และผลงานที่ได้กระทำผ่านทางนายกฯ เป็นอย่างมาก มากกว่าช่วงใดๆ ในชีวิตด้วยซ้ำไป ผมได้เรียนรู้การทำงาน วิธีคิด และเข้าใจท่านอย่างลึกซึ้งว่าท่านมีความจงรักภักดี และมีความรักประเทศชาติอย่างสุดซึ้ง ทุกอย่างท่านไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เพราะท่านไม่ได้สร้างฐานทางการเมือง ไม่ได้สร้างประชานิยม มีแต่ผลงาน

…ผลงานทางเศรษฐกิจคนรู้ดี แต่ผลงานในการรักษาระบอบประชาธิปไตยก็เป็นอีกเรื่องที่ทำได้ด้วยความเหนื่อยยาก ท่านสามารถเอาชนะสงครามกลางเมืองภายในประเทศได้ สามารถออกคำสั่งที่ 66/2523 ต้อนรับผู้พัฒนาชาติไทย และทำให้มีการล้มเลิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศ แต่ท่านสามารถใช้การเปลี่ยนแปลงเช่นว่านั้นให้เป็นประโยชน์กับประเทศไทยได้เป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่เข้าป่าไปก็ได้รับการต้อนรับกลับสู่สังคมของฝ่ายที่เคยต่อสู้กันได้อย่างกลมกลืน ไม่มีความกินแหนงแคลงใจอะไรกันเลย พวกนักศึกษาที่เข้าป่าไป ออกมาเป็นรัฐมนตรีก็ตั้งหลายคน ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกทำได้ นี่ก็เกิดขึ้นในสมัยพล.อ.เปรม

…สามอย่างที่เป็นคุณสมบัติของท่านคือ หนึ่ง ท่านมีความจงรักภักดีอย่างที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ สอง ท่านมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง เราไม่เคยต้องสงสัยว่าความเห็นเราจะไปชนผลประโยชน์ของท่านหรือไม่ ไม่ว่าจะผลประโยชน์ทางการเงินหรือการเมือง เรามีอิสระที่จะเถียงตามสมควร และท่านก็รับได้ทั้งที่เราเป็นเด็กรุ่นลูก และสาม ท่านรู้จักใช้คน ซึ่งอันนี้สอนกันไม่ได้ บางทีเราก็น้อยใจ ที่ปรึกษาคนอื่นได้ไปเป็นรัฐมนตรี เอ๊ะ—เราทำงานกับท่าน 8 ปี 5 เดือนไม่ได้ไปไหนเลย ท่านก็บอกว่า ‘อย่าน้อยใจเลยนะ การที่เราเป็นที่ปรึกษายืนอยู่หลังป๋าแล้วสามารถซักรัฐมนตรีได้ทุกคนแทนป๋า เราน่าจะภูมิใจกว่าเป็นรัฐมนตรี เพราะป๋าไม่สามารถที่จะซักเขาได้อย่างเรา’ ท่านก็มีจิตวิทยา ทำให้เรายอมทำงานให้ท่านต่อ ไปไหนก็ไปไม่ได้”

คลาสสิกเทคโนแครต

เรื่องราวของการทำงานแนบแน่นระหว่างคณะที่ปรึกษาจากหลากสาขาวิชา และพล.อ.เปรม ผู้เรียกได้ว่าถืออำนาจเกือบเบ็ดเสร็จในทางการเมือง ยืนยันให้เห็นชัดว่าแม้การเมืองในสมัยนั้นจะหย่อนการมีส่วนร่วมจากเสียงประชาชน เพราะนายกรัฐมนตรีมีสิทธิแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่มีสิทธิลงคะแนนในพระราชบัญญัติสำคัญร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เองกับมือทุกคน กระนั้น นโยบายต่างๆ ที่ออกมาจากศูนย์กลางอำนาจดูจะมุ่งให้เกิดความเหมาะสมตามหลักวิชาการที่โลกยอมรับ อย่างที่เรียกกันว่า ‘รัฐบาลเทคโนแครต’

ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกที่เมื่อประเทศคอมมิวนิสต์อย่างลาวต้องการกู้เงินจากธนาคารเอดีบี และถูกบังคับให้ต้องรวบรวมตัวเลขจีดีพีขึ้นเป็นครั้งแรก ชื่อของเทคโนแครตคนสำคัญผู้รู้จักวิธีการขับเคลื่อนประเทศด้วยความรู้ภายใต้ระบบอำนาจรวมศูนย์เป็นอย่างดีอย่างดร.วีรพงษ์ จึงเป็นชื่อที่เอดีบีนำเสนอให้ศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์ลาวจ้างไปเป็นที่ปรึกษา อย่างที่ดร.วีรพงษ์ เล่าในภายหลังว่า “ผมหิ้วพิมพ์ดีดกับรถประจําตําแหน่ง (จักรยาน LA) ปั่นสองล้อไปทํางานในกระทรวงการคลังและวางแผนทุกวัน เพื่อวางเป้าหมายและทําให้เจ้าหน้าที่ลาวทําความรู้จักกับจีดีพี”

คีย์เวิร์ดอย่าง “ทำ Landlocked ให้เป็น Land-linked” หรือ “แบตเตอรีแห่งเอเชีย” ที่ปรากฏในยุทธศาสตร์ของลาวมาจวบจนปัจจุบันนั้น ก็เป็นคำที่ดร.วีรพงษ์กล่าวว่ามีที่มาจากการไปช่วยลาวทำแผนพัฒนาในครั้งนั้นนั่นเอง จนพูดกันว่าผู้ว่าราชการจังหวัดหรือ ‘เจ้าแขวง’ เกือบทั้งประเทศลาวเป็นลูกศิษย์ ดร.วีรพงษ์

เมื่อกลับมาประเทศไทย ดร.วีรพงษ์ทำงานเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อยู่ได้สักครู่ ก็เกิดปฏิวัติขึ้นโดยพล.อ.สุจินดา คราประยูร แต่ไม่นาน พล.อ.สุจินดาก็ลาออก มีการเลือกตั้ง ดร.วีรพงษ์จึงเข้ามารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่สามารถผลักดันมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ถือเป็นรากฐานของประเทศให้สำเร็จได้รวดเร็วเป็นประวัติการณ์หลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูประบบภาษีอากร การยกเลิกกำแพงภาษี การนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้เป็นครั้งแรก หรือการริเริ่มตราพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน หรือพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ความเข้าใจของนายกรัฐมนตรีดูจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปสำคัญอันกระทบกลุ่มผลประโยชน์หลากหลายของเทคโนแครตคลอดออกมาได้โดยไม่เป็นหมันและสมประกอบ

“ผมมีลิสต์รายการว่าในหนึ่งปีที่อยู่ในตำแหน่งนี้ จะทำอะไรบ้าง 15 อย่าง แทบจะไม่ต้องอธิบายเหตุผลเลย นายกฯ อานันท์ ท่านเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมเก่า ท่านเข้าใจอยู่แล้ว สมัยก่อนนั้นเราปลดเปลื้องพันธนาการต่างๆ ที่ภาครัฐเข้ามาควบคุมเศรษฐกิจมากจนเกินไป ซึ่งได้รับการต่อต้านจากข้าราชการอย่างมหาศาล เพราะไปลดทอนอำนาจเขา แต่ว่าเราทำได้สำเร็จ การส่งออกก็เสรี นำเข้าก็เสรี การพัฒนาอุตสาหกรรม ระบบภาษี และระบบการอนุญาตอะไรต่ออะไรก็ทำ ดังนั้น ต่อไปข้างหน้านี่เหลือเพียงเรื่องจะทำยังไงให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งและคู่ค้าของเราได้เท่านั้นเอง

…ผมมองเรื่องเศรษฐกิจสำคัญอันดับหนึ่ง แล้วในเรื่องเศรษฐกิจก็ประกอบด้วยเรื่องเสถียรภาพทางการเงิน เรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ สามตัวนี้มีความสำคัญ แต่ลดหลั่นกันลงมา กล่าวคือเสถียรภาพทางการเงินสำคัญสูงสุด แต่เมื่อเสถียรภาพทางการเงินมั่นคงแล้ว ก็ต้องมามองดูการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เรารู้อยู่แล้วว่าการส่งออกมีสัดส่วนถึงประมาณร้อยละ 70 ของจีดีพี เพราะฉะนั้นสำหรับประเทศเรา การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ก็แปลว่าเราต้องแข่งขันกับต่างประเทศให้ได้ในเรื่องคุณภาพและราคา เรื่องคุณภาพเอกชนเขาจัดการของเขาเอง แต่เรื่องราคามันขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสำคัญ เงินบาทเราต้องไม่แข็งเกินไป เมื่อเทียบกับคู่ค้า และคู่แข่ง

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ที่มาภาพ : นิตยสาร Optimise

…อันนี้แหละธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่เข้าใจ เขาเข็ดแล้ว เพราะถูกจอร์จ โซรอส โจมตี แล้วประเทศชาติพังพินาศจากการไปยึดถืออัตราแลกเปลี่ยนเป็นเป้าหมาย แต่สถานการณ์มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว ตอนนี้ทุนสำรองเรามีมากมาย แล้วตอนเกิดวิกฤติเราใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ตรึงค่าเงินบาทกับเงินดอลลาร์ ไม่ได้ใช้เป็นเป้าหมายอย่างแท้จริง ถ้าเกิดใช้เป็นเป้าหมายอย่างแท้จริงก็คือโฟลต (float) อย่างมีการจัดการ หมายความว่ามีขึ้นมีลงได้ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างทุกวันนี้ ต้องเข้าใจว่าคำว่าเสถียรภาพไม่ใช่หยุดนิ่ง หรือไม่เคลื่อนไหว แต่แปลว่าไม่แข็งหรือไม่อ่อนเกินไปเมื่อเทียบกับคู่ค้า และคู่แข่งของเรา เพราะเราส่งออก 70 เปอร์เซ็นต์

…ส่วนสุดท้าย ความเหลื่อมล้ำในวงเศรษฐกิจ ผมคิดว่าเราทำทางด้านภาษีไม่ได้ เพราะว่าภาษีจะต้องอยู่ในลักษณะที่ไม่เป็นภาระกับผู้ส่งออก ไม่เป็นภาระกับผู้ออมเพื่อให้คนของเราแข่งขันกับต่างประเทศได้ ดังนั้นทางเดียวที่จะลดความเหลื่อมล้ำ ก็ต้องทำผ่านการจ่ายของภาครัฐ คือทำเรื่องการสร้างงาน เรื่องการทำระบบคมนาคมให้ทั่วถึง ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงตลาดได้ แล้วประชาชนเขาจะปรับตัวของเขาเอง ที่ใดมีถนนหนทาง ค่าขนส่งไม่แพง เอกชนก็จะปรับตัวเข้าไปแข่งขันหรือมีส่วนร่วมในตลาดได้ แค่นั้นเพียงพอแล้ว ส่วนที่เหลือก็คือเรื่องระบบสวัสดิการทางสุขภาพและการศึกษา เช่น เรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค เรื่องโอท็อป เรื่องกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งเราก็ทำมามากมายจนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลแล้ว ตอนนี้ก็ติดอยู่แค่ว่าจะขึ้นไปเป็นประเทศพัฒนาได้อย่างไร ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับระบอบการปกครองเท่านั้นเอง”

ยุคสมัยที่เปลี่ยน

หากพิจารณาจากประวัติชีวิตและการทำงาน ดร.วีรพงษ์ควรจะเป็น ‘เทคโนแครต’ ที่พอใจกับการใช้อำนาจรวมศูนย์บริหารประเทศตามหลักวิชา เพราะได้ใช้แนวทางนี้เอาชนะการคัดค้านจากกลุ่มผลประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาโดยตลอด กระนั้น แนวทางของรัฐบาลปัจจุบันที่รวมศูนย์อำนาจและดูจะได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘ยุคทองของเทคโนแครต’ อย่างในสมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม หรือรัฐบาลอานันท์เช่นกัน กลับไม่เข้าตาดร.วีรพงษ์

“นั่นมันเรื่องของเมื่อ 20 ปีก่อนที่ระดับการพัฒนาประเทศยังแย่อยู่ สมัยนั้น คนในชนบทเป็นตานขโมย ขาดอาหาร โลหิตจาง คอพอก คนทำงานในกรุงเทพฯ ที่เป็นกรรมกรยังนุ่งเศษผ้าขี้ริ้วอยู่เลย เดี๋ยวนี้เราพัฒนาจนกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางแล้ว เลิกพูดถึงเรื่องขาดอาหาร เรื่องเด็กเป็นตานขโมย หรือเรื่องตายก่อนวัยอันควร หรือไม่มีโรงเรียนให้เรียน มันมาไกลมากแล้ว ไม่ได้เหมือนสมัยป๋าเปรม เพราะฉะนั้น ถึงบอกว่าในเรื่องเศรษฐกิจและสังคมมันมาไกล แต่การเมืองยังล้าหลังเต็มที แล้วจะเป็นตัวถ่วงความเจริญก้าวหน้าของประเทศเป็นอย่างมาก

…คนในกรุงเทพฯ ถูกปลุกปั่นให้เกลียดชังนักการเมือง นักการเมืองบางคนมีพฤติกรรมที่น่ารังเกียจอย่างนั้นจริง แต่ในระยะยาวเขาจะต้องเปลี่ยน ระบอบจะต้องดำเนินไปในประชาธิปไตย เพราะระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่รัฐบาลต้องมาจากความเห็นชอบของประชาชน ส่วนระบอบเผด็จการไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชน และไม่ถูกตรวจสอบโดยประชาชน ซึ่งเป็นระบอบที่ไม่มีทางจีรังยั่งยืนตลอดกาล ในที่สุดก็ต้องย้อนกลับมาที่ประชาธิปไตย ดังนั้น มันก็จะทำให้เสียเวลา ไม่ได้ไปไหน ก็อยู่อย่างนี้ เพราะว่าจะเป็นเผด็จการอย่างทุกวันนี้ตลอดกาล เป็นไปไม่ได้

…ระบอบประชาธิปไตยมันสะท้อนความต้องการของคนต่างๆ ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เขามีความสุขสูงสุด แต่ถ้าเผื่อว่าประชาชนไม่มีปากมีเสียง ไม่มีตัวแทน ความต้องการของประชาชนก็ไม่มีที่สะท้อน แล้วอย่าลืมว่าคุณค่าความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพเป็นของที่มีค่ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด บางทีอาจจะยิ่งกว่าทรัพย์สินเงินทองด้วยซ้ำไป เราจะร่ำรวยแค่ไหน แต่ถ้าอยู่อย่างไม่มีศักดิ์ศรี อยู่อย่างไม่มีปากมีเสียง ก็ไม่ใช่สิ่งสูงสุดที่มนุษย์ต้องการ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าประเทศชาติไม่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

…สิ่งที่ผมไม่ต้องการคือ พัฒนาการด้านเศรษฐกิจกับการเมืองที่เขย่งกันอยู่อย่างนี้ วันหนึ่งจะทำให้มี uprising มีการลงถนนเดินขบวนเรียกร้องเสมอ ไม่มียกเว้นเผด็จการอยู่ตลอดกาลไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป เอเชีย หรือ พรรคคอมมิวนิสต์ยังอยู่ตลอดกาลไม่ได้ ต้องผ่อนคลายไปเรื่อยๆ ประเทศไทยเรายิ่งไม่ได้เริ่มต้นจากพรรคคอมมิวนิสต์ เรามาไกลกว่านั้นเยอะ มันก็ยิ่งน่าห่วงว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้น

สังเกตคนไทยอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงในต่างประเทศมากมาแต่โบราณแล้ว การเปลี่ยนแปลงการเมืองในประเทศไทยสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ในต่างประเทศทั้งนั้น อย่างเมื่อพ.ศ. 2475 เป็นต้น เพราะเราไม่ได้ปิดตัวเอง เราเป็นประเทศที่เปิด เดี๋ยวนี้ก็ยิ่งเปิด เพราะฉะนั้น…

ผมถึงคิดว่าก่อนที่มันจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ทหารอยู่มาได้ 5-6 ปีพอแล้ว ควรจะไปได้แล้ว หากยังหวังที่จะอยู่เทอมหน้าอีก มันจะยิ่งไปกันใหญ่ ถ้ามีภัยพิบัติฝนแล้งน้ำท่วม แล้วก็มีความลำบากยากแค้นในเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องของคนข้างล่าง ก็จะยิ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น

ฐานันดรที่ 4

คำวิจารณ์รัฐบาลแบบตรงไปตรงมาของดร.วีรพงษ์ ที่มักปรากฏอยู่ในบทความประจำสัปดาห์ของหนังสือพิมพ์มติชนและประชาชาติธุรกิจ ถือได้ว่า ‘แรง’ พอสมควร เมื่อคำนึงถึงว่าถ้อยคำเหล่านี้มิได้ออกมาจากบัญชีผู้ใช้บนโลกออนไลน์ที่ไร้ตัวตน หรือคำของฝ่ายค้านที่มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องขัดรัฐบาล แต่สำหรับดร.วีรพงษ์ สิ่งนี้คืออีกหนึ่ง ‘หน้าที่’ ของชีวิตที่ผ่านมาแล้วหลายต่อหลายหน้าที่ อย่างที่เขาเคยเขียนลงในบทความว่า

“บัดนี้มาเป็นผู้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ทุกสัปดาห์ สิ่งที่จะขาดเสียมิได้ก็คือเสพข่าวจน ‘รู้สึกหิวข่าวเหมือนหิวข้าว’ แล้วก็ล้นออกมาเป็นอักษรบนหน้าหนังสือพิมพ์ กลายเป็นสื่อคนหนึ่งที่ต้องตระหนักในหน้าที่ เป็นผู้คิดผู้เขียน ผู้แสดงออก แทนประชาชนคนหนึ่ง และมีความเย่อหยิ่งว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีฐานันดร (estate) คือฐานันดรที่ 4 คนหนึ่งด้วย การเป็นสื่อที่มีฐานันดรทําให้รู้สึกไวต่อความรู้สึกของสังคม และถ่ายทอดความรู้สึกนั้นออกมาเป็นตัวอักษรตามความรู้สึกที่ตนมี ไม่มีวาระซ่อนเร้น เพราะชีวิตได้ผ่านทุกสิ่งทุกอย่างที่ทิ้งไว้เบื้องหลังเป็นอดีตไปแล้ว มีแต่ข้างหน้าที่ไม่ได้ต้องการอะไร ไม่ว่าจะเป็นตําแหน่งแห่งที่ เกียรติยศชื่อเสียงที่มีพอแล้ว เพียงแต่ต้องรักษาไว้ให้ดี ส่วนจะมีเพิ่มขึ้นอีกนั้นไม่มีแล้ว”

ความปล่อยวาง แต่ไม่ปล่อยปละละเลยนี้ คือสิ่งที่ทำให้หลายคนนึกถึงหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ก่อตั้งและเจ้าของคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งมีคำขวัญประจำชัดเจนว่า “นิคฺคณฺเห นิคฺคหารหํ ปคฺคณฺเห ปคฺคหารหํ” (ชมคนที่ควรชม ข่มคนที่ควรข่ม) อีกทั้งยังเป็นอาจารย์คนสำคัญของดร.วีรพงษ์

“ผมได้ไปรู้จักอาจารย์คึกฤทธิ์ เพราะว่าธนาคารกรุงเทพพาณิชยการมีปัญหา ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านก็เลยส่งผมมาเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการของธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ ซึ่งมีอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นประธาน ผมก็เรียนถามท่านว่าในฐานะที่เป็นที่ปรึกษา ผมจะมีหน้าที่อะไร ท่านบอกว่าดร. ไม่ต้องทำอะไร คุณมีหน้าที่ไปกินข้าวกลางวันกับผมทุกวันพุธ ผมต้องไปตั้งแต่สิบเอ็ดโมงครึ่ง ระหว่างที่กินข้าว ท่านก็จะเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราก็กินไปครับไป บ่ายสามโมงถึงจะออกมาได้ ถ้าผมไม่ไปจะโดนด่า มีอยู่วันนึงผมจะต้องไปพบทูตอเมริกัน หรืออะไรสักอย่าง ขอเลื่อนนัดท่านบอกกับคนว่า ‘ไปจิกหัวมันมา กูทํากับข้าวไว้เต็มโต๊ะจะเลื่อนนัดได้ยังไง อาหารกลางวันบ้านซอยสวนพลูอร่อยสู้อาหารกลางวันที่สถานเอกอัครราชทูตอเมริกันไม่ได้เหรอ อวดดี’ จากนั้นมาผมก็ไม่กล้าปฏิเสธอีกเลย

…ทุกวันสงกรานต์ จะมีงานที่บ้านอาจารย์คึกฤทธิ์ มีการละเล่นต่างๆ แล้วก็มีลูกศิษย์ลูกหามาให้ท่านครอบครูโขนให้ โดยท่านจะใช้หัวพระพิราพ ซึ่งท่านได้มาจากบ้านที่ไฟไหม้ที่เสาชิงช้า ผมก็ได้ครอบ แล้วท่านก็ให้เกียรติเด็กมาก มีครั้งหนึ่งหลังจากที่ผมไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ไปงานสงกรานต์บ้านท่าน เดินขึ้นกระไดไป พอหัวเราโผล่พ้นกระได ท่านตะโกนบอกวงมโหรีลั่นบ้าน ‘ไอ้พวกเวรเหล่านี้ เสนาบดีขึ้นบ้านมึงยังไม่รู้จักประโคมอีกรึ’ เราเดินไม่เป็นเลย”

เหตุผลที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ใช้อธิบายความเมตตาต่อดร.วีรพงษ์ ก็ค่อนข้างแปลกไม่น้อย โดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เคยบอกว่า “ดร.โกร่งรู้ไหม ผมเริ่มรักคุณตั้งแต่เมื่อไหร่ ผมรักคุณ เพราะเวลาผมด่าคุณแล้วคุณเข้าใจ คุณเป็นคนไทยที่แท้จริง”

“ยอมรับเลยว่าผมพยายามเลียนแบบสำนวนภาษาไทยของอาจารย์คึกฤทธิ์ ผมอ่านนักเขียนหลายคน อ่านโชติ แพร่พันธุ์ ก็ไม่ติดสำนวนท่าน อ่านผู้ชนะสิบทิศก็ไม่ติด มาติดสำนวนของอาจารย์คึกฤทธิ์ มีล้อ มีด่ารัฐบาลเกือบทุกเรื่อง แต่ผมจะไปทำตรงๆ แบบอาจารย์ไม่ได้ เราไม่ได้มีบารมีเท่ากับท่าน โดนกระทืบตาย ส่วนจะด่ามากด่าน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าโกรธมากขนาดไหน อย่างโกรธแบงก์ชาตินี่โกรธมาก รู้สึกว่ามาสร้างต้นทุนให้กับสังคมมากมาย ถ้าบอกว่ากลัวเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป ก็ให้มันอุ่นๆ เสียก่อนค่อยมาว่ากัน นี่มันร้อนที่ไหน มันเย็นยิ่งกว่าน้ำแข็งอีก

…สื่อมวลชนสมัยก่อนเขารู้ว่าเขาเป็นฐานันดร 4 หน้าที่ของสื่อมวลชน คือเป็นปากเสียงแทนประชาชน เป็นปากเสียงที่จะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตยแทนประชาชน ในอดีตรัฐบาลทหารถึงจะอยู่ก็ต้องคอยกดประชาชนเอาไว้ แต่ทุกวันนี้สื่อชื่นชมเผด็จการด้วยซ้ำไป พูดจาหยอกล้อกันเล่นทุกวันที่ทำเนียบรัฐบาล สมัยก่อนไม่มี สมัยเจ๊ยุมาล้อเล่นกับแกยังงี้ แกเอาตายเลย กลายเป็นเรื่องตลก เฮฮากันไปวันๆ ส.ส.ก็ไม่ได้สนใจที่จะมาสื่อสารแทนประชาชน ในต่างจังหวัดมีการใช้อำนาจรัฐเล่นงานคนที่เห็นต่างหรือเอารัดเอาเปรียบประชาชน ซุกยาให้บ้าง ยัดข้อหาอะไรต่ออะไร ไม่มีส.ส.เป็นปากเป็นเสียงให้ เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น แล้วสื่อไม่รู้มากมาย

ดังนั้นสื่อเองก็ละเลยในการทำหน้าที่ แม้ว่าเศรษฐกิจจะดีกว่าสมัยก่อน แต่เรื่องสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนมันยิ่งกว่าสมัยก่อนมาก ดังนั้นเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนในแขนงต่างๆ ที่จะต้องเป็นปากเสียงแทนประชาชนให้มาก

…เราควรจะพัฒนาประชาธิปไตยให้ได้ ถ้าอยู่เป็นเผด็จการทหารเรื่อยไป เท่ากับเราไปให้แต้มต่อกับคู่แข่ง เพราะประชาคมโลกเขาไม่อยากเชิญคนที่มียศพลเอกไปนั่งประชุมกับเขา แล้วสังเกตว่ารัฐบาลไม่ค่อยเข้าใจเศรษฐศาสตร์เท่าไร ความรู้ในเรื่องเศรษฐศาสตร์มหภาคค่อนข้างน้อย วิชานี้ไม่ค่อยมีคนเรียน มันเป็นวิชาที่ใช้จินตนาการค่อนข้างมาก เศรษฐศาสตร์จุลภาคมันใช้กราฟ ใช้ equation มันเห็น

แต่เศรษฐศาสตร์มหภาคมันต้องใช้จินตนาการ ต้องแม่นหลายๆ ทฤษฎี แต่ละทฤษฎีมันถูกทั้งนั้น แต่มันใช้กับสถานการณ์ที่ต่างกัน มันก็ต้องรู้จักเลือกหยิบทฤษฎีต่างๆ มาใช้ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง อันนี้เป็นศิลปะ บอกไม่ได้ว่าทำไมต้องเป็นอย่างนั้น

…ดังนั้นกลับมาเป็นประชาธิปไตยเร็วๆ เถอะ อย่างน้อยถ้าเดินผิดมันก็จะมีเสียงโห่มาจากประชาชน มันมีตัวทัก เพราะคนที่จะได้รับผลกระทบคือประชาชนเดี๋ยวเขาก็ส่งเสียงมาเอง”

เนื่องจากในเช้าวันที่มีการสัมภาษณ์ ดร.วีรพงษ์มีอาการไม่สบายเล็กน้อย การสัมภาษณ์จึงถูกกำหนดเวลาไว้เพียงสองชั่วโมง แต่การคุยออกรสและประวัติศาสตร์ของผู้ที่ได้ชื่อว่า ‘กุนซือ 7 รัฐบาล’ ทำให้เวลาที่เตรียมไว้ระเหยไปอย่างรวดเร็ว เสียงเหง่งหง่างคล้ายบิ๊กเบนของนาฬิกาเจ้าคุณปู่ในห้องระงมขึ้นทุกสิบห้านาที บอกย้ำถึงโมงยามที่ล่วงเลย หากการสัมภาษณ์ยังคงดำเนินต่อไปจนเวลาหลังเที่ยงเคลื่อนคล้อยเข้าสู่ชั่วโมงต้นของยามเย็น

ดูเหมือนไม่ว่านาฬิกาจะเที่ยงตรงแค่ไหน หรือส่งเสียงได้ก้องกังวานเพียงใด

นาฬิกาย่อมไม่สามารถเตือนได้ ถ้าไม่มีผู้ฟัง ■

หมายเหตุ :

1.การสัมภาษณ์มีขึ้นในวันที่ 31 มกราคม 2563

2.วันนี้ 7 พ.ย. 2564 ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือ ดร.โกร่ง ได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ที่รพ.พระมงกุฏฯ สิริอายุ 78 ปี
บทสัมภาษณ์นี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในไทยพับลิก้า เมื่อ 6 พ.ค. 2563 และนำมาโพสต์ใหม่ในวันที่ 7 พ.ย. 2564