ความโดดเด่นของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรืออาจารย์โกร่ง นั้นมีหลายด้าน เริ่มตั้งแต่เรียนหนังสือเก่ง เป็นที่ 1 มาตลอด แม้จะจบคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ปริญญาโท และปริญญาเอก ได้มาจากการเข้าศึกษาวิชาเศรษฐมิติ (Econometrics) มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ เป็นการจบด้านเศรษฐศาสตร์ที่เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับคนไทยในยุคสมัยนั้น ความไม่คุ้นเคยและไม่เข้าใจเรื่องเศรษฐศาสตร์ทำให้การบริหารงานด้านเศรษฐกิจประสบกับความยากลำบาก แต่อาจารย์โกร่งกลับสามารถอธิบายเรื่องที่คนไทยยุคนั้นคิดว่ายาก ไม่เข้าใจ เอื้อมไม่ถึง ให้เป็นเรื่องง่าย จับต้องได้ และมีประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างไร
ความสามารถที่โดดเด่นด้านนี้ ทำให้เมื่อได้เป็นที่ปรึกษา พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษอาวุโส และอดีตนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2523-2531 ที่เป็นยุคเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย จากฐานการผลิตด้านเกษตรกรรม มาเป็นอุตสาหกรรม และจากอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า มาเป็นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ทำให้ พล.อ. เปรม ที่เป็นนายทหารอาชีพ ต้องดึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ (technocrats) ชั้นนำมาเป็นทีมเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เช่น นายอำนวย วีรวรรณ, นายสมหมาย ฮุนตระกูล รวมทั้ง เรืออากาศโท ศุลี มหาสันทนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับนโยบายด้านพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิง และต้องเข้ามารับมือปัญหาวิกฤตน้ำมันขาดแคลนในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อไทยที่มีการนำเข้าน้ำมันในสัดส่วน 70-80% ในยุคนั้น
หลังเกษียณแล้ว อาจารย์โกร่งมักจะเล่าถึงเรื่องราวในสมัยเป็นที่ปรึกษา พล.อ. เปรม เสมอๆ ว่า ด้วยวาระที่นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในยุคนั้น ทั้งด้านการเงิน การคลัง การลงทุน ราคาน้ำมัน ฯลฯ หลังจาก พล.อ. เปรม เข้าประชุม ครม .แล้วจะเรียกอาจารย์โกร่งในฐานะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจไปเข้าพบ และเล่าให้ฟังถึงประเด็นหรือข้อมูลด้านเศรษฐกิจที่ พล.อ. เปรม ไม่เข้าใจเพื่อให้อาจารย์โกร่งอธิบาย บางครั้งก็ให้เสนอความเห็น ก่อนที่ พล.อ. เปรม จะตัดสินใจว่าจะดำเนินงานตามแผนที่รัฐมนตรีเสนอหรือไม่
แสดงให้เห็นถึงความสามารถของอาจารย์โกร่ง ในการอธิบายเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องง่าย ในขณะเดียวกัน อาจารย์โกร่งก็รับรู้ถึงความใจกว้างในการรับฟังของ พล.อ. เปรม และความสามารถในการตัดสินใจเรื่องสำคัญทางเศรษฐกิจ จนประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติมาได้
อาจารย์โกร่งเล่าว่า ระหว่างที่เป็นที่ปรึกษาอยู่นั้น มีช่วงหนึ่งที่ตำแหน่งรองประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ว่างลง และเป็นโควตาของประเทศไทยที่จะส่งคนไปดำรงตำแหน่งนี้ ซึ่งอาจารย์โกร่งสนใจ แต่เมื่อไปขออนุญาต พล.อ. เปรม กลับถูกถามกลับว่า “งานไหนสำคัญต่อประเทศชาติและประชาชนไทยมากกว่า” อาจารย์โกร่งถึงกับอึ้งและตอบกลับว่า “ครับ ถ้างั้นผมไม่ไป”
เราจึงมี “กุนซือเศรษฐกิจ 7 รัฐบาล” กับหน้าที่ลั่นระฆังก่อนภัยจะมาเสมอๆ
ชุติมา บูรณรัชดา รองบรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ในฐานะอดีตนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ยุครัฐบาล พล.อ. เปรม หรือที่นักข่าวเรียกขานว่าป๋าเปรม เล่าว่า ก่อนจะมาเป็นที่ปรึกษาป๋าเปรม อาจารย์โกร่งเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับการชักชวนจาก ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง ที่ปรึกษา พล.อ. เปรม ในขณะนั้น ให้มาอยู่ในทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ
อาจารย์โกร่งเล่าว่า เจอหน้าป๋าเปรมครั้งแรกก็ถูกสอนว่า เป็นนักวิชาการอย่าถือตัวมากนัก ถ้าถือตัวมาก อวดดี อวดเก่ง ก็ไม่มีประโยชน์อะไรกับชาติบ้านเมือง เป็นการพบปะครั้งแรกที่สร้างความประทับใจให้อาจารโกร่งมาก เพราะนักวิชาการยุคนั้นส่วนใหญ่อีโก้จัด จะรู้สึกว่า ข้าแน่ ยิ่งเป็นนักเรียนนอก ยิ่งรู้สึกว่าแน่กว่าคนอื่น
“ยุคนั้น เรียกกันว่าเป็นยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ทำให้คนนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส. (สมาชิสภาผู้แทนราษฎร) มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ขณะที่ป๋าเปรมเป็นทหารมาก่อน ก็จำเป็นต้องมีทีมผู้ชำนาญด้านต่างๆ หรือเทคโนแครตเข้ามาช่วย ป๋าท่านรู้จุดอ่อนตัวเองว่าไม่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นผู้รู้ จึงมีทีมที่ปรึกษาทั้งด้านเศรษฐกิจ ทั้งด้านการเมือง ทีนี้ป๋าคงคิดว่านโยบายสำคัญต่างๆ ต้องมีการตรวจสอบอีกครั้งว่าเป็นนโยบายที่ถูกต้องหรือไม่ แทนที่จะให้ฝายการเมืองวางแผนอย่างเดียว ป๋าก็ตั้งทีมเฉพาะด้านเศรษฐกิจขึ้นมาดู อาจารย์โกร่งก็เข้ามาในทีมนี้ แล้วก็มีสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ด้วย ที่ป๋าเปรมจะฟังความคิดเห็น”
ชุติมาเล่าว่า แต่เดิมนั้น อาจารย์โกร่งจะทำงานอยู่เบื้องหลัง แม้นักข่าวจะรู้ว่าเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจ แต่อาจารย์โกร่งไม่เคยให้สัมภาษณ์อะไร แม้จะไปถึงบ้านก็ถูกปิดประตูใส่หน้า ไม่พูดอะไรทั้งสิ้น โดยเหตุการณ์เศรษฐกิจที่สำคัญในยุคป๋าเปรมคงหนีไม่พ้นเรื่องการลดค่าเงินบาท เนื่องจากยุคนั้นใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบตายตัว โดยตรึงเงินบาทไว้ที่ 23 บาทต่อดอลลาร์มาเป็นเวลานานมาก ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เห็นค่าเงินบาทดังกล่าวสูงเกินความเป็นจริง แต่การเปลี่ยนแปลงค่าเงินก็ดำเนินไปด้วยความยากลำบาก เพราะนักธุรกิจเคยชินกับอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวมานาน
ชุติมา เล่าว่า พล.อ. เปรม ในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องตัดสินใจว่าจะลดค่าเงินบาทหรือไม่ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า ถ้าไม่ลด ค่าเงินบาทจะแข็งเกินไป ไม่สัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจไทย ยุคนั้น รัฐมนตรีคลังคือคุณสมหมาย ฮุนตระกูล มีคุณไพจิตร เอื้อทวีกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยคลัง เสนอให้มีการลดค่าเงินบาท ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย
“ตอนนั้นป๋าเปรมในฐานะรัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะลดค่าเงินบาทหรือไม่ เพื่อให้เศรษฐกิจมันเดินได้ แต่พอประกาศลดค่าเงินบาทจาก 23 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 25-26 บาทต่อดอลลาร์ นักข่าวไปถามป๋าเปรม ว่ามีข่าวว่ารัฐบาลตัดสินใจลดค่าเงินบาท ป๋าตอบว่า “ป๋าไม่รู้”
อาจารย์โกร่งที่เคยอยู่แต่อยู่เบื้องหลัง ไม่ค่อยมีใครรู้จัก หลัง “ลดค่าเงินบาท” กลายเป็นว่าถูกป๋าเปรมหนีบไว้ข้างๆ เกือบตลอด มีข่าวอะไรป๋าเปรมบอกว่าให้ไปถามอาจารย์โกร่ง ให้อธิบายให้ฟัง เพราะสามารถพูดเรื่องเศรษฐกิจได้ชัดเจนกว่า
ทำให้อาจารย์โกร่งที่เคยเป็นคนเบื้องหลังในฐานะเทคโนแครตเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทุกคนเริ่มรู้ว่าอาจารย์โกร่งเป็นทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และเป็นคนที่ป๋าเปรมใช้งาน
“จากนั้น เวลามีอะไร นักข่าวจะวิ่งหาอาจารย์โกร่งตลอด เพราะรู้แล้วว่าเป็นกุนซือรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่ว่าเวลาเจอกัน อาจารย์โกร่งจะพูดทุกเรื่องนะ ไม่ใช่ บางทีก็ถูกไล่ออกมา”
ชุติมาเล่าว่า ก่อนประกาศลดค่าเงินบาท เริ่มมีข่าวกระเส็นกระสายออกมาแล้วว่าจะมีการลดค่าเงินบาท เพียงแต่ไม่รู้ว่าลดค่าเงินเมื่อไหร่ ชุติมาและเพื่อนนักข่าวอีกคนจึงไปหาอาจารย์โกร่งที่บ้านเพื่อขอสัมภาษณ์ แต่อาจารย์โกร่งปิดประตูใส่ ไม่ต้อนรับ ไม่พูด บอกว่าพูดไม่ได้ หลังจากมีการลดค่าเงินบาทแล้วอาจารย์โกร่งบอกว่า “เรื่องอย่างนี้พูดไม่ได้ บอกไม่ได้”
“ตอนนั้นนักข่าวทำเนียบฯ ไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจ อาจารย์โกร่งอธิบายให้รู้ว่า นโยบายรัฐที่บอกไม่ได้มี 2 เรื่อง คือเรื่องลดค่าเงินบาท กับเรื่องลดหรือขึ้นภาษี เพราะถ้าบอกก่อนจะทำให้มีคนได้เปรียบเสียเปรียบ อธิบายจนนักข่าวทำเนียบเข้าใจ”
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ชุติมาเล่าให้ฟัง คือ ช่วงหนึ่งมีปัญหาเรื่องระบบสถาบันการเงิน มีข่าวว่าธนาคารจะล้ม จนทำให้ธนาคารกรุงเทพต้องเอาเงินสดมากองให้เห็น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงิน ว่าไม่ต้องกลัว แบงก์ไม่มีล้ม มาเบิกเงินเมื่อไหร่ แบงก์มีเงินให้ถอน ระยะนั้น นายธนาคารวิ่งเข้าออกทำเนียบรัฐบาลเป็นว่าเล่น แล้วหลังจากนั้นก็ฝ่าฟันวิกฤติไปได้
ชุติมาบอกว่า ทำเนียบรัฐบาลถือเป็นศูนย์กลางของประเทศ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจทุกอย่าง แล้วป๋าเปรมบอกเองว่าป๋าพูดอะไรต้องมีความน่าเชื่อถือ มีเครดิต คนอื่นพูดผิดป๋าแก้ให้ได้ แต่ถ้านายกฯ พูดผิดไม่มีใครแก้ให้ ถ้านายกฯ จะพูดอะไร ต้องชัดเจน ต้องสร้างความเชื่อมั่นได้ ไม่ใช่พูดไปเรื่อยๆ พูดแบบไม่รู้เรื่อง การส่งอาจารย์โกร่งมาอธิบายให้นักข่าวเข้าใจ ด้วยการอธิบายเรื่องยากให้ง่าย จึงเป็นการสื่อสารที่ตรงและสร้างความชัดเจนไปถึงประชาชน
“การที่รัฐบาลจะตัดสินใจดำเนินนโยบายอะไรก็ตาม ถ้าไม่สื่อต่อสาธารณะ จะเกิดความวุ่นวาย ปั่นป่วน บ่อยครั้งอาจารย์โกร่งจะอธิบายว่า ทำไมรัฐบาลต้องทำนโยบายนี้”
ตอนนั้นมีอาจารย์โกร่ง กับคุณสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีคลัง ที่คอยอธิบายด้านนโยบายเศรษฐกิจ แต่คุณสมหมายเป็นคนไม่ค่อยพูดมาก นักข่าวตั้งชื่อว่า “ซามูไรโหด” อย่างกองทัพจะขอซื้อเครื่องบินเอฟ 16 พอนักข่าวถาม แกบอกไม่ให้ซื้อ ประเทศไม่มีเงิน พูดกลางทำเนียบฯ เลย ซื้อไม่ได้ รัฐบาลไม่มีเงิน ซื้อเครื่องบินทั้งฝูงได้ไง”
ชุติมายังเล่าว่าอาจารย์โกร่งนั้นเป็นศิษย์มีครู เป็นลูกศิษย์อาจารย์เทพ สาริกบุตร โหราจารย์ชื่อดัง มีอยู่วันหนึ่ง ระหว่างคุยกันอาจารย์โกร่งบอกว่า ผู้นำประเทศต้องห้อยพระนะ เราก็บอกว่า ห้อยพระรอดไง กับพระไพรีพินาศ
อาจารย์โกร่งบอกไม่ใช่ ผู้นำทุกคน ทุกรัฐบาล ต้องห้อยพระปางห้ามญาติ ถ้าผู้นำปล่อยให้โคตรเหง้าเหล่ากอมาวุ่นวาย มันฉิบหาย ตายอย่างเดียว มัวหมองหมด ต้องห้ามญาติ เป็นคาถาให้กับผู้นำประเทศ
นอกจากนี้ ชื่อเสียงอาจารย์โกร่งไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ยังไปถึงประเทศลาวอีกด้วย โดยอาจารย์โกร่งรับตำแหน่งนายกสมาคมมิตรภาพไทยลาวต่อจากนายอาสา สารสิน มานานนับสิบปี และยังเป็นที่ปรึกษาอาวุโสด้านวางแผนเศรษฐกิจให้กับประเทศลาวเมื่อปี 2533 โดยเสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจให้ลาวเป็น “แบตเตอรี่ของเอชีย” ด้วยการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ จากแม่น้ำโขง และจำหน่ายให้ประเทศรอบข้าง ทำให้ทุกคนในลาวให้ความเคารพมาก จะเรียกดร.วีรพงษ์ว่า “อาจารย์โกร่ง” ตลอด
สำหรับนักข่าวสายเศรษฐกิจ ที่มาคุ้นเคยกับอาจารย์โกร่งในช่วงหลัง หลังจากที่อาจารย์โกร่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน และเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ
จำได้ว่า ครั้งหนึ่งอาจารย์เคยเล่าว่า ในยุครัฐบาล พล.อ. ชาติชาย นั้น มีความจำเป็นต้องขึ้นราคาน้ำมัน แต่ พล.อ. ชาติชาย กลับไปพูดในที่สาธารณะว่าจะลดให้หมดตั้งแต่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ รวมถึงค่าน้ำมัน ทำให้อาจารย์โกร่งในฐานะรัฐมนตรีคลังเดินทางเข้าพบ พล.อ. ชาติชาย เพื่ออธิบายถึงความจำเป็นในการขึ้นราคาน้ำมัน อาจารย์โกร่งบอกว่า ระหว่างนั้นก็กล้าๆ กลัวๆ เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่ไม่ชอบให้ทำอะไรที่สวนทางกับความรู้สึกของประชาชน
แต่ปรากฏว่า พล.อ. ชาติชาย กลับบอกว่า ถ้าจำเป็นต้องขึ้นราคา ก็ขึ้น อาจารย์โกร่งก็อึ้ง พร้อมถามกลับว่า แต่ท่านนายกฯ พูดทั่วไปว่าจะลดราคาน้ำมัน พล.อ. ชาติชาย ตอบว่า ผมเป็นนักการเมือง ก็ต้องพูดอย่างนั้น แต่รัฐมนตรีคลังเห็นว่าควรขึ้นราคา ก็ขึ้นไป อาจารย์โกร่งบอกว่า ได้ยินคำตอบก็โล่งอกทันที
อาจารย์โกร่งยังได้ชื่อว่ามีการวิเคราะห์เศรษฐกิจที่มีความแม่นยำ โดยเฉพาะประเด็นการลดค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 เพราะในขณะที่เสียงส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจะมีการลดค่าเงินบาท แต่อาจารย์โกร่งเป็นเสียงส่วนน้อยในสมัยนั้น ที่เชื่อว่าจะต้องมีการลดค่าเงินบาท รวมทั้งเตือนบริษัทต่างๆ ที่อาจารย์โกร่งเป็นที่ปรึกษาและมีการกู้เงินจากต่างประเทศให้ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ เพื่อป้องกันความเสียหายน้อยที่สุด และสุดท้ายก็มีการลดค่าเงินบาทจริงๆ ตามที่อาจารย์โกร่งเตือนไว้
หรือกรณีนโยบายจำนำข้าว ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เปลี่ยนจากการรับจำนำข้าวโดยกำหนดปริมาณ ให้เพียงพอที่จะดึงราคาข้าวให้สูงขึ้น มาเป็นการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด อาจารย์โกร่งเคยออกมาเตือนว่า นโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดจะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีปัญหา
หรือในช่วงที่เป็นกรรมการยุทธศาสตร์ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ประเทศจีนได้เสนอให้โครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงจากจีน ด้านมณฑลเสฉวน ลงมาไทยไปจนสุดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอาจารย์โกร่งเห็นว่าเป็นโครงการที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยทั้งด้านการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว จึงเป็นโครงการที่อาจารย์โกร่งให้ความสนใจและให้ความสำคัญ ถึงกับเอาแผนที่ประเทศไทยมาติดไว้ในห้องน้ำ และขีดเส้นแนวรถไฟจากจีนมาไทย ลงไปถึงชายแดนทางใต้ เพื่อดูได้ตลอดเวลา
ความแม่นยำในการวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจดังกล่าว ชุติมาเห็นว่ามาจากจุดเด่นของอาจารย์โกร่ง ที่มีความซื่อตรงต่ออาชีพนักเศรษฐศาสตร์และความซื่อตรงต่อตัวเอง แม้จะเป็นที่ปรึกษารัฐบาลใดก็ตาม จะไม่ชื่นชมหรือแสดงความเห็นด้วยหรือชื่นชมอย่างเดียว เพราะถ้าไม่ถูกหลักวิชาการ หรือละเมิดหลักการที่ถูกต้อง อาจารย์โกร่งจะค้าน และไม่เอาด้วยทันที
“อย่างเมื่อครั้งที่เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจให้กับพรรคไทยรักไทย เรื่องจำนำข้าว อาจารย์โกร่งก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการรับจำนำข้าวทุกเม็ด ถ้าจะรับจำนำต้องรับในปริมาณที่กำหนดไว้ หรือใช้วิธีการประกันราคาข้าวดีกว่า เห็นได้ถึงความซื่อตรงกับวิชาชีพนักเศรษฐศาสตร์ ซื่อตรงกับตัวเองด้วย”
หรืออย่างช่วงเกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ประชาชนไม่มีรายได้ ไม่มีเงิน อาจารย์โกร่ง บอกว่า เศรษฐศาสตร์ง่ายๆ คือ เอาเงินไปใส่ในกระเป๋าประชาชนสิ ให้ประชาชนมีเงินใช้จ่าย วิธีอย่างนี้ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นประชาชนจะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่าย หน้าที่รัฐบาลคือเอาเงินไปใส่ในกระเป๋าประชาชน ให้เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นเศรษฐศาสตร์ง่ายๆ ทำให้เราเข้าใจ
คนอาจจะเห็นหรือคิดว่า อาจารย์โกร่งไม่ชอบรัฐบาลนี้ (ประยุทธ์ จันทร์โอชา) แต่การแจกเงินระยะแรก ในด้านเศรษฐศาสตร์แกบอกว่าถูกต้อง นี่คือความซื่อตรงต่อวิชาชีพนักเศรษฐศาสตร์ ซื่อตรงต่อตัวเอง เคารพตัวเอง ไม่ใช่นั่งด่าอย่างเดียว หรือคอยซ้ำเติม อาจารย์โกร่งจะบอกว่า อย่างนี้ถูกต้องแล้ว ต้องเอาเงินไปใส่กระเป๋าประชาชน ประชาชนจะได้มีเงินใช้ แล้วคนที่ได้จะใช้หมด มีร้อยบาทก็ใช้ร้อยบาท มีพันบาทก็ใช้พันบาท ได้ใช้จ่ายจริง เทียบกับให้คนรวย ให้ไปก็ไม่ใช้จ่าย ให้คนจนดีกว่า ให้เท่าไหร่ก็ใช้จ่ายหมด เศรษฐกิจหมุนเวียนไม่รู้กี่รอบ
แต่ขณะเดียวกัน อาจารย์โกร่งก็เตือนว่า การแจกเงินไม่ใช่ ทำได้บ่อยๆ ไม่ควรทำบ่อย เพราะประชาชนจะเสพติด ประเทศจะมีเงินอะไรมากมายให้แจกกันบ่อยๆ ขนาดนั้น เทียบกับปัจจุบันที่แจกกันบ้าเลือด อย่างคนละครึ่ง ก็มีเฟส 5 เฟส 6 ออกมา
กล่าวได้ว่า อาจารย์โกร่งเป็นครูให้กับสื่อตลอดชีวิต แม้กระทั่งการด่ายังเป็นครูเลย
ชุติมาบอกด้วยว่า อาจารย์โกร่งถือได้ว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายประชาธิปไตย วิเคราะห์เศรษฐกิจ วิเคราะห์นโยบายต่างๆ อย่างตรงไปตรงมาตามหลักวิชาการ แต่ก็นำภัยมาสู่อาจารย์โกร่งไปพร้อมกัน เพราะทำให้ถูกโจมตีทางการเมือง และกระทบไปถึงธุรกิจที่อาจารย์โกร่งทำงานอยู่ด้วย
แม้จะไม่ได้เป็นที่ปรึกษา ไม่เป็นเป็นนักการเมือง แต่อาจารย์โกร่งสนิทสนมกับสื่อสายทำเนียบมาโดยตลอด รวมทั้งสื่อรุ่นหลังๆ ทีมนักข่าวที่เคยทำข่าวกับอาจารย์โกร่ง มักไปเยี่ยมเยียนถามไถ่กันเป็นประจำ โดยเฉพาะนักข่าวสายทำเนียบที่ยังนัดพบปะกับอาจารย์โกร่ง มาโดยตลอด ชุติมาเล่าว่า ระยะหลังจะชวนอาจารย์โกร่ง ไปดูละครเวที เรื่องเกี่ยวกับปรีดี พนมยงค์, กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรืออาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งอาจารย์โกร่งจะผ่อนคลายมาก บางครั้งเคาะจังหวะตามดนตรีประกอบละครอย่างมีความสุข
แม้ระยะหลังอาจารย์โกร่งป่วยด้วยโรคมะเร็ง ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลพระมงกุฎนานหลายเดือน ในระหว่างนั้นได้มีการเยี่ยมเยียนอย่างเสมอมา แม้จะไม่สบายก็มักจะคุยให้ความคิดเห็นเรื่องบ้านเมืองเช่นเดิม
อาจารย์โกร่ง ที่ทำหน้าที่ “ครู” ให้กับสื่อมาโดยตลอด ตราบจนอาจารย์โกร่งจากไปอย่างสงบ ด้วยวัย 78 ปี เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564
เป็นการจากไปท่ามกลางความเคารพและรำลึกถึง คุณครู ตลอดกาล