ThaiPublica > เกาะกระแส > UNCTAD มองโลกหลังโควิด-19 จากสถิติ (ตอน 2): อาหารไม่เพียงพอ คนยากจนเพิ่มขึ้น เหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล

UNCTAD มองโลกหลังโควิด-19 จากสถิติ (ตอน 2): อาหารไม่เพียงพอ คนยากจนเพิ่มขึ้น เหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล

18 พฤษภาคม 2020


ต่อจากตอนที่แล้ว นอกจากประเด็นทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปแล้ว มิติด้านสังคมย่อมต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน โดยในรายงานที่ชื่อโควิด-19 กำลังเปลี่ยนโลก: มุมมองทางด้านสถิติ (How COVID-19 is changing the world: a statistical perspective) ในตอนนี้จะกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ว่าจะเป็นอย่างไร

เสี่ยงอาหารไม่เพียงพอ – ไม่มีตลาดรองรับสินค้า

ในประเด็นแรกคือเรื่องความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร โดยปัจจัยเชิงโครงสร้างอย่างการมีรายได้ต่ำและเข้าไม่ถึงระบบรองรับของสาธารณะ (public safety nets) ทำให้ประชาชนในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำมีความเสี่ยงในการเข้าถึงอาหารได้ไม่เพียงพอ เพราะการเติบโตของเศรษฐกิจที่ลดลงที่สอดคล้องกับรายได้ที่ต่ำลง ทำให้ประชาชนบางกลุ่มต้องเผชิญปัญหาขาดสารอาหาร เนื่องจากต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคอาหารออกไป

“จากการวิเคราะห์ช่วยเปิดประเด็นถึงความเสี่ยงของประเทศที่ต้องพึ่งพาอาหารจากการนำเข้าค่อนข้างมาก แม้ว่าจะได้ประโยชน์จากราคานำเข้าที่ตกต่ำลงในช่วงการระบาดของโรค แต่อาจจะไม่เพียงพอ ขณะที่ประเทศอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ คือประเทศที่พึ่งพาการส่งออกวัตถุดิบขั้นต้นต่างๆ โดยเฉพาะระบบการคลังของภาครัฐในประเทศที่ต้องพึ่งพาเงินรายได้จากส่วนนี้  เช่น การส่งออกน้ำมัน ซึ่งราคามีความผันผวนและตกต่ำระหว่างการระบาดขณะนี้”

ในทางตรงข้าม ประเทศที่มีรายได้สูงกลับต้องเผชิญกับผลกระทบจากความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานของโลกและระบบการเกษตรที่ใช้ทุนเข้มข้นแทน เพราะในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป สินค้าเกษตรต้องพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานโลกในการที่จะระบายสินค้าทางการเกษตรของตนเองออกไป และต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงทางด้านสินเชื่อเงินทุนที่ต้องใช้ในการดำเนินการ ซึ่งในที่สุดอาจจะส่งผ่านมายังต้นทุนการผลิตอาหาร และเพิ่มความเสี่ยงทางด้านรายได้ของเกษตรกร

“ความปั่นป่วนของการขนส่งโลจิสติกส์อาจจะส่งผลต่อการกระจายสินค้าขั้นกลาง เช่น ปุ๋ย  จะทำให้ผลผลิตของภาคเกษตรจะตกต่ำลงในระยะสั้น และเช่นเดียวกันกับความเสี่ยงของประเทศรายได้ต่ำ คือ ยังมีปัจจัยอย่างราคาพลังงานที่ลดลงอาจจะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้บางส่วน”

นอกจากนี้ ภาคการเกษตรในเกือบทุกประเทศในโลกยังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำที่เน้นการเกษตรแบบใช้แรงงาน และโรคระบาดอาจจะส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายแรงงาน รวมไปถึงความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารที่มากขึ้น

ย้ายไปโลกดิจิทัล – ไม่พร้อมสำหรับทุกคน

ในแง่ของการใช้ระบบสารสนเทศหรือ ICT เพื่อลดผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 พบว่าข้อมูลที่เริ่มออกมาชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือของพฤติกรรมของผู้คนทั่วโลก เช่น ข้อมูลของกูเกิลชี้ให้เห็นว่าการเคลื่อนย้ายของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าการเดินทางจากบ้านมาที่ทำงาน หรือเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ที่ลดลง ขณะที่อีกด้านหนึ่งมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดผลกระทบของโรคและอุปสรรคที่ต้องเผชิญในชีวิตไปใช้ประจำวัน เช่น หลายคนหันไปทำงานจากบ้าน หรือสั่งสินค้าจำเป็นทางออนไลน์ หรือใช้กับการศึกษา

“อย่างไรก็ดี เพื่อให้ผู้คนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ สิ่งสำคัญคือพวกเขาต้องเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างเพียงพอด้วย จากข้อมูลพบว่า แม้ว่ามากกว่า 53% ของประชากรโลกสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แล้วในปีที่ผ่าน และมากขึ้นจาก 17% ในปี 2548 แต่สัดส่วนของผู้คนที่เข้าถึงยังแตกต่างไม่เท่ากันทั้งโลก โดยมากกว่า 82% ของผู้คนในยุโรปสามารถเขาถึงอินเทอร์เน็ตได้ เทียบกับเพียง 28% ในแอฟริกา และในกลุ่มประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุดตัวเลขนี้อยู่ที่เพียง 19% เท่านั้น และในส่วนนี้บางส่วนเป็นการใช้อินเทอร์เน็ตจากที่ทำงานหรือโรงเรียน ไม่ใช่จากบ้านของพวกเขาด้วย”

ในแง่มุมของครัวเรือนพบว่า 57% ของครัวเรือนทั่วโลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้ว และเช่นเดียวกัน ความแตกต่างของภูมิภาคต่างๆ ยังคงเป็นประเด็นปัญหาสำคัญ และครัวเรือนเหล่านี้ก็ไม่ได้มีอุปกรณ์หรือคอมพิวเตอร์ที่จะสามารถทำงานที่ต้องใช้รายละเอียดสูงได้แม้ว่าจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดสำคัญสำหรับมาตรการอย่างการทำงานจากที่บ้าน

นอกจากนี้ การเข้าถึงเทคโนโลยียังเปลี่ยนแปลงไปตามอายุด้วย แม้ว่าจะมีข้อมูลไม่สมบูรณ์พอจะเห็นภาพของทั่งโลก แต่จากข้อมูลที่มีก็พอจะแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนที่อายุ 15-24 ปีมีระดับการใช้อินเทอร์เน็ตที่สูงกว่ากลุ่มคนอายุอื่นๆ

นักเรียน 1,600 ล้านคนกระทบจากโรงเรียนปิด

มาตรการหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการปิดเมืองคือการปิดโรงเรียน จากตัวเลขล่าสุดประมาณการจำนวนนักเรียนที่ได้รับผลกระทบว่าในช่วงกลางกุมภาพันธ์ที่ผ่านมีกว่า 300 ล้านคน และอีกสองเดือนต่อมา ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1,600 ล้านคนในกว่า 192 ประเทศ และคิดเป็นกว่า 90% ของนักเรียนทั่วโลก

“ตัวเลขในระดับโลก การปิดโรงเรียนกระทบกับเด็กนักเรียนในชั้นก่อนประถมศึกษาประมาณ 155 ล้านคน ในชั้นประถมศึกษาอีก 691 ล้านคน ในชั้นมัธยมศึกษาประมาณ 537 ล้านคน และการศึกษาอุดมศึกษาอีก 191 ล้านคน”

การกระจายตัวของผลกระทบก็แตกต่างไปในแต่ละภูมิภาคของโลก โดยเอเชียกลางและใต้คิดเป็น 30% ของนักเรียนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด อีก 28% เป็นนักเรียนที่อยู่ในเอเชียตะวันออก อีก 16% อยู่ในแอฟริกา อีก 11% ในกลุ่มละตินอเมริกา และที่เหลือ 8% เป็นนักเรียนในโลกตะวันตก

“นโยบายเร่งด่วนขณะนี้คือการเข้าถึงการเรียนการสอนออนไลน์หรือสื่อการเรียนอื่นๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือ เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนหนังสือต่อไปได้ แต่จากข้อมูลทางสถิติชี้ให้เห็นว่าอาจจะเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะการมีบรรยากาศที่เอื้ออำนวยในบ้านของนักเรียนแต่ละคน ซึ่งปัจจัยสำคัญต่อการเรียนให้ได้ประสิทธิผล โดยเฉพาะความแตกต่างที่เกิดขึ้นสำหรับนักเรียนที่ยากจน”

ในระยะยาวมีการศึกษาอีกว่าการขาดเรียนหรือหยุดเรียนเป็นระยะเวลานานจากโรงเรียน จะส่งผลต่อการรักษาการเรียนหรือการจบการศึกษาได้ รวมไปถึงผลการศึกษาที่แย่ลง โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีความเสียเปรียบอยู่แล้ว เช่น คนยากจนหรือผู้พิการต่างๆ

อีกด้านหนึ่ง คือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจจะส่งผ่านยังด้านการศึกษา ผ่านการลงทุนในการศึกษาของรัฐบาลที่ลดลงตามรายได้ภาษีที่ลดลง รวมไปถึงการช่วยเหลือขององค์กรระหว่างประเทศที่จะลดลงตามเงินทุนที่ลดลงด้วย

ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น ผลักคนจนลง

ในแง่ความเหลื่อมล้ำ แม้ว่ากลุ่มคนบางส่วนจะมีรายได้มากกว่าระดับที่เรียกว่ายากจน แต่ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีความพร้อมเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงทางด้านรายได้ ที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองต่างๆ เพื่อลดการระบาดของโรค โดยส่วนใหญ่ไม่มีรายได้หรือสินทรัพย์เพียงพอที่จะรองรับการตกงานมากไปกว่า 3 เดือน และจะกลายเป็นคนยากจน

“ความเสี่ยงนี้จะสูงมากขึ้นในกลุ่มคนหนุ่มสาว มีการศึกษาที่ต่ำกว่า คนที่มีลูกที่มีค่าใช้จ่ายต้องเลี้ยงดูลูกขณะที่โรงเรียนถูกปิด แม่หรือพ่อเลี้ยงเดี่ยว แม้ว่าหลายประเทศจะพยายามออกมาตรการอุดหนุนรายได้ไว้ แต่มาตรการเหล่านี้ต้องใช้เวลา และความเสี่ยงของวิกฤติโรคระบาดจะกลายเป็นปัญหาสังคมตามมา”

โดยจากการประมาณพบว่าโควิด-19 จะทำให้ความยากจนเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2541 จะมีคนยากจนที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 632 ล้านคนหรือ 8.2% ของประชาการทั้งหมดในปีที่แล้วเป็น 665 ล้านคนหรือ 8.6% ในปีนี้ ซึ่งสวนทางกับการประมาณก่อนหน้าที่คาดว่าจะลดลงจาก 8.2% เป็น 7.8%

“โควิด-19 จะทำให้มีคนยากจนเพิ่มขึ้นกว่า 0.7% หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 49 ล้านคนที่จะถูกผลักสู่ความยากจนสุดขั้วในปีนี้ และหากดูเกณฑ์ที่มากกว่านี้ เช่น ที่รายได้ 3.2 หรือ 5.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน จะมีความเป็นไปได้ว่าอีก 100 ล้านคนที่จะตกมาอยู่ในความยากจนรูปแบบนี้”


จาก “มลพิษทางอากาศ” ถึงการจัดการ “ขยะติดเชื้อ”

ผลจากมาตรการปิดเมืองที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกได้นำไปสู่การลดลงของมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งเห็นได้ชัดจากภาพถ่ายดาวเทียมต่างๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าอากาศไม่ได้มีมลพิษแล้ว และจากการศึกษาของฮาร์วาร์ด พบว่าการอยู่ในมลพิษทางอากาศอย่างยาวนานอาจจะส่งผลต่ออัตราการตายของการติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้นการพยายามจะลดมลพิษทางอากาศจะเป็นประเด็นหลักที่จะช่วยลดความเสี่ยงของประชากรในเวลาที่ต้องเผชิญกับโรคระบาดในอนาคตได้

“อีกด้านหนึ่งคือขยะทางการแพทย์ซึ่ง 10-15% เป็นขยะติดเชื้อ มีการคาดการณ์ว่าอาจจะมีขยะอีก 164,140-246,210 ตัน ที่จะต้องจัดการในยุโรปหลังจากนี้ และการจัดการขยะเหล่านี้จะกลายเป็นประเด็นหลักที่จะต้องถูกพูดถึงในระยะต่อไป”