ThaiPublica > เกาะกระแส > UNCTAD มองโลกหลังโควิด-19 จากสถิติ (ตอน1): การค้าหดตัว ท่องเที่ยว การบินวิกฤติ ภาคธนาคารเสี่ยงสูง

UNCTAD มองโลกหลังโควิด-19 จากสถิติ (ตอน1): การค้าหดตัว ท่องเที่ยว การบินวิกฤติ ภาคธนาคารเสี่ยงสูง

14 พฤษภาคม 2020


เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด (UNCTAD) โดยคณะกรรมการความร่วมมือด้านกิจกรรมทางสถิติ (Committee for the Coordination of Statistical Activities: CCSA) ออก รายงาน โควิด-19 กำลังเปลี่ยนโลก มุมมองทางด้านสถิติ (How COVID-19 is changing the world: a statistical perspective) ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์การระหว่างประเทศ 36 หน่วยงานทั่วโลกเป็นครั้งแรก เพื่อแสดงภาพของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในมิติต่างๆ ตั้งแต่เศรษฐกิจ สังคม ภูมิภาคต่างๆ และความสามารถทางด้านข้อมูลและสถิติ

การค้าโลกหดตัว 26.9% – ราคาสินค้าตก 20.4%

ในมิติของเศรษฐกิจ เริ่มจากการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกทั้งปริมาณและมูลค่าแสดงสัญญาณถดถอย เมื่อมาตรการปิดเมืองเริ่มนำมาบังคับใช้ไปทั่วโลก โดยในไตรมาสแรกของปีคาดว่าจะหดตัวไป 3% (-3%) จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะกระทบต่อการค้าโลกรุนแรงที่สุดในไตรมาสที่สองที่กำลังจะถึงนี้ โดยคาดว่าจะหดลงอีก 26.9% (-26.9%) จากไตรมาสก่อนหน้า

“อังค์ถัดได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อชี้วัดและจับสัญญาณการค้าโลก เราได้ปรับปรุงตัวเลขทุกอาทิตย์ ข้อมูลประมาณการล่าสุดอยู่บนฐานของข้อมูลเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา”

นอกจากนี้ จากข้อมูลทางด้านราคายังพบอีกว่าราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ได้ตกลงในอัตราที่เร่งมากขึ้น โดยคาดว่าทำให้มูลค่าการค้าลดลงไป ติดลบ 1.2% ของมูลค่าการค้าในเดือนมกราคม ติดลบ 8.4% ในเดือนในกุมภาพันธ์ และติดลบ 20.4% ในเดือนมีนาคม ราคาพลังงานเป็นปัจจัยหลักของปรากฏการณ์นี้ ด้วยราคาน้ำมันที่ตกลงไปติดลบ 33.2% ในเดือนมีนาคม ขณะที่ราคาแร่ อาหาร หรือสินค้าวัตถุดิบ ลดลงไปต่ำกว่า 4%

“ราคาที่ตกลงมาติดลบกว่า 20% ในเดือนเดียวถือว่าเป็นประวัติการณ์ของรายงาน เทียบกับวิกฤติการเงินโลกก่อนหน้านี้ในปี 2551 ยังหดตัวอยู่ที่ -18.6% เท่านั้น และตอนนั้นปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเพียง 6 เดือนเท่านั้น ส่วนในรอบจะหยุดลงเมื่อไหร่ยังไม่สามารถตอบได้”

ภาคอุตสาหกรรมของจีนหดตัวกว่า 30%

สิ่งที่ตามมาหลังจากการค้าโลกชะลอตัวคือการผลิตด้านอุตสาหกรรมที่ลดลง แม้ว่าข้อมูลเบื้องต้นจะมีข้อจำกัดจากการปิดเมืองที่เกิดขึ้นไม่พร้อมกันในแต่ละประเทศ แต่ตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา การผลิตส่งสัญญาณชะลอตัวลงแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม แม้ว่าจีนจะยังเป็นประเทศที่การผลิตเติบโตได้มากกว่า 5% ณ สิ้นปีที่ผ่านมา

“อย่างไรก็ตาม เพียงแค่ 2 เดือนแรกของปี 2563 การผลิตของจีนร่วงลงอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งอาจจะสะท้อนการหยุดยาวในช่วงตรุษจีน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลจากจากการปิดเมืองอู่ฮั่นในช่วงเวลาเดียวกัน และยังคงต้องติดตามต่อไปว่าจีนจะฟื้นตัวได้ภายในช่วงที่เหลือของปีหรือไม่”

ทางด้านประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชียตะวันออก ผลกระทบโดยตรงของโควิด-19 ไม่สามารถวิเคราะห์จากข้อมูลล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากหลายประเทศเริ่มปิดเมืองในเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้ต่างเริ่มต้นปีด้วยการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้การหดตัวของการผลิตยิ่งมากขึ้นจากการระบาดของโรค

ท่องเที่ยวโลกวิกฤติหดตัว 60-80%

สำหรับภาคบริการอย่างการท่องเที่ยวถือว่าต้องเผชิญวิกฤติอย่างไม่เคยเจอมาก่อน การปิดพรมแดน การห้ามเดินทาง และมาตรการกักกันตัวของหลายประเทศ กระทบกับภาคท่องเที่ยวอย่างที่ไม่เหมือนภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ภายหลังจากภาคการท่องเที่ยวเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่องทุกปีและเติบโตมากกว่าสองเท่าตั้งแต่ปี 2543 ในปีนี้คาดว่าการท่องเที่ยวจากหดตัว 60-80% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขึ้นอยู่กับว่าการจำกัดการเดินทางจะยกเลิกเมื่อไร แต่จากข้อมูลเดือนมีนาคมพบว่าการเดินทางหดตัวไปแล้ว 60% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน

“หลายประเทศที่เผชิญการระบาดนั้นถือว่าเป็นผู้เล่นหลักของการท่องเที่ยวโลก ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหรือเป็นนักท่องเที่ยว ประเทศที่มีรายงานการติดเชื้อสูงสุดลำดับแรกๆ มีสัดส่วนรวมคิดเป็นกว่า 55-68% ของการใช้จ่ายของการท่องเที่ยวโลก ทั้งขาเข้าและขาออก ผลกระทบของวิกฤติครั้งนี้ในประเทศเหลานี้แน่นอนว่าจะส่งผ่านไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะประเทศที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว ซึ่งหลายประเทศถือว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของจีดีพี”

อุตสาหกรรมการบินวิกฤติหนัก สูญเสีย 28,000 ล้านดอลลาร์

อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกต่างรับผลกระทบที่ทั้งรวดเร็วและรุนแรงจากมาตรการห้ามเดินทาง โดย 90% ของเครื่องบินต้องจอดอยู่เฉยๆ และอุปสงค์ของการเดินทางติดเป็นศูนย์ วิกฤติครั้งนี้รุนแรงมากกว่าการระบาดของซาร์ (SARS) หรือเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 เมื่อปี 2544 และคาดว่าในเดือนต่อๆ ไปจะยังคงหดตัวลงเรื่อยๆ

“ภายหลังจากโควิด-19 ถูกประกาศเป็นการระบาดระดับโลก จำนวนที่นั่งของสายการบินต่างๆ ในเดือนมีนาคมเดือนเดียวหดตัวไป 38% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จำนวนนักเดินทางลดลง 54% หรือประมาณ 198 ล้านคน โดยกลุ่มเอเชียแปซิฟิกจำนวนนักเดินทางลดลงมากที่สุดถึง 85 ล้านคน ตามมาด้วยยุโรปและสหรัฐฯ ที่ลดลง 50 และ 35 ล้านคนตามลำดับ การขนส่งทางอากาศ หรือ Air Cargo ก็หดตัว 19% ในเดือนมีนาคม แม้ว่าจะได้อานิสงส์จากการขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดียวกัน”

การเดินทางทางอากาศที่ลดลงยังสร้างแรงกดดันทางการเงินต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในอุตสาหกรรม เพียงเดือนมีนาคม สายการบินทั่วโลกคาดว่าจะสูญเสียรายได้ไป 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสนามบินหรือบริการที่เกี่ยวข้องจะสูญเสียรายได้ไปกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 824 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

“ภาคการบินได้ส่งเสริมหรือกระตุ้นเศรษฐกิจโลกผ่านการจ้างาน การค้า และการท่องเที่ยว และในครั้งนี้มีบทบาทสำคัญในช่วงวิกฤติจากโครงข่ายสนามบินที่กว้างขวาง เช่น การขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์หรือความช่วยเหลือต่างๆ มันจึงสำคัญที่ต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมให้เดินหน้าต่อไปได้ในวิกฤติเช่นนี้”

ภาคธนาคารเชื่อมโยงกันสูง เสี่ยงวิกฤติส่งผ่านระหว่างกัน

วิกฤติการเงินโลกครั้งที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่า เสถียรภาพของเครดิตธนาคารที่ให้กับประเทศกำลังพัฒนาขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของแต่ละประเทศค่อนข้างมาก ทั้งระยะเวลาไถ่ถอนหรือประเทศของสินทรัพย์ต่างส่งผลต่อความรวดเร็วที่เครดิตจะหดตัวจากวิกฤติ ในขณะเดียวกันแม้ว่าคนกู้ยืมกลับมักต้องการเงินสดในช่วงเวลาวิกฤติและพยายามเข้าถึงเงินทุนจากเครดิตเหล่านี้ก็ทำให้สินเชื่อขยายตัวได้

“ข้อมูลล่าสุดพบว่าประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้มีความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงสิ้นปี 2562 ด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการระบาด โดยสินทรัพย์ให้กู้ยืมระหว่างประเทศ หรือหนี้ต่างประเทศส่วนใหญ่อยู่ในประเทศเกิดใหม่ในเอเชีย (64%) ขณะที่หากจากระยะเวลาไถ่ถอนจะพบว่าสินทรัพย์ให้กู้ยืมระยะสั้นคิดเป็นครึ่งหนึ่งของการกู้ยืมทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ให้กู้ในประเทศเกิดใหม่ในเอเชียเช่นเดียวกัน ”

ในมุมมองของเจ้าหนี้ยังมีปัจจัยการรับความเสี่ยงของภาคธนาคารของประเทศจากการให้กู้ยืมยังประเทศเหล่านั้นด้วย สำหรับภาคธนาคารส่วนใหญ่ การให้กู้ยืมในประเทศเหล่านี้จะคิดเป็นเพียง 20% ของการให้กู้ยืนในต่างประเทศทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ภาคธนาคารยังคงมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐฯ มีเงินลงทุนอยู่ในสินทรัพย์กลุ่มประเทศกำลังพัฒนากว่า 450,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเกือบครึ่งการลงทุนในประเทศเหล่านั้น และยิ่งไปกว่านั้นสำหรับสหรัฐฯ หรืออังกฤษสินทรัพย์ดังกล่าวยังเป็นสินทรัพย์ระยะสั้น และหากรวมความเสี่ยงด้านเครดิตอื่นๆ ด้วยความเชื่อมโยงระหว่างประเทศจะยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก

“จากข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นปี 2562 ระบุว่าความเสี่ยงนี้ค่อนข้างสูง และความซับซ้อนและหลากหลายของโครงสร้างเครดิตของธนาคารที่ให้กับประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ จะทำให้ผลกระทบของการระบาดของโรคที่มาสู่ภาคการเงินประเมินได้ค่อนข้างยากและแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ”

โลกค้าขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ 597,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ป้องกัน อุปกรณ์ห้องทดลอง ยา และเทคโนโลยียา โดยพบว่าการค้าสินค้าประเภทนี้ในปี 2562 มีการส่งออก 597,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.7% ของการค้าโลก โดยประเทศที่ผลิต 10 อันกับคิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของการส่งออกของโลก ขณะที่ประเทศผู้ซื้อ 10 อันดับแรกคิดเป็น 2 ใน 3 ของการนำเข้า

“ความร่วมมือขององค์กรระหว่างประเทศ รวมไปถึงข้อตกลงการค้าต่างๆ พยายามช่วยการเก็บภาษีการค้าจากสินค้าเหล่านี้และพยายามให้แต่ละประเทศสามารถเข้าถึงได้ โดยภาษีการค้าของสินค้าเหล่านี้อยู่ที่เฉลี่ย 4.8% ต่ำกว่าภาษีเฉลี่ยของสินค้าเกษตร โดยประเทศถึง 70 ประเทศจาก 164 สมาชิกขององค์การการค้าโลกได้เก็บภาษีของสินค้าเหล่านี้ 5% หรือต่ำกว่า โดยมี 4 ประเทศที่ไม่ได้เก็บเลยคือมาเก๊าและฮ่องกงของจีน ไอซ์แลนด์ และสิงค์โปร์ แต่อีกหลายประเทศยังเก็บภาษีในระดับสูงถึง 55%”