ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ฟิลิปปินส์กู้ AIIB วงเงิน 750 ล้านเหรียญคุมโควิด-19 เวียดนามส่งออกหน้ากากอนามัย 415 ล้านชิ้น

ASEAN Roundup ฟิลิปปินส์กู้ AIIB วงเงิน 750 ล้านเหรียญคุมโควิด-19 เวียดนามส่งออกหน้ากากอนามัย 415 ล้านชิ้น

3 พฤษภาคม 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 26 เมษายน-2 พฤษภาคม 2563

  • ฟิลิปปินส์กู้ AIIB วงเงิน 750 ล้านเหรียญคุมโควิด-19
  • เวียดนามส่งออกหน้ากากอนามัยแล้ว 415 ล้านชิ้น
  • เวียดนามเปิดเส้นทางขนส่งใหม่เชื่อมจีน
  • ลาวสร้างอุโมงค์รถไฟเชื่อมจีนสำเร็จ
  • เมียนมาจะตั้งบรรษัทประกันสินเชื่อ
  • กระทรวงท่องเที่ยวอาเซียนประชุมร่วมฟื้นฟู
  • ฟิลิปปินส์ขอกู้ 750 ล้านดอลลาร์จาก AIIB

    คนไร้บ้านในฟิลิปปินส์ ในสถานที่กักกันดัดแปลงจากยิมเนเซียมของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่มาภาพ: https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-philippines-cases/philippines-sees-largest-daily-rise-in-coronavirus-deaths-cases-idUSKBN21I12V

    รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ขอกู้เงินจำนวน 750 ล้านดอลลาร์จากธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) เพื่อนำไปใช้ในการควบคุมการระบาดของโควิด-19

    AIIB ก่อตั้งขึ้นตามแนวคิดริเริ่มของทางการจีนภายใต้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในช่วงปลายปี 2556 ที่ต้องการเสนอความช่วยเหลือด้านการเงินและแหล่งเงินทุนทางเลือกให้แก่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย เพื่อนำไปลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

    แถลงการณ์ของ AIIB ระบุว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ให้ AIIB สนับสนุนทางการเงินแก่โครงการตอบสนองต่อการระบาดของโควิด-19 (COVID-19 Active Response and Expenditure Support: CARES) ของรัฐบาล ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB)

    “โครงการจะให้การสนับสนุนเร่งด่วนเพื่อช่วยรัฐบาลฟิลิปปินส์ลดผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ อันเนื่องจากการระบาดโควิด” แถลงการณ์ระบุ

    AIIB คาดว่าจะมีการพิจารณาเงินกู้ในกลางเดือนพฤษภาคม โดยเงินกู้นี้จะดำเนินการภายใต้โครงการ Crisis Recovery Facility ของ AIIB

    AIIB ระบุว่า คาดว่าโครงการตอบสนองต่อโควิด-19 ของฟิลิปปินส์จะเพิ่มขีดความสามารถของรัฐบาลในการทดสอบได้ถึง 8,000 รายต่อวันในเดือนหน้า ลดระยะการรอผลลงมาที่ 48 ชั่วโมงหรือน้อยกว่าภายในเดือนกรกฎาคม และมีการประกันชีวิตให้กับบุคลากรทางแพทย์และผู้ป่วยทุกรายในเดือนกรกฎาคม

    ในวันที่ 28 เมษายน รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้ 100 ล้านดอลลาร์สำหรับใช้ในโครงการ COVID-19 Emergency Response Project กับธนาคารโลก และเงินกู้ก้อนใหม่ 200 ล้านดอลลาร์กับ ADB เพื่อโครงการ Social Protection Support Project

    ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้กู้เงิน 500 ล้านดอลลาร์จากธนาคารโลก นอกเหนือจากการกู้เงิน 500 ล้านดอลลาร์ครั้งที่ 3 และ ADB ยังได้อนุมัติเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์เพื่อให้รัฐบาลใช้ในการควบคุมการระบาดของไวรัส

    กระทรวงการคลังคาดว่าจะระดมความช่วยเหลือทางการเงินจากองค์กรระหว่างประเทศได้ 5.7 พันล้านดอลลาร์

    เวียดนามส่งออกหน้ากากอนามัยแล้ว 415 ล้านชิ้น

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/industries/vietnam-exports-415-million-face-masks-this-year-4092382.html
    ความต้องการหน้ากากอนามัยทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เวียดนามส่งออกหน้ากากอนามัยสูงถึงกว่า 415 ล้านชิ้น ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 19 เมษายน

    ข้อมูลจากกรมศุลกากรระบุว่า เวียดนามส่งออกหน้ากากอนามัย 415.7 ล้านชิ้น ทั้งหน้ากากผ้า หน้ากากกันฝุ่น และหน้ากากมีที่กรองสองชั้น มูลค่ารวม 63.2 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้เฉพาะ 19 วันแรกเดือนเมษายนได้ส่งออกหน้ากากอนามัย 88.2 ล้านชิ้นรวมมูลค่า 34 ล้านดอลลาร์

    โรงงานเสื้อผ้าและสิ่งทอของเวียดนามได้รับคำสั่งซื้อต่อเนื่องจากสหรัฐและยุโรป ที่มีการระบาดของโควิด-19 ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ รองลงมาคือ เกาหลีใต้ เยอรมนี สหรัฐฯ ฮ่องกง สิงคโปร์ โปแลนด์ และออสเตรเลีย

    ก่อนหน้านี้การส่งออกหน้ากากอนามัยถูกจำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศในช่วงที่มีการระบาดภายในประเทศ แต่รัฐบาลได้ยกเลิกคำสั่งห้ามในวันที่ 29 เมษายน

    เวียดนามเปิดเส้นทางขนส่งทางเรือใหม่เชื่อมจีน

    เรือขนสินค้าคอสโกที่ท่าเรือต้าเหลียน ที่มาภาพ: http://www.chinadaily.com.cn/a/201811/01/WS5bda517aa310eff303285d34.html

    เวียดนามได้เปิดเส้นทางขนส่งทางเรือใหม่เพื่อการขนส่งผลไม้ คือ แก้วมังกร ไปจีน ซึ่งใช้เวลาเพียง 7 เท่านั้น

    เส้นทางขนส่งทางเรือเส้นใหม่นี้รู้จักกันในชื่อ ทางด่วนผลไม้ (Fruit Express Line) เพราะเน้นการขนส่งผลไม้ที่เก็บในห้องเย็น บริหารโดยคอสโก ชิปปิง (COSCO Shipping) หลังจากเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการโดยเหลียวหนิงกรุ๊ป เป็นเส้นทางที่เชื่อมท่าเรือต้าเหลียนในทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเหลียวหนิงของจีนกับเวียดนาม

    การขนส่งเที่ยวแรกได้นำแก้วมังกร ผลไม้หลักของเวียดนามจำนวน 565 ตัน จากโฮจิมินห์ซิตีไปส่งที่ต้าเหลียนของจีนภายใน 7 วัน

    เส้นทางขนส่งใหม่ไปท่าเรือต้าเหลียนนี้เป็นเส้นทางที่ 15 ของเส้นทางการค้าระหว่างประเทศของต้าเหลียนและประหยัดเวลาได้ถึง 3-5 วัน เมื่อเทียบกับการเชื่อมท่าเรืออื่นกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    แก้วมังกรจากเวียดนามได้ลำเลียงไปส่งห้างสรรพสินค้าในต้าเหลียนกับจังหวัดและเมืองอื่นรอบๆ ภายใต้ 24 ชั่วโมงหลังจากขนถ่ายออกจากท่าเรือ

    ลาวสร้างอุโมงค์รถไฟเชื่อมจีนสำเร็จ

    อุโมงค์รถไฟใหญ่สุดอันดับ 3 ในแขวงอุดมไซย สปป.ลาวเชื่อมจีน ที่มาภาพ: http://vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_work_82.php?fbclid=IwAR30Hm-kbz5oflBT_b3zgrvXwMtHkuwGw6cuiA-yeot27pVdCO80KmHS5Cw

    การก่อสร้างอุโมงค์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศที่อำเภอ นาหม้อ แขวงอุดมไซย สปป.ลาว ที่มีความยาว 9,020 เมตร ซึ่งเป็น ส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟลาว-จีน ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว

    บริษัทรถไฟลาว-จีนได้แถลงข่าวความสำเร็จในวันที่ 28 เมษายน ซึ่งก่อสร้างเสร็จก่อนกำหนดถึง 43 วันนับตั้งแต่เริ่มก่อสร้างในเดือนมีนาคม 2017 แม้ประสบอุปสรรคหลายด้านและท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยบริษัทได้เสริมกำลังคนทำงานไม่มีวันหยุดพร้อมกับให้ความสำคัญกับการป้องกันการติดเชื้อ

    ในวันที่ 27 เมษายนได้มีการเปิดใช้อุโมงค์นี้อย่างเป็นทางการที่แขวงอุดมไซย ซึ่งรถไฟจะเริ่มเดินทางออกจากจีนในวันที่ 7 เมษายนนี้ และเป็นการวางพื้นฐานการบริการรถไฟลาว-จีน ที่จะเริ่มขึ้นในปี 2021

    โครงการรถไฟลาว-จีนจะเชื่อมคุนหมิง มณฑลยูนนานในจีนกับเวียงจันทน์ใน สปป.ลาว และเป็นโครงการภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง Belt and Road Initiative (BRI) ที่ริเริ่มโดยจีน

    ความสำเร็จของโครงการยังสะท้อนความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลาวกับจีน และเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโครงการ BRI ที่จะเปลี่ยนลาวจากประเทศไม่มีทางออกทะลเป็นประเทศที่เชื่อมต่อทางบกกับประเทศอื่น ผ่านการพัฒนาเส้นทางรถไฟ โดยรถไฟโดยสารจะใช้ความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงผ่านชายแดนบ่อเต็นในลาว-บ่อหาน ในยูนนาน และวิ่งผ่าน 4 เมืองของลาว คือ เวียงจันทน์ หลวงพระบาง อุดมไซย และหลวงน้ำทา รวมความยาว 414.3 กิโลเมตร

    เมียนมาจะตั้งบรรษัทประกันสินเชื่อ

    การสัมมนาเรื่องบรรษัทประกันสินเชื่อในเมียนมาเดือนมกราคม 2563 ที่มาภาพ: https://www.moi.gov.mm/moi:eng/?q=news/23/01/2020/id-20576

    เมียนมาจะจัดตั้งบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรม ผ่านการออกกฎหมายสินเชื่อฉบับใหม่เพื่อสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจขนาดย่อม

    อู ถั่นห์ สิน ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับการเงิน จากกระทรวงวางแผน การเงิน และอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงกำลังร่างกฎหมายบรรษัทค้ำประกันสินเชื่อ

    เจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจรายย่อย ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง (micro, small , medium enterprises: MSMEs) ผ่านการค้ำประกันสินเชื่อ และให้สถาบันการเงินมีส่วนร่วมเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการให้กู้และปล่อยกู้แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

    “ไม่ว่ามีหลักทรัพย์หรือไม่มีหลักทรัพย์ บรรษัทประกันสินเชื่อที่มีรัฐบาลหนุนหลังสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ โดยบรรษัทฯ จะค้ำประกันเงินกู้ให้กับผู้ปล่อยกู้ ซึ่งผู้กู้ต้องมีค่าธรรมเนียมส่วนหนึ่งให้บรรษัทฯ” อู ถั่นห์ สน กล่าวและว่า ร่างกฎหมายเสร็จสิ้นและพร้อมจะเสนอต่อรัฐสภาให้พิจารณา

    ธุรกิจเอกชนของเมียนมาส่วนใหญ่เป็นธุรกิจนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) แต่ยังมีจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

    ในช่วงการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลได้มีมาตรการทางการเงินช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมวงเงิน 100 พันล้านจ๊าด ธนาคารกลางได้ลดอกเบี้ยลง 1.5% แต่ไม่มากพอที่จะพยุงเศรษฐกิจ เนื่องจากธุรกิจ MSMEs ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน

    กระทรวงท่องเที่ยวอาเซียนประชุมร่วมฟื้นฟู

    เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนสมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวราชอาณาจักรกัมพูชา Dr. Thong Khon เป็นประธาน และมีรัฐมนตรีท่องเที่ยวจากทุกประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงรองเลขาธิการอาเซียนด้านเศรษฐกิจ ร่วมประชุม

    นายพิพัฒน์กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงมาตรการในการฟื้นตัวเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้อุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนฟื้นตัวโดยเร็วที่สุด โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยอาศัยการดำเนินงานของทีมสื่อสารในภาวะวิกฤติการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Crisis Communications Team: ATCCT) เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่ทันเวลา เชื่อถือได้ ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือกับคู่เจรจาและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในมาตรการสนับสนุนและบรรเทาทุกข์ในภาคการท่องเที่ยว เพื่อรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจอันเป็นผลสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

    นายพิพัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า “ประเทศไทยมีมาตรการในการบรรเทา เยียวยา และฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการและแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวด้วยการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งมีการดำเนินการใน 2 ระยะ โดยในระยะแรกประกอบด้วยมาตรการด้านการเงินและการคลัง และมาตรการด้านการให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยมาตรการทั้ง 2 ด้านมีการเริ่มต้นดำเนินการไปแล้ว

    ส่วนมาตรการในระยะที่สอง ประกอบด้วยมาตรการสำคัญ 6 ด้าน ได้แก่ มาตรการเสริมสร้างและการรักษาขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยว, มาตรการด้านการสร้างรายได้แก่สถานประกอบการท่องเที่ยว, การพัฒนาทักษะบุคลากรด้านการท่องเที่ยว, การสร้างมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและด้านสุขอนามัย, การช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

    นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับรองถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนในการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูการท่องเที่ยวอาเซียน (Joint Statement of the ASEAN Tourism Ministers on Strengthening Cooperation to Revitalise ASEAN Tourism) โดยมีความตกลงร่วมกัน ดังนี้

    1. สนับสนุนการประสานงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งรัดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการเดินทางที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุข และมาตรการจำเป็นอื่นๆ ของประเทศสมาชิกอาเซียน ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านการดำเนินงานของทีมสื่อสารในภาวะวิกฤติการท่องเที่ยวอาเซียน

    2. กระชับความร่วมมือระหว่างองค์กรการท่องเที่ยวแห่งชาติของประเทศสมาชิกอาเซียน (National Tourism Organisations) กับหน่วยงานอาเซียนอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหุ้นส่วนภายนอกอาเซียน โดยเฉพาะด้านการสาธารณสุข ข้อมูลข่าวสาร การคมนาคมขนส่ง และการเข้าเมือง

    3. ส่งเสริมความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจาอาเซียน ในการตอบสนองภาวะวิกฤติ ความพร้อมทางด้านการสื่อสาร การประสานความร่วมมือ การบรรเทาสาธารณภัยระดับประเทศ และมาตรการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนการเรียนรู้จากประสบการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือและจัดการกับโรคระบาด หรือภัยคุกคามร้ายแรงอื่นได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต