ThaiPublica > คอลัมน์ > “ความไม่แน่นอน” ปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย?

“ความไม่แน่นอน” ปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย?

23 เมษายน 2020


ทศพล อภัยทาน [email protected] ธนาคารแห่งประเทศไทย
พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม [email protected] จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พิม มโนพิโมกษ์ [email protected] สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

บทความนี้กลั่นกรองเนื้อหาจากบทความ aBRIDGEd ฉบับเต็มเรื่อง “เศรษฐกิจไทยภายใต้ความไม่แน่นอน” เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (https://www.pier.or.th/)

ที่มาภาพ : https://www.pier.or.th/wp-content/uploads/2020/04/CrossRoad_resized.jpg

“The centerpiece of Keynes’s theory is the existence of inescapable uncertainty about the future. … Taking uncertainty seriously … has profound implications not just for how one does economics and how one applies it, but for one’s understanding of practically all aspects of human activity.”


Robert Skidelsky [Keynes: The Return of The Master, 2009]

คำกล่าวข้างต้นของ Robert Skidelsky ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งมหาวิทยาลัย Warwick สหราชอาณาจักร และผู้เขียนชีวประวัติอันโด่งดังของ John Maynard Keynes ต้องการสะท้อนถึงที่มาของแนวคิดเคนส์ก่อนที่จะมาเขียนหนังสือปฏิวัติวงการเศรษฐศาสตร์ (The General Theory of Employment, Interest and Money, ค.ศ. 1936) ซึ่งต่อมาได้รับการพัฒนาเป็นวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคในปัจจุบัน ผู้ที่ศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคมาก่อน (ที่มักเรียนผ่านแบบจำลอง IS-LM หรือรู้จักเคนส์ผ่านข้อเสนอด้านนโยบายรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะสั้น) อาจยังไม่เคยทราบว่าองค์ประกอบชิ้นสำคัญในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ของเคนส์คือเรื่อง “ความไม่แน่นอน”

ในขณะนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 กำลังสะท้อนอีกหนึ่งภาพความรุนแรงของความไม่แน่นอนที่ไม่เพียงแผ่ขยายไปในทุกด้านของการดำเนินชีวิตมนุษย์ทั้งในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ซึ่งยังมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อเป็นระยะเวลานาน และหากมองย้อนกลับไป ประเด็นที่มักเป็นหัวข้อสนทนาอย่างกว้างขวางในวงการเศรษฐกิจและการเงินมักจะเกี่ยวข้องกับความไม่แน่นอนมิติด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา เรื่องการแยกตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรป ความไม่แน่นอนทางนโยบายเศรษฐกิจการเมืองของไทย เช่น การเลือกตั้งของไทยในปีที่ผ่านมารวมถึงความล่าช้าในกระบวนการพิจารณางบประมาณรายจ่ายของประเทศ คำถามคือ ความไม่แน่นอนในมิติต่างๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด

แม้ว่าการวัดระดับความไม่แน่นอนเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่ง เพราะเป็นตัวแปรที่ไม่สามารถวัดค่าได้โดยตรงและมักจะมีแหล่งที่มาหลากหลาย โดยทั่วไปนักเศรษฐศาสตร์จึงมักดูตัวชี้วัดต่างๆ ที่สะท้อนระดับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น เช่น ความผันผวนในตลาดการเงิน ที่นิยมคือดัชนีความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา (VIX index)

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลประเภทการสำรวจความคิดเห็นของหน่วยงานต่างๆ ที่สะท้อนระดับความเชื่อมั่นของคนที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจ เช่น ดัชนีสำรวจผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (purchasing managers’ index) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ผู้ประกอบการภาคธุรกิจหรือภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม งานวิชาการในต่างประเทศในปัจจุบันพัฒนาตัวชี้วัดความไม่แน่นอนไปอย่างแพร่หลาย เช่น ดัชนีความไม่แน่นอนทางด้านนโยบายเศรษฐกิจ (economic policy uncertainty index) ซึ่งมีทั้งในระดับโลก รวมทั้งประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และประเทศกำลังพัฒนาจำนวนทั้งหมด 24 ประเทศ แต่ยังไม่มีกรณีของประเทศไทย

ในงานศึกษาเรื่อง “Uncertainty and Economic Activity: Does it matter for Thailand?” โดย Apaitan et al. (2020) เราพยายามสร้างดัชนีชี้วัดระดับความไม่แน่นอนในประเทศไทย เพื่อให้การวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมีความครอบคลุมมากขึ้นและเข้าใจถึงธรรมชาติและผลกระทบที่อาจแตกต่างกันไปของความไม่แน่นอนแต่ละชนิด เราได้จำแนกความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ คือ

    1. ความไม่แน่นอนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมในระบบเศรษฐกิจมหภาค (macroeconomic uncertainty)
    2. ความไม่แน่นอนที่เกี่ยวข้องกับตลาดการเงิน (financial uncertainty)
    3. ความไม่แน่นอนทางด้านนโยบายเศรษฐกิจและการเมือง (policy uncertainty) เช่น ด้านนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย นอกจากนี้ เราได้ทำการสร้างดัชนีตัวแทนวัดระดับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

ผลการศึกษาสามารถสรุปเป็นประเด็นได้ดังต่อไปนี้

1. ความไม่แน่นอนในแต่ละด้านข้างต้นมีพลวัตแตกต่างกันอย่างมาก แต่ในภาพรวมจะพบว่ามีการเคลื่อนไหวสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ (counter-cyclical) ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาในต่างประเทศ คือ ความไม่แน่นอนมักจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ และลดลงในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตดี

2. การเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันของความไม่แน่นอนส่งผลให้ GDP รวมถึงองค์ประกอบด้านการลงทุน การบริโภค และการส่งออก ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยการลงทุนและการส่งออกมีการตอบสนองที่รุนแรงมากกว่าด้านการบริโภค และพบว่าเครื่องชี้วัดความไม่แน่นอนในภาพรวมอธิบายความผันผวนทางเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ถึง 37% ซึ่งผลดังกล่าวนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับผลการศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อวัฏจักรเศรษฐกิจไทย

3. การสูงขึ้นของความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ (macroeconomic uncertainty) ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงทันทีและมีการฟื้นตัวที่เร็ว ขณะที่ความไม่แน่นอนด้านการเงิน (financial uncertainty) ใช้เวลาในการส่งผ่านนานกว่าและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้แหล่งที่มาของความไม่แน่นอนด้านการเงินไทยได้รับอิทธิพลมาจากความไม่แน่นอนภายนอกประเทศเป็นส่วนใหญ่

4. ในบรรดาชนิดของความไม่แน่นอนทางด้านนโยบายเศรษฐกิจในประเทศ (domestic economic policy uncertainty) พบว่าความไม่แน่นอนทางด้านนโยบายการเงินส่งผลอย่างมากต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมโดยเฉพาะด้านการส่งออกและการลงทุน และมีการส่งผลที่ต่อเนื่องยาวนาน ขณะที่ความไม่แน่นอนทางด้านนโยบายการคลังมีผลที่สูงในช่วงแรกแต่เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ส่วนความไม่แน่นอนทางด้านการเมืองพบว่าผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชนค่อนข้างรุนแรงและต่อเนื่องไปในระยะเวลายาวนาน

แม้ว่างานศึกษาชิ้นนี้ยังไม่ได้คลอบคลุมไปถึงเหตุการณ์ COVID-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นต่อระบบเศรษฐกิจ ตลาดการเงิน และนโยบายรัฐบาลเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามเราสามารถประมาณการผลกระทบทางเศรษฐกิจผ่านแบบจำลองทางเศรษฐมิติ (vector autoregression) จากการเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันของความไม่แน่นอน (uncertainty shocks)

โดยเราอ้างอิงวิธีการจากงานของ Baker et.al. (2020) โดยวัดขนาดของ uncertainty shocks จากค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของการเพิ่มขึ้นของ VIX index ในช่วงไตรมาสแรกของปี ที่ดัชนีความผันผวนนี้เพิ่มขึ้นถึง 500% หรือพูดง่ายๆ คือความกลัวของคน (fear gauge) ในตลาดการเงินในกรณี COVID-19 เพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว! ผลการวัดขนาดของ uncertainty shocks ในกรณีของประเทศไทย พบว่ามีขนาดใกล้เคียงกับที่ใช้ในงานของ Baker et.al. (2020) (คือประมาณ 1.4xS.D.) ซึ่งเราจะนำค่านี้มาประมาณการผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

จากตารางจะเห็นได้ว่าการเพิ่มขึ้นของความไม่แน่นอนจากกรณี COVID-19 ส่งผลให้ GDP ลดลงถึง -6.2% โดยช่วงความเชื่อมั่นในระดับ 90% อยู่ระหว่าง -1.6% ถึง -8.7% และผลกระทบที่รุนแรงที่สุดคือการส่งออก ตามด้วยการลงทุนและการบริโภค

นอกจากนี้เรายังพบว่าหากไม่มี uncertainty shock ระลอกที่สอง เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 4 แต่จะเป็นการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ หรือเป็น U-shaped recovery

เมื่อความไม่แน่นอนส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในด้านขนาด กลไกการส่งผ่าน รวมถึงความสามารถในการอธิบายวัฏจักรเศรษฐกิจของประเทศไทยเช่นนี้แล้ว ผู้วางนโยบายจำต้องติดตามพัฒนาการและทำความเข้าใจธรรมชาติของแหล่งที่มาของความไม่แน่นอนในการออกแบบนโยบายที่เหมาะสม

หมายเหตุ : ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์