ThaiPublica > เกาะกระแส > นักวิจัยนานาชาติเผยผลศึกษา “ล็อกดาวน์อู่ฮั่น” พิสูจน์ชะลอการแพร่ระบาดโควิด-19 ในเมืองอื่น

นักวิจัยนานาชาติเผยผลศึกษา “ล็อกดาวน์อู่ฮั่น” พิสูจน์ชะลอการแพร่ระบาดโควิด-19 ในเมืองอื่น

3 เมษายน 2020


เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้นถนนในอู่ฮั่น ที่มาภาพ: https://www.rte.ie/news/2020/0401/1127720-china-coronavirus-lockdown/

การตัดสินใจของจีนที่ล็อกดาวน์ ปิดเมืองอู่ฮั่น ซึ่งปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ สามารถป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นได้ถึง 700,000 ราย เพราะเป็นการชะลอแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ทั่วโลกประสบกับการระบาดใหญ่

ทีมนักวิจัยนานาชาติจากจีน สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ได้ร่วมทำการศึกษามาตรการการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 50 วันภายในจีน โดยใช้ชุดข้อมูลรายงานผู้ติดเชื้อ ข้อมูลสาธารณสุขและข้อมูลการติดตามตัวจากโทรศัพท์มือถือเพื่อตรวจจับการระบาดของไวรัส

ทีมวิจัยได้นำเสนอบทความวิจัย An investigation of transmission control measures during the first 50 days of the COVID-19 epidemic in China ในวารสาร Science

ผลการวิจัยพบว่า มาตรการควบคุมที่เด็ดขาดในช่วง 50 วันแรกของการระบาดในเมืองอู่ฮั่นทำให้เมืองอื่นๆ ทั่วประเทศมีเวลาในการเตรียมการและบังคับใช้ข้อห้ามของตนเอง

จีนที่ได้ห้ามการเดินทางเข้าและออกจากเมืองอู่ฮั่นในวันที่ 23 มกราคม 2562 และประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อตอบสนองต่อการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่อุบัติขึ้นในเดือนธันวาคม 2562

ทีมนักวิจัยได้ทำการวิจัยการระบาดและการควบคุมการระบาดด้วยการใช้ชุดข้อมูลเฉพาะซึ่งรวมถึงรายงานผู้ติดเชื้อ การเคลื่อนไหวของคนและการเข้ามาดำเนินการด้านสาธารณสุขของรัฐ การปิดเมืองอู่ฮั่นมีความเกี่ยวข้องกับการชะลอการระบาดของไวรัสในเมืองอื่นได้ 2.91 วัน เมืองที่ใช้มาตรการควบคุมล่วงหน้ามีการรายงานผู้ติดเชื้อจำนวนน้อยราย โดยเฉลี่ย ในสัปดาห์แรกของการระบาด (13.0; 7.1-18.8) เทียบกับเมืองที่ใช้มาตรการควบคุมภายหลังมีอัตรา (20.6; 14.5-26.8)

การห้ามการคมนาคมภายในเมือง ปิดสถานบันเทิง และห้ามการรวมตัวของคนจำนวนมาก ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ส่วนการประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติมีผลต่อการชะลอการเพิ่มขึ้นและจำกัดวงการระบาดในจีน ทำให้ไม่มีการติดเชื้อจำนวนหลายแสนคนจนถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นวันที่ 50 ของการระบาด

วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ในเวลาไม่ถึงหนึ่งวันก่อนถึงวันหยุดเทศกาลใบไม้ผลิปี 2563 และวันตรุษจีน มีการรายงานผู้ป่วยโรคปอดอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ 11 ล้านคน และเป็นศูนย์กลางการขนส่งที่ใหญ่ที่สุดในตอนกลางของจีน ต่อมามีการระบุว่าเป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ผลการตรจสอบทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่ามีการติดต่อจากคนสู่คนของโควิด-19 การแพร่กระจายของโรคสร้างความกังวลอย่างมากว่าจะมีผลต่อเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งปกติแล้วจะมีการเดินทางถึง 3 พันล้านเที่ยวตลอด 40 วันของเทศกาล ซึ่งกินเวลา 15 วันก่อนวันตรุษจีนและ 25 วันหลังจากนั้น

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาโดยเฉพาะ จึงมีการเข้ามาจัดการด้านสาธารณสุขของรัฐ (โดยไม่ใช้ยา) หลายด้านเพื่อควบคุมการระบาด และเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 จากแหล่งต้นตอ การคมนาคมขนส่งทุกประเภทจึงถูกระงับทั้งเข้าและออกจากเมืองอู่ฮั่นเวลา 10.00 น. ของวันที่ 23 มกราคม 2563 ตามมาด้วยการห้ามทั้งมณฑลหูเป่ยในวันต่อมา หากวัดในแง่จำนวนประชากรแล้ว มาตรการนี้น่าจะเป็นการกักกันคนในวงใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

ในวันที่ 23 มกราคม 2563 จีนได้ยกระดับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขไปที่ระดับสูงสุด จากทั้งหมดที่มีด้วยกัน 4 ระดับ เนื่องจากการระบาดที่รุนแรงอย่างหนัก นอกเหนือจากการห้ามการเดินทางในเมืองอู่ฮั่นแล้ว ยังมีการแยกผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังออกจากผู้ป่วยติดเชื้อ ยังมีการระงับการเดินรถเมล์ รถไฟใต้ดิน มีการสั่งปิดโรงเรียนและสถานบันเทิง ห้ามการรวมตัว มีการตรวจสุขภาพแรงงานที่โยกย้ายถิ่น ห้ามการเดินทางเข้าและออกในหลายเมือง และมีการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูล เพื่อให้เป็นไปตามการประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ แม้จะใช้มาตรการเหล่านี้ โควิด-19 ก็ยังคงน่ากลัวในจีน

มาตรการควบคุมที่ใช้ในประเทศจีนอาจจะเป็นบทเรียนสำหรับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

แม้มีการศึกษาการแพร่กระจายของโรคติดเชื้ออย่างเข้มข้น ครอบคลุมทั้งการศึกษาที่ชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทของการเคลื่อนไหวของมนุษย์ ประสิทธิภาพของการจำกัดการเดินทาง และมาตรการระยะห่างทางสังคมในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อก็ยังมีความไม่แน่นอน

สำหรับโควิด-19 รูปแบบการติดเชื้อและผลของการเข้าดำเนินการยังไม่สามารถทำความเข้าใจได้มาก ดังนั้นงานวิจัยจึงใช้วิธีการวิเคราะห์เชิงปริมาณเพื่อวัดบทบาทของข้อจำกัด การเดินทาง และมาตรการควบคุมการติดเชื้อในช่วง 50 วันแรกของการระบาดของโควิด-19 ในจีน ตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งครอบคลุมเทศกาลวันหยุด 40 วัน กินเวลา 15 วันก่อนวันตรุษจีนและ 25 วันหลังจากนั้น

การวิเคราะห์อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลการระบาดของโควิด-19 ตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ การเคลื่อนไหวของคน และการเข้ามาจัดการด้านสาธารณสุขของรัฐ (โดยไม่ใช้ยา) ข้อมูลเหล่านี้รวมถึงจำนวนที่ผู้ติดเชื้อที่มีการรายงานแต่ละวันแต่ละเมืองของจีน ข้อมูลการเคลื่อนไหวของประชากร 4.3 ล้านคนในเมืองอู่ฮั่น และข้อมูลระยะเวลาและรูปแบบการควบคุมการติดต่อที่ใช้นำมาใช้ทั่วประเทศจีน

วันที่รายงานพบไวรัสโคโรนาและวันที่ใช้มาตรการต่างๆ ที่มาภาพ: https://science.sciencemag.org/content/early/2020/03/30/science.abb6105

ทีมวิจัยได้เริ่มการวิเคราะห์ไปที่บทบาทของการห้ามการเดินทางของเมืองอู่ฮั่น เปรียบเทียบการเดินทางในปี 2563 กับปีก่อนๆ และประเมินว่าการเดินทางช่วงเทศกาลจะมีผลต่อการแพร่กระจายของไวรัสทั่วจีนอย่างไร

ช่วงเทศกาลวันหยุดปี 2560 และ 2561 โดยเฉลี่ยจะมีคนเดินทางออกจากอู่ฮั่น 5.2 ล้านคนในช่วง 15 วันก่อนวันตรุษจีน แต่ปี 2563 นี้ไม่มีการเดินทางเพราะอู่ฮั่นปิดเมือง แต่มีคน 4.3 ล้านคนเดินทางออกนอกเมืองระหว่างวันที่ 11 มกราคม กับวันที่ 23 มกราคม 2563 ที่มีการสั่งห้ามเดินทาง ในปี 2560 และ 2561 การเดินทางออกนอกเมืองในช่วง 25 วันหลังจากวันตรุษจีนมีจำนวนเฉลี่ย 6.7 ล้านคนแต่ละปี แต่ปี 2563 การสั่งห้ามเดินทางทำให้การเคลื่อนไหวของคนเกือบจะชะงักทั้งหมดและลดการส่งออกเชื้อโควิด-19 จากอู่ฮั่น

การแพร่กระจายของโควิด-19 ในช่วง 15 วันก่อนหน้าและ 25 หลังวันตรุษจีน ที่มาภาพ: https://science.sciencemag.org/content/early/2020/03/30/science.abb6105

กราฟ (A) การเดินทางออกจากเมืองอู่ฮั่นช่วงเทศกาลวันหยุดในปี 2560 ปี 2561 และปี 2563 เส้นประตั้งตรงคือวันตรุษจีน กราฟ (B) จำนวนความเคลื่อนไหวจากเมืองอู่ฮั่นไปยังมณฑลอื่นในช่วง ช่วง 15 วันก่อนวันตรุษจีนปี 2563 พื้นที่ระบายสีอ่อนไปเข้มคือจำนวนการเดินทางออกจากอู่ฮั่นไปยังแต่ละมณฑล วงกลมสีแดงหมายถึงจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม ณ วันที่ 30 มกราคม 2563 กราฟ (C) ความเกี่ยวข้องของจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม ก่อน วันที่ 30 มกราคม 2563และจำนวนการเดินทางออกนอกเมืองอู่ฮั่นไปยังมณฑลอื่น

การแพร่กระจายของโควิด-19 จากอู่ฮั่นรวดเร็วมาก จากภาพด้านล่าง มี 262 เมืองรายงานผู้ติดเชื้อภายใน 28 วัน ขณะที่ไข้หวัดใหญ่ H1N1 ที่ระบาดในปี 2552 นั้นใช้เวลา 132 วันกว่าจะระบาดไปถึงเมืองในจำนวนเดียวกัน ส่วนเมืองที่รายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกของเมืองนั้นสูงสุดที่ 59 เมืองต่อวันที่ 23 มกราคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่อู่ฮั่นปิดเมือง

การแพร่กระจายของโควิด-19 ในจีน ที่มาภาพ: https://science.sciencemag.org/content/early/2020/03/30/science.abb6105

กราฟ (A) จำนวนเมืองที่รายงานผู้ติดเชื้อถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 วัดจากระยะห่างเป็นวันจากวันแรกของการรายงานผู้ติดเชื้อรายแรกของเมืองที่มีการติดเชื้อเมืองแรกคืออู่ฮั่น กับวันที่มีผู้ติดเชื้อรายแรกของแต่ละเมืองที่มีการรายงานผู้ติดเชื้อ (รวมทั้งหมด 324 เมือง) เพื่อดูอัตราการติดต่อของโควิด-19 ระหว่างเมือง เส้นประแสดงวันที่อูฮั่นห้ามการเดินทางหรือปิดเมือง

กราฟ (B) ก่อน (แทนด้วยสีน้ำเงิน) และหลัง (แทนด้วยสีแดง) การเข้าจัดการโดยรัฐในวันที่ 30 มกราคม 2563 หนึ่งสัปดาห์หลังจากอู่ฮั่นปิดเมือง เส้นสีน้ำเงินและจุดแสดงระยะเวลาจนถึงวันปิดเมือง ส่วนจุดสีเทาแสดงระยะเวลาที่คาดว่าจะแพร่ไปถึงเมืองอื่นหลังวันที่ 23 มกราคม 2563 หากไม่มีการปิดเมือง เส้นสีแดงและจุด (จากการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์) แสดงถึงระยะเวลาการระบาดไปเมืองอื่นที่ชะลอตัวหลังจากปิดเมืองวันที่ 23 มกราคม 2563 จุดแต่ละจุดแสดงถึงหนึ่งเมือง

จำนวนผู้ติดเชื้อที่รายงานแต่ละมณฑล ณ วันที่ 30 มกราคม 2563 หนึ่งสัปดาห์หลังจากอู่ฮั่นปิดเมือง มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับจำนวนผู้เดินทางออกจากอู่ฮั่น และมีการแพร่กระจายไปยังเมืองอื่นที่มีประชากรมากกว่าและมีคนเดินทางออกจากอู่ฮั่นเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อห้ามการเดินทางของอู่ฮั่นมีความเกี่ยวข้องกับการชะลอการระบาดไปถึงเมืองอื่นๆ ถึง 2.91 วัน

การชะลอการแพร่ระบาดทำให้เมืองอื่นๆ มากกว่า 130 เมืองทั่วจีนมีเวลาเตรียมความพร้อมรับมือกับการระบาด แต่ไม่สามารถควบคุมการติดต่อหลังการติดเชื้อได้ถูกส่งออกจากอู่ฮั่นไปยังที่อื่น จากภาพที่ 1 แสดงให้เห็นถึงเวลาและการใช้มาตรการควบคุมฉุกเฉินใน 342 เมืองทั่วทั้งประเทศจีน การปิดโรงเรียน การแยกผู้เฝ้าระวังและผู้ป่วยติดเชื้อ รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลในทุกเมือง มีการสั่งห้ามการรวมตัวและปิดสถานบันเทิงใน 220 เมือง มีการระงับการขนส่งสาธารณสุขภายในเมืองถึง 136 เมือง และมีการห้ามเดินทางระหว่างเมืองจาก 219 เมือง และมี 136 เมืองที่ใช้ทั้งสามมาตรการ

เมืองที่มีการเตรียมความพร้อมเพื่อตอบสนองภาวะฉุกเฉินระดับ 1 (มีการใช้มาตรการควบคุมรวมๆ กัน) ไว้ล่วงหน้า ก่อนที่จะมีการพบผู้ติดเชื้อนั้น รายงานผู้ติดเชื้อที่มีการตรวจสอบและยืนยันแล้วต่ำกว่าการระบาดในสัปดาห์แรกถึง 33.3% เมื่อเทียบกับเมืองที่มาเตรียมความพร้อมภายหลัง ซึ่งมีข้อมูลสถิติที่แตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างเมืองสองกลุ่มนี้ การวิเคราะห์อีกด้านพบว่าภายใต้มาตรการควบคุมเฉพาะนั้น เมืองที่สั่งห้ามการขนส่งสาธารณะภายในเมือง หรือ/และปิดสถานบันเทิง ห้ามการรวมตัวคนจำนวนมาก และทำอย่างเร็ว มีผู้ติดเชื้อน้อยในสัปดาห์แรกของการระบาด การวิเคราะห์นี้ไม่มีข้อมูลว่าการห้ามการเดินทางระหว่างเมืองซึ่งนำมาใช้หลังจากอู่ฮั่นปิดเมือง ลดจำนวนผู้ติดเชื้อในเมืองอื่นๆ ทั่วจีน

การรายงานผู้ติดเชื้อรายวันแตะระดับสูงสุดในมณฑลหูเป่ยวันที่ 4 กุมภาพันธ์ (3,156 รายจากการยืนยันของห้องปฏิบัติการ หรือ 5.33 ต่อประชากร 100,000 คน) และในมณฑลอื่นๆ ในวันที่ 31 มกราคม 2563 (875 ราย หรือ 0.07 ต่อประชากร 100,000 คน) ระดับต่ำของจุดพีกต่อจำนวนประชากรในช่วงแรกของการเข้าสู่จุดสูงสุดและลดลงหลังจากนั้นต่อวัน แสดงให้เห็นว่า มาตรการควบคุมการติดต่อไม่เพียงมีความเกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของการระบาดที่ชะลอตัว แต่ยังเกี่ยวข้องกับการลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของเวลากับการรายงานผู้ติดเชื้อในแต่ละมณฑล ทีมวิจัยประเมินว่าอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ 3.15 ก่อนการใช้มาตรการฉุกเฉินปิดเมืองวันที่ 23 มกราคม 2563 แต่เมื่อมีการยกระดับการควบคุมหลังจากนั้นเป็นต้นมาอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงมาที่ 0.97, 2.01 และ 3.05 ตามลำดับในสามกลุ่มมณฑล ขึ้นอยู่กับระดับการใช้มาตรการของแต่ละกลุ่ม เมื่อมีการเข้าจัดการอย่างเรียบร้อยในทุกแห่งอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงมาที่ 0.04 โดยเฉลี่ย

ผลของการเข้าจัดการในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทั่วจีน ที่มาภาพ: https://science.sciencemag.org/content/early/2020/03/30/science.abb6105

กราฟ (A) แบบจำลองการระบาดจากการรายงานผู้ติดเชื้อที่ยืนยันจากห้องแล็บประจำวันรวมจาก 31 มณฑล แต่มณฑลหูเป่ยไม่รวมอู่ฮั่น กราฟ (B) คาดการณ์การระบาดกรณีอู่ฮั่นไม่ปิดเมือง เส้นสีเขียวหมายถึงไม่มีการปิดเมืองแต่มีเข้าจัดการเพื่อการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินระดับ 1 เส้นสีแดงไม่มีการปิดเมือง และไม่มีการเข้าจัดการเพื่อตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินระดับ 1 เส้นสีดำหมายถึงมีการปิดเมืองและมีการเข้าจัดการเพื่อการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน ส่วนเส้นสีส้มหมายถึงมีการปิดเมืองแต่ไม่มีการเข้าจัดการเพื่อตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน ส่วนเส้นประแนวตั้งหมายถึงวันที่อู่ฮั่นมีการปิดเมืองและตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินระดับ 1

จากแบบจำลองการระบาดจากการรายงานผู้ติดเชื้อที่ยืนยันจากห้องแล็ปประจำวันจากแต่ละมณฑล และจากการวิเคราะห์ทางสถิติก่อนหน้า ทีมวิจัยได้ตรวจสอบผลกระทบที่เป็นไปได้ของมาตรการควบคุมเกี่ยวกับเส้นทางการแพร่ระบาดของโรคนอกเมืองอู่ฮั่น แบบจำลองพบว่า หากไม่มีการห้ามการเดินทางหรือไม่มีการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน ก็จะมีผู้ติดเชื้อถึง 744,000 ราย (± 156,000 ราย) นอกอู่ฮั่น ภายในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 วันที่ 50 ของการระบาด

เฉพาะการห้ามการเดินทางของอู่ฮั่นอย่างเดียว จำนวนผู้ติดเชื้ออาจจะลดลงมาที่ 202,000 ราย (± 10,000) และหากประเมินจากการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินอย่างเดียวโดยไม่มีการห้ามการเดินทางของอู่ฮั่น จำนวนผู้ติดเชื้ออาจจะลดลงมาที่ 199,000 ราย (± 8500) ดังนั้นไม่ว่าจะมีการเข้าจัดการด้วยวิธีใดก็ตาม ก็ได้ลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ทั้งสองมาตรการที่มีการสอดประสานกันชี้ชัดว่าการแพร่กระจายของการระบาดได้หยุดและสถานการณ์เริ่มเปลี่ยน อีกทั้งลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่รายงานลงมาที่ 29,839 ราย

โดยสรุปการวิเคราะห์นี้แสดงให้เห็นถึงมาตรการควบคุมการติดต่อของโรค (ที่ไม่ใช่ยา) ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวของจีน ซึ่งรวมถึงการห้ามการเดินทางของอู่ฮั่นชนิดที่ไม่คาดมาก่อนและการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินแห่งชาติระดับ 1 นั้นมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับ การชะลอของการระบาด และการลดลงของผู้ติดเชื้อในช่วง 50 วันของการระบาดของโควิด-19 ในจีน

ที่มาภาพ: https://www.rte.ie/news/2020/0401/1127720-china-coronavirus-lockdown/

จำนวนผู้ติดเชื้อระหว่างการระบาดและจำนวนผู้ที่ได้การคุ้มครองจากมาตรการควบคุมไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน เนื่องจากว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเกือบจะแน่นอนจากการรายงาน อย่างไรก็ตาม จากสัดส่วนคนที่ติดเชื้อ ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 (75,532 ราย หรือ 5.41 ต่อประชากร 100,000 คน) ไม่น่าเป็นไปได้ที่การแพร่กระจายของการติดเชื้อจะหยุดลงและการแพร่ระบาดของโรคจะกลับทิศ เพราะไม่เหลือคนกลุ่มอ่อนไหวอีกแล้ว จึงหมายความว่า ประชากรส่วนใหญ่ของจีนยังคงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 มาตรการควบคุมจึงยังมีความจำเป็นที่จะนำมากลับมาใช้อีกในบางรูปแบบ ในกรณีที่หากมีการกลับมาติดต่ออีก นอกจากนี้ยังต้องมีการตรวจสอบต่อไปเพื่อยืนยันว่าการการสำรวจประชากรที่ติดเชื้อมีความจำเป็นเพื่อที่จะได้จำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริง

ทีมวิจัยไม่สามารถตรวจสอบผลกระทบของทุกองค์ประกอบในการตอบสนองกับภาวะฉุกเฉินแห่งชาติเนื่องจากมีนำมาใช้พร้อมกันทั่วประเทศจีน อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์นี้แสดงให้เห็นว่าการห้ามขนส่งสาธารณะภายในเมือง การปิดสถานบันเทิงและการห้ามการรวมตัวของคนจำนวนมาก ที่ได้มีการนำมาใช้ในจังหวะเวลาที่ต่างกันและในพื้นที่ต่างๆ มีความเกี่ยวข้องกับการควบคุมการระบาดโดยรวม

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นที่อาจจะมีผลต่อการควบคุม โดยเฉพาะการแยกผู้ป่วยติดเชื้อและผู้ที่ต้องเฝ้าระวัง รวมทั้งบุคคลที่ได้สัมผัส และยังไม่ชัดเจนว่าส่วนใดของการประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทีมวิจัยไม่ได้พบข้อมูลว่าการห้ามการเดินทางระหว่างเมืองหรือมณฑลลดจำนวนผู้ติดเชื้อนอกอู่ฮั่นและหูเป่ย อาจจะเป็นเพราะการห้ามการเดินทางที่นำมาใช้นั้นเป็นการตอบสนองต่อการระบาดของโควิด-19 ไม่ได้นำมาใช้เพราะคาดว่าไวรัสจะระบาดมาถึงเมือง

การศึกษาในครั้งนี้ได้ประเมินจากการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติและทางคณิตศาสตร์ของการรายงานผู้ติดเชื้อในพื้นที่ชั่วคราว การเคลื่อนไหวของคนและมาตรการควบคุม ด้วยเงื่อนไขนั้นมาตรการควบคุมจึงมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และยังทำให้ไม่มีผู้ติดเชื้อหลายแสนคนในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งไวรัสระบาดมาได้ 50 วัน

ไม่ว่าวิธีการและผลลัพธ์ของการควบคุมจะนำไปใช้นอกประเทศจีนได้หรือไม่ และการเข้าไปดำเนินการอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งหมดนี้ยังอยู่ระหว่างการค้นหาอย่างเข้มข้น เพราะไวรัสยังคงระบาดทั่วโลก