ThaiPublica > เกาะกระแส > ภัยเงียบช่วงกักตัว AIS เผยสถาบันดีคิวพบ เด็กไทย 79% ถูกคุกคามจากไซเบอร์

ภัยเงียบช่วงกักตัว AIS เผยสถาบันดีคิวพบ เด็กไทย 79% ถูกคุกคามจากไซเบอร์

14 เมษายน 2020


นางสาวนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าแผนกงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

AIS อ้างผลการศึกษาสถาบันดีคิว พบเด็กไทย 79% เสี่ยงภัยจากโลกไซเบอร์สูงที่สุด ยกสถานการณ์โควิด-19 หนุนคนอยู่บ้าน-เลื่อนเปิดเทอม โดยเฉพาะเด็กเสี่ยงถูกคุกคามหลายรูปแบบ

นางสาวนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าแผนกงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และมาตรการของภาครัฐที่สนับสนุนให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคม Social Distancing ทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) เรียนจากที่บ้าน (Learn From Home) การเลื่อนเปิดเทอม ทำให้เยาวชนจำเป็นต้องอยู่บ้านและอาจมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากเยาวชนเหล่านั้นใช้งานอินเทอร์เน็ตและสื่อดิจิทัลโดยไม่รู้เท่าทัน แล้วอาจจะนำมาซึ่งอันตรายในหลากหลายรูปแบบ

นางสาวนัฐิยา ชี้ให้เห็นถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นในวิกฤตไวรัสโควิด-19 ว่า “การระบาดในครั้งนี้เราอยู่ในยุคดิจิทัล ใช้ดิจิทัลเสมือนเป็นอวัยวะที่ 33 เราพึ่งพาดิจิทัลแบบจะทุกลมหายใจ แน่นอนมันมีข้อดีที่ทำให้เศรษฐกิจไม่ถึงกับหยุดชะงัก หรือการติดต่อทางสังคมไม่หยุดนิ่งไป”

ข้อมูลจากเอไอเอส ระบุว่า ในเดือนมีนาคมภายใต้วิกฤตไวรัส ทำให้ปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเอไอเอสเพิ่มขึ้น 20% ทั้งจากโทรศัพท์มือถือและเน็ตบ้าน แต่สิ่งสำคัญคือ เด็กและเยาวชนจะต้องรู้เท่าทันภัยจากอินเทอร์เน็ต ภายใต้แนวคิด “ฉลาดใช้ดิจิทัล”

นางสาวนัฐิยาให้เหตุผล 3 ข้อ ได้แก่ ได้แก่ (1) ปลอดภัย คือการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย ทั้งในชีวิต ทรัพย์สิน รู้จักป้องกันตนเองจากทางไซเบอร์ (2) เกิดประสิทธิภาพ ทำให้เราเลือกแยกแยะและรับข้อมูลได้อย่างถูกต้อง และใช้เวลาอย่างเหมาะสม (3) สร้างประโยชน์ สามารถใช้ดิจิทัลให้เกิดผลกระทบทางบวก ทั้งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ชุมชน และสังคม

เอไอเอสอ้างอิงดัชนีแสดงค่าความปลอดภัยสำหรับเด็กในโลกออนไลน์จากสถาบันดีคิว (DQ Institution) ซึ่งเก็บข้อมูลพฤติกรรมเด็กและเยาวชนในโครงการ #DQEveryChild จำนวน 145,426 คน ในช่วงเวลา 3 ปีตั้งแต่ปี 2017-2019 จาก 30 ประเทศสมาชิก ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน โคลัมเบีย โดมินิกันรีพับบลิค เอกวาดอร์ อียิปต์ ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เมกซิโก นิวซีแลนด์ ไนจีเรีย เนปาล โอมาน ฟิลิปปินส์ เปรู ซาอุดิอาระเบีย สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ สเปน ไทย ตุรกี อังกฤษ อุรุกวัย อเมริกา และเวียดนาม

สถิติ พบว่า 60% ของเด็กอายุ 8-12 ปี กำลังเผชิญกับความเสี่ยงในโลกไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามที่กระจายไปทั่วโลก โดยภัยคุกคามดังกล่าวยังแบ่งออกเป็น 17% มีความเสี่ยงที่จะพบบุคคลแปลกหน้าที่เจอกันในโลกออนไลน์, 45% ได้รับผลกระทบจากการไซเบอร์บูลลี่, 7% มีพฤติกรรมติดอินเทอร์เน็ต, 39% มีชื่อเสียงที่อาจเสี่ยงต่ออันตราย, 29% เข้าถึงเนื้อหาที่รุนแรงและเนื้อหาทางเพศ, 13% ติดเกม, 28% เคยมีประสบการณ์ถูกคุกคามทางออนไลน์

ขณะที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับต่ำสุด ถือว่ามีความเสี่ยงสูงสุดในกลุ่ม 30 ประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจ โดยเด็กไทยจำนวนกว่า 79% กำลังตกอยู่ในอันตรายในโลกไซเบอร์ ในขณะที่ญี่ปุ่นมีเพียง 24% เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด

นางสาวนัฐิยา กล่าวอีกว่า เอไอเอสในฐานะผู้ให้บริการเครือข่าย อยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพื้นที่ออนไลน์ที่ปลอดภัยให้กับเด็กและเยาวชน โดยมองว่า 3 สิ่งที่สำคัญในการเสริมภูมิคุ้มกันให้กับเด็กคือ ความรู้ ทักษะ และเข้าใจวิธีคิดที่เปลี่ยนไป

“ภัยออนไลน์เสมือนภัยเงียบ เป็นโลกระบาดออนไลน์ การกระทำของเราอย่างหนึ่งในโลกออนไลน์จะเกิดผลอย่างไรในสังคม…เด็กๆ ควรมีความเข้าใจเรื่องการสร้างตัวตนในโลกออนไลน์ ไปจนถึงความสามารถในการแยกแยะ คิดวิเคราะห์ อะไรเชื่อถือได้ อะไรเชื่อถือไม่ได้ สมัยก่อนโลกการเรียนรู้อยู่ในหนังสือเรียน แต่วันนี้อยู่ในอินเทอร์เน็ต ดังนั้น Critical Thinking เป็นเรื่องสำคัญมาก” หัวหน้าแผนกงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน อธิบาย

อย่างไรก็ตาม ดัชนี COSI เป็นผลงานการวิจัยของสถาบัน DQ: Digital Intelligence Quotient ประเทศสิงคโปร์ และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ #DQEveryChild ที่กระตุ้นประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความรู้และพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลที่จำเป็นแก่เด็กและเยาวชน และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานและบริษัทต่างๆ กว่า 100 องค์กรทั่วโลก อาทิ Singtel, AIS, Optus, Turkcell, Twitter, World Economic Forum และ JA Worldwide ซึ่งเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2017

นางสาวนัฐิยา กล่าวต่อว่า โครงการอุ่นใจไซเบอร์ ได้ดำเนินงานภายใต้ธุรกิจความรับผิดชอบต่อสินค้าและบริการที่มีให้ผู้บริโภค (Cyber Wellness & Online Safety) และเอไอเอสเป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยที่นำเข้ามาให้บริการ

สำหรับ www.DQWorld.net ผู้ใช้งานทำแบบฝึกหัด (เล่นเกม) วันละ 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 3-4 วัน จะสามารถเรียนจบคอร์สภายใน 2 สัปดาห์ (82 learning missions covering eight digital skills) ผู้ใช้งานสามารถทำแบบฝึกหัดด้วยตัวเองที่บ้าน โดยผู้ปกครองหรือคุณครูสามารถเข้าไปดูในระบบได้ว่าบุตรหลาน หรือนักเรียนได้ทำแบบฝึกหัดแล้วหรือไม่

รวมถึงเมื่อผู้ใช้งานเล่นครบทุกด่านแล้ว ระบบ DQ World จะให้คะแนนทักษะด้านดิจิทัลทั้ง 8 ด้าน แล้วส่งใบคะแนนมาให้ผู้ปกครองหรือคุณครูดูผลคะแนน เพื่อเปรียบเทียบคะแนนของนักเรียนคนนั้นกับค่าเฉลี่ยของนักเรียนไทยทั้งประเทศและของนักเรียนทั่วโลก โดยเกณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 100 คะแนน

ทั้งนี้หลักสูตรของ DQ ประกอบด้วย 8 ทักษะ ได้แก่ (1) Digital Identity อัตลักษณ์ออนไลน์ (2) Digital Use ยับยั้งชั่งใจ (3) Digital Safety เมื่อถูกรังแกออนไลน์ (4) Digital Security ท่องเน็ตอย่างปลอดภัย (5) Digital Emotional Intelligence ใจเขา-ใจเรา (6) Digital Communication รู้ถึงผลที่จะตามมา (7) Digital Literacy คิดเป็น และ (8) Digital Rights รู้สิทธิและความเป็นส่วนตัว

นางสาวนัฐิยา กล่าวต่อว่า หลักสูตร DQ จะช่วยปลูกจิตสำนึกและเตรียมความพร้อมให้เด็กวัยนี้สามารถใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์อย่างชาญฉลาด ได้ฝึกทักษะการใช้เหตุผล คิดวิเคราะห์ และควบคุมอารมณ์ตนเองก่อนจะเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน

เอไอเอสยังได้พัฒนาเว็บไซต์ www.ais.co.th/DQ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเสริมทักษะสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้กับครอบครัวไทย เพื่อให้คนไทยสามารถนำไปปรับใช้ในการดูแลบุตรหลาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

นางสาวนัฐิยากล่าวว่า เพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์ เอไอเอสยังได้เปิดตัว AIS Secure Net บริการช่วยป้องกันและคัดกรองเนื้อหาบนโลกออนไลน์ให้แก่บุตรหลาน ไม่ว่าจะเป็นเว็บ, ข้อความ, รูปภาพ หรือวิดีโอที่ไม่เหมาะสม ให้บริการเฉพาะลูกค้าเอไอเอส โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งแอปพลิเคชันเพิ่มเติม

นอกจากนี้ยังมีบริการ Google Family Link ผ่านแอปพลิเคชัน Google Family Link สำหรับลูกค้าทุกเครือข่าย ให้ผู้ปกครองสามารถให้คำแนะนำ ดูแลการใช้งานโทรศัพท์ รวมถึงดูแลความปลอดภัยจากพิกัดปัจจุบันของบุตรหลาน โดยมีฟีเจอร์ เช่น กำหนดระยะเวลาการใช้งานบนหน้าจอ, กำหนดการใช้งานแอปพลิเคชันบนมือถือ เช่น เกม ฯลฯ, ดูแลการติดตั้งแอปพลิเคชันใหม่ หากมีการโหลดแอปพลิเคชันที่ไม่เหมาะสม แอปพลิเคชันนั้นๆ จะไม่ถูกติดตั้งในเครื่อง, กำหนดการเข้าถึงเว็บไซต์บน Google Chrome รวมถึงจำกัดการเข้าใช้งานพวกเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม เช่น เว็บเกม, การพนัน, สื่อลามก เป็นต้น, ติดตามพิกัดตำแหน่ง ณ ปัจจุบัน