ThaiPublica > เกาะกระแส > เมื่อเวิร์คฟรอมโฮม ไม่เวิร์คสำหรับทุกคน : วิเคราะห์ผลกระทบจากการเว้นระยะห่างทางสังคม

เมื่อเวิร์คฟรอมโฮม ไม่เวิร์คสำหรับทุกคน : วิเคราะห์ผลกระทบจากการเว้นระยะห่างทางสังคม

20 มีนาคม 2020


ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยบริเวณหน้ามหาวิหารแห่งมิลาน ที่มาภาพ:https://www.wthr.com/article/video-shows-italians-warning-americans-about-spread-covid-19

เมื่อเวิร์คฟรอมโฮม ไม่เวิร์คสำหรับทุกคน วิเคราะห์ผลกระทบจากการเว้นระยะห่างทางสังคม ใครจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ออกรายงานเรื่อง “เมื่อเวิร์คฟรอมโฮม ไม่เวิร์คสำหรับทุกคน: วิเคราะห์ผลกระทบจากการเว้นระยะห่างทางสังคม” โดยระบุว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างพยายามใช้มาตรการหลายๆ อย่างในการระงับการแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อ กลยุทธ์หลักอย่างหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ คือ การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)1 สถานบริการ สถานศึกษาหลายๆแห่งปิดตัวชั่วคราว เอกชนหลายแห่งก็เริ่มให้มีการทำงานที่บ้าน (Work From Home)

การลดการพบปะ และทำงานที่บ้าน ดูจะไม่ได้เป็นเรื่องแย่สำหรับใครหลายคน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนและธุรกิจจำนวนมาก ที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ ในบทความนี้เราได้ทำการวิเคราะห์ว่าผู้ได้รับผลกระทบเป็นใครบ้าง โดยในส่วนแรกของบทความจะอธิบายเกี่ยวกับการเว้นระยะห่างทางสังคมโดยสังเขป และแสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยใช้เหตุการณ์ SARS ที่ฮ่องกงและ 9/11 ที่สหรัฐฯ เป็นกรณีศึกษา

Social Distancing คืออะไร และทำไมถึงจำเป็นในเวลานี้?

Social Distancing หรือ การเว้นระยะห่างทางสังคม คือมาตรการสาธารณสุขเพื่อยับยั้งการแพร่โรคระบาดไปยังผู้คนจำนวนมาก เช่น การปิดโรงเรียน ยกเลิกกิจกรรมการรวมตัว ยกเลิกขนส่งสาธารณะ หรือการให้ทำงานที่บ้าน เป็นต้น และถือว่าเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่หลายๆประเทศนำมาใช้ในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน

บทความจาก Washington Postได้แสดงให้เห็นว่า หากทุกคนมีการเว้นระยะห่างทางสังคม ลดการพบปะกัน ก็จะทำให้การแพร่ระบาดช้าลง จนอยู่ในระดับที่ทรัพยากรทางการแพทย์สามารถรักษาผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ได้ทันการ (Curve สีฟ้าในรูปที่ 1) ในขณะที่หากไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม ผู้ติดเชื้อจะเพิ่มเร็วจนทรัพยากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ (Curve สีแดงในรูปที่ 1) ซึ่งเป็นวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นในอิตาลีขณะนี้

บทเรียนจาก SARS และ 9/11: เมื่อคนกลัว และเว้นระยะห่างทางสังคมจะมีผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจ?

แม้ว่าการเว้นระยะห่างทางสังคมมีความสำคัญมากในขณะนี้ แต่ก็มีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงเช่นกัน ซึ่งเราเคยเห็นผลกระทบดังกล่าวจากเหตุการณ์ SARS และ 9/11 มาแล้ว

ในกรณีของ SARS ในฮ่องกงเมื่อปี 2003 อาจไม่แปลกใจนักที่ธุรกิจสายการบิน และการท่องเที่ยว ซึ่งพึ่งพิงกำลังซื้อจากต่างชาติเป็นหลักจะได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดี เราพบว่าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรองลงมา คือ ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจค้าปลีก ซึ่งนอกจากจะได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากการการจับจ่ายใช้สอยของคนในพื้นที่ที่ลดลงอีกด้วย

ในเรื่องนี้ มีงานวิจัย ชี้ว่าการระบาดของ SARS ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความกลัวที่จะติดโรค จนคนส่วนใหญ่เลือกที่จะหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน ส่งผลต่อเนื่องให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง และความกลัวดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้มากกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการระบาดของ SARS เสียอีก

Olga Jonas นักวิชาการอาวุโสจาก Harvard Global Health Institute ได้กล่าวว่า “80% ของผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของ SARS มีสาเหตุมาจากความกลัวที่ส่งผลให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่พยายามป้องกันไม่ให้ตนเองติดโรค เช่น การพยายามอยู่แต่ในบ้าน จนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง”

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ดี เมื่อคนมีความกลัวจนไม่อยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือเหตุการณ์ 9/11 ที่สหรัฐฯ ซึ่งการโจมตีตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในมหานครนิวยอร์ก ไม่เพียงส่งผลต่อธุรกิจที่ตั้งอยู่บริเวณดังกล่าว แต่ยังส่งผลกระทบทางจิตใจต่อผู้บริโภคให้เกิดความกลัวจนไม่กล้าที่จะออกไปจับจ่ายใช้สอยนอกบ้าน สะท้อนได้จาก Consumer Confidence Index ของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลงอย่างเห็นได้ชัดในเวลานั้น

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่หดตัว นำไปสู่การบริโภคที่ลดลง ทำให้หลายๆ ธุรกิจประสบปัญหา มีงานวิจัย ระบุว่าธุรกิจในนิวยอร์กมีการเลิกจ้างกว่า 430,000 ตำแหน่ง หลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 ทั้งนี้ หากไม่นับธุรกิจสายการบินที่ได้รับผลโดยตรงจากเหตุก่อการร้าย กลุ่มอาชีพที่ถูกเลิกจ้างมากที่สุด คือ บริกร พนักงานทำความสะอาด พนักงานขายตามร้านค้าปลีก พนักงานจัดเตรียมอาหาร และแคชเชียร์ ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มคนมีรายได้น้อย และเกี่ยวพันโดยตรงกับธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร และธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ที่ได้รับผลกระทบจากความกลัวที่จะออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านของผู้บริโภค

เหตุการณ์ SARS และ 9/11 ที่ยกตัวอย่างขึ้นมาต่างแสดงว่าเมื่อผู้บริโภคเกิดความ “กลัว” จนไม่อยากออกจากบ้าน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมไม่น้อย

ในกรุงเทพฯ เมื่อการเว้นระยะห่างทางสังคมเข้มข้นขึ้น ใครจะได้รับผลกระทบมากที่สุด?

ในขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ เราคาดว่าหากการระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 กรุงเทพฯ จะเป็นพื้นที่แรกๆ ที่การเว้นระยะห่างทางสังคมจะถูกใช้อย่างเข้มข้นขึ้น ซึ่งในส่วนนี้เราจะวิเคราะห์ว่าใครจะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้บ้าง

Work From Home กระทบรายได้ของลูกจ้างหรือไม่?

กลุ่มลูกจ้างในระบบ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือลูกจ้างรายวัน ซึ่งมีประมาณ 3.3 ล้านคน จากแรงงานกว่า 5.3 ล้านคนในกรุงเทพฯ (รูปที่ 3) ดูจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เนื่องจาก ตามกฎหมาย นายจ้างยังต้องจ่ายค่าจ้างให้อยู่ อย่างไรก็ดี ลูกจ้างก็มีโอกาสถูกขอให้ลดค่าแรงชั่วคราวบ้าง หรือลูกจ้างบางกลุ่มที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการถูกเลิกจ้าง หากสถานประกอบการหยุดดำเนินกิจการ

แล้วคนกลุ่มใดจะได้รับผลกระทบโดยตรง?

เราคาดว่าจะมีกลุ่มคนทำงานกว่า 2 ล้านคนที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากการเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกจ้างนอกระบบ กว่า 3 แสนคน ซึ่งมักไม่มีการทำสัญญาจ้างที่แน่ชัด และเสี่ยงต่อการถูกพักงานแบบไม่ได้ค่าจ้างในช่วงนี้ ยกตัวอย่างเช่น กรรมการก่อสร้าง พนักงานเสิร์ฟ คนโบกรถ สาวเชียร์เบียร์ เป็นต้น

นอกจากกลุ่มแรงงานนอกระบบแล้ว คนกลุ่มใหญ่ที่จะได้รับผลกระทบ คือ ผู้ประกอบธุรกิจแบบไม่มีลูกจ้างและฟรีแลนซ์ ผู้ประกอบธุรกิจที่มีลูกจ้าง และผู้ช่วยธุรกิจครอบครัวแบบไม่ได้ค่าจ้าง ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 1.7 ล้าน คิดเป็น 29% ของคนทำงานทั้งหมดในกรุงเทพฯ (รูปที่ 3)

เหตุที่ผู้ประกอบธุรกิจมีโอกาสสูงที่จะได้รับผลกระทบ เพราะลักษณะของการทำธุรกิจต้องมีการพบปะในการให้บริการ เช่น ขายสินค้า ขายอาหาร รับจ้างขับรถ เสริมสวย ฯลฯ ซึ่งเมื่อผู้คนไม่ค่อยได้ออกจากบ้าน ไม่ว่าจะมาจากการทำงานที่บ้าน หรือไม่กล้าออกจากบ้านก็ตาม ย่อมกระทบต่อรายได้ของคนกลุ่มนี้ ซึ่งเราเห็นได้จากการที่ธุรกิจค้าปลีกจำนวนมากในฮ่องกงประสบปัญหาในช่วง SARS และในนิวยอร์ก ประสบปัญหาในช่วง 9/11 เมื่อประชากรเลือกที่จะไม่ออกจากบ้าน เป็นต้น

สำหรับกลุ่มนายจ้าง ที่มีกว่า 2 แสนคน ถือว่าเป็นกลุ่มที่อาจประสบปัญหาหนี้สินที่สูงขึ้นมากในระยะนี้ เนื่องจากมีรายได้ที่ลดลง แต่ยังคงมีค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าเช่าสถานที่ เงินเดือนลูกจ้าง เป็นต้น อย่างไรก็ดี ยังถือว่าเป็นกลุ่มที่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน และความช่วยเหลือจากภาครัฐได้อยู่บ้าง

ในขณะที่ ผู้ประกอบธุรกิจแบบไม่มีลูกจ้าง และฟรีแลนซ์ คือกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดที่มีโอกาสได้รับผลกระทบ โดยคนกลุ่มนี้มีจำนวนกว่า 1 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ ประมาณ 76% ทำอาชีพขายสินค้า ขายอาหาร ขับรถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ตลอดจนประกอบอาชีพช่างทำผม ช่างเสริมสวย (รูปที่ 4)

ผู้ประกอบธุรกิจแบบไม่มีลูกจ้างและฟรีแลนซ์ ยังเป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่สูง โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อครัวเรือนที่ 9,500 บาท ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มลูกจ้างประจำซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อครัวเรือนที่ 12,500 บาท นอกจากนี้ ยังเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางทางการเงินสูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยมีค่าใช้จ่ายในการจ่ายหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) ที่ระดับ 33% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่มีระดับเพียง 26%

โดยเราพบว่าผู้ประกอบธุรกิจแบบไม่มีลูกจ้าง กว่า 60% มีหนี้สินเพื่อการบริโภค และมีประมาณ 40% ที่มีหนี้สินที่กู้มาเพื่อการประกอบธุรกิจ และหากการที่คนกลุ่มนี้ เสียรายได้จากการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เข้มข้นขึ้น ก็ยิ่งจะทำให้มีปัญหาด้านการเงินและหนี้สินมากยิ่งขึ้น

มาตรการอะไร ที่พอจะช่วยให้เราผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันได้?

ในขณะนี้รัฐบาลหลายๆ ประเทศรวมถึงไทย พยายามใช้มาตรการต่างๆ ในการพยุงเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น การลดดอกเบี้ยของเฟด (Fed) หรือความพยายามของทรัมป์ในการให้สภาคองเกรสอนุมัติเงินให้เปล่าแก่ครัวเรือน และให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ธุรกิจ เป็นต้น

ในการสัมภาษณ์ผ่าน National Public Ratio (NPR) นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำหลายท่าน มีความเห็นต่อแนวทางของทรัมป์ ว่าการแจกเช็คให้แก่ครัวเรือนในเวลานี้ อาจไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากหากคนยังกังวลต่อการติดเชื้ออยู่ ก็จะไม่ออกไปทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่ดี สิ่งที่สำคัญในช่วงนี้ดูจะเป็นมาตรการที่ช่วยประคองให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถอยู่รอดในวิกฤตินี้ไปได้ อย่างเช่น การอัดฉีดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ธุรกิจขนาดเล็ก เป็นต้น

Pierre Gourinchas นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย UC Berkeley กล่าวว่า หากเราต้องการให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ผู้เล่นต่างๆ ในระบบจะต้องถูกพยุงให้อยู่รอดได้ เพราะหากผู้เล่นสำคัญในระบบตายไปเสียแล้ว อาจไม่เร็วนักที่จะสร้างขึ้นใหม่ และแม้เมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสผ่านไปแล้ว เศรษฐกิจก็อาจกลับมาฟื้นตัวได้ไม่เร็วนัก

สำหรับในกรณีของประเทศไทย แม้ว่าในขณะนี้ทั้งภาครัฐ และเอกชนต่างๆ จะมีมาตรการช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กกันบ้างแล้ว แต่สิ่งที่ท้าทายเพิ่มเติม คือ การช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการแบบไม่มีลูกจ้าง ตลอดจนฟรีแลนซ์ ซึ่งมีจำนวนมาก มักอยู่นอกระบบ และมีความหลากหลายทางอาชีพสูง การใช้มาตรการแบบ One-Size-Fit-All อาจจะไม่ได้ผลมากนัก การช่วยเหลือที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มอาชีพ จึงมีความจำเป็นมากขึ้น เพื่อให้คนกลุ่มนี้สามารถผ่านพ้น และเป็นกำลังในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เมื่อการระบาดของโรคผ่านพ้นไปแล้วได้

หมายเหตุ : 1 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2020 ทาง WHO ได้แนะนำให้ใช้คำว่า Physical Distancing แทนคำว่า Social Distancing เพราะมีความหมายตรงตัวมากกว่า แต่เนื่องจากเราอาจคุ้นเคยกับคำว่า Social Distancing ในช่วงที่ผ่านมามากกว่า ในบทความนี้จึงขอใช้คำว่า Social Distancing และการเว้นระยะห่างทางสังคมก่อน

รายงานโดย : กิตติพงษ์ เรือนทิพย์, ปรเมศร์ รังสิพล, กณิศ อ่ำสกุล และชญานิน ถาวรลัญฉ์ – Krungthai COMPASS