ThaiPublica > เกาะกระแส > Krungthai COMPASS วิเคราะห์ “ท่องเที่ยวผ่าน High-Frequency Indicators จังหวัดไหนกระเตื้องแล้วบ้าง?”

Krungthai COMPASS วิเคราะห์ “ท่องเที่ยวผ่าน High-Frequency Indicators จังหวัดไหนกระเตื้องแล้วบ้าง?”

3 กรกฎาคม 2020


รายงานโดย กิตติพงษ์ เรือนทิพย์ และชญานิน ถาวรลัญฉ์

Krungthai COMPASS วิเคราะห์ “ท่องเที่ยวผ่าน High-Frequency Indicators จังหวัดไหนกระเตื้องแล้วบ้าง?” โดยมองว่า

  • ค่าดัชนีที่มีความถี่สูง (High-Frequency Indicators) ต่างๆบอกไปในทางเดียวกันการท่องเที่ยวในเดือนมิถุนายนฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มเป็นการท่องเที่ยวผ่านการขับรถมากกว่า เนื่องจากตัวเลขผู้โดยสารเครื่องบินในประเทศยังน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกว่า 70%
  • ข้อมูลจาก Apple เผยว่ายอดขอรับเส้นทางขับรถในหลายจังหวัดที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวไทย มีระดับไม่ต่างกับช่วงต้นปี แต่ในจังหวัดที่มักต้องมักเดินทางไปด้วยเครื่องบินอย่าง เชียงใหม่ ภูเก็ต ยังมีค่าดัชนีดังกล่าวน้อยกว่าช่วงต้นปีถึง 40-80%
  • แม้คนไทยจะกลับมาเที่ยวกันมากขึ้น แต่หากจังหวัดนั้นๆเคยพึ่งพิงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลักอย่าง ชลบุรี ลำพังการใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวไทยอาจไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่กลับมาคึกคักได้ดังเดิม

    ท่ามกลางการหดตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ในปีนี้ หลายฝ่ายต่างคาดกันว่านักท่องเที่ยวต่างชาติคงกลับมาเที่ยวไทยได้ยาก และแม้จะมีการเปิด Travel Bubble หรือ การเปิดประเทศด้วยการท่องเที่ยวแบบจับคู่เดินทาง ก็คงนำนักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้ไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนที่หายไป ดังนั้น การท่องเที่ยวในประเทศในเวลานี้จึงเป็นความหวังหนึ่งในการช่วยพยุงให้เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจชุมชนในจังหวัดต่างๆ ไม่ให้ทรุดหนักไปกว่านี้

    คำถามที่น่าสนใจคือ แม้จะมีการคลาย Lockdown แล้ว การท่องเที่ยวในประเทศจะกลับมาได้หรือไม่? เราเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวบ้างรึยัง? แล้วจังหวัดไหนที่การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจในพื้นที่จะฟื้นได้ก่อนจังหวัดอื่น?

    เราเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศรึยัง?

    โดยปกติ หากจะดูว่าภาพรวมการท่องเที่ยวเป็นอย่างไร อัตราการเข้าพัก หรือ OR (Occupancy Rate) ถือเป็นตัวชี้วัดที่ดีอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ดี ข้อมูล OR มักเผยแพร่ล่าช้า (lag) เกือบ 1 เดือน โดย ณ ต้นเดือนกรกฎาคม ข้อมูล OR ล่าสุดยังเป็นของเดือนพฤษภาคมเท่านั้น ทำให้แม้จะเริ่มเห็นว่าการยอด OR เพิ่มขึ้นบ้างในเดือนพฤษภาคม แต่เราไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่า การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในเดือนมิถุนายนเป็นอย่างไร

    เราสามารถหาดัชนีที่เผยแพร่อย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์และมีความถี่มาก หรือ High-Frequency Indicators อื่นๆ มาเป็นตัวแทน (Proxy) ในการดูได้ว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวล่าสุดได้ อย่างเช่น ข้อมูลผู้โดยสารในประเทศจากกรมท่าอากาศยานที่เผยแพร่รายวัน หรือ Google Community Mobility Report ในหมวดสวนสาธารณะ ที่ดูว่าในช่วงเวลานี้มีการเดินทางไปอุทยาน ชายหาด และสวนสาธารณะกันมากเพียงใดแล้ว หรือ Mobility Trends Reports จาก Apple ที่แสดงข้อมูลว่ามีการขอเส้นทางขับรถผ่าน Apple Map มากเพียงใด โดยทั้ง Google Mobility Report และตัวเลขผู้โดยสารเครื่องบินในประเทศล้วนแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในเดือนมิถุนายน (รูปที่ 1)

    แม้ว่าผู้คนจะเริ่มออกไปชายหาด และอุทยานต่างๆ มากขึ้น โดยน้อยกว่าช่วงเดือนมกราคมเพียงประมาณ 20% แต่ถ้าดูตัวเลขผู้โดยสารเครื่องบินในประเทศจะพบว่าน้อยกว่าช่วงต้นปีถึง 75% ซึ่งหากเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันกับปีที่แล้ว ตัวเลขผู้โดยสารในประเทศปีนี้หดตัวถึง 73% YoY

    ดังนั้น เราอาจกล่าวได้ว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งอาจยังกังวลกับสถานการณ์การระบาด เลยเลือกที่จะท่องเที่ยวด้วยรถยนต์แทนที่จะเดินทางด้วยเครื่องบิน หรือคนไม่ต้องการใช้เงินมากในช่วงที่เศรษฐกิจยังเปราะบางอยู่ก็เลยเลือกที่จะท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้ๆ ก็เป็นได้

    การท่องเที่ยวจังหวัดไหนฟื้นตัวแล้ว จังหวัดไหนยังไม่ค่อยฟื้น?

    เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีประชากรจำนวนมาก และประชากรโดยเฉลี่ยมีกำลังซื้อสูงที่สุดในประเทศ การท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯ จึงนับว่ามีความสำคัญต่อจังหวัดอื่นๆ ไม่น้อย ในช่วงที่คนยังไม่ค่อยกลับมาโดยสารด้วยเครื่องบิน จังหวัดที่คนกรุงเทพฯ สามารถขับรถไปท่องเที่ยวได้ง่ายน่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า ในขณะที่หากจังหวัดใดต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมากในภาวะปกติ แม้คนในประเทศเดินทางกลับไปเที่ยว ก็ไม่สามารถชดเชยรายได้จากชาวต่างชาติที่หายไปได้

    หากเราแบ่งจังหวัดท่องเที่ยวหลักตาม 1) สถานที่ตั้งว่าอยู่ใกล้หรือไกลกรุงเทพฯ และ 2) แหล่งรายได้ ว่ามาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะหรือไม่1 จะแบ่งกลุ่มได้ทั้งหมด 4 กลุ่ม คือ

      1.กลุ่มใกล้กรุงเทพฯ และต่างชาติไม่เยอะมาก ซึ่งเราคาดว่าการท่องเที่ยวน่าจะฟื้นตัวได้เร็ว เช่น กาญจนบุรี นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

      2.กลุ่มไกลกรุงเทพฯ และต่างชาติไม่เยอะมาก ซึ่งก็น่าจะฟื้นตัวได้เร็วเช่นกัน เพราะคนพื้นที่ไปเที่ยวได้ง่าย เช่น อุบลราชธานี ขอนแก่น อุดรธานี เป็นต้น

      3.กลุ่มใกล้กรุงเทพฯ และต่างชาติเยอะ น่าจะฟื้นตัวได้ เพราะคนกรุงเทพฯ คงไปเที่ยวกันเยอะ แต่คงฟื้นไม่มากนัก เพราะปกติรายได้จำนวนมากมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก เช่น ชลบุรี

      4.กลุ่มไกลกรุงเทพฯ และต่างชาติเยอะ เป็นกลุ่มที่มีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าที่สุด เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ เป็นต้น

    จากข้อสมมุติข้างต้น เราสามารถนำข้อมูลการขอรับเส้นทางจาก Apple Map เพื่อขับรถมาดูได้ว่า ในจังหวัดนั้นๆ คนใช้ Map กันมากแค่ไหนแล้ว เทียบกับช่วงต้นปี ซึ่งข้อมูลการเปิด Map พอจะฉายให้เห็นภาพได้ว่าคนเที่ยวกันมากขึ้นรึเปล่า เพราะนักท่องเที่ยวมักเป็นกลุ่มคนที่ต้องเปิด Map ขณะขับรถมากกว่าคนในพื้นที่ที่คุ้นเคยเส้นทางอยู่แล้ว

    ข้อมูลจาก Apple ในรูปที่ 5 แสดงให้เห็นว่าในจังหวัดท่องเที่ยวที่ใกล้กรุงเทพฯ และรายได้ส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวไทย (เส้นสีฟ้าเข้ม) อย่างกาญจนบุรี และนครราชสีมา (เขาใหญ่) มีคนใช้ Map ขับรถในช่วงเดือนมิถุนายน มากกว่าช่วงเดือนมกราคมเสียอีก และตัวเลขก็ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกด้วย เช่นเดียวกันกับจังหวัดที่ไกลกรุงเทพฯ และพึ่งพิงนักท่องเที่ยวไทยเป็นส่วนใหญ่ อย่าง อุบลราชธานี หรือขอนแก่น ที่การใช้ Map ขับรถกลับมามากกว่าช่วงต้นปีแล้ว

    ในขณะที่จังหวัดที่ใกล้กรุงเทพฯ แต่พึ่งพิงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะ อย่าง ชลบุรี ที่มีรายได้จากชาวต่างชาติเป็นสัดส่วนถึง 80% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งหมด แม้เราจะเห็นว่าจำนวนคนเปิด Map ขับรถเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับช่วงมกราคมซึ่งเป็นช่วง High Season แล้ว แต่การที่รายได้ส่วนใหญ่ในช่วงปกติมาจากชาวต่างชาติ ทำให้แม้คนไทยจะกลับไปเที่ยวแล้ว แต่รายได้จากการท่องเที่ยวก็ยังอยู่ในระดับที่น้อยกว่าช่วงที่มีชาวต่างชาติอยู่มาก ซึ่งการท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ ก็กำลังเจอกับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน

    สำหรับกลุ่มจังหวัดที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ และพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะ อย่างจังหวัดเชียงใหม่ และภูเก็ต ข้อมูลจาก Apple แสดงให้เห็นว่าคนยังขอรับเส้นทางจาก Apple Map น้อยกว่าช่วงเดือนมกราคมอยู่มาก ซึ่งไม่เพียงแต่สองจังหวัดดังกล่าว จังหวัดอื่นที่มีลักษณะนี้ เช่น พังงา กระบี่ ก็มีการขอรับเส้นทางจาก Apple ที่น้อยลงมากเช่นกัน

    จากข้อมูลรายพื้นที่ของ Apple ทำให้เราพอคาดการณ์ได้ว่าภาคการท่องเที่ยวตลอดจนเศรษฐกิจในพื้นที่ของกลุ่มจังหวัดใดบ้างที่เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่จังหวัดไหนยังไม่กระเตื้องขึ้นบ้าง เนื่องจากข้อมูล Apple Map กับค่า OR ในแต่ละจังหวัดต่างเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันอย่างมาก (รูปที่ 6)

    อย่างไรก็ดีสิ่งที่เราควรระมัดระวังคือ แม้ว่าข้อมูลการใช้ Map ในบางจังหวัดจะกลับมาแล้ว แต่หากจังหวัดนั้นเคยพึ่งพิงรายได้ท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติเป็นหลัก เศรษฐกิจในพื้นที่นั้นๆ ก็อาจจะยังไม่ฟื้นตัวในระดับเดิมได้

    สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง Krungthai COMPASS คาดว่าการท่องเที่ยวในประเทศจะฟื้นตัวเพิ่มได้ ทั้งจากการคลาย Lockdown และจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ ที่น่าจะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวมีรายได้เพิ่มไม่ต่ำกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท2 โดยมองว่าแม้มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวจะไม่สามารถชดเชยรายได้จากชาวต่างชาติในครึ่งปีหลังที่หายไปกว่า 9 แสนล้านบาทเมื่อเทียบกับปี 2019 ได้ แต่ก็อาจทำได้เศรษฐกิจในบางจังหวัดกลับมาคึกคักได้ ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่าผู้เข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะเดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดใดมากเป็นพิเศษ

    หมายเหตุ :
    1. เช่น รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 40% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งหมด
    2. ประเมินจากงบประมาณกระตุ้นของภาครัฐ และการใช้จ่ายเพิ่มเติมของผู้บริโภค