ThaiPublica > เกาะกระแส > เฟดหั่นดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.50% ลดผลกระทบเศรษฐกิจจากไวรัส COVID-19

เฟดหั่นดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.50% ลดผลกระทบเศรษฐกิจจากไวรัส COVID-19

4 มีนาคม 2020


ที่มาภาพ: https://www.cnbc.com/2020/03/03/powell-says-the-fed-saw-a-risk-to-the-outlook-for-the-economy-and-chose-to-act.html

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% แบบฉุกเฉิน มาที่ระดับ 1.00-1.25% และเป็นการดำเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินปี 2008

ในแถลงการณ์ เฟดระบุว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นความเสี่ยงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และจากความเสี่ยงเหล่านี้รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการจ้างงานและความมีเสถียรภาพด้านราคา คณะกรรมการจึงตัดสินใจลดดอกเบี้ยเฟดฟันด์เรต (Fed Fund Rate) ลง

การตัดสินใจครั้งนี้มีก่อนที่เฟดจะประชุมที่กำหนดไว้ในวันที่ 17-18 มีนาคมนี้

แถลงการณ์ระบุว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินซึ่งประชุมแบบฉุกเฉินได้มีมติเป็นเอกฉันท์ และยังให้คำมั่นว่า เฟดจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดรวมทั้งผลที่อาจจะเกิดขึ้นกับแนวโน้มของเศรษฐกิจ พร้อมกับจะใช้เครื่องมือที่มี และดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ

อัตราดอกเบี้ย เฟดฟันด์เรตได้ลดลงมาอยู่ในระดับ 1.00-1.25% หลังจากการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน

การลดดอกเบี้ยของเฟดมีขึ้นท่ามกลางการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจากนักวิเคราะห์ทั่วโลก เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีผลให้โรงงานต้องหยุดการผลิต มีการจำกัดการเดินทาง และกักตัวแรงงานเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัส ขณะที่นักลงทุนวิตกมากขึ้นว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจโลกร่วงและเข้าสู่การถดถอย จึงฝากความหวังไว้ที่ธนาคารกลาง ซึ่งรวมถึงเฟดด้วยว่าจะตอบสนองต่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างเด็ดขาด

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากที่เฟดแถลงถึงการลดดอกเบี้ย ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้นมากกว่า 1% ทันที หลังจากที่เปิดตลาดในแดนลบ เพราะแถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีคลังและธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ G-7 ไม่ได้ระบุถึงการดำเนินนโยบายใดๆ

การดำเนินการแบบฉุกเฉินของเฟดสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้กระจายและมีผลกระทบทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อราว 90,000 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในจีน ซึ่งเป็นแหล่งต้นตอของไวรัส ขณะที่การระบาดรุนแรงเกิดขึ้นที่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อิหร่านและ อิตาลี อีกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้น

การระบาดของไวรัสอาจสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจมหาศาล เพราะต้องมีการกักตัว การปิดโรงงาน และกระทบต่อนักลงทุนและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ในสัปดาห์ที่แล้วตลาดหุ้นร่วงลงแรงนับตั้งแต่ปี 2008 แต่ฟื้นตัวในวันที่ 2 มีนาคม จากความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นว่าธนาคารกลางจะมีการดำเนินนโยบาย

ที่มาภาพ: https://www.nytimes.com/2020/03/03/business/economy/fed-interest-rates-coronavirus.html

การลดดอกเบี้ยแบบฉุกเฉินไม่ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การลดดอกเบี้ย 0.50% ของเฟดครั้งนี้สะท้อนภาพการลดดอกเบี้ย ในเดือนตุลาคม 2008 ขณะที่ตลาดร่วงหนักจากการตื่นตระหนกต่อการล้มละลายของเลห์แมนบราเทอร์ส และการลดในลักษณะเดียวกันนี้เมื่อช่วงต้นปี 2008

แต่การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ของเฟดถือว่าเป็นการดำเนินการแบบเชิงรุก เพื่อที่จะกันไม่ให้เศรษฐกิจมีปัญหามากกว่าที่จะคอยให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นก่อน

การลดดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาผลกระทบก็มีข้อจำกัด แม้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและทำให้ต้นทุนเงินกู้ถูกลง แต่ก็ยังมีคำถามว่าการลดดอกเบี้ยมีประสิทธิภาพแค่ไหนที่จะบรรเทาผลกระทบจากไวรัส เพราะธนาคารกลางไม่ได้ช่วยให้ไวรัสหยุดระบาด หรือป้องกันไม่ให้แรงงานตกงานหรือต้องลดชั่วโมงทำงานลง หรือแม้แต่ช่วยห่วงโซ่การผลิตที่ขาดตอนจากการปิดโรงงานหรือ ชะลอการผลิตออกไป

นอกจากนี้การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ยังทำให้มีข้อจำกัดในการที่จะลดดอกเบี้ยลงอีก หากเศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยงมากขึ้น ในช่วงปี 2007-2009 ที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย เฟดได้ลดดอกเบี้ยจากระดับที่สูงกว่า 5% แต่ขณะนี้มีดอกเบี้ยให้ปรับได้เพียง 1% เท่านั้น

ประธานเฟดส่งสัญญานพร้อมดำเนินการอีก

ในการแถลงข่าวที่วอชิงตันเวลา 11.00 น.ตามเวลาท้องถิ่นในสหรัฐฯ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ส่งสัญญานว่าพร้อมที่จะดำเนินการมากขึ้นหากจำเป็น โดยกล่าวว่า เขาและคณะกรรมการนโยบาย “ดำเนินการจากจุดยืนนโยบายของเรา แต่เตรียมพร้อมที่จะใช้เครื่องมือที่มีและดำเนินการอย่างเหมาะสม ขึ้นอยู่กับสถานการณ์”

“ไวรัสและมาตรการที่ได้มีการดำเนินการเพื่อสกัดการระบาด มีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอนในช่วงเวลาหนึ่ง” นายพาวเวลล์กล่าวและว่า “ระดับความรุนแรงและระยะเวลา” ยังคง “ไม่แน่นอนสูง” และ “สถานการณ์ยังคงไม่นิ่ง”

นายพาวเวลล์กล่าวว่า การตอบสนองต่อไวรัสต้องมีหลายด้าน จากผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข จากหน่วยงานด้านการคลัง เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม แต่ก็กล่าวว่า ธนาคารกลางมีหน้าที่ที่จะต้องทำ และคาดว่าธนาคารกลางในประเทศอื่นๆ จะดำเนินการอย่างเหมาะสมให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศตนเอง

นายพาวเวลล์กล่าวว่า การที่เฟดลดดอกเบี้ยแบบฉุกเฉินเพราะเห็นแล้วว่าการระบาดของไวรัสโคโรนามีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ

“เฟดเห็นถึงความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ จึงตัดสินใจที่จะดำเนินการลดดอกเบี้ย” นายพาวเวลล์กล่าว

นายพาวเวลล์กล่าวว่า เฟดยังคงติดตามการระบาดของไวรัสโคโรนาอย่างใกล้ชิดและจะดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่ส่งสัญญานว่าการตอบสนองนั้นจะอยู่ในรูปของการลดดอกเบี้ยมากกว่าการซื้อสินทรัพย์เพิ่มหรือใช้มาตรการ QE

สำหรับการพิจารณาใช้เครื่องมืออื่นๆ นั้น นายพาวเวลล์กล่าวว่า “ภายใต้สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่มี แต่เฟดได้หารือร่วมกันถึงจุดยืนของนโยบายว่ายังคงเหมาะสมหรือไม่ และได้ข้อสรุปว่า เป็นการสมควรที่จะปรับจุดยืนและดำเนินการล่วงหน้าจึงได้ตัดสินใจลดดอกเบี้ยในวันนี้”

อีกทั้งการระบาดของไวรัสทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินต้องปรับแนวโน้มเศรษฐกิจด้วย

นายนีล ดุตตา หัวหน้าเศรษฐกรจากเรเนซองส์ แมคโคร รีเซิร์ช ให้ความเห็นว่า การลดดอกเบี้ยของเฟด “จะช่วยหนุนจิตวิทยาในระยะสั้น แต่เครื่องมือของเฟดไม่สมบูรณ์และไม่เพียงพอที่จะช่วยในภาวะที่เกิดวิกฤติด้านสาธารณสุข” อีกทั้ง “ความตื่นตัวนี้ควรมาจากอาคารเลขที่ 17 ที่ฝั่งตรงข้ามของถนน” ซึ่งหมายถึงทำเนียบขาว

สหรัฐฯ ยังไม่ยกเลิกเก็บภาษีจีน

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งไม่สามารถควบคุมนโยบายการเงินได้นั้นได้บีบให้เฟดลดดอกเบี้ยลงโดยอ้างว่า สหรัฐฯ ควรมีต้นทุนเงินกู้ที่ต่ำสุด แต่กระนั้นการลดดอกเบี้ยลง 0.50% ครั้งนี้ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยทวีตข้อความว่า ยังลดไม่พอและต้องลดลงอีก “เราไม่ได้แข่งขันอย่างเท่าเทียมคนอื่น ไม่แฟร์สำหรับสหรัฐฯ”

สำหรับทำเนียบขาวเองไม่ได้มองว่ามาตรการอื่นมีความจำเป็น นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่พิจารณาที่จะยกเลิกการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน เพื่อผลกระทบจากการระบาดของไวรัส

นายมนูชินกล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ตั้งทีมขึ้นมาเพื่อศึกษามาตรการภาษี รองรับกรณีที่รัฐบาลต้องใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีหากจำเป็น และทำเนียบขาวอาจจะเสนอให้สภาคองเกรสพิจารณาการดำเนินการพิเศษครั้งนี้หากสมควร

การระบาดของไวรัสเป็นปัญหาของโลก และธนาคารกลางของประเทศอื่นเองก็อยู่ในสถานะที่อ่อนแอกว่าเฟด ธนาคารกลางสหภาพยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบไปแล้ว ทำให้มีข้อจำกัดที่จะดำเนินการเพื่อลดผลกระทบจากวิกฤติ และฝากความรับผิดชอบไว้ที่นโยบายการคลัง

แถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมรัฐมนตรีคลังและธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ G-7 ประกอบด้วย สหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ที่ออกมาในวันที่ 3 มีนาคมก่อนการลดดอกเบี้ยของเฟด ให้คำมั่นว่าจะประสานงานและร่วมกันสกัดการระบาดไวรัส แต่ไม่ได้ให้คำมั่นถึงการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม

ที่ประชุมระบุว่าจะติดตามสถานการณ์การระบาดของไวรัสอย่างใกล้ชิด และย้ำว่า พร้อมที่จะใช้เครื่องมือนโยบายอย่างเหมาะสมเพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนและป้องกันความเสี่ยงขาลง