ThaiPublica > Sustainability > CSR Movement > คุยกับ “เทใจดอทคอม” ว่าด้วยความท้าทายของการให้ – การบริจาคในภาวะวิกฤติโควิด-19  

คุยกับ “เทใจดอทคอม” ว่าด้วยความท้าทายของการให้ – การบริจาคในภาวะวิกฤติโควิด-19  

27 มีนาคม 2020


www.teijai.com ทุกโครงการระดมทุนที่เกี่ยวกับโควิด-19 ในแพลตฟอร์ม taejai.com มีผู้บริจาคจำนวนมากทำลายทุกสถิติการบริจาคที่ผ่านๆ มา

“นี่เป็นการทุบสถิติการบริจาคทั้งหมดที่เราเคยเปิดรับการระดมทุนมา มันเปลี่ยนมุมมองของคนบริจาคในวิกฤติที่เราไม่เคยเจอมาก่อน” เอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการเทใจดอทคอม (taejai.com) แพลตฟอร์มการระดมทุนเพื่อสังคม เปิดประเด็นคุยกับ “ไทยพับลิก้า” ในวันสุดท้ายก่อนที่ทีมเทใจจะเวิร์กฟรอมโฮม และเป็นวันที่เธอคอนเฟอร์เรนซ์คอลไปทั้งหมด 21 ประชุม

ความวุ่นวายระดับนี้เพราะภารกิจหลักๆ ขณะนี้ของเทใจคือการระดมทุนผ่าน “กองทุนเทใจสู้โควิด19” เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 เช่น หน้ากากอนามัย, หน้ากาก N95 และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น ที่สถานการณ์เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา โดยเฉพาะเมื่อตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มเร็วและกระจายไปทั่วประเทศ

ทีมงานต้องแยกแยะและจัดลำดับความสำคัญของความต้องการ วางแผนว่าทรัพยากรมีเท่าไหร่ โรงพยาบาลไหนมีความต้องการก่อน โรงพยาบาลไหนมีปัญหาและเข้าไม่ถึงอุปกรณ์การแพทย์ และการจับคู่ความต้องการและการบริหารทรัพยากรจากผู้บริจาค และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริจาคเพื่อสู้กับโควิด-19

“อาทิตย์นี้ของขาดมาก ทั้ง N95 และชุดป้องกันเชื้อโรค PPE ของไม่มีเลย บางอย่างก็ต้องรอจนกว่าของล็อตใหม่จะเข้ามาเราะพูดได้แค่ว่าสถานการณ์ที่โรงพยาบาลขณะนี้หนักมาก”

“ตอนนี้ก็จะยากขึ้นจากช่วงแรกต้นเดือนมีนาคมที่เราเริ่มทำงานระดมทุนหาซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เพราะช่วงแรกมันแยกแยะง่ายกว่าว่าความต้องการคืออะไร อะไรที่ขาดแคลน โรงพยาบาลไหนบ้าง เพราะตอนนั้นมีโรงพยาบาลรับตรวจไม่กี่ที่ เราแบ่งเป็นโรงพยาบาลรับตรวจ โรงพยาบาลที่ตรวจเชื้อจริง และโรงพยาบาลที่ดูแลคนไข้ แต่ตอนนี้ระบาดไปถึงต่างจังหวัดแล้วมันก็ยากขึ้นเพราะผลกระทบกว้างขึ้น” เอด้าฉายภาพสถานการณ์

ให้แบบเร่งด่วน บริจาคเพื่อบรรเทาปัญหา

“เอด้า จิรไพศาลกุล” กรรมการผู้จัดการเทใจดอทคอม (taejai.com) ที่มาภาพ: มูลนิธิเพื่อคนไทย

ย้อนกลับไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ในขณะที่กรมควบคุมโรค ระบุการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของประเทศไทยอยู่ในระยะที่ 2 มีผู้ติดเชื้อ 43 คนและมีผู้เสียชีวิต 1 คน  เทใจเริ่มเปิดระดมทุนรับบริจาคเพื่อสู้โควิด โครงการแรก “เทใจให้มดงานสู้โควิด”  ในขณะนั้นเจ้าของโครงการที่ขอระดมทุนเพื่อร่วมซื้อชุดป้องกันและอุปกรณ์ให้ทีมแพทย์และพยาบาลซึ่งถือเป็นมดงานนิรนามที่สู้กับโควิด-19 คือ “กลุ่มแพทย์ ผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า” ที่มีแพทย์ผู้นำรุ่นใหม่ เช่น นพ.เขตต์ ศรีประทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 6 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  ผศ. นพ. มล.ทยา กิติยากร สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นพ.สมิทธิ์ อารยะสกุล โรงพยาบาลสมิติเวช และ Smith Clinic ฯลฯ

“เทใจทำงานกับคุณหมอหลายท่าน เวลานั้นคุณหมอต่างก็เริ่มเห็นปัญหาของความขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ พวกหน้ากาก ชุดป้องกันเชื้อโรค PPE จำได้ว่าเราเปิดรับบริจาคในระบบประมาณ 11 โมง ไม่เกิน 3 ทุ่มยอดทะลุเป้าไป 260% คนอยากช่วยเยอะมาก”

ในภาวะวิกฤติทางสังคม ยอดบริจาคก็จะมากขึ้นอยู่แล้วโดยธรรมชาติ  แต่สำหรับวิกฤติโควิด-19 ยอดบริจาคมีมากอย่างที่ไม่เคยเป็น ไม่เฉพาะโครงการเทใจให้มดงานสู้โควิด-19 อีกโครงการที่ เทใจร่วมมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้ชื่อโครงการ Thammask for Med หน้ากากสะท้อนน้ำเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการระดมทุนเพื่อจะต่อยอดนวัตกรรมหน้ากากสะท้อนน้ำที่คิดค้นโดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็สามารถระดมทุนได้อย่างรวดเร็วและทะลุเป้าหมายการบริจาค 1.65 ล้านบาทในไปเวลาไม่ถึงหนึ่งวันเช่นกัน

“เรื่องนี้เป็นวิกฤติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและเกิดขึ้นกับทุกคน เราเห็นว่าคนไม่ได้มองเป็นเรื่องทำบุญ แต่มันเป็นเรื่องของการรักษาระบบสาธารณสุข ทำอย่างไรถึงจะเซฟระบบได้ เซฟตัวเอง หรือแม้แต่ความไม่พอใจในการจัดการเรื่องบางเรื่อง การบริจาคคือทางออกของเขา นี่เป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm shift) ของการบริจาค”

การบริหารจัดการเงินบริจาคในช่วงวิกฤติ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การบริจาคจึงไม่ง่าย ช่วงแรกของการระดมทุนหาซื้ออุปกรณ์การแพทย์ สามารถจัดหาซื้อชุดป้องกันเชื้อโรค PPE ไปได้แล้ว 1,400 ชุดและได้มอบให้กับโรงพยาบาลไปแล้ว 8 โรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) ฯลฯ บางส่วนที่ไม่สามารถหาได้เทใจก็ขอรับบริจาคเป็นของเช่น หน้ากากอนามัย และหน้ากาก N95 เป็นต้น

“พอเรามาทำงานเรื่องนี้ เรื่องที่เราได้เรียนรู้ระหว่างการทำงานเป็นปัญหาในเชิงระบบและกระบวนการ บางทีเราพบว่าถึงโรงพยาบาลมีเงินแต่ก็ไม่สามารถจัดซื้อสินค้าได้ เพราะมันมีกฎระเบียบภายใน ที่บางครั้งแม้จะมีสินค้าแต่พอราคามันสูงกว่าราคาปกติ การจัดซื้อก็จะเป็นปัญหา หรือบางทีมันต้องใช้เวลานานมาก ในภาวะแบบนี้เงินบริจาคเลยสามารถเข้าไปช่วยแก้ปัญหาได้เยอะมาก เพราะจุดนี้เราต้องการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว”

“บางทีมันรอไม่ได้ถ้าของมาช้า หรือถ้าจะรอจนหมอติดโควิด ระบบสาธารณสุขมันก็จะยิ่งแย่ไปอีก ที่เราทำกับโรงพยาบาลเยอะเพราะเรากลัวว่าระบบโรงพยาบาลมันจะรับไม่ไหวและจำนวนคนไข้โตเร็วกว่าที่โรงพยาบาลจะรับได้ทัน”

ให้อย่างมีสติ บริจาคอย่างรู้เท่าทันสถานการณ์

แม้วันนี้โรงพยาบาลขนาดใหญ่อย่าง โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช ฯลฯ จะเปิดรับบริจาคเอง มีโครงการระดมทุนและสิ่งของหลายโครงการ  แต่ก็ยังไม่พอ ยังต้องมีแรงสนับสนุนอีกมากที่จะสนับสนุนการทำงานด้านสาธารณสุข  “ปัญหายังมีอยู่รายวัน และการตัดสินใจให้ความช่วยเหลือเป็นเรื่องวันต่อวัน” เอด้ากล่าวถึงการทำงานของเทใจ ที่ยังเดินไปข้างหน้า

กองทุนเทใจสู้โควิด19” ที่เทใจดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ไม่เพียงจะสานต่อภารกิจ ในการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ด้วยการจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น หน้ากากอนามัย, หน้ากาก N95 ชุดป้องกันเชื้อโรค PPE และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น เช่น เครื่องช่วยหายใจ ฯลฯ ที่เป็นความจำเป็นในระยะต่อไป

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่อง “การเงินเพื่อสังคม” (social finance)  เอด้ากล่าวว่า “ โดยหลักการเราไม่อยากทำอะไรที่มีคนที่ควรรับผิดชอบต้องทำ แต่เราถามว่า ถ้าไม่ทำอะไรแล้วด่าไปเรื่อยๆ แล้วหมอก็ตายเพราะไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน มันก็ต้องรีบทำ แต่แม้จะรีบทำ สุดท้ายเมื่อถึงจุดหนึ่งเราเองก็ต้องกลับมาตั้งคำถามเรื่องนี้”

อย่างไรก็ตามเมื่อการให้ การบริจาค มีมากขึ้น ในทางกลับกันการให้และการช่วยเหลือเฉพาะหน้าบางอย่างเริ่มปรากฏให้เห็นเค้าลางที่จะนำไปสู่การซ้ำเติมปัญหา

“อย่างชุดป้องกันเชื้อโรค PPE นี่เราเห็นชัดมากเลย คนซื้ออะไรได้ก็ส่งไปให้หมอและพยาบาล แต่เราทราบจากผู้เชี่ยวชาญว่าชุดบางประเภทที่ซื้อกันมันก็กันไวรัสไม่ได้ ถ้าจะให้ก็ต้องระวังเรื่องนี้ ”

และแนะนำว่า บางเรื่องต้องทำอย่างรู้เท่าทันสถานการณ์ เพราะในสถานการณ์โรคระบาดนั้นแตกต่างกว่าสถานการณ์การให้และการบริจาคในภาวะอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึงประเด็น “สุขภาพและความปลอดภัย” และ “การระบาด” ของโรคมาเป็นลำดับแรก

“กระแสนึงที่ตอนนี้คนทำกันเยอะมากคือ ซื้ออาหารแจก ตอนนี้ในโรงพยาบาลมีขยะอาหารเหลือทิ้งเยอะมาก อันนี้เป็นเรื่องนึงที่เราเห็นคนทำตามๆ กัน รวมถึงการแจกอาหารให้คนตกงานด้วยไม่มีมาตรการก็อันตราย เพราะถ้าให้คนมารับได้ในเวลาใกล้ๆกัน จุดที่มีคนรวมตัวกันมันจะเป็นจุดแพร่ระบาดของเชื้อ หรือถ้าคนต้องเดินทางมารับที่ร้านกันเอง คนลำบากจริง ไม่มีเงินเดินทาง ไม่รู้ข่าวสาร ก็อาจจะไม่เคยเข้าถึงโอกาสนี้”

“วิธีที่อาจจะเหมาะกว่า คือการให้อาหารแห้งเอาไปให้เขาตามบ้าน อย่าให้คนจำนวนมากมารวมกัน ให้วัตถุดิบเพื่อให้เขาทำเอง นั่นเป็นวิธีการที่ดีกว่าสำหรับกลุ่มที่ขาดโอกาส”

” ถ้าจะช่วยวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการช่วยคนยากจนคือการให้อาหารแห้ง เอาไปให้เขาตามบ้าน อย่าให้คนจำนวนมากมารวมกัน ให้วัตถุดิบเพื่อให้เขาทำเอง นั่นเป็นวิธีการที่ดีกว่าสำหรับกลุ่มที่ขาดโอกาส”

ที่มาภาพ: taejai

ให้และบริจาคยั่งยืน ต้องไปให้ถึง “โดมิโน เอฟเฟกต์”

ปัจจุบัน ปัญหาการระบาดและผลกระทบจากการระบาดของโคดวิด-19 มีหลายระดับ กรรมการผู้จัดการเทใจแนะนำว่า สำหรับคน หรือองค์กรธุรกิจที่อยากช่วยเหลือสังคม ควรพิจารณาปัญหาในหลายระดับ และมองผลกระทบหลายแง่มุมทั้งในระดับของผลกระทบด้านสุขภาพ และผลกระทบด้านอื่นๆ

“ของที่ยังขาดก็ยังขาด หน้ากาก N95  ชุดป้องกันไวรัส โรงพยาบาลขนาดเล็กเราพยายามช่วยหาของให้ ในขณะที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ เราจะมีผู้ป่วยวิกฤติเพิ่มมากขึ้น เครื่องช่วยหายใจจะเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ข้อต่อสำหรับท่อที่ต่อลงคอก็จะหาลำบากมากขึ้นด้วย ในระดับต่อไปเมื่อโรคกระจายไปถึงแนวหน้า อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุข) โรงพยาบาลตำบล จะต้องรับมือในขณะที่ทรัพยากรไม่มี ความรู้ไม่มี”

“จากนี้ต้องดูให้ไกลไปกว่าการดูแลสุขภาพ เพราะว่าผลกระทบเรื่องนี้มาสู่ภาคเศรษฐกิจ ถ้าคนอยากกระตุ้นให้เกิดการลงมือทำอะไรขึ้นมา มีประเด็นหลายเรื่องที่ต้องทำ อย่างคนรับจ้างรายวันหลายคนที่เร่เร่อน เขาไม่มีความรู้และการป้องกันตัวแบบที่เราแชร์กันในไลน์ เขาไม่มีหน้ากากป้องกัน เขาจึงเหมือนระเบิดเดินได้ที่จะไปทุกที่”

“เรื่องพวกนี้มันเปลี่ยนไปแบบวันต่อวัน จากนี้ที่เก็บศพคนติดเชื้อก็จะมีความต้องการมากขึ้น เราจะโลจิสติกส์อย่างไร วัดไหนจะยอมให้ประกอบพิธีฌาปนกิจ”

เหล่านี้เป็นโจทย์ที่ต้องการการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคมทั้งสิ้น

“ อยากให้มองว่า การมีโควิดทำให้มีปัญหาอื่นเกิดขึ้น และในเวลาเดียวกันยังทำให้ปัญหาอื่นๆ มันแย่ลงด้วย แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าถ้าไม่ใช่เรื่องโควิดคนไม่ค่อยสนใจช่วยเลย  เช่น ศูนย์อนุรักษ์ช้างที่เชียงใหม่ตอนนี้เขาไม่มีรายได้เลยจากนักท่องเที่ยวที่หลายไป หรืออย่างปัญหาใน รพ. หน้ากาก N95 ที่พอตอนนี้อุปกรณ์ไม่พอคนก็ต้องให้หมอที่ทำโควิดก่อน ส่วนหมอมะเร็ง หมออื่นที่ต้องใช้ ก็ไม่มีใช้ หรือการที่เด็กนักเรียนยากจนถ้าพ่อแม่เขาไม่มีงานทำ ก็อาจจะหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ ผลกระทบแบบนี้จะตามมา อันนี้มันเป็นโดมิโนเอฟเฟกต์ที่เราควรต้องมอง”

สำหรับเทใจ จากนี้เราคงเดินต่อไปข้างหน้า ในสถานการณ์นี้ยังมีความต้องการความช่วยเหลืออีกมาก “เราอยู่ในช่วงของการประเมินสถานการณ์ โรงพยาบาลที่สามารถระดมเงินได้เองเราคงประชาสัมพันธ์ให้คนบริจาคตรง แล้วมามองหาช่องว่างอื่นๆที่ยังขาดอยู่ เช่น โครงการที่ช่วยให้ประชากรกลุ่มเปราะบางสามารถรักษาระยะห่างป้องกันโรคระบาดได้ (social distancing) และในระยะยาว เราคิดว่าอุปกรณ์การแพทย์บางอย่างจะขาดแคลนมากและอาจจะนำเข้าไม่ได้เพราะทุกประเทศขาดเหมือนกัน ตอนนี้เลยเริ่มทำงานกับกลุ่ม Makers เพื่อประดิษฐ์ของทดแทนที่หาวัตถุดิบได้ภายในประเทศ รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อจะบริหารทรัพยากรการบริจาคให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด และเราต้องไปต่อให้ถึงกลุ่มที่ขาดโอกาสที่สุดจริงๆ ”

เพราะนับจากวันนี้ยังอีกยาวไกล กว่าที่ประเทศไทยและโลกจะเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง