ThaiPublica > เกาะกระแส > “ไวรัส เปลี่ยนโลก” บทเรียนราคาแพงจาก ‘โควิด-19’

“ไวรัส เปลี่ยนโลก” บทเรียนราคาแพงจาก ‘โควิด-19’

29 มีนาคม 2020


IPPD (สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา มูลนิธิพระยาสุริยานุวัตร) จัดเสวนาออนไลน์ “ไวรัส เปลี่ยนโลก”

IPPD (สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา มูลนิธิพระยาสุริยานุวัตร) จัดเสวนาออนไลน์ “ไวรัส เปลี่ยนโลก” ชวนถอดบทเรียนผลกระทบของโลกและไทยหลังเผชิญโรคระบาด Covid-19 โดยมีอาจารย์พิชชาภา จุฬา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ INDA) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัย IPPD เป็นผู้ดำเนินรายการ

เมืองยังจำเป็นไหม ? ในวันที่โรคระบาดตั้งคำถามถึงความหนาแน่น

อาจารย์ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ หัวหน้า Foresight and Futures Lab สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา และนักวิจัยคนเมือง 4.0 ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดประเด็น “ความหนาแน่นของเมือง” โดยตั้งคำถามถึงผลกระทบจากโควิด-19 ว่า ‘ความเป็นเมือง’ (Urbanity) มาพร้อมกับโลกาภิวัตน์และความเจริญที่ไม่ใช่แค่ระบบสาธารณูปโภค แต่เมืองยังทำให้เกิดผู้คนที่หลากหลาย ตั้งแต่แรงงาน นักท่องเที่ยว นักธุรกิจ

อาจารย์ว่าน ขยายความว่า ในความเป็นเมืองจะมีความหนาแน่น (Density) ที่ประกอบด้วยแหล่งงาน แหล่งเรียนรู้ แหล่งรายได้ แหล่งโอกาส แหล่งท่องเที่ยว แหล่งเดินทาง แหล่งซื้อของ ฯลฯ

เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ได้ดึงดูดคนจำนวนมากเข้ามาในเมือง โดยเฉพาะแหล่งงาน ซึ่งทำให้เกิดแรงงาน จำนวนมาก ถือเป็นปัจจัยสำคัญ

“แต่พอเกิดไวรัสโควิด-19 ความหนาแน่นกลายเป็นความเสี่ยง” อาจารย์ว่าน กล่าว

การลดความหนาแน่นภายในเมืองจึงเป็นวิธีหนึ่งในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 แต่ในยามที่เมืองจะพยายามลดความหนาแน่น ยิ่งตอกย้ำให้ภาพความเหลื่อมล้ำของคนที่อาศัยในเมืองชัดเจนยิ่งขึ้น โดยอาจารย์ว่าน เผยให้เห็น 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

(1) ลดการเดินทาง…แล้วอยู่บ้านไหวไหม ?

“เพราะบ้านเราไม่เท่ากัน ใครมีบ้านหรือคอนโดที่พอมีพื้นที่ เราก็พออยู่ไหว แต่บางคนอยู่คอนโดที่ค่อนข้างเล็ก อาจตั้งใจให้เป็นแค่ที่นอน แล้วไปใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะอื่นๆ แล้วเราจะอยู่ไหวไหม”

(2) ลดงาน…แล้วเศรษฐกิจ ?

ในความเป็นจริงไม่ใช่ทุกคนที่สามารถ Work from Home ได้ โดยเฉพาะงานพื้นที่ฐานที่รองรับเมือง และอาชีพบนท้องถนน

“เราพยายามจะลดงาน บอกให้ทำงานจากบ้าน ทำงานออนไลน์มากขึ้น แต่แน่นอนทุกคนไม่ได้เวิร์คฟอร์มโฮมได้ แม่ค้าหาบเร่ไม่สามารถยกขึ้นออนไลน์ได้ พนักงานทำความสะอาดก็เวิร์คฟอร์มโฮมไม่ได้”

(3) ลดภารกิจ…แล้วจะใช้ชีวิตในเมืองทำไม ?

อาจารย์ว่าน ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญเนื่องจากเมืองเป็นแหล่งสร้างงานและสร้างโอกาสต่างๆ แต่ในวันที่เมืองไม่สามารถตอบโจทย์เหล่านั้นได้ คนจึงไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ในเมือง รวมถึงคำถามที่ตามมาอีกว่าแท้จริงแล้วเมืองนี้ยังไม่ได้ให้ความสุขกับคนจริงๆ

“มันก็ไม่มีเหตุผลว่าเราจะต้องไปใช้ชีวิตในเมืองในเมื่อแหล่งงาน แหล่งเรียนรู้โดนปิด เหมือนตอนนี้เป็น ‘ภาวะจำยอม’ เลือกมาอยู่ในเมืองเพียงเพราะต้องหาเงิน ถ้าไม่มีความจำเป็น เขาก็ไม่ต้องอยู่ในเมืองอีกต่อไป”

ดังนั้นการจะให้บริการที่ดีที่ตรงความต้องการของคนในกรุงเทพฯ ต้องเริ่มจาก ‘รู้จักคนเมือง’ ว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน มาทำอะไร แม้จะเป็นประชากรชั่วคราวแต่ก็ถือเป็นประชากรในเมืองด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ว่าน อธิบายต่อว่า ความจริงแล้วไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ แต่รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ที่ต้องทำความรู้จักเมืองของตนเอง ถึงจะไม่ใช่เมืองหลวงแต่ก็ต้องแยกให้ออกว่าพื้นที่เมืองหรือพื้นที่ชนบท

สำหรับวิกฤตโควิด-19 ที่ต้องพยายามลดความหนาแน่นจะมาคู่กับการเพิ่มระยะห่างของคน ซึ่งอาจารย์ว่าน วิกฤติครั้งนี้ไม่มีภัยพิบัติกรณีน้ำท่วมเมื่อปี 2554 เพราะตอนนั้นต้องร่วมมือกัน แบ่งปันทรัพยากรให้กันและกัน ขณะที่โรคระบาดทำให้คนต้องห่างกัน ผิดกับความเป็นเมืองที่ดึงให้คนอยู่รวมกัน

แต่ทั้งนี้จะเห็นการร่วมมือที่เปลี่ยนไปจากเดิม คือการช่วยเหลือกันในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นอีกสังคมหนึ่งที่มีคนอยู่อย่างหนาแน่น

“ทุกครั้งที่เกิด disruption ใหญ่ๆ ถ้าเราเตรียมความพร้อมและความยืดหยุ่นน่าจะเป็นสิ่งสำคัญให้ประเทศไทยพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคต” อาจารย์ว่านกล่าว

โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ไทยต้องไปให้ไกลกว่าท่องเที่ยว

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร นักวิจัย สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งต้นจาก 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (2) สิ่งที่ต้องคิดกับระบบเศรษฐกิจ และ (3) การผงาดของจีนและจุดจบของอเมริกา ซึ่งโควิด-19 มาตอกย้ำให้สามประเด็นข้างต้นปรากฏชัดเจนมากขึ้น

เนื่องจากประเทศจีนเป็นแหล่งผลิตสินค้าและบริการขนาดใหญ่ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดจึงส่งผลกระทบกับทั่วโลก ดังนั้นสิ่งที่ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคธุรกิจต้องทบทวนคือ Global Supply Chain ที่ต้องคำนึงถึงถึงการกระจายความเสี่ยง

ดร.อาร์ม ตั้งข้อสังเกตถึงองค์กรระดับโลก เช่น WHO ฯลฯ ว่าไม่ได้มีบทบาทนำอย่างที่ควรจะเป็น มิหนำซ้ำบทบาทยังน้อยกว่ามาตรการที่เข้มงวดของแต่ละประเทศ

ขณะที่ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบจากประเทศจีน แต่การเริ่มต้นระบาดจากในจีนไม่ใช่แค่ปัจจัยเดียวเท่านั้น เพราะปัจจัยสำคัญที่กระทบระบบเศรษฐกิจโลก หลังจากนี้ระบบสาธารณสุขและการจัดการจากประเทศฝั่งตะวันตก อาทิ สหรัฐอเมริกา

“มันเริ่มระบาดครั้งแรกที่อู่ฮั่น แล้วตอนระบาดหนักๆ ผมจำได้ว่าสื่อฮ่องกงจำนวนมากบอกให้ใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อให้ไม่ซ้ำรอยอู่ฮั่น แต่ตอนนั้นพวกเราไม่เห็นการ panic แต่พอระบาดที่อิตาลี เลยกลายเป็นเรื่องที่ภาคตะวันตก และสหรัฐฯ ให้ความสำคัญ” ดร.อาร์ม เสริม

ประเด็นถัดมาคือ วิกฤติโควิด-19 จะเป็นตัวชี้วัดว่าสหรัฐอเมริกาจะ ‘สำเร็จ’ หรือ ‘ล้มเหลว’

“ภาพที่เราเห็นคือสหรัฐฯ ตกต่ำลง จากเดิมเป็นผู้นำระบบโลก และเราก็เริ่มเห็นกระแสชื่นชมโมเดลของจีน ทั้งการปกครอง เศรษฐกิจ โมเดลการรับมือกับโรคระบาด ซึ่งแตกต่างจากโมเดลตะวันตก ดังนั้นสหรัฐฯ จะจัดการได้แค่ไหน ไม่ว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว จะมีนัยยมหาศาลต่อระบบและระเบียบของโลก” ดร.อาร์ม กล่าว

ทั้งนี้มีคาดการณ์ความเป็นไปได้ในกรณีที่แย่ที่สุด (Worst Case) ว่าสหรัฐฯ จะมีผู้ติดเชื้อ 2.2 ล้านคน ส่วนกรณีแย่น้อยที่สุด (Best Cast) ที่ 1.1 ล้านคน

ดร.อาร์ม วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้สหรัฐฯ สำเร็จว่า มาจากความเป็นผู้นำนวัตกรรม การคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นยารักษาวัคซีน หรือมาตรการการรับมือที่เหมาะสม ส่วนปัจจัยที่นำไปสู่ความล้มเหลวคือความเหลื่อมล้ำ ระบบการแพทย์ของสหรัฐยังไม่ใช่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้คนจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงระบบการแพทย์หรือไม่สามารถกักตัวเองให้อยู่บ้านได้

“สาธารณสุขแต่ละมลรัฐจะมีการรับมือที่แตกต่างกัน หรือการบอกว่าแต่ละคนมี Individualism ทุกคนอยู่บ้าน ไม่สังสรรค์ แต่จะมีปัญหาเรื่องการร่วมมือกัน เปรียบเทียบกับจีนเพราะเขาเป็น Collectivism มีการรวมหมู่ สามัคคี แต่ผมเรียนว่าปัจจัยเหล่านี้ออกได้ทั้งหัวและก้อย ทั้งสำเร็จและล้มเหลว” ดร.อาร์ม กล่าว

สำหรับประเทศไทย ดร.อาร์ม เสนอว่า ประเทศไทยต้อง ‘กล้า’ เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ เลิกคิดพึ่งเพียงภาคการท่องเที่ยว แต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้มาดันเศรษฐกิจไทยในระยะยาว หรืออย่างน้อย 1-2 ปี ซึ่งเป็นผลกระทบจากไวรัส

“หลายคนในเมืองไทยบอกว่าเอาแบบจีน เจ็บแต่จบ เร็ว แต่ผมว่าตอนนี้ต้องคิดว่าเรารับมือระยะยาวยังไง ไม่ใช่แค่จบเร็ว แล้วถามว่าในจีนตอนนี้กลับไปปกติหรือยัง แม้เราบอกว่าห้างร้านเริ่มเปิดแล้ว แต่ก็ยังต้องเว้นระยะห่างทางสังคม” ดร.อาร์ม กล่าว

ดร.อาร์ม ทิ้งท้ายบทเรียนจากต่างประเทศสู่ประเทศไทย ด้วยสูตร 3T ดังนี้

    (1) T Testing ทำอย่างไรให้ตรวจและพบเจอผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นโมเดลแบบเกาหลีใต้

    (2) T Technology ทำอย่างไรให้สตาร์ทอัพพยายามเข้ามามีส่วนร่วม

    (3) T Transfer การถ่ายโอนแรงงาน หรือถ่ายโอนภาคเศรษฐกิจ ไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่พออยู่ได้ ยกตัวอย่าง ธุรกิจร้านอาหารในประเทศจีนที่ซบเซา ขณะที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างอาลีบาบากลับจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น

โควิด-19 กระตุ้นพลังโซเชียลมีเดีย

นายกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สิ่งที่เชื่อมโลกเราเข้าไว้ด้วยกัน นอกจากการขนส่งทางอากาศและเรือ ก็คือโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นอนาคตของพลังการสื่อสาร

“มันจะเกิดอาชีพประเภทใหม่สำหรับคนที่อยู่ในเมืองคือ Digital Worker ทำงานที่ไหนก็ได้ ส่งงานกันได้อยู่ สิ่งเหล่านี้จะมาเร่งปฏิกิริยาให้เมืองใหญ่ๆ เปลี่ยนตัวเอง เราเชื่อว่าโควิดจะมาเร่งปฏิกิริยาตอนนี้ให้มากขึ้น” นายกล้า กล่าว

ตัวอย่างการใช้โซเชียลมีเดียเทียบเคียงกับ “โรคไข้หวัดนก” เมื่อปี 2009 ซึ่งตอนนั้นประชาชนก็หวาดระแวงกับโรคไข้หวักนกไม่ต่างจาก “โควิด-19” แต่บังเอิญว่าการใช้โซเชียลมีเดียในยุคนี้แตกต่างจากในปัจจุบัน

นายกล้า เล่าวว่า ทุกวันนี้พลังของการสื่อสารไม่ได้อยู่ที่ภาครัฐอีกต่อไป เห็นได้จากหลายๆ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ยังคงมีการกักตุนสินค้าเกิดขึ้นทั้งที่ภาครัฐบอกว่ามีสินค้าเพียงพอ หรือช่วงหนึ่งที่มีปิดห้าง แต่ต่อมาก็มีข่าวแย้งออกมาทำให้ประชาชนงงว่าสรุปแล้วปิดหรือไม่ปิด

แต่บางครั้งปัญหาการสื่อสารไม่ได้เกิดจากภาครัฐอย่างเดียว เช่น กรณีข่าวฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด ซึ่งอ้างอิงโดยยูนิเซฟ จนมีคนแชร์ต่อจำนวนมาก ทำให้ในเวลาต่อมายูนิเซฟต้องออกมาประกาศชี้แจงข้อเท็จจริงผ่านทวิตเตอร์

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย เริ่มจากวันที่ 24 มกราคม 2563 ที่มีข่าวพบผู้ติดเชื้อในไทย และวันถัดมา 25 มกราคม มีข่าวไทยพบผู้ติดเชื้อเป็นอันดับ 2 รองจากจีน และโลกโซเชียลค่อยมาหวือหวาอีกครั้งเมื่อวันที่ 31 มกราคม ซึ่งมีข่าวพบผู้ติดเชื้อคนไทยรายแรก จนกระทั่งข่าวค่อยๆ เงียบหายไป และกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์หลังมีข่าวปู่-ย่าไปเที่ยวญี่ปุ่น แล้วติดเชื้อ จากนั้นการพูดถึงโควิด-19 ในโซเชียลมีเดียค่อยๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ ตามสถานการณ์

นายกล้า มองว่า ภาครัฐควรใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียเข้ามาช่วยในการสื่อสาร เพราะจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ยิ่งเป็นสถานการณ์วิกฤตควิด-19 สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือการฟังประชาชน แม้ว่าการฟังประชาชนทั้งประเทศจะเป็นความท้าทายของภาครัฐก็ตาม

New World Paradigm: ไวรัสเปลี่ยนโลก

เสวนาออนไลน์ ‘New World Paradigm: ไวรัสเปลี่ยนโลก’

Posted by Institute of Public Policy and Development – IPPD on Thursday, March 26, 2020