ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
มีกระแสถกเถียงกันอย่างหนักในสังคมออสเตรเลียตั้งแต่ช่วงปีที่แล้วว่า นักการเมืองออสเตรเลีย กลายเป็นหุ่นเชิดของทุนจีนไปแล้วหรือยัง?
เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 มีรายงานจากหน่วยข่าวกรองของออสเตรเลียว่า มีนักธุรกิจชาวออสเตรเลียเชื้อสายจีน 2 คน บริจาคเงินให้นักการเมืองออสเตรเลียทั้งสองฝั่งจำนวนมหาศาล โดยข่าวกรองพบว่านักธุรกิจทั้ง 2 รายล้วนมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเล่นบทบาทมากกว่าเป็นนักธุรกิจ คือพยายามล็อบบี้นักการเมือง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของจีนในออสเตรเลีย
นักธุรกิจคนหนึ่งในสองคนดังกล่าว ได้ยกเลิกการบริจาคเงินก้อนใหญ่ให้กับพรรคการเมืองหนึ่งทันที เพียงเพราะสมาชิกของพรรคการเมืองดังกล่าวแถลงว่า ออสเตรเลียควรต้องร่วมกับสหรัฐฯ ในการทัดทานการรุกคืบของจีนในทะเลจีนใต้ ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า มีวุฒิสมาชิกคนหนึ่ง ออกมาแถลงเรื่องทะเลจีนใต้ในแนวทางที่สนับสนุนจีน โดยพบในภายหลังว่าวุฒิสมาชิกท่านนั้นรับบริจาคเงินก้อนใหญ่จากทุนจีน
หน่วยความมั่นคงของออสเตรเลียได้แสดงความกังวลว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนอาจพยายามแทรกแซงนโยบายภายในและนโยบายต่างประเทศของออสเตรเลีย ผ่านกลไกการบริจาคเงินให้นักการเมืองและพรรคการเมือง รวมทั้งการล็อบบี้นักการเมือง
พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีหน่วยงานเฉพาะสำหรับสานสัมพันธ์กับชาวจีนโพ้นทะเล โดยในช่วงที่ผ่านมา พบว่า หน่วยงานดังกล่าวทำงานเชิงรุกมากขึ้นในการส่งเสริม รวมทั้งกดดันให้นักธุรกิจเชื้อสายจีนในออสเตรเลีย (ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนมีผลประโยชน์ทางธุรกิจอยู่ในจีนเองด้วย) ให้ทำหน้าที่ช่วยล็อบบี้นักการเมืองให้ออกนโยบายที่เอื้อรัฐบาลจีนและทุนจีน
มีนักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า นักธุรกิจเชื้อสายจีนที่มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับพรรคการเมืองและนักการเมืองออสเตรเลีย จะได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษเวลาทำธุรกิจในเมืองจีน ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อกิจการของพวกเขาในจีน ในทางกลับกัน ถ้านักธุรกิจเชื้อสายจีนเหล่านี้ไม่ให้ความร่วมมือหรือช่วยเหลือรัฐบาลจีนในการประสานกับนักการเมืองออสเตรเลีย ธุรกิจในจีนของพวกเขาเหล่านั้นก็อาจถูกกลั่นแกล้งเอาได้ง่ายๆ
อดีตนักการทูตจีนคนหนึ่งที่ปัจจุบันขอลี้ภัยในต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่เพียงสนับสนุนให้นักธุรกิจในเครือข่ายบริจาคเงินให้พรรคการเมืองออสเตรเลีย แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังพยายามสร้างอิทธิพลผ่านการเชิญนักการเมืองออสเตรเลียให้ไปดูงานที่ประเทศจีน (โดยเป็นแขกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและทางจีนออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด) หรือมีของขวัญมอบให้กับนักการเมืองในโอกาสต่างๆ ซึ่งยิ่งยากที่จะตรวจสอบ
ก่อนหน้านี้ยังมีรายงานว่า มีนักการเมืองผู้ใหญ่ในออสเตรเลียเข้ารับตำแหน่งกรรมการและที่ปรึกษาให้กับบริษัทของจีน ภายหลังจากลงจากตำแหน่งแล้ว ซึ่งทำให้มีคนตั้งคำถามว่าเป็นการตอบแทนคนเหล่านี้ที่เคยเอื้อทุนจีนหรือไม่ ตัวอย่างเช่น นายแอนดรู รอบบ์ อดีต รมว.กระทรวงการค้าของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหัวหน้าการเจรจาการค้าระหว่างจีนและออสเตรเลีย ได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาของนักธุรกิจรายใหญ่ของจีนภายหลังจากที่พ้นตำแหน่งรัฐมนตรี โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินมากกว่า 650,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
นอกจากอิทธิพลในทางการเมืองแล้ว ยังเริ่มมีความกังวลในวงวิชาการออสเตรเลีย เมื่อมหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องพึ่งพิงรายได้จากนักศึกษาจีน และเงินบริจาคจากนักธุรกิจเชื้อสายจีน ปัจจุบันเริ่มมีการตั้งสถาบันจีนศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากนักธุรกิจเชื้อสายจีนที่มีเครือข่ายใกล้ชิดพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลายคนเริ่มกังวลว่า ในอนาคตอาจกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ โดยอาจมีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นหรือการเปิดรับนักวิชาการที่มีแนวคิดวิพากษ์วิจารณ์จีน
ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของออสเตรเลีย และออสเตรเลียได้เปิดรับนักลงทุนและผู้อพยพชาวจีนจำนวนมาก มีประชากรประมาณ 4% ที่มีเชื้อสายจีน ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ออสเตรเลียจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากทีเดียว
ออสเตรเลียจริงๆ ก็มีลักษณะคล้ายไทย คือเป็นประเทศที่เดิมมีประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับตะวันตกมาอย่างยาวนาน แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยการเจริญเติบโตและแผ่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน ทำให้จีนกลายเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อออสเตรเลีย ขณะเดียวกัน ถ้ามองจากในมุมของจีนเอง ออสเตรเลียนับเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในภูมิภาค และจีนต้องการให้ออสเตรเลียเล่นบทเป็นพวก (หรืออย่างน้อยก็ไม่ขวาง) ผลประโยชน์จีนในทะเลจีนใต้และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กระแสข่าว “ทุนจีนซื้ออิทธิพลในออสเตรเลีย” มาพร้อมๆ กับข่าวดังเรื่องรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ จนทรัมป์ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี แม้แต่ฮิลลารี คลินตัน ก็ออกมาเตือนว่า ให้จับตามองพฤติกรรมการซื้ออิทธิพลในออสเตรเลียของจีน เพราะเป็นตัวอย่างว่า เราต้องระวังกลยุทธ์การขยายอิทธิพลของมหาอำนาจอีกขั้วอย่างจีนและรัสเซีย ผ่านกลไกทางการเมืองของประเทศประชาธิปไตย
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐสภาของออสเตรเลียได้ผ่านกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันรัฐต่างประเทศแทรกแซงกิจการภายในของออสเตรเลีย โฆษกของรัฐบาลแถลงว่า กฎหมายดังกล่าวใช้เป็นการทั่วไปกับรัฐต่างประเทศทุกรัฐ แต่เป็นที่รู้กันว่า กฎหมายดังกล่าวมีขึ้นเพื่อรับมือกับกลวิธีต่างๆ ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเริ่มใช้ในการแทรกแซงการเมืองออสเตรเลียเป็นหลัก
กฎหมายฉบับนี้กำหนดว่า ล็อบบี้ยิสต์ต่างประเทศต้องขึ้นทะเบียนกับภาครัฐ และห้ามต่างประเทศให้การสนับสนุนการเดินขบวนหรือประท้วงภายในประเทศออสเตรเลีย (เคยมีข่าวว่า เครือข่ายทุนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้การสนับสนุนการประท้วงต้านผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจีนในออสเตรเลีย) นอกจากนี้ ปัจจุบันยังกำลังจัดทำร่างกฎหมายอีกฉบับ เพื่อจำกัดการบริจาคเงินให้พรรคการเมืองและนักการเมืองโดยทุนต่างชาติ
แม้กฎหมายความมั่นคงดังกล่าวจะมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความมั่นคงของออสเตรเลีย แต่ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยจากนักประชาธิปไตยหัวก้าวหน้าว่า เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจและให้ดุลยพินิจแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของออสเตรเลียมากจนเกินไป นอกจากนั้น กฎหมายนี้อาจมีผลจำกัดการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตยและขั้วมหาอำนาจตะวันตกเองด้วย เพราะบังคับใช้กับทุกประเทศเสมอกัน ตัวอย่างเช่น การเดินขบวนในออสเตรเลียเวลาผู้นำจีนมาเยือน เพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลจีน หากได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของตะวันตก ก็อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ส่วนนักธุรกิจเชื้อสายจีนที่ถูกกล่าวหาว่าต้องการซื้ออิทธิพลก็ออกมาแถลงว่า กระแสความไม่พอใจจีน รวมทั้งการออกกฎหมายดังกล่าว มาจากพื้นความคิดเหยียดเชื้อชาติ ส่วนทางกระทรวงการต่างประเทศจีนก็แถลงว่ารัฐจีนไม่มีความเกี่ยวข้องกับการบริจาคเงินเหล่านี้ แถมยืนยันว่าจีนมีนโยบายชัดเจนไม่เคยแทรกแซงการเมืองภายในของประเทศใด รวมทั้งยืนยันว่า ออสเตรเลียควรเลิกใช้ “ความกลัวแบบสมัยสงครามเย็น” โดยมองว่าจีนเป็นปีศาจหรือศัตรูแบบที่สหรัฐฯ มองรัสเซีย
ที่บอกว่ารัฐจีนไม่เกี่ยวข้อง ก็คงเป็นเรื่องจริง แต่ความซับซ้อนของเรื่องนี้อยู่ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีการทำงานที่ยืดหยุ่น ทั้งยังมีเครือข่ายกับนักธุรกิจเชื้อสายจีน จนสามารถรุกคืบสร้างอิทธิพลแบบไม่เป็นทางการในประเทศต่างๆ ได้ โดยที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน แม้ไม่ใช่องค์กรทางการของรัฐจีน แต่ก็คือผู้กุมบังเหียนรัฐจีนตัวจริงเสียงจริง จีนจึงมีทั้งการทูตผ่านกลไกปกติของกระทรวงการต่างประเทศจีน และยังมีการทูตผ่านเครือข่ายแบบไม่เป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีกด้วย
เรื่องแบบนี้ในอดีต มหาอำนาจตะวันตกก็เคยทำมาก่อนในประเทศกำลังพัฒนา เช่น การให้ทุนในวงวิชาการผ่านสถาบันแบบไม่เป็นทางการต่างๆ แต่นักวิเคราะห์มองว่า ข้อแตกต่างกับกรณีของจีนก็คือ จีนไม่ใช่ประเทศประชาธิปไตยแบบตะวันตก จึงไม่มีแนวคิดเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ นอกจากนั้น สิ่งที่ตะวันตกมักต้องการเป็นหลัก คือ การขยายอิทธิพลของอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย แต่สิ่งที่จีนต้องการเป็นหลัก คือ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการต่างประเทศ ชนิดที่คนออสเตรเลียเริ่มกังวลว่าทุนจีนจะเริ่มกินเรียบหรือไม่ และออสเตรเลียจะกลายเป็นเบี้ยล่างจีนในเกมการเมืองโลกหรือไม่?
อ่านเรื่องออสเตรเลียแล้ว หันมาคิดถึงไทย ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า มีใครเคยสำรวจบ้างไหมครับว่ามีทุนจีนหรือเครือข่ายที่สนับสนุนโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยมากน้อยเพียงใด?