ThaiPublica > เกาะกระแส > “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ชี้การใช้ชีวิตยุค Population Disruption ต้องแก่แบบสุขภาพดี เพราะบริการของรัฐ “เอาไม่อยู่”

“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ชี้การใช้ชีวิตยุค Population Disruption ต้องแก่แบบสุขภาพดี เพราะบริการของรัฐ “เอาไม่อยู่”

14 กุมภาพันธ์ 2020


เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจัดงาน Thaipublica Forum 2020 เวทีเสวนาปัญญาสาธารณะ ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “เปิดมุมมองการใช้ชีวิตยุค Population Disruption” โดยมี ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน และที่ปรึกษาสถาบันกำเนิดวิทย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมการบรรยายจาก ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร นางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (South East Asia Center) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน และ ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท Siametrics Consulting จำกัด

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ต่อจากตอนที่แล้ว

  • “อริญญา เถลิงศรี” เปิดโลกยุค Population Disruption ต้อง “เร็วและเรียนรู้ตลอดชีวิต”
  • ในยุค population disruption ที่ความเร็วมาแทนความรู้ การเปิดโอกาสให้เรียนรู้สิ่งใหม่ เรียนรู้เทคโนโลยี ตามโลกที่ใช้ความเร็วได้ทัน แต่การที่จะทำสิ่งเหล่านี้ให้ได้ต้องมีสุขภาพดี แก่ ไม่เจ็บ ป่วย ในมุมมองของ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

    ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า วันนี้จะมาคุยทั้งในเรื่องการดูแลสุขภาพ (เพียงเล็กน้อย) แต่อยากจะพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจและนโยบายเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ…

    ข้อดีสำหรับคนอายุมากคืออะไร จากการวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์ อังกฤษ และ National Bureau of Economic Business ของสหรัฐฯ บอกว่า คนที่แก่ มีความสุขดีแล้ว แต่คนที่มีความสุขน้อยที่สุด คือคนที่มีอายุ 40 ปีกว่า

    ข้อมูลจากหลายประเทศ ระบุว่าส่วนใหญ่คนเรามีความรู้สึกเครียดที่สุด ที่อายุ 30 กว่า แต่พออายุ 60 ปีแล้วรู้สึกดี พอใจในตัวเอง ทำอะไรก็ได้ รู้สึกว่าได้ทำในสิ่งที่ตัวเองทำแล้ว ไม่ต้องดิ้นรน ลูกก็โตแล้ว รู้สึกสบายๆ จึงทำให้คนแก่ช้าลง แต่ช้าลงแล้วมีความสุข

    ที่สำคัญกว่า คือมีความสุขทางใจ แต่มีภาระทางกาย ตัวเลขแสดงให้เห็นชัดเจนมากว่า เมื่ออายุมากแล้ว ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่างๆ มาพร้อมกันหมด

    “ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดที่จะเป็นทุกโรค ที่เป็นโรคไม่ติดต่อ อาทิ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมองตีบตัน โรคสมองเสื่อม เกิดขึ้นเมื่อตอนอายุมากทั้งสิ้น ที่จริงแล้วเป็นโรคความแก่” ดร.ศุภวุฒิกล่าว

    “ฉะนั้นที่บอกว่ามีความสุขทางใจ ใจต้องดูแลร่างกายให้ดีด้วย ไม่งั้นจบ ตรงกันข้าม… ผมขอถ้าถามหน่อยว่าที่เราบอกว่าเป็นห่วงสังคมสูงวัย ลองคิดดูว่าถ้าทุกคนที่สูงวัยสุขภาพดี 100% จนวันตาย เราจะมาคุยเรื่องนี้กันในวันนี้ไหม”

    ลองนึกภาพ ถ้าเราตายตอนอายุ 80 ปี แต่สุขภาพดีจนอายุ 79 ปี 11 เดือน 29 วัน วันรุ่งขึ้นตายไปเลย นั่นไม่เป็นปัญหา…

    เพราะฉะนั้นปัญหาไม่ใช่ปัญหาความแก่ แต่ปัญหาคือความเจ็บป่วยตอนแก่ มีข้อมูลที่ระบุว่าในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่สุขภาพไม่ดี ตัวเลขมันเพิ่มขึ้น ที่อังกฤษตัวเลขช่วงที่สุขภาพไม่ดีสูงมาก แต่คนเหล่านี้ยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ตาย ต้องอยู่นานถึง 20 ปี ฉะนั้นโจทย์สำคัญจึงกลายเป็นเรื่องของสุขภาพมากกว่าความแก่

    “ถ้าสุขภาพดี สมองปกติ ผมก็คงทำ new learning ได้ สามารถพยายามตามความเร็วของคนยุคใหม่ได้ แต่ถ้าไม่มีสิ่งนี้(สุขภาพที่ดี) ก็จบ” ดร.ศุภวุฒิกล่าว

    อีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้คนมีปัญหาเรื่องสุขภาพ คือ ความอ้วน ถ้าอ้วนจะเป็นทุกโรค พร้อมย้ำว่า…เป็นทุกโรคถ้าเป็นโรคอ้วน และถ้าเป็นโรคอ้วน มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอีก 10 โรค มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็ง มีความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อม มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ มากกว่าคนอื่น 2.5 เท่า และอื่นๆ อีกเยอะแยะ

    ประเทศไทยคนที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นมาอย่างน่ากลัว มีจำนวน 6 ล้านคน ที่เป็นโรคอ้วนซึ่งไม่ใช่น้ำหนักเกิน ส่วนคนที่มีน้ำหนักเกินในประเทศไทยมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของประชากร

    ดังนั้นสองปัจจัยเสี่ยงของสุขภาพที่ดี คือ แก่กับอ้วน

    ดร.ศุภวุฒิให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันสหรัฐอเมริกามีรายจ่ายที่ใช้ในการดูแลเรื่องสุขภาพ 17.5% ของ GDP และคาดว่าจะเป็น 19.6% ในปี 2024 เป็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นตลอด โดยเฉลี่ยคนอเมริกัน ปี 2010 ค่าใช้จ่ายของคนอายุมากมีจำนวน 18,424 ดอลลาร์ เมื่อคูณด้วยจำนวนคนก็จะเห็นว่ามีจำนวนเยอะมาก

    ระบบดูแลสุขภาพของอเมริกาเป็นระบบแบ่งกันจ่าย รัฐบาลจ่าย 43% บริษัทประกันของเอกชนจ่าย 33% คนอเมริกันใช้เงินตัวเองอีก 11%

    ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุปัจจุบันมีจำนวน 12 ล้าน อีก 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 21 ล้านคน

    แต่ของประเทศไทยรัฐบาลรับภาระหมดเลย

    ประเทศไทยประชากรสูงอายุมีทั้งหมด 12 ล้านคน ระบบประกันสุขภาพ 9.3 ล้านคน ดังนั้นระบบการดูแลสุขภาพของไทยที่มีอยู่ ยังไงก็เอาไม่อยู่

    “ดังนั้นถ้าจะช่วยตัวเองก็ต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี เพราะระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผมคิดว่าชื่อผิด ชื่อเดิม 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งประเด็นหลัก คือ รักษาทุกโรค ไม่ใช่ 30 บาท ระบบปัจจุบันคือ “รอรักษาโรค คุณต้องเป็นก่อนถึงจะหาหมอ”

    แต่สิ่งที่เราอยากทำ คือ ดูแลสุขภาพตัวเองให้ไกลหมอ ให้ไกลโรงพยาบาล ให้ไปโรงพยาบาลปีละครั้ง เพื่อไปตรวจสุขภาพ แล้วเราจะได้คุณภาพชีวิตที่ดี แล้วจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เรียนรู้เร็วขึ้น

    ตรงกันข้ามถ้าต้องไปนั่งรอหมอที่โรงพยาบาล ถ้าใช้ระบบของรัฐ ไม่มีเวลาทำอะไร เพราะจากการสอบถาม…ถ้าคนไข้ใช้ระบบของรัฐในการรักษา ไปหาหมอ 7 โมงเช้า ได้เจอหมอตอนเที่ยง ไม่มีเวลาทำอย่างอื่น… ถ้าสุขภาพไม่ดี

    ปัจจุบันระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า รัฐบาลเพิ่งได้อนุมัติงบประมาณ 191,000 ล้านบาท จัดงบให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อดูแลสุขภาพ 4,000 ล้านบาท มันเป็นการจัดทรัพยากรผิดขา…

    ผมยืนยันว่ามันน่าจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คาดการณ์ได้ ว่าคนที่เป็นโรคที่ไม่ติดต่อในประเทศไทย เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ มีแต่จะเพิ่มขึ้น เพราะเป็นระบบ reactive ประชาชนแก่ตัวมากขึ้น คนอ้วนเพิ่มขึ้น ยังไงคาดการณ์นี้ ก็ไม่ผิด ง่ายกว่าคาดการณ์ GDP ปีนี้…(หัวเราะ)

    ถ้าดูตัวเลข ประเทศไทยมีคนอายุมาก 12 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน ใน 20 ปีข้างหน้า ส่วนคนอ้วนปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 6 ล้านคน รวมกันแล้วเป็นฐานของคนที่ต้องดูแล

    หากคำนวณค่าใช้จ่าย โดยกำหนดให้ครึ่งหนึ่งหรือ 16 ล้านคนของคนแก่ทั้งหมด เป็นคนแก่ที่ต้องดูแลอย่างมาก และถ้าให้ต้นทุนในการดูแลแค่ 1 ใน 3 ของสหรัฐฯ จะประมาณ 2.99 ล้านล้านบาท และในอีก 20 ปีข้างหน้า เงินจำนวน 2.99 ล้านล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 50% ของงบประมาณ ซึ่งรัฐบาลไม่มีทางมีเงินเพียงพอ อาจจะมีให้เงินได้เพียงครึ่งเดียวประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท

    ดังนั้นทุกคนต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี แล้วจะได้ไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆเพิ่มขึ้น

    ประเด็นสุดท้าย การระบาดของโรคไวรัสโรนา จากสถิติคนที่เสียชีวิต ส่วนใหญ่คือคนอายุ 65-80 ปี คนแก่ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ เสื่อมไปแล้ว แต่มีกรณีแปลกมีรายหนึ่งเป็นผู้ชายเสียชีวิตในอายุ 36 ปี และก่อนหน้านี้มีผู้หญิงอายุน้อยสุดที่เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนา คือ 48 ปี เพราะเป็นโรคเบาหวาน เป็นโรคหัวใจ

    ฉะนั้นถ้าคุณเป็นโรคหัวใจ โรคความดัน โรคเบาหวาน เป็นปัจจัยที่ทำเสียชีวิตง่ายถ้าเป็นโรคโคโรนาไวรัส

    พร้อมกล่าวต่อว่า…แค่โรคไม่ติดต่อต่างๆที่เป็น มันยังรุมเร้าเลย ดังนั้นต้องดูแลสุขภาพตัวเอง เพื่อเป็นคนแก่ที่มีสุขภาพดี