ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 23-29 มิ.ย. 2561 : “ทีมฟุตบอลเด็ก-โค้ช หายไปในถ้ำเจ็ดวันยังไม่เจอ” และ “เฟซบุ๊ก เปิดให้ดูได้ว่าเพจต่างๆ กำลังซื้อโฆษณาอะไร”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 23-29 มิ.ย. 2561 : “ทีมฟุตบอลเด็ก-โค้ช หายไปในถ้ำเจ็ดวันยังไม่เจอ” และ “เฟซบุ๊ก เปิดให้ดูได้ว่าเพจต่างๆ กำลังซื้อโฆษณาอะไร”

30 มิถุนายน 2018


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 23-29 มิ.ย. 2561

  • ทีมฟุตบอลเด็ก-โค้ช หายไปในถ้ำเจ็ดวันยังไม่เจอ
  • มีปัญหาบ่อย กทม. จ่อปรับ “บีทีเอส” 1.8 ล้าน
  • อดีตปลัด พม. กินยาฆ่าตัวตาย
  • กกต. ชงสอบ “คลิปทักษิณ” เข้าข่าย “ผิด-ยุบพรรค” หรือไม่
  • เฟซบุ๊ก เปิดให้ดูได้ว่าเพจต่างๆ กำลังซื้อโฆษณาอะไร
  • ทีมฟุตบอลเด็ก-โค้ช หายไปในถ้ำเจ็ดวันยังไม่เจอ

    ที่มาภาพ : เว็บไซต์อมรินทร์ทีวี (http://www.amarintv.com/news-update/news-10157/218304/)

    23 มิ.ย. 2561 : นักฟุตบอลเด็กทีมหมูป่าอะคาเดมี แม่สาย อายุตั้งแต่ 11-16 ปี จำนวน 12 สิบคน และโค้ช 1 คน อายุ 25 ปี รวม 13 คน หายเข้าไปถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย โดยเจ้าหน้าที่วนอุทยานพบเพียงจักรยาน 11 คันจอดอยู่บริเวณทางเข้าถ้ำ

    24 มิ.ย. 2561 : ทีมกู้ภัยของมูลนิธิสยามรวมใจและทีมกู้ชีพสมาคมสิริกร เชียงราย เข้าไปสำรวจถ้ำตั้งแต่ช่วงเวลา 01.00 น. พบรองเท้าแตะและสิ่งของจำนวนหนึ่งบนพื้นถ้ำ การค้นหาพบอุปสรรคจากน้ำในถ้ำที่ขึ้นสูงตลอดเวลา ส่วนที่กั้นระหว่างทีมกู้ภัยกับโครงถ้ำที่เชื่อว่าทั้ง 13 คนจะอยู่นั้นลึกถึง 5 เมตร มีการประสานงานขอความช่วยเหลือจากหน่วยซีล นักประดาน้ำที่ทำการค้นหาพบรอยนิ้วมือเกาะตามโพรงถ้ำ

    25 มิ.ย. 2561 : ทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน และหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำแม่โขง (นรข.) เข้าค้นหาภายในถ้ำ และเมื่อหน่วยซีลมาถึงก็แบ่งกำลังเก็บข้อมูลและค้นหา ทีมค้นหาสามารถไปถึงห้องโถงใหญ่ที่ห่างจากปากถ้ำเข้า 7 กิโลเมตร และเป็นที่ที่คาดว่าโค้ชและเด็กๆ จะอยู่ แต่ก็พบเพียงร่องรอยของผู้สูญหาย มีการพบปล่องทางเข้าถ้ำ 2 จุดที่เหนือถ้ำด้านนอก ในขณะที่ภายในถ้ำ หน่วยซีลพบรอยเท้าและสายผูกเปล แต่ที่สุดก็ต้องพักการค้นหาเพราะน้ำในถ้ำเพิ่มสูงคนจนถึงระดับอันตราย

    26 มิ.ย. 2561 : ทางทีมซีลต้องการให้ช่วยลดระดับน้ำให้ไม่ถึงเพดานถ้ำเพื่อสามารถเข้าไปช่วยเหลือ ขณะที่กองทัพบกนำทหารจำนวน 200 นาย เดินเท้าสำรวจขึ้นไปบริเวณสันเขาเหนือถ้ำ เพื่อหาตาน้ำและปิดทางน้ำไหลเข้าถ้ำ เจ้าหน้าที่หน่วยซีลได้เสริมกำลังอีก 24 นาย และยังคงค้นหาต่อไป

    27 มิ.ย. 2561 : ฝนตกหนักต่อเนื่อง เครื่องสูบน้ำกำลังไม่พอ เจ้าหน้าที่ต้องถอยจากโถง 3 มาอยู่โถง 2 ตำรวจพลร่มและทีมกู้ภัยที่สูงแบ่งกำลังสำรวจโพรงด้านนอก 3 โพรงที่คาดว่าจะโรยตัวได้ พบว่าปล่องถ้ำบริเวณดอยผาหมีนั้นตัน โรยตัวไม่ได้ แต่ยังสำรวจหาโพรงและปล่องอื่นต่อ ทีมกู้ภัยจำนวน 3 คน จากองค์กร Derbyshire Cave Rescue Organisation ซึ่งเป็นชมรมนักประดำน้ำอาสาช่วยเหลือผู้ที่ติดถ้ำในอังกฤษ เดินทางมาถึงบริเวณถ้ำหลวง

    28 มิ.ย. 2561 : ฝนตกหนักจนน้ำเอ่อออกมานอกถ้ำ กองกำลังสหรัฐอเมริกาภาคพื้นแปซิฟิก (USPACOM) ได้ส่งทีมค้นหาและกู้ภัยเพื่อช่วยตามหาผู้สูญหาย ตามคำขอของรัฐบาลไทย ทีมจาก ปตท.สผ. นำโดรนสนับสนุนการทำแผนที่ 3 มิติ และหุ่นยนต์เข้าช่วยเพิ่มเติม และเริ่มมีการเจาะผนังถ้ำเพื่อช่วยระบายน้ำ

    29 มิ.ย. 2561 : พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้นำเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 327, กองร้อยกู้ชีพ (ค่ายนเรศวร), ตำรวจสื่อสาร และผู้ที่เกี่ยวข้อง เดินเท้าสำรวจโพรงถ้ำจำนวน 3 โพรง ใกล้ดอยผาหมี เพื่อหาเส้นทางเชื่อมต่อสู่ภายในถ้ำ ทีมกู้ภัยจากสหรัฐฯ เข้าร่วมวางแผนการทำงานกับหน่วยงานของไทย

    อ่านโดยละเอียดได้ที่ เว็บไซต์บีบีซีไทย

    มีปัญหาบ่อย กทม. จ่อปรับ “บีทีเอส” 1.8 ล้าน

    ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก THE STANDARD (http://bit.ly/2KAwCg5)

    วันที่ 28 มิ.ย. 2561 เว็บไซต์ THE STANDARD รายงานว่า หลังจากที่รถไฟฟ้าบีทีเอสเกิดเหตุขัดข้องบ่อยครั้ง [เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่า ตลอดเกือบ 6 เดือนที่ผ่านมา (1 ม.ค. ถึง 25 มิ.ย. 2561) นั้นมีเหตุขัดข้องถึง 28 ครั้ง และบางวันขัดข้องมากกว่า 1 ครั้ง ขณะที่เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า เฉพาะในวันที่ 26 มิ.ย. 2561 เพียงวันเดียว มีเหตุขัดข้องถึง 6 ครั้ง และเว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า เฉพาะเดือน มิ.ย. 2561 นั้นมีเหตุขัดข้องรวม 15 ครั้ง] โดยแจ้งผู้โดยสารว่าเกิดจากระบบอาณัติสัญญาณในการควบคุมขบวนรถไฟฟ้าขัดข้องจากการถูกคลื่นภายนอกรบกวน ทำให้การเดินรถไม่เสถียร ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบ จนเกิดเสียงเรียกร้องและแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ ของโซเชียลมีเดียจำนวนมากให้มีการยกเลิกสัมปทานบีทีเอส และให้บีทีเอสแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น

    ล่าสุด นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงการหารือกับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ได้ข้อสรุปว่า กทม. จะมีการพิจารณาเปรียบเทียบปรับค่าจ้างเดินรถบีทีเอส เป็นจำนวนเงิน 1,800,000 บาท จากปัญหาความขัดข้องที่เกิดขึ้นในเดือน มิ.ย. 2561 นี้ คิดเป็นอัตรา 0.6% จากสัญญาเดินรถจำนวน 300 ล้านบาท และมาจากการที่บีทีเอสไม่สามารถเดินรถได้ตามตัวชี้วัด (KPI) ด้านการตรงต่อเวลาที่ 97.5% แต่ต้องดูว่าการหยุดเดินรถในเดือนนี้จะมีผล KPI เท่าไร

    ส่วนจะมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานหรือไม่นั้น ในสัญญาไม่ได้เปิดช่องสำหรับแก้ไขไว้ คงไปแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะได้เซ็นสัญญาไปแล้ว ขณะที่สัญญาจ้างเดินรถที่เซ็นไปเมื่อปี 2555 ก็ทำอะไรไม่ได้เช่นกัน เพราะได้เซ็นไปตั้งแต่สมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม. นายกรัฐมนตรีสั่ง กสทช. เร่งจัดการระบบอาณัติสัญญาณรถไฟฟ้า BTS ย้ำ เป็นห่วงความเดือดร้อนของประชาชน

    ด้าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงปัญหาระบบรถไฟฟ้า BTS ขัดข้องภายหลังการประชุม ครม. วานนี้ว่า ได้ทราบข่าวตั้งแต่อยู่ต่างประเทศ ซึ่งมีปัญหามาโดยตลอด เพราะใช้งานมานานแล้ว แต่เรื่องของระบบอาณัติสัญญาณนั้น ได้ให้ กสทช. เข้ามาแก้ปัญหา โดยอาจจะต้องปรับคลื่นความถี่ที่ควบคุมระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งปัจจุบันใช้คลื่น 2300 MHz ที่ทาง กสทช. ได้ให้เช่าช่วงให้บริการสัญญาณไวไฟกับกิจการอื่น ยืนยันว่ากำลังดำเนินการแก้ไขเรื่องเหล่านี้อยู่ และย้ำว่าเข้าใจปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

    อดีตปลัด พม. กินยาฆ่าตัวตาย

    ที่มาภาพ : เว็บไซต์มติชนออนไลน์ (https://www.matichon.co.th/?p=738697)

    วันที่ 29 มิ.ย. 2561 เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่า นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กินยาฆ่าตัวตายพร้อมหญิงสาวคนสนิทที่บ้านพัก โดยนายพุฒิพัฒน์นั้นเสียชีวิต แต่หญิงสาวคนสนิทอาการสาหัส ซึ่ง นพ.ณรงค์ ตั้งตรงไพโรจน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ได้ตรวจสอบกับทางโรงพยาบาลจังหวัดปทุมธานีแล้วพบว่านายพุฒิพัฒน์เสียชีวิตจริงจากการกินยาเกินขนาด แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นยาชนิดใด

    ต่อมา เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่า หญิงสาวคนสนิทของนาพุฒิพัฒน์นั้นรู้สึกตัวแล้ว สามารถตอบสนองได้มากขึ้น แต่ยังพูดไม่ได้ และพยาบาลต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ หญิงสาวคนดังกล่าวมีอาการเสียใจที่ไม่ได้เสียชีวิตไปพร้อมกันกับนายพุฒิพัฒน์

    ทั้งนี้ นายพุฒิพัฒน์ถูกให้ออกจากราชการ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2561 หลังจากที่เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2561 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ายนายพุฒิพัฒน์ และข้าราชการอีกจำนวนหนึ่ง ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี เพราะได้รับแจ้งจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินว่า พบความผิดปกติในการเบิกจ่ายงบประมาณเงินอุดหนุน กรณีเงินสงเคราะห์คนยากจนไร้ที่พึ่ง (ทุจริตเงินคนจน) และตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว และอยู่ระหว่างรอผลการสอบสวนทางวินัย

    ขณะที่เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2561 คณะกรรมการธุรกรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. มีมติให้อายัดทรัพย์สินนายพุฒิพัฒน์และคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตครั้งนี้ รวม 88 ล้านบาท และวันที่ 13 มิ.ย. 2561 ปปง. ยังได้ยื่นหนังสือกล่าวโทษนายพุฒิพัฒน์กับพวกต่อกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ปปป. ให้ดำเนินคดีอาญาข้อหาร่วมกันฟอกเงิน เพราะมีการโยกย้ายเงินจากการทุจริตไปแปลงเป็นทรัพย์สินอื่นๆ เช่น รถยนต์หรู ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ หลายรายการ

    หลังจากอดีตปลัด พม. เสียชีวิต คดีอาญาถือว่าจบลง ส่วนการดำเนินการอายัดทรัพย์สินนั้น ปปง.จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

    กกต. ชงสอบ “คลิปทักษิณ” เข้าข่าย “ผิด-ยุบพรรค” หรือไม่

    ที่มาภาพ : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/805691)

    วันที่ 24 มิ.ย. 2561 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า พ.ต.อ. จรุงวิทย์  ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าว กรณีมีคลิปวีดีโอ นายทักษิณ ชินวัตร ระบุ พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งในอีสานในการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างแน่นอนว่า  ได้มอบหมายให้นายแสวง  บุญมี รองเลขาธิการ (กกต.) ซึ่งรับผิดชอบงานด้านพรรคการเมืองตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า กรณีดังกล่าวเข้าข่ายมาตรา 28  มาตรา 29 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่กำหนดห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือมิให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการควบคุม ครอบงำ ชี้นำกิจกรรมของพรรค ในลักษณะที่ทำให้พรรคหรือสมาชิกขาดความอิสระไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม แล้ว

    เนื่องจากตามกฎหมายใหม่ ให้เป็นเรื่องความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ก็สามารถดำเนินการตรวจสอบได้เลยโดยไม่ต้องรอให้มีผู้ร้องเรียน ซึ่งกรณีดังกล่าวมีการนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ในฐานะนายทะเบียนฯ จึงต้องเข้ามาดูแล หากตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นพบว่าเข้าข่ายมีมูล ก็จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวน ต่อไป

    อย่างไรก็ตาม นายทะเบียนพรรคการเมืองยอมรับว่า บทโทษของความผิดของการกระทำตามมาตรา 28 และ 29 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ก็คือการเสนอศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค ตามมาตรา 92 และมาตรา 93 ของกฎหมายเดียวกัน แต่ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นของการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งทางสำนักงาน กกต. ก็จะเร่งดำเนินการ จึงยังไม่อยากให้ตีความกันไปไกลถึงขนาดนั้น

    เฟซบุ๊ก เปิดให้ดูได้ว่าเพจต่างๆ กำลังซื้อโฆษณาอะไร

    วันที่ 29 มิ.ย. 2561 เว็บไซต์บล็อกนันรายงานว่า เฟซบุ๊กประกาศเพิ่มความโปร่งใสในการซื้อโฆษณาของเพจต่างๆ ให้มากขึ้น โดยผู้ใช้งานทุกคนสามารถเข้าไปดูข้อมูลการโฆษณาจากเพจต่างๆ ได้ เพื่อช่วยกันตรวจสอบและทำให้เพจมีความรับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งข้อมูลที่จะแสดงขึ้นมานั้นมี 2 อย่าง ได้แก่

    • แสดงโฆษณาที่ Active อยู่ ที่เพจนั้น ๆ ซื้อไว้อยู่ ซึ่งแสดงทั้งโฆษณาบนเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, เมสเซนเจอร์ และเครือข่ายพาร์ทเนอร์ โดยจะแสดงทุกโฆษณา ถึงแม้โฆษณานั้นจะไม่ได้มีเราเป็นเป้าหมายก็ตาม
    • ข้อมูลของเพจเพิ่มเติม แสดงข้อมูลเพจที่สำคัญ อาทิ เพจมีการเปลี่ยนชื่อเมื่อใด, เพจมีการสร้างเมื่อใด ซึ่งสามารถเข้าดูได้ทุกเพจ แม้เพจนั้นจะไม่ซื้อโฆษณาอยู่ก็ตาม

    ผู้ใช้สามารถเข้าไปดูข้อมูลเหล่านี้ได้ โดยเข้าไปในหน้าเพจนั้น ๆ และเลือก Info and Ads ที่ด้านมุมบนขวา และหากเห็นโฆษณาที่ไม่เหมาะสม ยังสามารถกดรายงานได้ด้วย

    การเพิ่มความโปร่งใสของการลงโฆษณานี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานใหญ่เฟซบุ๊กจากปัญหาข่าวปลอมและการซื้อโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในช่วงที่ผ่านมา