ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ยันตัวเลขผู้ติดเชื้อเท่าเดิม-เล็งเพิ่ม “โควิด-19” ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ – มติ ครม.จัดงบฯ 3,120 ล้าน เยียวยาน้ำท่วม – ภัยแล้ง

นายกฯ ยันตัวเลขผู้ติดเชื้อเท่าเดิม-เล็งเพิ่ม “โควิด-19” ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ – มติ ครม.จัดงบฯ 3,120 ล้าน เยียวยาน้ำท่วม – ภัยแล้ง

24 กุมภาพันธ์ 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายกฯ ยันตัวเลขผู้ติดเชื้อเท่าเดิม เล็งเพิ่ม “โควิด-19” ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ – มติ ครม.จัดงบฯ 3,120 ล้าน เยียวยาน้ำท่วม – ภัยแล้ง พร้อมรับทราบกรมศุลฯยึดหน้ากากอนามัย ส่งออกเกินโควตาแสนชิ้น เตรียมจัดสรรใช้ในปท.

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน โดยในสัปดาห์นี้การประชุม ครม. ถูกเลื่อนมาเป็นวันจันทร์เนื่องจากมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะต้องเข้าอภิปรายชี้แจงในศึกซักฟอกครั้งนี้

สั่งเก็บข้อมูล “ช่อ” ทุกเม็ด ขู่ดำเนินคดีตามกม.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่นางสาวพรรณิการ์ วานิช อดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ กล่าวหารัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องคดีทุจริต 1MDB ว่า เรื่องการกล่าวหาว่ารัฐบาลมีส่วนร่วมในคดีทุจริตนั้นตนเห็นว่าต้องระมัดระวัง เพราะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย และการที่เอาเรื่องต่างๆ มาเชื่อมโยงกันไปมาในลักษณะจับแพะชนแกะ ซึ่งข้อเท็จจริงตนคิดว่าหน่วยงานต่างมีข้อมูลอยู่แล้ว เพียงแต่จะยังไม่โต้ตอบในตอนนี้ แต่กำลังทำการเก็บข้อมูลทุกประเด็นไปสู่การดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย

“เพราะหลายเรื่องหลายคนถูกกล่าวอ้างไปตรงนั้น และเรื่องเหล่านี้มีคำชี้แจงหมด ผมก็ได้รับคำชี้แจงมาแล้ว ผมคิดว่าเก็บไว้เป็นประโยชน์ในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมดีกว่า และข้อสำคัญก็คือ ไม่ว่าใครจะพูดอะไรนอกสภา ที่ไหนก็ตาม มีกฎหมายอยู่หลายฉบับด้วยกัน การคุ้มครองเอกสิทธิ์ (ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ก็ไม่มี การชุมนุมมีหลายอย่างด้วยกันขอให้ระมัดระวัง ผมเป็นห่วงพี่น้องประชาชนที่อาจจะรู้เท่าไม่ถึงการที่ไปร่วมกับเขา รวมถึงนิสิตนักศึกษาหลายท่าน บางทีไปก็อันตรายต่ออนาคตของตนเอง เพราะกฎหมายก็คือกฎหมาย กฎหมายที่ใช้อยู่ทั้งหมดคือกฎหมายของไทย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า การเอาใครก็แล้วแต่มาร่วมในการพิจารณาต้องดูตามความเหมาะสมควรหรือไม่ควรอย่างไร ตนไม่อยากให้ต่างชาติมาว่าร้ายประเทศไทยด้วยข้อมูลที่บิดเบือนออกไป เพราะไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ตนเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอิสระเสรี ฉะนั้นไม่ควรให้ใครมาเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาของเรา สำหรับเรื่องกติกาและพันธสัญญาต่างๆ ของโลกไทยได้ปฏิบัติตามทุกอย่างอยู่แล้ว ขอให้ดูว่าไทยได้รับการยอมรับจากต่างชาติอย่างไร มีสถิติอย่างไร และได้รับความเชื่อมั่นจากต่างชาติอย่างไรซึ่งในหลายๆ อย่างก็ดีขึ้นมาตามลำดับ

“ถ้าประเทศไทยจะมีปัญหาผมก็คิดว่ามาจากเราเองเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็ขอร้องทุกคนก็แล้วกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ชี้เป็นคนอารมณ์ดี ไม่จำเป็นต้องปรับลุกส์

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการปรับภาพลักษณ์ของนายกฯ โดยเฉพาะในช่วงการรับมือศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า ตนคิดว่าไม่จำเป็น เพราะภาพลักษณ์ของตนปกติก็เป็นเช่นนี้อยู่แล้ว เป็นคนสนุกสนานรื่นเริง อารมณ์ดี สามารถสอบถามจากลูกน้องของตนได้เลยว่าตนเป็นคนหงุดหงิดหรือโมโหร้ายหรือไม่ ตนไม่ใช่คนแบบนั้นอยู่แล้ว

“ทุกเรื่องผมมีเหตุผลของผมในการทำงานทั้งสิ้น ไม่อย่างนั้นผมคงเป็นผู้บัญชาการทหารบกไม่ได้ ตั้งแต่เด็กๆ คงโตมาไม่ได้ถ้าผมเป็นคนอารมณ์ร้าย เป็นคนหยาบคาย เป็นคนไร้สติ ก็คงไม่ใช่ ก็ต้องแยกแยะให้ผมหน่อย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ไม่หวั่นศึกซักฟอก ตอบได้ทุกประเด็น

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลบาลในวันนี้ ว่า ตนถือว่าเป็นโอกาสอันดีสำหรับกลไกของประชาธิปไตยที่จะตรวจสอบในสภา ซึ่งตนก็ยินดีที่จะไปชี้แจงในวันนี้ ด้วยความรู้สึกที่ดี และขอให้ทุกคนใช้สิ่งที่เป็นประโยชน์ในการอภิปรายในสภา เมื่อถามมาก็ต้องตอบไป

“ก็ขอให้กรุณาฟังที่รัฐบาลตอบด้วย ซึ่งผมก็จะเป็นคนตอบในส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ถูกพาดพิงจะเป็นผู้ชี้แจงเพิ่มเติมในรายละเอียด จริงๆ แล้วนายกฯ มีข้อมูลเยอะมากในทุกๆ เรื่อง มีข้อมูลทั้งหมด ดังนั้นในการปฏิบัติหน่วยงานต่างๆ ก็มีแนวทางในการปฏิบัติตามกฎหมายทุกตัว” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สั่งผู้ว่าฯเช็คทุกด่าน-จ่อเอาผิดรับจ้างพาผู้ป่วยจีนเข้าไทย

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามเดลินิวส์กรณีที่มีคนไทยรับจ้างจากคนจีนที่มีอาการป่วยให้ลักลอบผ่านพรมแดนธรรมชาติ เข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลในจังหวัดชายแดนของไทย ซึ่งขณะนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ว่า เรื่องดังกล่าวตนได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการตรวจสอบแล้ว หากพบว่าผู้ใดมีส่วนเกี่ยวข้องก็จะดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย ยืนยันว่ารัฐบาลไทยมีการคัดกรองตรวจสอบที่เข้มข้นดังที่เคยย้ำไปแล้วทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ อีกทั้งตนได้รับรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข ที่มีการตรวจผ่านโรงพยาบาลในพื้นที่มา ก็ยังไม่พบการติดเชื้อ

ยันตัวเลขผู้ติดเชื้อเท่าเดิม-เตรียมเพิ่ม “โควิด-19” ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

สำหรับกรณีรายงานข่าวการพบผู้ติดเชื้อในประเทศเกาหลีใต้เพิ่มอย่างก้าวกระโดดนั้น สำหรับประเทศไทยเองวันนี้มีมาตรการรองรับในระยะที่ 3 ซึ่งคำว่า “ก้าวกระโดด” ระยะแรกมีมาตรการในการรับมืออย่างไร คัดกรองอย่างไร สอง คือการมีผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้ามาจากประเทศต้นทางประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิด ขณะนี้ไทยอยู่ในขั้นการทำเดินงานระยะที่ 1-2 อยู่ สาม คือ มาตรการในการรองรับกรณีที่มีการแพร่ระบาดในประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้มีการประชุมในเรื่องนี้แล้วว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง

“เดี๋ยววันนี้ก็จะมีการประชุมที่กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติม ว่าจะทำอย่างไร นำเอาพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาดูว่าครอบคลุมหรือยัง เพราะในกฎหมายดังกล่าวมีการครอบคลุมโรคอยู่ 13 ชนิดเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรไม่ได้จะทำให้ทุกคนตื่นตระหนก เพียงแต่นำมาดูว่าควรจะมีการปรับกฎหมายเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ทำงานสะดวกขึ้นหรือไม่ ในการดูแลเพื่อมัดระวังผลการแพร่ระบาดในประเทศ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อกรณีกระแสข่าวว่ารัฐบาลบิดเบือนจำนวนผู้ติดเชื้อ พล.อ. ประยุทธ์ ยืนยันว่า จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงมีเท่าเดิม แต่จำนวนคนที่อยู่ในข่ายเฝ้าติดตามมีอยู่ประมาณ 1,000 คน

“อย่าเพิ่งตื่นตระหนกแล้วกัน เมื่อถึงในระดับนั้นแล้วรัฐบาลก็มีมาตรการเข้มงวดที่จะต้องดำเนินการต่อไป เพราะวันนี้หากพูดอะไรไปมากๆ ก็มีผลเสียต่อเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งเราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพอยู่แล้ว เมื่อถึงคราวจำเป็นก็จะมีมาตรการสำหรับรองรับสถานการณ์ออกมาเป็นลำดับ ก็ขอให้ทุกคนป้องกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ ชี้แจงต่อไปว่า คำว่า “ยกระดับ” คือ กฎหมายยังมีไม่ครบ ฉะนั้นจึงต้องหารือว่า จะต้องนำกฎหมายเข้าสู่กระบวนการพิจารณาหรือไม่ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ จะต้องเตรียมมาตรการให้เจ้าหน้าที่ได้ทำงานง่ายยิ่งขึ้น ในเรื่องของการผลิตและทดลองยาต่างๆ ไม่ได้หมายความว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

“อย่าบิดเบือนแล้วกัน หลายๆ เรื่องผมไม่เข้าใจแต่ก็ทราบในความหวังดี ผมไม่ได้ว่าหรอก ท่านจะคิดอะไรก็ได้แต่ก็กรุณาฟังและหาข้อมูล ข้อเท็จจริง หลักฐานและเหตุผลมาเสริมด้วย จะคิดเองเออเองบางทีก็ไม่ได้ ทำงานลำบาก เพราะเราทำงานกับคนหมู่มากตั้ง 68 ล้านคน ก็ต้องคำนึงถึงคนทั้งหมดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบซึ่งกันและกัน ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะติดโรค รัฐบาลก็มีมาตรการในการป้องกัน คัดกรอง ดูแลสำหรับผู้ต้องสงสัยที่จะติดเชื้อ แต่ผมคิดว่าขณะนี้เราก็ได้รับคำชื่นชมจากต่างประเทศพอสมควรในการควบคุมและดำเนินมาตรการต่างๆ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังคงยืนยันว่า รัฐบาลมีมาตรการรองรับสถานการณ์ของโรคระบาดในอนาคต ซึ่งเดิมมีอยู่แล้ว 13 โรค เช่น โรคซาร์ส โรคเมอร์ส สำหรับโควิด-19 นั้นเป็นโรคที่เกิดใหม่

เมื่อถามถึงผลกระทบกับผลไม้ไทยโดยเฉพาะทุเรียนที่ส่งไปประเทศจีนไม่ได้ จะมีมาตรการรองรับอย่างไร พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เขาไม่ให้เอาเข้าแล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องเจรจาหารือกันต่อไปว่าจะทำอย่างไร มีมาตรการอย่างไรก็ต้องหารือร่วมกัน และต้องตรวจสอบว่าจะทำอย่างไรต่อไป ล็อตแรกหากเสียหายจะทำอย่างไร และล็อตสองทำอย่างไรจะให้ส่งได้ มันต้องใช้หลักการทางการแพทย์ด้วย ทุกอย่างต้องเจรจาเพราะมีหลายประเทศเกี่ยวข้องด้วยกัน

“รัฐบาลทราบปัญหาดีแต่รัฐบาลก็ต้องหามาตรการในการแก้ไขและเยียวยา ทุกเรื่องได้รับผลกระทบหมด หลังได้รับการโปรดเกล้าพระราชบัญญัติงบประมาณปี 63 แล้วอะไรๆ ทุกอย่างก็คงดีขึ้น เพราะรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนจำนวนมาก หลังจากการอภิปรายแล้วก็คงจะมีการหารือ ซึ่งผมก็ได้ให้รวบรวมทุกกระทรวงมาเพื่อกำหนดมาตรการให้ตรงกับประชาชนในแต่ละกลุ่ม ซึ่งต้องใช้เงินมากพอสมควร รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจระดับฐานราก แต่ก็จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายรับรองการใช้จ่ายงบประมาณ และต้องให้งบประมาณเหล่านั้นถึงมือประชาชนโดยตรงให้มากที่สุด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

นายกฯสั่ง รมต.ตอบอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ – วอนสื่ออย่าบิดเบือน

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงเริ่มประชุมของ ครม. พล.อ. ประยุทธ์ ได้มีข้อสั่งการเกี่ยวกับการประชุมสภา โดยฝากรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจว่าขอเน้นการตอบคำถามลักษณะที่สร้างสรรค์ กระชับ และจะต้องไม่มีการตอบโต้ให้ร้ายกันไปมา เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มเติมในสังคม รวมทั้งมองว่าเป็นโอกาสที่ดีของรัฐบาลที่ได้รับการตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงที่มาที่ไปให้พี่น้องประชาชนรับทราบ

“ท่านนายกรัฐมนตรีเห็นว่าการอภิปรายจะเป็นประโยชน์และจะได้ชี้แจงและนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ในการบริหารและขับเคลื่อนงานของรัฐบาล และขอให้ผู้อภิปรายได้นำเสนอข้อเท็จจริงมาอภิปราย ไม่นำข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูล หรือเป็นการโยงใยที่ไม่มีมูลฐานความจริง ข้อมูลเท็จ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน รวมทั้งขอให้สื่อได้รายงานข่าวตามข้อเท็จจริง และสื่อสังคมออนไลน์อย่านำข้อมูลคำอภิปรายไปบิดเบือน หรือตัดต่อเฉพาะบางคำพูด จนเกิดกลายเป็นข้อมูลเท็จ และนำไปสู่การดำเนินคดี หากเกิดความเสยหาย” ศ. ดร.นฤมล กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลจะนำข้อมูลและข้อเท็จจริง ที่ได้นำเสนอ อธิบาย ต่อสภาผู้เทนราษฎร หรือข้อมูลที่ยังนำเสนอได้ไม่ครบต่อสภาฯ ด้วยข้อจำกัดของเวลา ออกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์รัฐบาลไทย www.thaigov.go.th และเว็บไซต์ของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งสื่อมวลชนและประชาชนสามารถไปติตตามรับทราบได้อย่างครบถ้วนด้วย

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงการประชุม สสว. (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) เกี่ยวกับมาตรการดูแลธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง รวมไปถึงสั่งการเกี่ยวกับเรื่องโรคระบาดไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ว่ารัฐบาลได้รับคำชมเชยในหลายประเทศเกี่ยวกับการดูแลการระบาด โดยปัจจุบันหลายหน่วยงานได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ เช่น กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินมาตรการฆ่าเชื้อทำความสะอาดในทุกจุดของการขนส่งสาธารณะ ท่านนายกยังได้สั่งการให้ดูแลตามมาตรการต่างๆ ที่กำหนดเอาไว้อย่างเต็มที่

ขณะเดียวกัน ก็พยายามจะวางแผนรองรับล่วงหน้าเพื่อให้เป็นการบริหารความเสี่ยงที่ดี เนื่องจากตอนนี้เป็นระยะที่สองคือติดเชื้อจากที่ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศมาสู่คนไทย แต่ถ้าจะไปสู่ระยะที่สามคือติดเชื้อในประเทศด้วยกัน ซึ่งยังไม่ถึง ณ ขณะนี้ แต่ได้ประชุมเตรียมพร้อมว่าต้องเตรียมการรองรับเผื่อไว้ เป็นการบริหารความเสี่ยงที่ดี ให้มีสถานที่ อุปกรณ์บุคลากรพร้อมรับมือ และคณะกรรมการควบคุมโรคจะพิจารณาในบ่ายวันนี้ และจะแถลงผลว่าจะเพิ่มโรคนี้เข้าไปตามกฎหมายโรคติดต่อหรือไม่ และทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อประชาชนในประเทศ

อนุมัติโครงการปล่อยกู้เกษตรกร สร้างระบบน้ำในไร่นา 508 ล้าน

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก กล่าวว่า ครม. อนุมัติโครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสมาชิกสถาบันเกษตรกร ระยะที่ 2 วงเงิน 508.2 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสมาชิกสถาบันเกษตรกร มีวัตถุประสงค์เพื่อ

    1) จัดสรรเงินทุนให้สมาชิกกู้ยืม นำไปพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรของตนโดยไม่คิดดอกเบี้ย

    2) ส่งเสริมการจัดระบบพื้นที่เกษตรให้มีแหล่งน้ำเป็นของตนเองลดการพึ่งพาน้ำจากธรรมชาติและระบบชลประทาน

    3) สนับสนุนให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพได้ต่อเนื่องทั้งในและนอกฤดูกาล ปลูกพืชหลากหลายชนิด เลี้ยงสัตว์และประมง เป็นระบบเกษตรแบบผสมผสานตามทฤษฎีใหม่

ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการโครงการระยะที่ 1 (ปี 2559-2564) ไปแล้ว วงเงิน 302.9 ล้านบาท โดยมีสมาชิกสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 28,000 ราย แต่สามารถจัดสรรเงินให้กู้ยืมได้เพียง 6,014 ราย ซึ่งเกษตรกรที่เขาร่วมโครงการสามารถประกอบชีพเกษตรกรรมได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทำให้มีรายได้เพียงพอสามารถชำระหนี้ได้ตามเป้าหมายในเวลาที่กำหนด

ส่วนโครงการระยะที่ 2 นี้ ตั้งเป้าหมายจะมีสมาชิกเข้าร่วม 10,000 ราย เป็นสถาบันเกษตรกร 350 แห่ง ใน 51 จังหวัด ซึ่งต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

    1) สมาชิกต้องไม่เคยรับการสนุบสนันจากโครงการอื่นของรัฐในลักษณะเดียวกัน

    2) มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ์ทำกินในพื้นที่อย่างถูกกฎหมาย หากเป็นที่เช่าทำกิน ต้องมีระยะเวลาเช่าครอบคลุมระยะเวลาโครงการและต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่

    3) พื้นที่ทำกินรายละ 10 ไร่ หรือรวมกับสมาชิกทุกรายในสหกรณ์นั้นๆ แล้วเฉลี่ยได้รายละ 10 ไร่ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ รวม 6 ปี (พ.ศ.2563-2568)

วงเงินโครงการรวม 508.2 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร แบ่งเป็น 1) เงินกู้ยืมปลอดดอกเบี้ย วงเงิน 500 ล้านบาท ระยะเวลา 6 ปี จัดสรรให้สมาชิกกู้ยืมรายละไม่เกิน 50,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการขุดสระเก็บน้ำในพื้นที่ 1 ไร่ ความลึก 2 เมตร หรือขุดเจาะบ่อบาดาล เจาะจนถึงระดับที่มีน้ำ พร้อมจัดซื้ออุปรกรณ์ที่เกี่ยวข้อง หากมีค่าใช้จ่ายเกิน 50,000 บาท สมาชิกต้องสมทบเอง 2) เงินจ่ายขาด วงเงิน 8.2 ล้านบาท เป็นค่าบริหารจัดการโครงการของหน่วยงานราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การชำระเงินกู้ของสมาชิก ใน 2 ปีแรก (ปี 2563-2564) เป็นระยะเวลาปลอดหนี้ เพื่อให้สมาชิกได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ

โดยจะเริ่มชำระเงินงวดที่ 1 ในปี 2565 ไปจนถึงปี 2568 รวม 4 ปี ปีละอย่างน้อยร้อยละ 25 ของเงินกู้ยืมที่ได้รับอนุมัติ หากสมาชิก/สถาบันเกษตรกรผิดนัดชำระหนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์คิดอัตราดอกเบี้ยปรับร้อยละ 3 ต่อปี จนกว่าจะชำระหนี้หมด และกรมส่งเสริมสหกรณ์ผิดนัดชำระหนี้ กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรคิดอัตราดอกเบี้ยปรับร้อยละ 3 ต่อปี จนกว่าจะชำระหนี้หมด

ทั้งนี้ การสร้างแหล่งน้ำในพื้นที่การเกษตร นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรแล้ว ยังสามารถใช้เป็นฐานข้อมูล big data ในการจัดทำแผนที่พิกัดจุดแหล่งน้ำสำรองของเกษตรกรแต่ละราย เพื่อใช้ประโยชน์ในการติดตามประเมินผลและต่อยอดโครงการอื่นๆ ของรัฐบาลในอนาคต

จัดงบฯ 3,120 ล้าน เยียวยาน้ำท่วม – ภัยแล้ง

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติโครงการตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562 วงเงิน 3,120.86 ล้านบาท เป็นการดูแลเกษตรกรต่อเนื่องหลังจากรัฐบาลได้เยียวยาเกษตรกรทั้งหมด 538,316 ราย ในพื้นที่ฝนทิ้งช่วง 19 จังหวัด และอุทกภัย 30 จังหวัด

งบประมาณโครงการเป็นการถัวจ่ายงบประมาณระหว่างโครงการภายใต้กรอบวงเงิน 3,120.86 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปี 2562 จำนวน 2,967.50 ล้านบาท งบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรไว้แล้ว 152.31 ล้านบาท และเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 1.05 ล้านบาท

สิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการต่อเพื่อฟื้นฟูเกษตรกร คือ

  • โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร วงเงิน 347.52 ล้านบาท รับผิดชอบโดยกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งเป้ามีเกษตรกรเข้าร่วม 150,000 ครัวเรือน พื้นที่รวม 1.4 ล้านไร่ โดยสนับสนุนเงินโอนเข้าบัญชีเกษตรกร เพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์ตามพื้นที่ปลูกจริง แบ่งเป็น

1) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป้าหมายเกษตรกรจำนวน 100,000 ครัวเรือน รายละไม่เกิน 20 ไร่ อัตราไร่ละ 245 บาท (ครัวเรือนละ 4,900 บาท) พื้นที่รวม 1 ล้านไร่

2) ถั่วเขียว เป้าหมายเกษตรกรจำนวน 50,000 ราย รายละไม่เกิน 20 ไร่ อัตราไร่ละ 200 บาท (ครัวเรือนละ 4,000 บาท) พื้นที่รวม 4 แสนไร่

  • โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว ปี 2563/64 วงเงิน 1,739.43 ล้านบาท รับผิดชอบโดยกรมการข้าว ตั้งเป้ามีเกษตรกรเข้าร่วม 827,000 ครัวเรือน เมล็ดพันธุ์ข้าว 63,200 ตัน พื้นที่รวม 6.32 ล้านไร่ โดยสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกร ไร่ละ 10 กิโลกรัมไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่

ทั้งนี้ ครม. ได้เห็นชอบให้กรมการข้าวปรับเปลี่ยนปริมาณของเมล็ดพันธุ์แต่ละชนิดข้าวและปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวของแหล่งผลิต (กรมการข้าว สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และศูนย์ข้าวชุมชนและแปลงใหญ่) ให้เป็นไปตามความต้องการของเกษตรกรและตามความสามารถในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและปริมาณที่จะสนับสนุนของแต่ละแหล่งผลิต

  • โครงการพัฒนาทางเลือกอาชีพด้านประมง การเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในบ่อดิน วงเงิน 260 ล้านบาท รับผิดชอบโดยกรมประมง ตั้งเป้ามีเกษตรเข้าร่วม 50,000 ราย โดยสนับสนุนพันธุ์ปลานิล ขนาดประมาณ 5-7 เซนติเมตรขึ้นไป รายละ 800 ตัว และอาหารสัตว์น้ำนำร่อง จำนวน 120 กิโลกรัม ให้แก่เกษตรกร
  • โครงการสร้างรายได้จากอาชีพประมงในแหล่งน้ำชุมชน วงเงิน 506.91 ล้านบาท รับผิดชอบโดยกรมประมง ตั้งเป้าแหล่งน้ำในชุมชน จำนวน 1,436 แห่ง ในพื้นที่ 129 อำเภอ โดยสนับสนุนลูกพันธุ์กุ้งก้ามกรามนำไปปล่อยในแหล่งน้ำของชุมชน ขนาดลูกพันธุ์ประมาณ 5-7 เซนติเมตรขึ้นไป จำนวน 200,00 ตัวต่อแหล่งน้ำ
  • โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีกวงเงิน 240 ล้านบาท รับผิดชอบโดยกรมปศุสัตว์ ตั้งเป้ามีเกษตรเข้าร่วม 48,000 ราย โดยสนับสนุนเงินโอนเข้าบัญชีเกษตรกร เพื่อซื้อพันธุ์ไก่ไข่ เป็ดไข่ ครัวเรือนละ 10 ตัว และไก่พื้นเมืองคละเพศ ครัวเรือนละ 30 ตัว พร้อมอาหารและค่าวัสดุ ครัวเรือนละ 4,850 บาท

คุณสมบัติของเกษตรกรและเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ คือ 1. ให้เกษตรกรมีสิทธิ์เลือกได้ 1 โครงการเท่านั้น, 2. เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายสามารถเข้าร่วมโครงการ (ด้านพืช ประมง และปศุสัตว์) ด้านใดด้านหนึ่ง โดยไม่ต้องตรงกับด้านที่ได้รับความเสียหาย, 3. กรณีโครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย และโครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว ต้องเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย โดยโครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เลือกพืชได้มากกว่า 1 ชนิด และโครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว เลือกพันธุ์ข้าวได้ 1 พันธุ์ คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุม ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว, 4. กรณีโครงการพัฒนาทางเลือกอาชีพด้านประมง เกษตรกรต้องมีบ่อดินแลปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเลี้ยงปลา, 5. กรณีโครงการเลี้ยงสัตว์ปีก เกษตรกรต้องมีโรงเรือนสัตว์ปีและลานปล่อยที่มีตาข่ายล้อมรอบป้องกันสัตว์พาหะ และอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย 17 จังหวัด

ยึดหน้ากากอนามัย ส่งออกเกินโควตาแสนชิ้น เตรียมจัดสรรใช้ในปท.

รศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ภายหลังกระทรวงพาณิชย์ประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม โดยห้ามส่งออกหน้าอนามัยออกนอกประเทศเกิน 500 ชิ้น โดยกรมศุลกากรแจ้งว่า ได้ยึดหน้ากากอนามัยที่ส่งออกผิดกฎหมายได้แสนกว่าชิ้นแล้ว ซึ่งจะนำมาจัดสรรภายในประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ประสานกับโรงงานผู้ผลิตจำนวน 10 กว่าแห่ง รวมถึงทำงานร่วมกับองค์กรเภสัชกรรมและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อจัดจำหน่ายและจัดสรรให้กับร้ายค้าปลีก และเครือข่ายร้านขายยาทั่วประเทศ ยืนยันว่าโรงพยาบาลที่เป็นเครือข่ายองค์การเภสัชกรรมจะมีหน้ากากอนามัยเพียงพอเพราะมีโควตาจัดสรรให้

“ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ระงับการส่งออกของบริษัทรายใหญ่ได้หลายสิบล้านชิ้น แต่ขณะนี้ปัญหาคือการหลบเลี่ยงการประกาศห้ามเคลื่อนย้ายหน้ากากอนามัยเกิน 500 ชิ้น โดยเคลื่อนย้ายเพียง 400 ชิ้น”

เพิ่ม “ธรณีวิทยา – อนามัยสิ่งแวดล้อม” เป็นวิชาชีพควบคุม

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดสาขาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้

โดยสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้วิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาธรณีวิทยาและสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม เป็นวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมเพิ่มเติม จากปัจจุบันมี 4 สาขา ได้แก่ 1) สาขานิวเคลียร์ 2) สาขาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านวิทยาศาสตร์และการควบคุมมลพิษ 3) สาขาการผลิต การควบคุม และการจัดการสารเคมีอันตราย และ 4) สาขาการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์และการใช้จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค

“มีการเสนอีก 2 สาขา คือสาขาธรณีวิทยา และสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยสาขาธรณีวิทยา เป็นเรื่องเกี่ยวกับงานธรณีวิทยาวิศวกรรม งานธรณีวิทยาเหมืองแร่ งานอุทกธรณีวิทยา งานธรณีวิทยาภัยพิบัติ และงานธรณีวิทยางานปิโตรเลียม โดยทั้ง 2 สาขาที่เพิ่มขึ้นมามีสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สชวท.) ทำหน้าที่ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวและควบคุมให้ถูกต้องตามหลักจรรยาบรรณ” นางสาวไตรศุลีกล่าว

ตั้ง “ชวลิต ชูขจร” นั่ง ปธ.บอร์ด องค์การสวนสัตว์

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์ รวม 9 คน แทนประธานกรรมการและกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งและลาออก ดังนี้

    1. นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการ
    2. รองศาสตราจารย์เจษฎ์ โทณะวณิก กรรมการ (ด้านการศึกษา)
    3. นายสรวิศ ธานีโต กรรมการ(ด้านสัตวแพทย์และสวัสดิภาพสัตว์)
    4. รองศาสตราจารย์วรสัณฑ์ บูรณากาญจน์ กรรมการ (ด้านสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม และวิศวกรรม)
    5. นายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการ (ด้านบริหารธุรกิจ)
    6. นางภานุมาศ สิทธิเวคิน กรรมการ (ด้านกฎหมาย)
    7. นางรัชดาภรณ์ ราชเทวินทร์ กรรมการ (ด้านการเงิน และบัญชี)
    8. นายสมิทธิ ดารากร ณ อยุธยา กรรมการ(ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ)
    9. นายสมศักดิ์ อนันทวัฒน์ กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง)

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ประธานกรรมการในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เสนอแต่งตั้ง นายสมชาย เจริญอำนวยสุข เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (ด้านคนพิการและผู้สูงอายุ) แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563เพิ่มเติม